Super Mario Bros. 3

เคยเล่นเกมใช่มั้ยครับ?

‘เกม’ ออกแบบมาเพื่อสร้างความสนุก สร้างความตื่นเต้น โดยให้ผู้เล่นเข้าไปจำลองตัวเองอยู่ในสถานการณ์หนึ่ง ๆ แล้วดำเนินภารกิจหรือกิจกรรมอะไรบางอย่างเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ เช่น Super Mario Bros. 3 ถ้าใครเคยเล่นจะรู้กันดีว่าภารกิจของมาริโอคือการไปช่วยเจ้าหญิงที่ถูกจับตัวไป โดยมีภารกิจย่อย ๆ ในแต่ละด่านคือการไปช่วยเหลือเจ้าเมืองที่ถูกสาปให้เป็นสัตว์กลับคืนร่างเดิม ด้วยการไปแย่งชิงเอาคฑาวิเศษกลับคืนมา

หรือแม่กระทั่งกีฬา ก็ถูกเรียกว่าเกมเช่นกัน ฟุตบอล บาสเก็ตบอล เบสบอล และกีฬาประเภทอื่น ๆ ต่างจำลองสถานการณ์ขึ้นมา และดำเนินภารกิจเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด เช่น ใครทำคะแนนได้มากกว่าจะเป็นผู้ชนะ ใครถึงเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ

ความสนุก ความท้าทาย เนื้อเรื่องที่น่าสนใจ เป้าหมาย คะแนน คู่แข่ง อุปสรรค และกฎเกณฑ์บางอย่างที่ให้อิสระกับคนเล่นมากพอที่จะทำอะไรก็ได้ที่ตัวเองต้องการ องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้เกมเป็นที่น่าหลงใหล เราแสวงหาเกมเล่นเพื่อผ่อนคลาย เพื่อฆ่าเวลา เพื่อเอาชนะ เมื่อใดที่เราหลุดเข้าไปในโลกแห่งเกม บางครั้งก็ยากที่จะถอนตัว

เป็นไปได้ไหมถ้าเราจะเอาองค์ประกอบของเกมเหล่านี้ มาใช้กับสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เกมล่ะ? เช่น การศึกษาในห้องเรียน การจราจรบนท้องถนน การจัดโปรโมชั่นของบัตรเครดิต หรือการพัฒนาซอฟท์แวร์

Gamification คืออะไร?

Gamification ไม่ใช่เกม แต่คือการนำกลไกของเกม (game mechanics) มาใช้กับสิ่งที่ไม่ใช่เกม เพื่อกระตุ้นให้คนมีพฤติกรรมตามเป้าหมายของธุรกิจ (business objectives) ด้วยการจูงใจให้คนเกิดความสนุก ความท้าทาย ความตั้งใจเอาชนะ ด้วยวิธีและความรู้สึกแบบเดียวกับการเล่นเกม

เป็นผลให้คนมีส่วนร่วมกับผลิตภัณฑ์มากขึ้น เพราะรู้สึกสนุก น่าสนใจ ท้าทาย รู้สึกถึงชัยชนะและความสำเร็จเมื่อทำอะไรบางอย่างได้ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมองในการหลั่งสารเคมีแห่งความสุขบางอย่างออกมาด้วย

ตัวอย่างเช่น เราจะตื่นเต้นเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่กดดัน แบบนี้

Battlefield

เกม Battlefield ก็เลยกลายเป็นเกมโปรดของคนที่ชื่นชอบความตื่นเต้น เพราะสมองได้หลั่งสารเคมีกระตุ้นให้เราตื่นตัวอยู่เสมอ

แล้วเราจะสามารถเอากลไกของเกมมาใช้ในงานของเราได้อย่างไร? ก่อนอื่นเราก็ต้องมาทำความรู้จักกันก่อนว่า กลไกที่ทำให้เป็นเกม มีอะไรบ้าง

Level Up

ต้องเก่งกว่าคนอื่นให้ได้

Ragnarok Online

CS:GO

ในยุคหนึ่ง เด็กไทยน่าจะคุ้นเคยกับเกม Ragnarok Online เป็นอย่างดี กับเกมในลักษณะเก็บเลเวล เพื่อให้ตัวเองมีเลเวลสูง ๆ ไปต่อสู้กับด่านโหด ๆ ได้ โดยเมื่อเก็บเลเวลจนถึงเลเวลสูงสุด จะมีแสงใต้เท้าโผล่มาให้รู้สึกถึงชัยชนะและความเก่งกาจเหนือคนอื่น

