วันหนึ่งในปี 2014 ผมเคยร่อนจดหมายสมัครงานถึงผู้กำกับภาพยนตร์มือรางวัลท่านหนึ่ง หวังจะเอาตัวเองเข้าไปสำรวจในอุตสาหกรรมที่ผมไม่คุ้นเคย แน่นอนว่าด้วยสาขาที่เรียนจบมา เป็นเรื่องยากยิ่งที่ชื่อของผมจะไปสะดุดตาผู้คนนับร้อยพันที่วิ่งนำมาพร้อมกับปริญญาบัตรที่ตรงสาย ถึงแม้ว่าผมจะผิดหวังจาก ‘การล่าฝัน’ ครั้งนั้น ผู้กำกับท่านนั้นก็ได้ส่งข้อความเตือนใจผมเสมอ

It doesn’t matter you don’t have experience. You can come from anywhere but if you interested, its a good start.

you gotta go out and get what you want however you can

ความฝันไม่ได้สวยงามเสมอไป ผมเดินทางต่อบนถนนเส้นเดิม ซึ่งผมก็ไม่เคยคิดว่าผมพ่ายแพ้ ทักษะที่ผมหลงไหลสามารถไปอยู่ที่ไหนก็ได้ไม่เว้นแม้แต่สิ่งที่ผมทำอยู่

แต่บางคนก็โชคดีกว่า, ที่สามารถเดินไปถึงจุดที่ตัวเองใฝ่ฝันได้ด้วยกำลังของตัวเอง

ผมรู้จัก ‘กี้-ทัศน์พล’ ในฐานะของ Software Engineer คนใหม่ในบริษัทเมื่อปีก่อน กี้เป็นคนกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น ผิดจากภาพจำของโปรแกรมเมอร์เงียบขรึมที่เคยพบเจอ ถ้าไม่นับมุกแป้กๆ แล้วก็ถือว่ามีหน้าตาเป็นอาวุธ และที่สำคัญที่สุดคือเคยเป็นสถาปนิกมาก่อน

การเปลี่ยนสายงานในยุคที่คนโหยหาความมั่นคงในชีวิต นับว่าเป็นการเดิมพันที่เสี่ยง งานสถาปนิกที่เป็นหนึ่งในอาชีพที่สงวนไว้ให้กับคนไทยเท่านั้นที่สามารถประกอบอาชีพนี้ในประเทศไทยได้ มองเผินๆ ดูไม่น่าจะคุ้มแลกเท่าไหร่ แต่ผมเชื่อว่าทุกคนล้วนแล้วแต่มีเหตุผล มีความรู้สึกบางอย่างที่มีแสดงอำนาจออกมาเมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจ

วันนี้ผมเลยใช้ความรู้สึกนั้นคุยกับกี้

Table of Contents

ไหนเล่าจุดเริ่มต้นของการเป็นสถาปนิกให้ฟังหน่อย

จริงๆ ตอนเด็กเรียนสายวิทย์มานะ ไม่ได้เป็นคนอาร์ท ชอบอะไรที่มันอธิบายได้ แต่อยู่มาวันนึงก็ได้เรียนวิชาเขียนแบบสามมิติแล้วชอบมาก ก็เลยถามพ่อว่าต้องเรียนอะไร พอดีกับเพื่อนชวนไปเรียนความถนัดสถาปัตย์ ก็รู้สึกชอบ คิดว่าคณะนี้เข้ากับเรา แต่ก็ค่อนข้างชัดเจนกับตัวเองนะว่าอยากจะทำอะไรก็ได้ที่ได้ทำ product ให้คนได้ใช้จริง อย่างสถาปัตย์ได้ออกแบบบ้านแล้วมีคนเข้าไปอยู่จริงๆ

แล้วทำไมถึงเปลี่ยน

ตอนนั้นทำงานได้ประมาณปีครึ่ง ถ้านับตั้งแต่เรียนสถาปัตย์จุฬาฯก็นับว่าอยู่ในวงการนี้มาหกปีครึ่ง ช่วงนั้นพี่ชายจะทำ tech startup แล้วมาชวนเราว่ามาทำด้วยกันมั้ย ในตอนนั้นมีความคิดว่าอยากลองอย่างอื่นดูบ้างเหมือนกันคิดว่าน่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดี ไม่ใช่ไม่ชอบงานสถาปัตย์นะ ยังชอบและมี passion กับมันอยู่ แต่ด้วยความที่อายุยังไม่มาก แล้วก็อยากรู้ว่าในโลกนี้มีอะไรอีก ก็ไม่มีอะไรจะเสีย ถ้าโดดมาทำแล้วมันไม่เวิร์คเราก็ยังกลับไปได้

