อีกไม่กี่วัน หลายๆมหาวิทยาลัยก็จะเปิดเทอมกันแล้ว น้องๆที่เรียนอยู่หลายคนก็คงเพิ่งจะผ่านพ้น Internship Program หรือเรียกสั้นๆว่า การฝึกงาน ในช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา ซึ่งการฝึกงานส่วนใหญ่ ก็มีจุดประสงค์เพื่อให้น้องๆ ได้ลองทำงานจริง ในบริษัทจริง เพื่อเป็นการเตรียมตัวก่อนที่จะจบออกไปสู่โลกของการทำงานจริงหลังเรียนจบ

 

ในช่วงที่ผ่านมา Skooldio เอง ก็มีน้องฝึกงานเข้ามาเยี่ยมเยียนบริษัทเราถึง 6 คนด้วยกัน เป็น 6 อรหันต์ ที่คัดสรรมาเป็นอย่างดี และหลุดรอดจากแรงดึงดูดของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายเจ้ามา (สำหรับมุมมองฝั่งน้อง ๆ สามารถติดตามได้ Skooldio Internship มากกว่าความรู้ที่ได้รับ ของ Kunanan Tassuwan) ซึ่งการมาของน้อง ๆ นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงานของพี่ ๆ และเป็นการเพิ่มเติมประสบการของน้อง ๆแล้ว ในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็ถือว่าการมาร่วมทีมของน้อง ๆ ในครั้งนี้ เป็นการฝึกงานของพี่ ๆ ด้วยเหมือนกัน

แล้วพี่ ๆ ได้ฝึกอะไร

ในบริษัทขนาดเล็กอย่าง Skooldio ที่ทีม Dev มีจำนวนเป็นเลขหลักหน่วยนั้น การมาของน้อง ๆ คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ Dev ทุกคน เมื่อพี่ต้า (MD ขาโหด) ให้โจทย์ว่า น้องฝึกงานปีนี้ จะตั้งเป้าให้เป็นการ Working จากที่ปีที่แล้วน้อง ๆ มาเพื่อ Learning โจทย์คือ เราจะทำเสมือนน้องเป็นพนักงานประจำ และครั้งนี้จะเป็นการฝึกพี่ ๆ สำหรับการขยายทีม (Skooldio รับคนเพิ่มอยู่นะครับ กดที่นี่ เพื่อดูรายละเอียดได้)


หลังจากผ่านไปแล้ว 2 เดือน เรามาดูกันดีกว่า ว่าเราทำอะไรให้น้อง ๆ บ้างเพื่อตอบโจทย์ที่ตั้งไว้

เก็บห้อง เคลียร์ออฟฟิศ เตรียมที่ให้น้อง

นั่นคือสิ่งแรกที่เกิดขึ้นเมื่อน้อง ๆ กำลังจะมา และเป็นช่วงที่ย้ายห้องทำงานกันด้วย ของหลายอย่างก็เลยต้องเอามาหาวิธีเก็บ เก็บมาก เก็บน้อย หรือไม่เก็บแล้วก็เอาผ้าคลุม แล้วก็จัดแจงเตรียมที่นั่งให้กับน้องอย่างตั้งใจ เพื่อให้ได้นั่งด้วยกันทั้งหมด (ตั้งเป็น มุมอินเทิร์น) อันนี้ผมว่าเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่สำคัญนะครับ เมื่อน้องมาถึงก็จะได้รู้ว่า มี ที่สำหรับตัวเองในทีมนี้ ทั้งในเชิง Physical และ Psychological (เคยเจอมั้ยครับ ไปฝึกงานวันแรก ไม่มีที่ให้นั่ง)

Ship On Day One (Orientation)

เพื่อให้น้อง ๆ ได้พบกับประสบการณ์ที่ไม่เคยเจอที่ไหน ทีมพี่ ๆ Dev เลยตั้งใจจะให้น้องส่ง Pull Request ตั้งแต่วันแรก พี่ ๆ ก็เลยต้องทำการบ้าน และเตรียมตัวเพื่องานนี้ แต่ด้วยภาระงานหลายอย่าง ทำให้เราต้องมารีบทำกันเอาตอนใกล้ ๆ น้องจะมา สิ่งที่เราต้องเตรียมให้น้องเพื่อจะให้น้องพร้อมลุย คือ

