becoming-finnomena-key-success

ในโลกจริงของการสร้างธุรกิจ หลายครั้งการสร้าง Product ที่ดีว่ายากแล้ว แต่การพา Product ไปถึงจุดสำเร็จทางธุรกิจนั้นยากยิ่งกว่า พาไปดูเบื้องหลังของ Fintech Startup ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายกองทุนชั้นนำของไทยอย่าง FINNOMENA ถอดบทเรียนนอกตำราของการสร้าง Product และธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแรงจนสามารถผ่านบททดสอบที่ท้าทายที่สุดของตลาดการลงทุนอย่าง Covid-19 และพลิกวิกฤตกลับมาสร้างรายได้มากถึง 466.35 ล้านบาท ในปี 2021

พูดคุยเจาะลึกถึงเส้นทางของ FINNOMENA กับคุณแก๊ป ณพวัฒน์ มุกตพันธุ์ Chief eXperience Officer ที่อยู่กับบริษัทมาตั้งแต่วันแรก จนเป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าใจทั้งในมุมการพัฒนา Product และการปรับตัวทางธุรกิจในทุกเฟสของ FINNOMENA อย่างใกล้ชิด

จุดเริ่มต้นที่อยากเป็น ‘Netflix’ แห่งโลกการลงทุน

“การมี Financial Literacy ที่ดีเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้คนเก็บเงินเพื่อเกษียณอายุได้อย่างมีความสุข”

นี่คือ Pain Point หรือปัญหาที่ทาง FINNOMENA เห็นและอยากลงมือแก้ปัญหามาตั้งแต่วันแรกๆ

ผลการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2016 พบว่าทักษะเรื่องการเงิน (Financial Literacy) ของคนไทยอยู่ในระดับ ‘ต่ำ’ เมื่อเทียบจากค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD

ปัญหานี้เองที่ทำให้ FINNOMENA ในช่วงแรกมุ่งเน้นไปที่การ ‘เพิ่ม’ ความรู้ด้านการเงินให้กับคน ผ่านการสร้าง Knowledge Hub Platform หรือ แพลตฟอร์มรวบรวมความรู้ด้านการเงินที่เชื้อเชิญให้คนเข้ามาศึกษา Content ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งบทความ วิดีโอ Live Podcast และ Infographic โดยนิยามตัวเองว่าเป็น ‘Netflix’ แห่งโลกการลงทุน

finnomena-chief-experience-officer

คุณแก๊ป ณพวัฒน์ มุกตพันธุ์ Chief eXperience Officer, FINNOMENA

มองตัวเองเป็น ‘Fintech Startup’ ตั้งแต่วันแรก

วินาทีแรกที่สร้าง Knowledge Hub Platform ขึ้นมา FINNOMENA ไม่ได้มองตัวเองเป็นแค่ ‘เว็บไซต์’ รวบรวม Content ด้านการลงทุนให้คนเข้ามาอ่านอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องมี ‘Decision-making Tools’ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน หรือช่วยหาความรู้ที่ถูกต้องสำหรับการลงทุนได้

ดังนั้น FINNOMENA จึงไม่ได้สร้างบริษัทขึ้นมาในลักษณะของบริษัทผลิต Content แต่เป็นลักษณะขององค์กรที่ใช้ Technology เป็นตัวนำ (Tech-first Company) โดยมองตัวเองเป็น Fintech Startup (Fintech: การนำเทคโนโลยีมาใช้กับการเงิน การธนาคาร และการลงทุน) มีทีมตั้งต้นทั้ง ทีมการเงินการลงทุนที่ดูแลในฝั่งธุรกิจ และทีมเทคโนโลยีที่ดูแลด้านการพัฒนา Digital Product รวมเป็นส่วนผสมตั้งต้นอันลงตัวที่ทำให้ FINNOMENA สามารถพัฒนา Product ได้ดีและรวดเร็วนั่นเอง

