Blitzscaling

Blitzscaling เป็นหนังสือที่ว่าด้วยกลยุทธ์ที่บริษัทใหญ่ๆ ในปัจจุบัน ใช้ในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด เพิ่มกำไร เร่งการเติบโต และกลายมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ภายในเวลาอันรวดเร็ว

หนังสือ ‘Blitzscaling’

หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนโดย Reid Hoffman ซึ่งเป็น co-founder ของ LinkedIn, เป็น angel investor, และเป็นอดีต COO ของ PayPal ร่วมกับ Chris Yeh นักลงทุน angel investor ที่ต้องการจะแบ่งปันประสบการณ์และสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการขยายธุรกิจหลายๆ แห่งได้อย่างรวดเร็ว มาช่วยทำให้ผู้ก่อตั้งกิจการทั้งหลายสามารถสร้างธุรกิจให้ได้ส่วนแบ่งทางการตลาด และได้ผลกำไรภายในเวลาอันสั้น

คำว่า blitzscaling นั้นมาหมายถึงการเติบโตอย่างรวดเร็ว และยังทำให้ธุรกิจของคุณสามารถเดินหน้าไปอย่างยั่งยืนในเวลาเดียวกัน ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ ธุรกิจจะต้องผ่านอุปสรรคใหญ่ๆไปให้ได้ นั่นคือ คุณต้องหา product-market fit ให้เจอ และ คุณต้องทำให้วิธีการบริหารธุรกิจของคุณสามารถรองรับการขยายตัวออกไปได้พร้อมกันอีกด้วย

หนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วย 3 หัวข้อใหญ่ๆ ได้แก่

ช่วงที่ 1: blitzscaling ไม่ใช่เพียงแค่การเติบโตอย่างรวดเร็วได้เท่านั้น แต่คือการทำธุรกิจให้มั่นคงยั่งยืนไปด้วยพร้อมๆกัน

ในช่วงนี้ ได้กล่าวถึงการเติบโตอย่างรวดเร็ว ว่าเป็นสิ่งที่บริษัทสตาร์ตอัพต่างใฝ่ฝัน แต่ในความเป็นจริงนั้นกลับไม่ใช่เรื่องที่ง่าย หรือสวยงามอย่างที่คิดเลย เพราะเมื่อธุรกิจเริ่มขยาย และมีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาสั้นๆนั้น จะทำให้โครงสร้างการบริหารที่มีอยู่เดิมนั้น ไม่แข็งแรงพอ หรือไม่ยืดหยุ่นพอที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ทัน

คุณอาจจะมีวิธีการทำงานที่ดีสำหรับลูกค้าจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อจำนวนลูกค้าของคุณเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านคน เป็น 10 ล้านคน เป็น 100 ล้านคน วิธีการทำงานแบบเดิมของคุณอาจใช้ไม่ได้ผลอีกแล้ว ตรงนี้เองที่ Hoffman บอกว่า องค์กรจำเป็นต้องปรับปรุง หรือเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับวิธีการบริหารงาน เพื่อทำให้องค์กรสามารถเอาตัวรอดในสถานการณ์แบบนี้ให้ได้ด้วย

‘Blitz’ เป็นภาษาเยอรมัน ที่แปลว่า ‘แสง’ ซึ่งตีความได้อีกอย่างว่า ‘อย่างรวดเร็ว’ ขณะที่ ‘Scaling’ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ การพัฒนาธุรกิจโดยคงสัดส่วนของการทำงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน วัตถุดิบไว้เท่าเดิม และส่วนที่สองคือ การทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อรองรับให้บริการลูกค้าเป็นล้านๆ คนได้

เมื่อนำมารวมกัน Blitzscaling จึงหมายความถึง กระบวนการในการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว อย่างก้าวกระโดด เพื่อรองรับลูกค้าจำนวนมหาศาล โดยที่ต้องปรับโครงสร้างการบริหารงานให้สอดคล้องกับการเติบโตอย่างรวดเร็วนั้น เพื่อให้การเติบโตเป็นไปอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ช่วงที่ 2: ในการ blitzscaling องค์กรจะต้องบรรลุปัจจัยต่อการเติบโตทั้งหมด 4 ข้อ