หรือระดับยศในเกมที่เกี่ยวข้องกับทหาร ที่เมื่อมียศสูงขึ้น ก็จะมีความพิเศษโดดเด่นกว่าคนอื่นมากขึ้น เป็นแรงจูงใจให้ผู้เล่นใช้เวลาเล่นให้มากขึ้น พยายามให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้อยู่ในเลเวลสูง ๆ ในจุดที่คนจำนวนน้อยสามารถไปถึงได้ และเกิดความภาคภูมิใจกับตัวเอง (กินไม่ได้แต่เท่)

Level in Google Maps

Google ใช้กลไกของเกมด้านการเก็บเลเวล เป็นตัวบอกระดับชั้นของผู้ใช้ที่มีส่วนร่วมในการ contribute ใน Google Maps เช่น จำนวนการรีวิวสถานที่ จำนวนภาพที่ผู้ใช้อัพโหลดในสถานที่ต่าง ๆ จำนวนครั้งที่ช่วยแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง เป็นต้น ซึ่งกลไกการเก็บเลเวลช่วยจูงใจให้ผู้ใช้รู้สึก ‘อยาก’ มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือมากขึ้น เพื่อที่จะได้เลเวลสูง ๆ เวลาไปรีวิวสถานที่ไหนก็จะมีระดับบอก เช่นคำว่า Local Guide

ซึ่งกว่าเราจะได้เลเวล Local Guide มา เราเก็บเลเวลมานานมาก จะรู้สึกภาคภูมิใจที่เราเก่งกว่าคนอื่น

Skooldio

Todoist

ที่เว็บไซต์ของ Skooldio ใช้ Progress Bar เป็นเหมือนการเก็บเลเวล เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้ เรียนให้ครบ 100% เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจที่ตัวเองทำสำเร็จ หรือแอปพลิเคชั่น Todoist ที่ใช้ทั้งการสะสมแต้มและการแบ่งระดับเลเวลเมื่อทำ Task สำเร็จ เพื่อให้คนใช้งานบ่อย ๆ อยากได้ ranking ที่สูงขึ้น ไม่อยากเป็น Beginner แล้ว

Points

เก็บแต้มแลกของรางวัล

การเก็บคะแนนในเกม Sonic

การเก็บคะแนน (และกลไกอื่น ๆ เต็มไปหมด) ใน Harry Potter: Hogwarts Mystery

การสะสมคะแนน เป็นกลไกง่าย ๆ ที่มีอยู่ในเกมแทบทุกแบบ (อาจอยู่ในรูปของ point, currency) เพื่อบอกให้รู้ถึงความสามารถของผู้เล่น และช่วยให้กำหนดเป้าหมายระยะสั้นได้ง่าย ๆ เป็นเหตุให้ผู้เล่นอยากเล่นต่อ เช่น วันนี้อยากได้คะแนนเพิ่ม ไปเล่นเกมสักนิดดีกว่า อยากมีเงินเพิ่มเพื่อเอาไปซื้ออุปกรณ์ในเกมต่าง ๆ หรืออยากเล่นเกม Sonic ในด่านเดิมอีกรอบ เพราะอยากได้แต้มมากกว่าเดิม

Stack Overflow ใช้คะแนนเป็นตัวบอกชื่อเสียงของผู้ใช้ ถึงแม้รางวัลจับต้องไม่ได้ แต่ความน่าเชื่อถือก็มีราคา

Badge and Achievement

ก่อนที่เราจะพูดถึงเป้าหมายใหญ่ของเกม เช่น เอาชนะบอสตัวสุดท้าย หรือได้เป็นที่หนึ่งของจักรวาล ทำยังไงให้ผู้เล่นไม่หมดแรงหรือหมดกำลังใจในการเล่นไปก่อนที่จะถึงจุดนั้น

Megaman X4

The Sims 4

Badge และ Achievement คือการมอบรางวัลให้กับผู้เล่นเป็นระยะ ๆ เมื่อผู้เล่นบรรลุจุดหมายหนึ่ง ๆ ระหว่างเกม ทำให้เกมไม่น่าเบื่อ เพราะผู้เล่นจะเจอเรื่องใหม่ ๆ ตลอด รวมถึงทำให้ผู้เล่นที่ชอบสะสม เล่นเกมนานขึ้น เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายย่อย ๆ เหล่านั้นให้ได้มาก สะสม Badge เยอะ ๆ

เช่น ระหว่างที่เราเล่น Megaman เราเอาชนะบอสแต่ละด่านได้ เราจะได้พลังของบอสตัวนั้นมาเพื่อช่วยให้เราเล่นในด่านต่อไป หรือพอเราเล่น The Sims แล้วคลอดลูกแฝดสาม เราจะได้ Achievement Triple Play ซึ่งตลกดี และทำให้น่าค้นหาต่อว่ามันจะมี Achievement แปลกประหลาดอะไรในเกมอีก