Pivot ครั้งใหญ่ เมื่อลูกค้ายังไม่พร้อมกับโมเดลแบบ Netflix

FINNOMENA ในช่วงแรกเลือกใช้ ‘โมเดลสมัครสมาชิกรายเดือน (Subscription Model)’ ที่ให้ผู้ใช้จ่ายเงินเพื่อรับความรู้และเทคนิคการลงทุนในแต่ละเดือน มอบสิทธิพิเศษให้กับสมาชิกในการเข้าถึงบทความที่เขียนโดยกูรูด้านการเงินชื่อดัง สิทธิการเข้าร่วมสัมมนา ไปจนถึงการเข้าร่วมฟังรายการสดพิเศษเพื่อลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะ ในช่วงแรกยังไม่มีการเก็บเงินลูกค้า เสมือนเป็น Free trial เพื่อให้ลองเข้ามาใช้บริการดูก่อนในระหว่างที่บริษัทกำลังพัฒนา Product ไปด้วย

ทว่าโมเดลในลักษณะนี้ยังไม่ถูกจริตกับผู้ใช้ชาวไทยในขณะนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าย้อนไป 7-8 ปีที่ก่อนที่ Netflix หรือ Spotify ยังไม่เปิดให้บริการในไทย รูปแบบ Subscription Model ในลักษณะของการจ่ายค่าสมาชิกเพื่อใช้สินค้าและบริการยังไม่เป็นที่รู้จักและแพร่หลายเหมือนในปัจจุบันนัก

เมื่อ FINNOMENA มองเห็นปัญหานี้จึงได้กลับมาพูดคุยกันใหม่จนตัดสินใจ Pivot (การหมุนเปลี่ยนทิศในการทำธุรกิจ เมื่อธุรกิจพบความเปลี่ยนแปลง เช่นเจอโจทย์ปัญหาใหม่ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา หรือต้องการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ก็จะ Pivot หรือเปลี่ยนทิศทางไปหาจุดใหม่ที่ลงตัวทางธุรกิจ) จาก ‘นายหน้าขาย Content’ สู่การเป็น ‘นายหน้าขายกองทุนรวม’ ที่ให้ลูกค้าสามารถมาลงทุนบน Platform ได้เลย

สิ่งที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ FINNOMENA จะทำการ Pivot ตัวธุรกิจเพื่อหาช่องทางรายได้ใหม่ แต่ยังไม่ได้ Pivot ตัว Product โดยสมบูรณ์ Content ความรู้การลงทุนก็ยังเปิดให้คนทั่วไปให้มาศึกษาได้ เป็นการเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบของ Content Marketing (การตลาดที่ใช้ Content เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย) เพื่อดึงให้ผู้ใช้เข้ามาทำความรู้จักแบรนด์ สร้าง Awareness ให้กับตัวบริษัท เทคนิคนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากจนทุกวันนี้เองคนทั่วไปก็ยังจดจำ FINNOMENA ในแง่มุมของการให้ความรู้ด้านการลงทุนมาโดยตลอด

finnomena-chief-experience-officer-2

‘เทคโนโลยี’ แต้มต่อในการแข่งกับคู่แข่งจากโลกการเงินเก่า

ปฏิเสธไม่ได้ว่า FINNOMENA ไม่ใช่ธุรกิจเจ้าแรกหรือเจ้าเดียวที่ทำธุรกิจในลักษณะนี้ แต่ FINNOMENA คือธุรกิจที่ไม่ได้เติบโตมาจากธุรกิจหรือสถาบันทางการเงินที่นำเทคโนโลยีเข้ามาจับในภายหลังเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้า แต่ตั้งต้นตัวเองเป็น ‘Fintech’ ที่มองว่า ‘เทคโนโลยี’ จะช่วยให้ ‘เข้าถึง’ คนหมู่มากได้

ในขณะนั้นเอง ประเทศไทยยังไม่มีธุรกิจไหนที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาจับเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการเงินการลงทุนโดยตรง จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับ FINNOMENA ที่จะนำบริการที่มีเหมือนๆ กับเจ้าอื่นแต่ต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อเข้าถึงบริการนั้นๆ มานำเสนอให้ลูกค้าในราคาที่ถูกกว่า