เลยเริ่มเขียนโปรแกรม

เปล่าเลย ตอนแรกเป็น designer ตอนนั้นไม่รู้เรื่อง tech industry เลยแม้แต่นิดเดียว Facebook ก็ไม่เล่น ใช้อินเตอร์เน็ตอย่างเดียวคือค้นหา reference ตอนทำงานสถาปัตย์ รู้จักแค่ว่ามีอาชีพที่ทำ UX อยู่ ส่วน UI คือออกแบบเว็บ แล้วก็ไม่รู้อะไรอีก และด้วยความที่เป็น startup ก็เลยต้องทำทุกอย่าง งานแอดมิน คุยกับลูกค้า สัมภาษณ์ user ทำ pitch deck ทำทุกอย่าง แล้วค่อยๆ เรียนรู้จากตรงนั้น

แล้วมาเริ่มเขียนโปรแกรมได้ยังไง

มันเริ่มมาจากความอยากแบ่งเบางาน เราคิดว่าถ้าเราช่วยทำได้ก็น่าจะทำให้บริษัทไปได้เร็วขึ้น เริ่มจากไปนั่งข้าง dev เลย แล้วจิ้มว่าอันนี้ขอสีนี้ อันนั้นขอแบบนี้ แล้วก็ดูเค้าทำ เห็นเค้าใช้ dev tools ก็เริ่มใช้ตาม รู้ว่ามันปรับอะไรได้บ้าง ได้ลองหัดเขียน HTML CSS แล้วก็ไปแข่ง พอถึงจุดนึง ด้วยความที่เราต้อง design ด้วย และพอเขียนโค้ดเป็น ตอนออกแบบเราก็คิดไปด้วยว่าต้องเขียนยังไง จัดโครงสร้างหน้าเว็บยังไง

แล้วได้ใช้อะไรเกี่ยวกับสถาปัตย์บ้างมั้ย

ด้วยความที่เราไม่มีพื้นฐานด้านการเขียนโปรแกรมเลย ก็คิดด้วยวิธีแบบสถาปนิกที่ต้องออกแบบของที่ซับซ้อน พยายามจัด grouping จัด layer

ความคิดแบบสถาปนิกคืออะไร

สำหรับเราเองนะ มีความเชื่อว่าสถาปนิกที่เก่งคือคนที่ทำของที่ซับซ้อนให้ออกมาดูเรียบร้อยและง่ายที่สุด เพราะสถาปัตยกรรมคืองานที่ซับซ้อน ประกอบจากหลายอย่างมากๆ ทำยังไงให้ทุกๆ layer มันมีความสัมพันธ์ต่อกัน ทำออกมาแล้วมันดูเหมือนว่ามันไม่ซับซ้อน จัดระเบียบ จัดโครงสร้างของทุกอย่างให้มันออกมาได้แล้วทุกฝ่ายพอใจ คือการจัดการของซับซ้อนให้มันง่าย

ก็เลยเป็นข้อดีติดมาด้วย เมื่อมาเขียนโปรแกรม

ตอนนี้ก็คิดยังคิดแบบนั้นอยู่ คิดของเป็น layer เป็น component เป็น module มองของเป็นชั้นๆ ไม่รู้เป็นข้อดีหรือข้อเสีย แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังโอเคอยู่นะ ไม่รู้ว่าวิธีอื่นดีกว่าหรือเปล่า ไม่ได้เรียนมาจากพื้นฐานเหมือนคนอื่น คิดจากพื้นฐานแบบคนอื่นอาจจะดีกว่าก็ได้