Nike+ Run Club

Nike+ Run Club

Badge เป็นเหมือนรางวัลเล็ก ๆ ที่มอบให้กับผู้ใช้ได้สะสม เช่น Badge ที่ได้จากการวิ่งที่เร็วที่สุดในระยะต่าง ๆ ของแอป Nike+ Run Club และแอปพลิเคชัน Swarm ซึ่งเป็นแอปที่ใช้ Gamification อย่างหนักหน่วงที่สุดแอปหนึ่ง (ซึ่งแน่นอนว่าผมติดแอปนี้มาก 😂) ซึ่ง Swarm เป็นแอปสำหรับเช็คอินในสถานที่ต่าง ๆ บอกให้เพื่อนรู้ว่าอยู่ที่ไหน ใช้กลไกของ Badge และ Achievement เป็นหลัก ได้แก่

  • การมอบ Badge ให้กับผู้ใช้ เมื่อเช็คอินในสถานที่ประเภทต่าง ๆ ซึ่งทำให้เราพยายามตามหา Badge ที่เรายังไม่เคยได้ ด้วยการเดินทางไปสถานที่ใหม่ ๆ ได้ด้วย
  • Mayorships คุณเช็คอินสถานที่นี้บ่อยกว่าใครเลยนะ อีกนิดเดียวคุณก็จะได้ Mayorships ในสถานที่เหล่านี้แล้ว เช็คอินเร็ว! (ถามว่าได้ Mayorships แล้วได้อะไรมั้ย ก็ไม่นะ แต่อยากได้)

LinkedIn

LinkedIn ก็ใช้ Badge และ Achievement ในการกระตุ้นให้ผู้ใช้กรอกข้อมูลลงในเว็บไซต์ให้ครบถ้วน ด้วยการแสดงแถบ Progress Bar บอกว่าเหลืออีกนิดเดียวนะ และการใช้คำง่าย ๆ เป็น Achievement อย่าง ALL-STAR มาจูงใจให้เราทำตามโดยง่าย

GitHub

Leaderboard

สำหรับผู้กระหายชัยชนะแล้ว ต้องเป็นที่หนึ่งเท่านั้น

Leaderboard in CS:GO

Leaderboard in Ready Player One Movie

จะมีอะไรที่แสดงถึงชัยชนะได้ดีที่สุด นอกจากการอยู่ในอันดับที่หนึ่ง เหนือผู้เล่นทุกคนในเกม

Leaderboard ตอบโจทย์ของผู้เล่นที่ต้องการชัยชนะเหนือคนอื่น ๆ การได้ความรู้สึกว่าตนเองเก่งที่สุด โดยเปรียบเทียบกันให้เห็นชัด ๆ ว่าได้คะแนนเท่าไหร่ และอันดับที่รองลงมาได้เท่าไหร่ ซึ่งการแสดง Leaderboard นั้นก็ก่อให้เกิดการแข่งขัน และสร้างความรู้สึกอยากเอาชนะให้กับทุกคน (ไม่ว่าจะเก่งอยู่แล้ว อยากขึ้นที่หนึ่ง หรือไม่ค่อยเก่ง อยากติด Top Ten ก็ยังดี)

และความอยากแข่งขันนี้เองทำให้เราเอามาใช้ประโยชน์กับเรื่องอื่น ๆ ได้

Leaderboard from https://azure.microsoft.com/

Wongnai

Leaderboard สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรหรือห้องเรียนก็ได้เหมือนกัน เช่นการทำ Top Ten ของผู้ทำคะแนนได้สูงสุดในชั้น ผู้ที่ทำยอดขายได้มากที่สุด ผู้ที่ช่วย contribute สูงสุด เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดการแข่งขันขึ้นมาในกลุ่มเหล่านั้น (ทั้งนี้อาจต้องดูความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มด้วยว่า ควรให้เกิดการแข่งขันหรือไม่ จะเป็นการกดดันเพื่อนร่วมงานหรือไม่)

หรือ Wongnai แหล่งรวมรีวิวร้านอาหาร ที่ก็ทำ Leaderboard เพื่อแสดงสุดยอดนักรีวิววงในให้เห็นว่าใครได้อันดับหนึ่ง ถ้าอยากขึ้นชาร์ทล่ะก็ รีวิวเยอะ ๆ สิ! น่าเชื่อถือและเท่ด้วยนะ