เช่น การให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาจากกูรูด้านการลงทุนในระดับคุณภาพที่ดีเท่ากัน แต่นักลงทุนมีเงินเพียงแค่ 5,000 บาทก็สามารถเริ่มลงทุนกับ FINNOMENA ได้แล้ว

แม้ว่าจะไม่สามารถจัดหาผู้ดูแลเพื่อพูดคุยให้คำปรึกษารายตัวได้ แต่ FINNOMENA มีจุดแข็งเรื่องเทคโนโลยีที่สามารถเข้าไปจับถึงตัวลูกค้าได้มากขึ้นผ่านตัว application หรือเว็บไซต์ ทำให้สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว (Scale)

ยิ่งไปกว่านั้น การมี Knowledge Hub ที่เป็น Content Platform นอกจากจะทำให้เข้าถึงลูกค้าได้กว้างไกลขึ้นแล้วยังช่วยในการพัฒนา Product ได้ด้วย ก่อนที่จะปล่อย Product หรือแผนการลงทุนใหม่ที่ใช้เวลาในการพัฒนานาน ก็ลองปล่อยออกมาเป็น Content เพื่อดูกระแสตอบรับว่ามีลูกค้าสนใจ Product นี้มากน้อยแค่ไหน

มีทั้งกรณีที่ลูกค้าศึกษา Content แล้วสามารถสร้างการลงทุนได้ด้วยตนเอง หรือการรับลงชื่อเพื่อติดต่อกลับให้คำปรึกษาการออกแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับ Content นั้นๆ เป็นต้น

เมื่อทำในลักษณะนี้เข้าบ่อยๆ ทำให้สามารถจับได้ว่านี่คือสิ่งที่ลูกค้า ‘ต้องการ’ จริงๆ จาก Content หนึ่งชิ้นจึงสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดออกมาเป็น Product คำแนะนำ หรือ Feature ใหม่ๆ ในแอพพลิเคชันต่อไป

ปรับ Product เพื่อรองรับ Business Model ใหม่

อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ FINNOMENA คือการพัฒนา Product ‘ Platform สำหรับการซื้อขายลงทุนรวม’ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน

  1. ส่วนการให้คำแนะนำการลงทุน ทำได้ไม่ยากด้วยความสามารถทางเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน
  2. ส่วนที่ช่วยให้คนได้คำแนะนำแล้วสามารถไปลงทุนได้จริง คือ ระบบการซื้อขายกองทุน จะเป็นส่วนที่ยากกว่าส่วนแรกเพราะต้องใช้เวลาในการพัฒนาค่อนข้างนานเป็นหลักปี

ด้วยความเป็น Startup ทำให้ธุรกิจไม่สามารถรอนานขนาดนั้นได้ วิธีแก้ปัญหาคือการไป Partner หรือร่วมมือกับธุรกิจอื่นเพื่อขอใช้ Platform ของเขาก่อนระหว่างที่กำลังพัฒนา Platform ของตัวเอง โดยมีการแบ่งรายได้ (Revenue) ให้บางส่วน ทำให้ FINNOMENA สามารถพัฒนาธุรกิจให้คำแนะนำและซื้อของกองทุนรวมได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน

 

สร้างพื้นฐานรองรับการเติบโตแบบก้าวกระโดด

จุดที่ทำให้ FINNOMENA เติบโตทางธุรกิจแบบก้าวกระโดด (Exponential Growth) และเป็นหลักสำคัญสำหรับธุรกิจที่ทำให้เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ มีอยู่ 2 ปัจจัยด้วยกัน