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดนั้น เคยเป็นไปในรูปแบบของการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว วิธีหนึ่งที่ growth hackers หลายๆคนเคยใช้ ก็คือการเร่งการเติบโตขององค์กรให้เป็นขนาดใหญ่ได้ก่อน จากนั้นจึงค่อยมองหาแผนทางธุรกิจเข้ามารอบรับ แต่วิธีนี้อาจไม่ได้ผลอีกแล้ว

Reid Hoffman บอกว่า มีปัจจัยที่จะช่วยให้องค์กรเติบโตได้ 4 ข้อ ซึ่งหากองค์กรสามารถทำได้ครบทั้ง 4 ข้อ ก็จะสามารถทำให้เกิด Blitzscaling ขึ้นได้ ซึ่งแม้ว่าจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละธุรกิจ แต่หากว่าองค์กรต้องการที่จะประสบความสำเร็จ พวกเขาจะต้องสร้างปัจจัยเหล่านี้ขึ้นมาให้ครบทุกข้อ แล้ว 4 ข้อนี้มีอะไรบ้าง?

ปัจจัยที่ 1: สร้าง network effects ให้ได้ โดย network effects นี้ คือการที่ผู้ใช้งานหรือลูกค้าเดิมนั้น สามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ใช้งานรายอื่นๆ หรือผู้ใช้งานใหม่ๆได้ และยังสามารถส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ใช้งาน ในการกลับเข้ามาใช้งานสินค้าและบริการของคุณในอนาคตด้วย ยกตัวอย่าง เครื่อง fax นั้นไม่สามารถสร้างประโยชน์แก่ผู้ใช้งานเพียงคนเดียว แต่จะสร้างประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีผู้ใช้งานเครื่อง Fax คนที่ 2 คนที่ 3 ที่สามารถรับ-ส่งข้อมูลต่อกันไปเรื่อยๆ เป็นต้น นี่คือประโยชน์ของ network effects

Image by Thomas Breher from Pixabay

ปัจจัยที่ 2: ขนาดของตลาดต้องใหญ่พอ สิ่งที่บริษัทสตาร์ตอัพนั้นชอบทำ คือการเลือกที่จะเริ่มต้นจากผู้ใช้งานกลุ่มเฉพาะ แล้วจึงขยายไปยังตลาดที่ใหญ่ขึ้น ไปยังคนทั่วๆไป แต่คุณต้องมองให้ออก ว่าสินค้าและบริการของคุณนั้นจะมีลูกค้ามากเพียงพอหรือไม่ เพราะหากคุณจับตลาดที่เล็กเกินไป จะทำให้คุณไม่สามารถขยายตลาดออกไปได้ตามที่คุณต้องการได้ ยกตัวอย่าง คุณตัดสินใจเปิดร้านขาย หรือให้บริการสักอย่างขึ้นมา คุณอาจจะพบว่าธุรกิจนั้นไปได้ดี มีลูกค้าเข้าร้านในระดับที่คุณพอใจ แต่ถึงจุดหนึ่งที่จะต้องขยายกิจการ คุณกลับขยายเพิ่มไม่ได้ เพียงเพราะธุรกิจของคุณนั้น อาจไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าทางออนไลน์ได้ เป็นต้น

Image by athree23 from Pixabay

ปัจจัยที่ 3: เลือกวิธีการกระจายสินค้าให้เหมาะสม คุณต้องเลือกช่องทางในการส่งมอบสินค้าของคุณให้สอดคล้องกับการขยายตัวของธุรกิจด้วย โดยคุณอาจจะใช้วิธีเดียวกันกับที่ Amazon ที่เลือกใช้ไปรษณีย์สหรัฐฯ ในการส่งสินค้าให้กับลูกค้า หรืออาจจะสร้างความรู้สึกอยากบอกต่อ หรือเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับลูกค้า แล้วให้พวกเขาเป็นผู้ช่วยของคุณ ในการแนะนำสินค้าและบริการให้กับคนรอบๆตัวของเขาได้เช่นกัน