แล้วเริ่มเรียนเขียนโปรแกรมจากไหน

ส่วนใหญ่คือแกะโค้ดของคนในทีม พอดีทีมใช้ React ตั้งแต่แรก เป็น component อยู่แล้ว ดีเลย ทุกอย่างจบอยู่ใน component แล้วก็ไปแกะโค้ด bootstrap ไปนั่งดูว่าใช้ยังไง จัดระเบียบยังไง แกะโค้ดไปประมาณนึงก็รู้สึกว่าต้องรู้พื้นฐานนิดนึงแล้วว่ะ ก็เลยเริ่มเรียน HTML CSS จาก Khan Academy ก่อน ก็เลยเพิ่งเข้าใจว่า tag คืออะไร responsive เขียนยังไง breakpoint คืออะไร ซึ่งมันก็ดีกับเราเพราะเราต้อง design ด้วย พอเรารู้ว่าอันนี้มัน dev ยาก เราก็เปลี่ยน design ตัวเอง (ฮา)

แล้วคิดยังไง ถึงได้เปลี่ยนอาชีพมาเป็น developer แบบ full time ได้

Startup ไปไม่รอด (ฮา) ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง ตอนนั้นพี่ชายดรอปมาจาก CMU (Carnegie Mellon University) จะกลับไปเรียนต่อ มันต้องเลือกแล้วว่าจะไปต่อ tech industry ดี หรือว่าจะกลับไปเป็นสถาปนิกดี ซึ่งก็ชอบทั้งคู่นะ ตอนนั้นก็ยังอินกับการเขียนโค้ดอยู่ ตอนที่ทำงานสถาปัตย์ก็ทำด้าน parametric design คือด้านที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ รู้สึกว่าเทคโนโลยีคืออนาคต ก็เลยตัดสินใจว่าจะลอง explore ต่อดูด้านเทคโนโลยี ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเป็น dev หรือเปล่า แต่แค่คิดว่าอยากรู้ว่าถ้าไปไกลกว่านี้เราจะยังชอบมันหรือเปล่า ก็เลยตัดสินใจว่าจะเรียนคอร์สออนไลน์

แต่ยังไม่หางานทำ

เรียนก่อน อาจจะทำงานก็ได้ ถ้าเรียนไปแล้วไม่ชอบอาจจะกลับไปเป็นสถาปนิกก็ได้ แต่อยากจะเข้าใจจริงๆ ว่ามันคืออะไรกันแน่ พอดีกับที่ทำงานสถาปนิกมาหลายปี มีเงินเก็บอยู่ได้ประมาณห้าหกเดือน พี่ชายบินไปอเมริกา มีวีซ่าอยู่แล้วก็เลยบินไปด้วยเลย ไปเรียนออนไลน์

ไปเรียนออนไลน์ที่อเมริกา?

จะได้เรียนจบจากอเมริกา (ฮา) ตอนนั้นคิดว่าอยากจะโฟกัส และถ้าอยากจะไปให้เร็วต้องมี mentor แล้วพี่ชายเป็น mentor ได้ ก็เลยอยากอยู่ใกล้กับคนที่เราสามารถปรึกษาได้แบบ 24 ชั่วโมง

ทำไมต้องมี mentor

ของบางอย่างอ่านเองใช้เวลาสามวัน ถ้ามี mentor ให้เค้าจิ้มทีเดียว เราจะเข้าใจเลยว่าเราไม่เข้าใจอะไร ยิ่งถ้าเป็น mentor ที่เค้ารู้อยู่แล้วว่าเราเป็นคนยังไง เราคิดยังไง เค้าจะรู้เร็วมากว่าเราต้องการอะไร เราก็จะได้ keyword ค้นหาต่อ อย่างตอนแรกๆ ‘hover’ คืออะไร ถ้าคนไม่รู้มันก็คือไม่รู้เลยนะ แต่พอมารู้ keyword ปุ๊บ มัน search ต่อได้

นอกจากเรียนออนไลน์ ทำอะไรที่อเมริกาอีกบ้าง

พอเรียน Udacity จบ คอร์ส Front End Web Developer Nanodegree ที่ CMU มีให้ volunteer ทำโปรเจคแข่ง XPRIZE เกี่ยวกับ technology ที่ยิ่งใหญ่มากของอเมริกา ก็เลยสมัครไปเป็น volunteer ใช้ Java เขียน Android เหมือนทำงานจริงเลย คนอื่นเค้าทำวันละ 4 ชั่วโมง เราทำวันละ 12 ชั่วโมง ทำได้ไม่ได้ไม่รู้ เอางานมาก่อน เดี๋ยวหาวิธีเอง เอาหัวชนเข้าไป ไม่ได้ก็ต้องเอาให้ได้ ก็เลยได้สกิลการแกะโค้ดคนอื่น บางโปรเจค volunteer เป็นร้อยๆ คนเขียน ก็ต้องมานั่งแกะ รู้สึกว่าพัฒนาขึ้นมาเยอะมากตอนนั้น