  1. การย้ายจาก Platform ของ Partner มายัง Platform ของตัวเอง
    จุดสำคัญของการสร้าง Platform ของตัวเองคือการที่ไม่ต้องแบ่งรายได้กับใคร และยังช่วยให้สามารถพัฒนาหลายๆ Feature ที่เจ้าอื่นยังไม่มีแต่สำคัญสำหรับการเติบโตต่อไปในอนาคตตัวอย่างเช่น การซื้อกองทุนเป็นชุด จากเดิมที่คนทั่วไปเลือกซื้อทีละกองแต่ FINNOMENA ที่ให้คำแนะนำหลายๆ กองทุนในครั้งเดียว จึงจำเป็นต้องมี Feature ที่รองรับการซื้อกองทุนหลายๆ กองในครั้งเดียวได้ เป็นต้น
  2. การพัฒนาระบบ Trade ให้เปิดบัญชีผ่านช่องทางออนไลน์ได้โดยไม่ต้องใช้กระดาษย้อนไปเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ประเทศไทยยังไม่มีข้อบังคับ (Regulation) เรื่องการเปิดบัญชีออนไลน์ ทำให้ลูกค้าหลายท่านมีปัญหากับการจัดการเอกสารเพื่อเปิดบัญชีก่อนหน้านี้ FINNOMENA แก้ปัญหานี้ให้ลูกค้าด้วยการสร้างแบบฟอร์มออนไลน์ให้ลูกค้ากรอกข้อมูลเข้ามาแล้วใช้พนักงานกรอกข้อมูลลงไปในแบบฟอร์มเปิดบัญชีให้อีกทีแล้วส่งเอกสารกลับไปให้ลูกค้าเซ็นต์ระหว่างที่ทำก็ได้มองเห็นถึงโอกาสว่าเมื่อไหร่ที่สามารถเปิดบัญชีออนไลน์ได้จะสามารถช่วยเรื่องนี้ได้เยอะมาก และเมื่อวันที่ข้อบังคับการเปิดบัญชีออนไลน์ผ่าน FINNOMENA จึงเป็นเจ้าแรกๆ ที่เข้าร่วมและลูกค้าสามารถเปิดบัญชีออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชันภายใน 10 นาที พร้อมลงทุนได้เลย

บททดสอบความแข็งแกร่ง Covid-19

บททดสอบของ FINNOMENA คือ หากมีวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นแล้วสามารถประคับประคองตัวเองให้ผ่านไปได้ ธุรกิจนี้ก็น่าจะไปรอด

และเมื่อมาถึงจุดเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นจริงจากสถานการณ์โควิด-19 ทุกภาคส่วนเกิดความตื่นตระหนกตกใจจากสภาพตลาดที่ผันผวน หรืออารมณ์ความรู้สึกของนักลงทุนที่รู้สึกไม่มั่นคงและวิตกกังวลจากข่าวแง่ลบที่เกิดขึ้นทุกวัน

จุดนั้นเอง FINNOMENA รู้ดีว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการในตอนนั้น คือ การพูดคุยและสื่อสารอย่างใกล้ชิดมากกว่าแต่ก่อนเพื่อคลายความวิตกจากความผันผวนของตลาด จากเดิมที่ FINNOMENA เคย Live เพียงสัปดาห์ละครั้งก็เพิ่มความถี่มาเป็นการ Live ทุกวัน

FINNOMENA-live-covid-19

Source: finnomena.com

นอกจากนั้น FINNOMENA ยังสร้าง Dashboard ที่คล้ายกับการรายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิดแต่โฟกัสไปในมุมเศรษฐกิจแทน เพื่อให้นักลงทุนเข้ามาดูว่าโควิดส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างไรและจะปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนได้อย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ยังมีการออกแผนการลงทุนสำหรับช่วงโควิดโดยเฉพาะ เพื่อให้นักลงทุนแบ่งสินทรัพย์จากจุดที่มีความเสี่ยงสูงย้ายมาลงในส่วนนี้เพื่อไม่ให้สูญเสียเงินลงทุนไปมากกว่าเดิม