  1. Overview ของ Skooldio เพื่อให้น้องเห็นภาพรวมของบริษัท ที่มาที่ไป และเป้าหมายร่วมกัน
  2. Technical Overview เพื่อให้น้องมีความรู้คร่าว ๆ เกี่ยวกับการออกแบบ และโปรเจ็คต่าง ๆ ที่พี่ ๆ ทำอยู่
  3. Laptop Setup อันนี้ตั้งใจทำให้ง่ายที่สุดเพื่อให้น้องสามารถรันโปรเจ็คเพื่อเริ่มทำงานได้เลย
  4. Tasks อันนี้เราคุยกับ PO เลยว่ามีงานไหนหรือบั๊กตัวไหนที่ Scope งาน พอที่จะเสร็จได้ในเวลาที่กำหนดหรือเปล่า แล้วก็เลือกเตรียมไว้ให้น้องเลยครับ

พอถึงวันจริง แม้ว่าจะมีอะไรขลุกขลักไปบ้าง (เช่น เตรียม environment ของ Windows แล้วบางเครื่องรันไม่ได้) แต่โดยรวมก็ดูน้อง ๆ ตื่นเต้นตกใจกับความแปลกใหม่ของทำงานวันแรก ที่ต้องส่งงานเลย (ตามที่พี่ ๆ หวังไว้) วัดจากหน้าตาของน้องที่แสดงความสมองบวมเล็กน้อยกับการรับข้อมูลที่พี่ ๆ ป้อนให้ในวันนั้น และความท้าทายจากงานที่ต้องทำให้เสร็จ (แม้ว่าวันนั้นจะไม่ได้ Pull Request กัน แต่เช้าวันต่อมาน้องก็ส่งกันมาทันที ให้พี่ ๆ ได้ชื่นใจ)

Put them in Real Sprint

เมื่อน้อง ๆ ตั้งแคมป์รับงานจากพี่ ๆ (หน้าเครียดไปปะครับ)

หลังจากที่น้อง ๆ ได้ทำ งานเล็กงานน้อย เพื่อให้คุ้นเคยกับโค้ดบ้างแล้ว เราก็ไม่รอช้า มอบหมายงานใหญ่ให้น้องไปทำคือการย้าย Backoffice เก่าของ Skooldio ไปยังหน้า Backoffice ใหม่ ที่มีการ Design ที่ดีขึ้น โดยให้น้อง ๆ ช่วยกันออกแบบ โดยมีพี่ ๆ เป็นที่ปรึกษา ผลคือ น้อง ๆ จะงง ๆ ในช่วงแรก ว่าต้องทำยังไง แต่พอคุยกันเองในกลุ่มน้อง ๆ แล้วก็จากการปรึกษาพี่ ๆ ก็ได้ Design ที่ออกมาใช้ได้เลยทีเดียว

น้อง ๆ ประชุมออกแบบ Backoffice ใหม่กันเคร่งเครียดมาก

ตอนแรกที่ให้งานนี้ เราสร้าง Sprint ให้น้องแยกออกจาก Sprint หลัก พร้อมทั้งอธิบายวิธีการทำงานแบบ Agile โดยน้อง Chayaporn Tantisukarom PO สายเทคนิคของเรา (เจ้าของบทความ Gamification) เพื่อให้น้อง ๆ ได้เห็นวงจรของการทำงานของ Agile ด้วยตัวเอง แต่พองานนี้เสร็จ น้อง ๆ ได้ทดลองทำงานแบบ Sprint ไปในระดับหนึ่ง พี่ ๆ ก็เลยตัดสินใจอันเชิญน้อง ๆ เข้าสู่ Sprint หลัก

ซึ่งการพาน้องเข้ามา เราไม่ได้พาน้องเข้ามานั่งเฉย ๆ ครับ เพื่อให้น้องได้รู้ Capacity ของตัวเองว่าแต่ละงานใช้เวลาเท่าไหร่ เราก็เลยให้น้องช่วยกัน Estimate Task ด้วย โดยใช้ Scrum Poker โดยถือว่าน้องคือหนึ่งเสียงที่ช่วยดึงการประเมินที่มักจะ Underestimate ของพี่ ๆ ได้พอสมควร แม้ว่าจะมีบ้างที่พี่ ๆ บอกว่า