ถึงเวลากลับไทยหรือยัง

Volunteer เสร็จ วีซ่าหมด เงินเก็บหมด ต้องทำงานแล้วว่ะ (ฮา) เริ่มจาก 0 ใหม่เลย กลับไปตอบคำถามตัวเองตอนแรกที่ตัดสินใจเลือกเรียนเพื่อจะได้รู้ว่าอยากจะมาทางนี้หรือเปล่า

คำตอบนั้นคือ

ยังสนุกอยู่ รู้สึกไปได้มากกว่านี้ ก็เลยตัดสินใจว่าจะอยู่ใน tech industry นี่แหละ แต่ไม่ได้อยากเป็น designer ก็เลยเป็น dev แล้วกัน เพื่อนหลายคนก็จะบอกว่า มึงอายุ 25 แล้วนะ ไม่ตัดสินใจอีกหรอ คนอื่นเค้าเริ่มประสบความสำเร็จกันแล้ว ยังไม่รู้อีกหรอว่าอยากทำอะไร จะสู้คนนู้นคนนี้ได้หรอ เราก็ลังเลอยู่นานว่าจะย้ายสายดีมั้ยจากคำพูดพวกนี้ ก็เลยตัดสินใจว่า ลองดู เดี๋ยวกูทำให้ดู มึงจะเห็นว่ากูเป็น dev ได้

พูดง่ายแต่ทำยาก

ใช่ แต่จริงนะ คือโลกนี้เป็นอะไรก็ได้จริงๆ เราโชคดีที่รู้จักตัวเองดีว่าเราเป็นคนที่ถ้าจะเอาจริงๆ ก็จะเอาให้ได้ ไม่ถอยง่ายๆ เรามีวินัยมากพอ เมื่อคนเรามีวินัยและอินกับอะไรสักอย่าง ทุกอย่างก็เป็นไปได้ คิดง่ายๆ เลย developer เรียนจบคณะคอมใช้เวลา 4 ปี ช้าสุดที่เราจะทำให้ได้เท่าเค้าคือ 4 ปี แล้วเรียนในมหาวิทยาลัยทุกคนก็รู้ว่ากิจกรรมครึ่งนึง เรียนวิชาที่ไม่เกี่ยวอะไรเลยอีก แต่เราพุ่งเป็น dev อย่างเดียว เรียนเฉพาะวิชาที่ทำให้เรากลายเป็น dev อาจจะเหลือปีสองปี ถ้าคิดอย่างงี้แล้ว อย่างแย่ที่สุดคือ 4 ปี เราต้องเป็น dev ได้แน่ๆ

แต่มันอาจจะ fail ก็ได้นี่นา

เรารู้ว่าเราตั้งใจ ผ่านไปปีนึงเราอาจจะเจอว่าเราไม่ได้ชอบ ก็จะเสียเวลาไปปีนึง แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เราต้องรู้ตัวว่าทุกวันเราเดินไปข้างหน้า สำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่สำคัญหรอก มันสำคัญว่าเราพัฒนาตัวเองทุกวัน ถึงสุดท้ายเราเป็น dev ไม่ได้ แต่การฝึกเป็น dev ก็ทำให้เราคิดเป็น logic มากขึ้น ทำให้เรามี process ในการคิดชัดเจนขึ้น ถ้าเรากลับไปทำงานสถาปัตย์ เราก็มีมุมมองใหม่ๆ ที่อาจจะช่วยให้เราออกแบบได้ดีขึ้น

แล้วก็สมัครงานโดยไม่มีวุฒิและประสบการณ์เลย

ตอนสมัครงานก็หนักอยู่ เพราะเราไม่รู้ว่าอาชีพนี้สัมภาษณ์กันยังไง ไปขอคำแนะนำจากพี่ชายที่ทำอยู่ Microsoft  เราก็ไปเอาหนังสือเรื่อง algorithm มาอ่าน เชี่ย ยากสัส ทำโจทย์ทุกวัน รอดบ้างไม่รอดบ้าง นึกว่าจะสัมภาษณ์กันแบบนั้น ต่อให้เราเตรียมตัวมาดีก็ยังไม่จบ เพราะจะมีบริษัทไหนจะให้โอกาสเราสมัคร โดยเฉพาะคนเปลี่ยนสาย ตอนนั้นก็สมัครเฉพาะบริษัทที่เราพอมี connection ถึง ไม่อยากไปมั่ว เราต้องมั่นใจว่าเป็นบริษัทที่เราได้เรียนรู้