Image by Ryan McGuire from Pixabay

ปัจจัยที่ 4: สร้างกำไรให้ได้มากที่สุด หรือคุณอาจจะกำหนดกำไรต่อหน่วยให้ได้มากที่สุด นั่นอาจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละธุรกิจ แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ ยิ่งคุณมีเงินเหลือจากกระบวนการทำงานมากเท่าไร คุณก็จะมีเงินเหลือไว้สำหรับการลงทุนเพิ่มขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การขายนั้นนับว่าเป็นหนึ่งในเรื่องที่ยากที่สุดในการขยายธุรกิจ ที่คุณจะต้องวางแผนให้รอบคอบทีเดียว

Image by TheDigitalWay from Pixabay

ช่วงที่ 3: องค์กรจะต้องเอาชนะ 2 อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดให้ได้ นั่นคือ การหา product-market fit ให้เจอ และ ต้องทำให้ธุรกิจสามารถขยายออกไปได้

ถึงแม้ว่าปัจจัยทั้ง 4 ข้อนี้จากช่วงที่แล้ว จะช่วยให้ธุรกิจของคุณสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม Reid Hoffman บอกว่า ยังมีอุปสรรคอีก 2 ข้อที่อาจจะขัดขวางไม่ให้ธุรกิจของคุณเติบโตได้ตามเป้า นั่นคือ การหา product-market fit และ คุณต้องทำให้การบริหารธุรกิจของคุณสามารถรองรับการขยายตัวออกไปได้

ตั้งแต่วันคุณเริ่มเดาความต้องการของลูกค้า มีโอกาสเป็นอย่างมากที่คุณอาจจะต้องเข้าไปปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการของคุณ มีสตาร์ตอัพชื่อดังหลายรายที่เคยต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจของตนเองอยู่หลายครั้ง กว่าจะพบกับสินค้าที่ลูกค้าต้องการจริงๆ เช่น PayPal ต้องปรับกลยุทธ์ถึง 4 ครั้ง, Instagram ต้องเปลี่ยนจากแอปเครือข่ายสังคมท้องถิ่น มาเป็นแอปที่ใช้แชร์รูปเพียงอย่างเดียว, ขณะที่ Medium เปลี่ยนจากงานโฆษณา มาเป็นแอปสำหรับติดตามคอนเทนต์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายอะไร แต่กลับเป็นเรื่องจำเป็นที่อาจจะเกิดขึ้น หากคุณต้องการไนำธุรกิจของคุณให้เอาตัวรอดได้

Image by Alexas_Fotos from Pixabay

อุปสรรคอีกข้อหนึ่งก็คือ ความสามารถในการบริหารจัดการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างองค์กร แรงงาน หรือวัตถุดิบต่างๆเพื่อช่วยให้คุณสามารถส่งมอบสินค้าและบริการของคุณให้กับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของลูกค้าได้ อุปสรรคนี้นับเป็นเรื่องเล็กมากสำหรับองค์กรด้านเทคโนโลยี แต่กับองค์กรที่เน้นด้านการผลิตเป็นหลัก คุณจะต้องเจอกับปัญหาหนักอย่างแน่นอนหากคุณไม่สามารถหาวัตถุดิบ ผู้ส่งมอบวัตถุดิบ หรือแรงงานได้ทันเวลา

Image by Jarosław Bialik from Pixabay

สรุป

Blitzscaling นับว่าเป็นหนังสือที่เล่าถึงเคล็ดลับของหลายๆ Startups ที่ประสบความสำเร็จเป็นพลุแตก ‘Blitzscale’ เป็นแนวทางการบริหารที่ให้ความสำคัญกับ ‘ความเร็ว’ เหนือ ‘ประสิทธิภาพ’ ภายใต้ความไม่แน่นอนของธุรกิจ และขับเคลื่อนองค์กรจากสตาร์ตอัพให้เป็น ‘Scaleup’ อย่างรวดเร็ว เพื่อก้าวสู่การเป็นเจ้าตลาดก่อนคู่แข่ง นับว่าเป็นหนังสือที่ผู้บริหารไม่ควรพลาดอีกเล่มหนึ่งเลย

Goodreads: 4.06 (1,777 ratings)

อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://www.blitzscaling.com/

More in:Business

Comments are closed.