Mission and Challenge

กลไกที่สนุกที่สุดของเกมก็คือการแข่งขันนี่แหละครับ

Need For Speed

Pac-Man

ในสถานการณ์ที่บีบคั้นให้เราทำอะไรบางอย่าง เช่น ขับรถแข่งกับเพื่อนใน Need For Speed / เล่น Pac-Man วิ่งหนีผี / โดนฝูงซอมบี้วิ่งไล่ใน Left 4 Dead / เล่น Contra แล้วเพื่อนกำลังจะดึงฉาก / ตีโปเกม่อนคนอื่นใน Pokemon GO / รัวหมัดใส่ตัวละครเพื่อนใน Street Fighter / วิ่งเลี้ยงบอลไปหน้าโกลฝั่งตรงข้ามใน Winning Eleven / ยิงปืนสวนกับฝ่ายตรงข้ามใน Counter Strike / หรือแก้โจทย์สุดท้าทายใน Portal

Portal 2

การแข่งขันเกิดจากการที่เราเอาตัวเองเปรียบเทียบกับสิ่งหนึ่ง และเราต้องการเอาชนะเช่นเกมต่อสู้ที่วัดกันด้วยหลอดพลัง เลือดหมดก่อนแพ้ หรือเราต้องบังคับ Pac-Man ของเราวิ่งไล่กินผีก่อนที่เวลาจะหมด หรือสามารถแก้โจทย์ยาก ๆ ได้สำเร็จ

มีเคสที่น่าสนใจจาก Volkswagen ที่ได้ทดลองเอากลไกการแข่งขันมาใช้บนท้องถนน แต่ว่าการแข่งขันไม่ได้อยู่ที่ว่าใครขับรถเร็วกว่าแล้วจะชนะหรอกนะครับ มีหวังบ้านเมืองเละเทะกันพอดี ลองดูคลิปนี้ครับ

The Speed Camera Lottery ตั้งโจทย์ให้ผู้ใช้รถบนท้องถนนแข่งกันขับรถช้า โดยเมื่อผ่านจุดที่กำหนดแล้ว รถใครขับด้วยความเร็วไม่เกินที่กำหนดไว้ จะได้ลอตเตอรี่ที่มีโอกาสได้เงินรางวัลด้วย! สิ่งนี้ก่อให้เกิดความสนุกในการแข่งขันกับกติกาเรื่องความเร็วที่ตั้งไว้ และยังช่วยให้สังคมดีขึ้นอีกด้วย

ส่งท้าย

Gamification เป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากสินค้าและบริการต่างก็ต้องการให้ผู้ใช้อยู่กับ product ของเขาให้นานที่สุด ‘ความสนุก’ จึงถูกให้ความสำคัญ

ซึ่ง Gamification ก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งในแวดวง User Experience เพราะแท้จริงแล้ว การใส่กลไกเกมต่าง ๆ เข้าไปใน product มันก็คือการสร้าง experience ระหว่าง user กับ product ที่เรามีเรื่องให้คำนึงถึงอีกมากมาย ทั้งด้านจิตวิทยา การให้รางวัล (Reward System) และรูปแบบการเล่นเกมเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ

และไม่ใช่ว่า อยู่ ๆ ก็สามารถจิ้มเอากลไกเกมอันไหนสักอัน จับใส่เข้าไปใน product ได้เลยโดยไม่ดูบริบทอื่น ๆ ว่า user คือใคร experience ของเขาเป็นแบบไหน ได้ทำ user research หรือยัง ทำ usability testing หรือยัง ว่า user เข้าใจในกลไกเกมนั้นไหม และมันส่งผลดีต่อ product จริงหรือไม่

หลังจากที่ได้ทำความรู้จักกลไกเกมเบื้องต้นกันไปแล้ว ในตอนหน้า ผมจะพูดถึงสิ่งที่ UX ให้ความสำคัญเรียกได้ว่าอันดับหนึ่ง ก็คือ ‘ผู้ใช้’ ซึ่งในที่นี่ก็คือ ‘ผู้เล่น’ นั่นเอง ว่าผู้เล่นนั้นมีแบบไหนกันบ้าง เราสามารถวางแผนรับมือกับผู้เล่นแบบต่าง ๆ ยังไง เมื่อพูดถึงการ gamified ใน product ของเราแล้ว ผู้เล่นของ product เราคือใคร และที่สำคัญที่สุดคือเราจะเลือกใช้กลไกเกมแบบไหนกับผู้เล่นที่เข้ามาเล่น product ของเรา

Achievement Unlocked! คุณได้คะแนนพิเศษสำหรับการอ่านบทความนี้ ยินดีด้วยครับ! โปรดติดตามตอนต่อไปเพื่อเก็บคะแนนเพิ่มนะครับ 😂

Chayaporn Tantisukarom
General Manager at Skooldio Tech

More in:Business

Comments are closed.