4 เลยเหรอ พี่ว่าเอาไป 2 Story Point แล้วกันนะ ลองดู

Weekly One-One meeting

น้อง ๆ ทั้ง 6 ที่มาฝึกงาน จะต้องเลือกพี่ Mentor เป็นของตัวเองตั้งแต่สัปดาห์แรก โดยพี่ ๆ Mentor นี้จะรับหน้าที่ดูแลติดตามการเติบโตของน้อง ๆ ติดตามการทำงานและปัญหาต่าง ๆ ระหว่างการฝึกงาน ในแต่ละสัปดาห์ พี่ ๆ ก็จะนัดคุยกับน้องรายคน ว่าทำงานเป็นอย่างไรบ้าง ต้องการเรียนรู้อะไรเพิ่มบ้าง งานที่ทำอยู่ตอนนี้ ตอบโจทย์น้องหรือเปล่า เพื่อให้น้อง ๆ ได้ในสิ่งที่น้อง ๆ คาดหวังมากที่สุด หรือกระทั่งการรับฟังปัญหาชีวิตประจำวันของน้อง ๆ ปัญหาการเงิน ความรัก บลา ๆๆ ตามสไตล์ของพี่ ๆ Mentor แต่ละคน เพื่อคอยเก็บ Feedback จากน้อง ๆ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการให้ Feedback กับน้อง ๆ ไปด้วย

Take Pull Request seriously

Pull Request แรกของน้อง ๆ โดนกันไป 41 comment

เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะการเขียนโค้ดของน้อง ๆ เหล่าพี่ ๆ เลยตั้งปณิธานกันไว้ว่า เราจะไม่ปล่อยให้ Pull Request (ขอเรียกว่า PR) ของน้อง ๆ ลอยนวล โดยพี่ ๆ จะใช้เวลาอยู่กับ PR ของน้อง ๆ เยอะมาก บางคนหมดเวลาทั้งวันเพื่อรีวิว Code ให้น้อง เพื่อให้งานของน้องได้รับการตรวจและแนะนำ พี่ ๆ Dev ที่นี่เชื่อว่า น้อง ๆ จะพัฒนาการเขียนโค้ดได้ จากการอ่านรีวิวจากพี่ ๆ

ผลประกอบการตลอด 2 เดือนพิสูจน์ว่า น้อง ๆ ทุกคนมีพัฒนาการที่ดีมาก จาก Pull Request แรก ๆ ที่รวมแล้วมีประมาณ 30–40 คอมเม้นท์ ลดเหลือ 4–5 ก่อนที่จะจบฝึกงาน ความผิดพลาดเดิม ๆ เช่น การทิ้ง console.log ไว้ หรือการ Run test.only ก็มักจะไม่ปรากฏอยู่ใน PR หลัง ๆ การ Design วิธีการเขียน และการตั้งชื่อตัวแปร เริ่มจะตรงกับความต้องการของพี่ ๆ โดยไม่ต้องบอกเท่าไหร่แล้ว

จิบชากับพี่ต้า

หลังจากผ่านไปได้ 1 เดือน เพื่อให้น้อง ๆ ได้ Reflect ตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อผ่านการฝึกงานมาแล้วครึ่งทาง พี่ต้าก็ได้นัดน้อง ๆ ไปจัด session จิบชา ซึ่งอันนี้พวกพี่ ๆ ก็ไม่รู้จริง ๆ ว่าน้อง ๆ เผาอะไรพี่ ๆ ไปบ้าง แต่หลัก ๆ คือพี่ต้าได้ทำการเก็บความเห็นของพี่ ๆ ที่มีต่อน้อง ๆ แต่ละคน ทั้งประเด็นที่ต้องการชื่นชมและประเด็นที่ต้องตักเตือน เพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาในช่วงเวลาที่เหลืออีกครึ่งนึง

กิจกรรมสานสัมพันธ์ Intern

ทุกคนมีความตื่นเต้น ได้เจอเพื่อนคณะอื่น

เพื่อเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้พบเจอมนุษย์ฝึกงานคณะอื่นบ้าง นอกจากเจอกับพี่ ๆ ผู้โหดเหี้ยม และ comment PR ที่น่ากลัว ทาง บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด เลยจัดกิจกรรมให้น้อง ๆ ฝึกงานจากบริษัทในเครือ มาเจอะเจอกัน เพื่อสานสัมพันธ์น้อง ๆ ให้ได้รู้จักเพื่อนที่มาฝึกงานต่างคณะ เช่น อักษร บัญชี ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน 1 วันเต็ม น้อง ๆ มีความตื่นเต้นดีใจ โดยเฉพาะหนุ่ม ๆ ที่ดีใจจนออกนอกหน้า เมื่อรู้ว่าจะได้เจอสาวบริษัทข้างเคียง หุหุ