รู้จัก Skooldio ได้ยังไง

รู้จัก Skooldio จากพี่ที่เคยแข่ง hackathon ด้วยกันมา ก็เลยถามเค้าเกี่ยวกับบริษัทแบบจริงจังเลย คิดว่ามาบริษัทนี้น่าจะได้เรียนรู้มากที่สุด ก็เลยสมัคร แล้วก็ hold ที่อื่นๆ ทั้งหมดไว้ก่อน ตอนสัมภาษณ์ครั้งแรกยัง video conference จากอเมริกาอยู่เลย ลองดู ถ้าไม่ได้ค่อยไปสมัครที่อื่น ตอนนั้นรู้ว่า algorithm ตัวเองไม่รอดนะ ก็บอกพี่ต้า (MD ของ Skooldio) ว่าถ้าพี่สัมภาษณ์ algorithm ผมไม่รอดนะครับ (ฮา)

คิดว่าตอนนี้ยังแฮปปี้กับสายนี้

คิดว่ายังแฮปปี้อยู่นะ ก็เป็น industry ที่ค่อนข้างจะเปิดกว้างที่สุดแล้วมั้ง มีอะไรสนุกๆ ให้ทำเยอะ

ไม่เสียดายสถาปัตย์ที่เรียนมา?

คำถามนี้ถามตัวเองบ่อยมาก เสียดายมั้ย… (นิ่ง) เอาจริงๆ แล้ว ถ้าถามว่ายังอยากเป็นสถาปนิกอยู่มั้ย เวลาเจอเพื่อนที่เป็นสถาปนิก เราอยากเป็นแบบนั้นมั้ย … อยาก อยากทำสถาปัตย์ เรามี passion กับมัน และรู้สึกว่ามันเปลี่ยนโลกได้ แต่ก็ไม่เคยเสียใจที่มาทางนี้ และก็ไม่คิดว่าจะปิดกั้นตัวเองว่าจะไม่กลับไปด้วย รู้สึกว่าพอถึงจุดนึงก็แล้วแต่เราแล้ว เราเคยโดดมาครั้งนึงแล้วนี่ ถ้าเราลืมสถาปัตยกรรมไปอย่างมากเราก็โดดกลับไป 5 ปี

มีเป้าหมายชีวิตมั้ย

อยากจะเอา technology กับ architecture มารวมกันให้ได้ แต่ว่าพอเราทำไปเรื่อยๆ เราโตขึ้น mindset เราก็เปลี่ยนไป ก็ไม่ได้ยึดติดกับว่าจะต้องเป็นสองอย่างนี้ ไม่ต้องสถาปัตยกรรมก็ได้นะ ชีวิตมันก็ไม่ได้แค่งานกับเป้าหมายอย่างเดียวละ มันคือรอบข้างทั้งหมดที่ต้องทำให้กลมกล่อม นอกจากสถาปัตยกรรมแล้วก็ยังมีอีกหลายๆ สิ่งที่อยากจะลองดู ที่อยากจะค้นหาไปมากกว่านี้อยู่เยอะเหมือนกัน คือ technology มันเปิดโลกของเราไปแล้ว เราอาจจะอยากไปให้สุดในด้านอื่นๆ อีกก็ได้…


เมื่อไหร่ก็ตามที่เราหยุดอยู่กับที่ นั่นหมายความว่ามีคนอื่นกำลังเดินแซงเราไป และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เราหยุดเรียนรู้ นั่นหมายความว่าเรากำลังก้าวถอยหลัง

ผมอ่านข้อความนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไป มันก็เป็นความจริงเสมอ you gotta go out and get what you want however you can เพราะโอกาสเป็นของคนที่พร้อมเสมอ

เพราะเราอยู่ในยุคที่เราเลือกได้ว่าเราจะเป็นอะไร

Chayaporn Tantisukarom
General Manager at Skooldio Tech

Comments are closed.