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ นักลงทุนชื่นชอบมาก สาเหตุอาจเป็นเพราะ FINNOMENA ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้รวดเร็วกว่าคู่แข่งเจ้าอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ทำให้จากเดิมที่ไม่กล้า Live ทุกวันเพราะมีทรัพยากรคนไม่พอและกลัวคนจะไม่มาดู กลายมาเป็นต้อง Live ทุกวัน เช้า-เย็น จนคนดูติดเป็นนิสัยและมีผู้เข้าชมในจำนวนที่สม่ำเสมอหลังจากนั้นเป็นต้นมา

สิ่งที่ FINNOMENA ทำในช่วงโควิด-19 ส่งผลกระทบแง่บวกต่อนักลงทุนมากจนทำให้ลูกค้าเริ่มมั่นใจในธุรกิจ FINNOMENA มากขึ้นเรื่อยๆ มีการแนะนำเพื่อนมาใช้มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด 30 เท่าในช่วงปี 2021  เห็นได้จากยอดคนเปิดบัญชีใน 1 เดือนหลังโควิดเวฟแรกมีจำนวนรวมกันเยอะกว่าจำนวนบัญชี 3 ปีแรกของบริษัทเสียอีก

finnomena-chief-experience-officer-3

สิ่งที่ได้เรียนรู้ตลอดเส้นทางของ FINNOMENA

สิ่งที่คุณแก๊ปได้เรียนรู้จากการทำบริษัท FINNOMENA มา 7 ปี คือการได้รู้ว่าต่อให้ทำทุกอย่างถูกตามตำราการสร้าง Product ก็ไม่ได้การันตีความสำเร็จได้ทันทีเสมอไป

เช่น การมี Product-Market Fit (จุดลงตัวระหว่าง Product กับตลาด) ที่ถูกต้อง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิด Traction (​​ความสามารถในการดึงลูกค้าให้หันมาใช้สินค้าของเรา วัดจากจำนวนผู้เข้ามาใช้งานปัจจุบัน ผู้ที่กลับมาใช้งานซ้ำ หรือจำนวนลูกค้าที่จ่ายเงินให้เรา) ขึ้นทันที

ในความเป็นจริงแล้ว ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่คือการหมั่นสร้างรากฐานมาอย่างต่อเนื่อง คอยพัฒนา Product ของเราให้ตอบโจทย์ตลาดอยู่ตลอดเวลา แล้วความสำเร็จจะผลิดอกออกผลได้เองในจังหวะที่ถูกต้องเหมาะสม อย่างในกรณีของ FINNOMENA ที่เปิดบริษัทมาตั้งแต่ปี 2018 แต่เพิ่งจะเจอจุดปี 2021 ที่ทุกอย่างที่ธุรกิจสั่งสมมาเข้าสู่จุดลงตัวและเกิดการก้าวกระโดดได้ในชั่วข้ามคืน

อนาคตของ FINNOMENA

เป้าหมายของ FINNOMENA ในตอนนี้ คือ “การช่วยคนให้เริ่มต้นลงทุนครั้งแรก ไปจนถึงการลงทุนครั้งสุดท้ายได้”

ปัจจุบัน FINNOMENA เป็นแบรนด์แรกๆ ที่คนนึกถึงเมื่อต้องการซื้อกองทุนรวมได้แล้ว ก้าวต่อไปของ FINNOMENA จะเป็นการเพิ่มทางเลือกการลงทุน (Alternative Investments) ให้นักลงทุนมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น ‘Guru Port’ Product ที่ให้กูรูด้านการลงทุนมาสร้างพอร์ตการลงทุนบน Platform ของ FINNOMENA ตอบโจทย์นักลงทุนบางท่านอาจยังไม่มีความมั่นใจในเรื่องกองทุนรวมกับทาง FINNOMENA มากนักแต่จะมีกูรูด้านการลงทุนที่ให้ความไว้วางใจและเชื่อมั่นมากกว่า หรือเหรียญ ‘FINT’ เหรียญคริปโตที่ช่วยในการซื้อขายกองทุน และยังมี Roadmap ที่จะช่วยให้เติบโตเป็นการลงทุนที่ดีและชัดเจนขึ้นต่อไปในอนาคต เป็นต้น

More in:Business

Comments are closed.