Design Thinking Workshop

Ideate กันรัว ๆ

นอกจากน้อง ๆ จะได้รับประสบการณ์การทำงานในสายงานที่ทำ พี่ ๆ ได้จัด Workshop เพื่อเติมทักษะที่สำคัญมากในยุคนี้ นั่นคือ Design Thinking ที่สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้ในหลาย ๆ เรื่อง โดยพี่ ๆ ทีม Workshop ของ Skooldio โดยใช้เนื้อหาเดียวกับการไปจัด Workshop ให้บริษัทภายนอก (ครับ เรามี Design Thinking Workshop ด้วย ติดต่อได้ที่เพจ Skooldio เลยครับผม)

ทำงานกะพี่ เคยตั้งใจอย่างนี้มั้ย ฮ่าๆๆๆ

Hackathon

ในสัปดาห์สุดท้าย ก่อนจะจบฝึกงาน หลังจาก Design Thinking Workshop เราได้ให้น้อง ๆ ใช้เวลา 4 วันสุดท้าย ทำ Hackathon โดยมีโจทย์จากพี่ต้าของเราว่า “จะทำอย่างไรให้เวิร์คชอปของเรา interactive มากขึ้น และทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” ซึ่งน้อง ๆ ก็ได้ทำ Prototype มาให้ดูในวันแรก ผ่านการให้คำแนะนำของพี่ ๆ แล้วก็ให้น้อง ๆ ใช้เวลาที่เหลืออีก 3 วัน ในการทำ Prototype นั้นให้ใช้งานได้จริง ซึ่งผลลัพธ์ที่อยากได้จากน้อง ไม่ใช่ Product ที่ดีเลิศ แต่อยากให้น้อง ๆ ได้ลองกระบวนการสร้างของขึ้นมา ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก Design Thinking Workshop

บรรยากาศ Hackathon

บรรยากาศ Hackathon

Benefit

ทำงานให้เรา เราตอบแทน

ที่นี่น้อง ๆ ฝึกงานจะได้ค่าตอบแทนจากการทำงาน (บางที่ทำฟรี ไม่ได้เงิน)ในเรทที่เหมาะสมและเกินกว่าเรทตลาดพอสมควร เพื่อเห็นแก่น้อง ๆ ที่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่กลางย่านที่ค่าครองชีพสูงอย่าง สยามสแควร์ (พี่ ๆ ก็บาดเจ็บเช่นกัน) แถมมีน้องบางคนที่ต้องมาเช่าหออยู่ใกล้กับบริษัทด้วย บริษัทเราก็เลยพยายามจะเพิ่มค่าตอบแทนให้น้องเท่าที่สามารถทำได้ ไม่เพียงแต่ค่าตอบแทนที่เป็นเงินเดือนเท่านั้น น้อง ๆ คนไหนที่ทำงานดีเป็นพิเศษ สามารถ Ship Code ได้มีคุณภาพและรวดเร็ว (เน้นว่าคุณภาพต้องมาก่อนนะครับ) ก็จะมีค่าตอบแทนที่เป็นโบนัสพิเศษให้ เพื่อเป็นรางวัลแห่งความตั้งใจอีกด้วย

เราได้เรียนรู้ว่า…

อ่านกันมานาน อาจจะสงสัยว่า ที่เราจัดสิ่งต่าง ๆ ให้น้องนั้น พี่ ๆ ได้เรียนรู้อะไรจากการฝึกงานครั้งนี้บ้าง ที่จริงต้องบอกว่า

นอกจากที่เราสอนน้อง น้องสอนอะไรเราบ้าง

  • เราได้เรียนรู้ว่า เด็กรุ่นใหม่ ไม่ได้ไม่สู้งานอย่างที่ใคร ๆ เค้าว่ากัน

น้อง ๆ ที่มาฝึกงานทำงานกันได้อย่างสู้งานมาก มาพร้อมความตั้งใจอยู่แล้ว พี่ ๆ สอนหรือบอกให้แก้ไขอะไรไป น้อง ๆ ก็จะกลับมาด้วยผลงานที่ดีขึ้น เหมือนเราเจอ Action Replay (ดักแก่) ที่มีสูตรการใช้งานน้อง ๆ ถูกวิธีด้วย ซึ่งต้องบอกว่าเป็นความโชคดีของ Skooldio อย่างมาก

  • เราได้เรียนรู้กว่า การมีคนเยอะขึ้น เรายิ่งต้องทำงานมากขึ้น

การมีคนเยอะขึ้นไม่ได้หมายความว่าเราจะทำงานง่ายขึ้นเสมอไป งานอาจจะมีคนช่วยทำมากขึ้นก็จริง แต่ความท้าท้ายจะถูกยกระดับเป็นการแบ่งงานของพี่ ๆ ที่ต้องคิดเยอะขึ้นหลายเท่า จะแบ่งอย่างไรให้น้อยสามารถทำได้ หรือต้องเขียนรายละเอียดแค่ไหน ซึ่งเป็นการบ้านที่พี่ ๆ ต้องมานั่งคุยกันเองและเรียนรู้ร่วมไปกับน้อง ๆ ทุกครั้ง ก่อนที่จะมี Sprint Planning

  • เราได้เรียนรู้ว่า เราต้องปรับตัวในการทำงานเพิ่มขึ้นแค่ไหน

เมื่อน้องมาตั้งแคมป์ (พี่ต้าใช้เรียกกลุ่มบุคคลที่ยืนกระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งนาน ๆ) ถามคำถามพี่ ๆ ตามโต๊ะทำงาน ทำให้หลายครั้ง พี่ ๆ ไม่ได้ทำงานของตัวเองเท่าที่ควร ทำให้พี่ ๆ หลายคนรู้สึกว่า Productivity ของตัวเองตก จนต้องมานั่งคุยกันตามร้านหมูทอดวาโกเรื่อย ๆ แล้วได้ข้อสรุปว่า แม้ว่าเราจะเสียเวลาในการทำงาน 1 งานของตัวเอง เพื่ออธิบายน้อง ๆ 3 คน แต่กลับทำให้งาน 3 งานนั้นเสร็จได้ (ถ้าทำเองอาจจะใช้เวลา 3 วัน) ก็นับว่าเป็นการลงทุนเวลาที่คุ้มค่า ในมุม Productivity ของทีม ซึ่งพี่ ๆ เองคงต้องปรับตัวกับความรู้สึกนี้ไปเรื่อย เมื่อทีมขยาย

  • เราได้เรียนรู้ว่า การให้ feedback เสมอ ๆ ส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนา

การที่น้อง ๆ ทุกคนมีความพยายามในการปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น (แม้จะทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง) ก็คงเพราะน้อง ๆ รู้ว่าจะต้องปรับปรุงอะไร ผ่านการ feedback ของพี่ ๆ ทั้งในรูปแบบของการพูดคุยทั่วไป, PR Code review, One on One หรือการจิบชากับพี่ต้า นั่นคือสิ่งที่พี่ ๆ พยายามจะทำอยู่เสมอ ๆ เพื่อให้น้องรู้ตัวทันเวลา และเกิดการปรับปรุง โดยไม่ได้รอให้การฝึกงานจบแล้วค่อยบอก ซึ่งก็คงจะสายเกินไป

ที่จริงก็มีสิ่งที่เราเรียนรู้อีกมาก จากการฝึกงานครั้งนี้ ซึ่งถ้ามีอะไรที่น่าสนใจเพิ่มเติม ผมคงเอามาเพิ่มให้เรื่อย ๆ ต้องยอมรับว่า น้อง ๆ ได้สอนให้พี่ ๆ ได้ unlock skill หลาย ๆ อย่างที่ไม่เคยคิดว่าจำเป็นสำหรับการทำงานสาย IT

ฝากถึงน้อง ๆ

การกิน ถือเป็นงานหนึ่งใน Sprint ที่ต้องทำ ==”

การกิน ถือเป็นงานหนึ่งใน Sprint ที่ต้องทำ ==”

สุดท้ายนี้ ก็อยากฝากถึงน้อง ๆ ที่มาฝึกงาน ทั้งที่มาฝึกกับ Skooldio หรือน้อง ๆ ฝึกงานที่ผ่านมาอ่าน และอ่านมาถึงตรงนี้ว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยนั้น เป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ เท่านั้น ยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมากในโลกของการทำงาน จงเตรียมตัวเองให้พร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ เพราะการทำงานจริง มันคือโลกจริงที่ไม่มีใครมาคอยช่วยตอบคำถามเหมือนตอนฝึกงาน ความคาดหวังในฐานะพนักงานประจำก็จะถูกยกสูงขึ้นจากการเป็นเด็กฝึกงาน มารยาทในการทำงานพื้นฐานที่ต้องรู้ (เช่น ไม่ควรถามแทรก ขณะที่พี่คุยงานหรือใช้สมาธิในการทำงานอยู่ หรือการไม่เกี่ยงงาน ไม่เลือกงานที่ทำจนเกินไป) ก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และปรับตัว เมื่อไปอยู่ในที่ทำงานใหม่ เรียนรู้ว่าเค้าอยู่กันอย่างไรมาก่อน แล้วปรับตัวให้ได้ จะทำให้น้องเป็นน้องที่น่ารัก ไม่ว่าจะไปทำงานที่ใดก็ตาม

ฝากถึงพี่ ๆ ที่ต้องมีน้องฝึกงาน

สำหรับพี่ ๆ พนักงานประจำที่จะต้องมีน้องฝึกงานในอนาคต น้อง ๆ เค้าต้องการมาเรียนรู้การทำงานจากพี่ ๆ หน้าที่ของพี่ ๆ ก็ควรจะพยายามให้ในสิ่งที่เค้าคาดหวังให้ได้มากที่สุด อย่ามองว่าน้องมาเป็นแรงงานให้เราใช้งาน หรือมาเป็นภาระให้เสียเวลาทำงานเพียงแค่นั้น

ในฐานะพี่ น่าจะใช้โอกาสนี้ฝึกทักษะการบริหารคน สอนคน สร้างคน คิดเสียว่าน้องเป็นคนในทีม ที่มีเราเป็นหัวหน้า แม้ว่างานประจำของตัวเองจะมีเยอะมากอยู่แล้ว แต่ระยะเวลาสั้น ๆ ช่วงซัมเมอร์ ถ้ามีโอกาสสอนน้อง ช่วยน้องได้ ก็เชิญชวนให้มาช่วยกันครับ ทำให้น้องประทับใจ นอกจากจะช่วยให้น้องอยากกลับมาทำงานกับเราแล้ว การบอกต่อของน้อง ๆ ยิ่งช่วยเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทอีกด้วย

สรุปส่งท้าย

การฝึกงานครั้งนี้ พี่ ๆ ทุกคนได้ทุ่มพลังกาย พลังใจอย่างมาก เพราะอยากให้น้องได้ประโยชน์จากการมาฝึกงานครั้งนี้มากที่สุด ในเวลาเพียง 2 เดือน พี่ ๆ หลายคน ลดเวลาทำงานตัวเอง เพื่อมาประชุมเตรียมงานให้น้อง รีวิวโค้ด ใช้เวลาทุกวันศุกร์เพื่อนั่งฟังน้อง ๆ เล่าเรื่องพัฒนาการของตัวเองให้ฟัง พยายามหาอะไรมาให้น้องทำเรื่อย ๆ หลายครั้งที่ต้องต่อรองงานกับ PO เพื่อขอเวลาในการทำงานเพิ่ม ทั้งหมดทั้งมวล ก็เพราะอยากให้น้อง ๆ ประทับใจ ที่มาฝึกงานกับเรา และไม่รู้สึกเสียดายเวลาที่เราได้มาทำงานร่วมกันตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา

ก่อนจบ ขอฝากสิ่งที่พี่ต้าของเราได้บอกไว้สำหรับการฝึกงานครั้งนี้

Philosophy ของพี่คือ น้องเลือกเราแล้ว เราต้องสุดกับน้อง ถึงแม้น้องจะไม่กลับมาทำงานกับเรา ไปทำที่อื่น ที่อื่นก็ต้องชมว่าเด็กที่เคยฝึกงาน Skooldio เก่งมาก

Comments are closed.