[Blog Cover] วิธีอ่านขาดทุกเรื่องราว! อย่ามองข้ามจุดเล็ก ๆ
ถ้าอยากเป็นคน ‘ตัดสินใจเฉียบคม‘ อ่านขาดทุกเรื่องราว ต้องอย่ามองข้ามจุดเล็ก ๆ !

สรุปจุดบอดความคิดกับหนัง 12 Angry Men สู่ผู้นำที่ตัดสินใจได้แม่นยำกว่าเดิม

หลายครั้งที่เราต้องตัดสินใจกับปัญหามากมายในชีวิตไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องครอบครัว เรื่องส่วนตัว แต่ทุกครั้งที่เราตัดสินใจไป แน่ใจแล้วหรือเปล่าว่าเราคิดวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและไม่มีอคติแล้ว?

วันนี้เราเลยอยากพาทุกคนไปรู้จักกับภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ที่อธิบายการคิดและการตัดสินใจไว้ได้อย่างเห็นภาพชัดเจน นั่นคือ 12 Angry Men ภาพยนตร์สุดคลาสสิกในปี 1957 จากผู้กำกับ Sidney Lumet และพาไปดูจุดบอดการของกระบวนการคิดที่รั้งให้เราตัดสินใจผิดทาง

**คำเตือน** เนื้อหาต่อไปมีการสปอยล์บางส่วน

หนังเรื่องนี้เล่าถึงคณะลูกขุน 12 คน ที่ต้องตัดสินความผิดเด็กชายวัย 18 ปี ในคดีฆาตกรรมพ่อของตนเอง โดยมติในคณะลูกขุนต้องเป็นเอกฉันทน์ 12:0 เท่านั้น ถึงจะตัดสินได้ว่าเด็กชายมีความผิดหรือไม่มี หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจะนำไปสู่โทษประหารชีวิต

ลูกขุนทุกคนได้เห็นหลักฐานและฟังพยานบนชั้นศาลอย่างพร้อมเพรียงก่อนจะหารือความผิดนี้ บรรยากาศในห้องดูแล้วเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ต่างคนต่างลงความเห็นว่าคดีนี้ตัดสินได้ง่ายมาก ด้วยหลักฐานที่หนาแน่นขนาดนี้ แต่แล้วในช่วงจังหวะที่โหวตตัดสิน ลูกขุนหมายเลข 8 กลับยกมือขึ้นมา บอกว่าเด็กชายไม่มีความผิด

การยกมือขึ้นของลูกขุนหมายเลข 8 ได้จุดประเด็นความคิด นำไปสู่การถกเถียง และเปิดเผยเบื้องหลังกระบวนการคิดก่อนนำสู่การตัดสินใจของคณะลูกขุนแต่ละคน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เรามองข้ามไปในการพิจารณาข้อเท็จจริงในแต่ละครั้ง

มองข้ามการคิดอย่างรอบด้าน

ดูผิวเผินหลักฐานทุกชิ้นตรงกับคำให้การของพยานอย่างไม่ต้องสงสัย เสียงดังเหมือนคนล้มพร้อมกับเด็กชายที่วิ่งออกมา และพ่อของเขาที่ถูกมีดแทงเสียชีวิต แต่เมื่อวิเคราะห์หลักฐานแต่ละชิ้นดูดี ๆ จะเห็นจุดบอดที่ขาดความน่าเชื่อถือ เช่น คำให้การจากชายชราบอกว่าเขาเห็นเด็กชายวิ่งผ่านหน้าห้องไปตอนเขาเปิดประตู ฟังดูแล้วก็เป็นหลักฐานชัดเจน แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่ชายคนนี้พูดเเป็นความจริง? การที่ชายชราเดินลำบากจะไปถึงหน้าประตูจากห้องนอนที่มีความยาวกว่า 55 ฟุต ภายใน 15 วินาทีนั้นเป็นไปไม่ได้เลย ทำให้คำให้การของของชายชรานั้นขาดความน่าเชื่อถือ ดังนั้นถ้าเราไม่พิจารณาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านจะทำให้เราประเมินสิ่งต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไป

มองข้ามความจริงเพราะอคติบดบัง

ลูกขุนคนหนึ่งเลือกที่จะเชื่อในหลักฐานทันที เพราะมองว่าเด็กที่มาจากสลัมสร้างปัญหาอยู่แล้ว แถมยังมีประวัติการกระทำผิดมากมายในอดีต การที่เด็กเป็นคนลงมือทำก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แสดงให้เห็นถึงการใช้อคติที่มีต่อคนจำนวนหนึ่งมาใช้ในการตัดสิน จนปิดรับฟังความจริงหรือข้อโต้แย้งอื่น ๆ ในขณะที่ลูกขุนอีกคนหนึ่งใช้ประสบการณ์ไม่ดีที่ตัวเองมีกับลูกชายของเขา เข้ามาใช้ในการตัดสินความผิดของเด็กชาย ทำให้การตัดสินนั้นไม่เที่ยงตรง

มองข้ามอารมณ์ของตัวเอง

มีฉากหนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจมาก คือการที่ลูกขุนคนหนึ่งใช้อารมณ์เข้ามาในการถกเถียงความผิด แต่ยิ่งเขาพูด ลูกขุนคนอื่น ๆ ยิ่งลุกออกจากที่นั่งจนสุดท้ายไม่มีใครฟังเขาอีก นอกจากจะสื่อให้เห็นถึงการใช้อารมณ์ในการตัดสินใจไม่เป็นที่ยอมรับแล้ว การใช้อารมณ์ยังทำให้เราไม่สนใจความจริงที่เกิดขึ้นอีก ส่งผลให้ไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นพอที่จะจูงใจให้คนอื่นรับฟัง

มองข้ามความเห็นของตัวเอง

จุดนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อย คือเราเลือกตัดสินใจเลือกสิ่งหนึ่งเพียงเพราะคนอื่นตัดสินใจกันแบบนี้ หรือก็คือตัดสินใจตามคนอื่นนั้นเอง จากในเรื่องจะมีลูกขุนคนหนึ่งที่กลับคำไปมา พอเสียงส่วนมากบอกว่าเด็กชายผิด เขาก็บอกว่าผิด เมื่อเสียงส่วนมากบอกว่าไม่ผิดก็บอกว่าเด็กชายไม่ได้ทำความผิด แต่พอถามว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยนผลโหวตไป เขากลับตอบไม่ได้

จะเห็นได้ว่าการพิจารณาข้อเท็จจริงและการตัดสินใจเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม และบิดเบือนได้ง่ายขนาดไหน ทั้งจากมุมมองที่ถูกมองข้ามไป จากการยึดติดความเชื่อเดิมของเรา จากอคติที่เรามีต่อคนอื่น จากการยึดติดอารมณ์ของตนเอง หรือแม้กระทั่งจากการพึ่งพิงความคิดคนอื่น

ดังนั้น การที่เราจะยืนหยัดและตัดสินใจได้อย่างถูกต้องได้ จะต้องผ่านกระบวนการคิดอย่างมีวิจารญาณ หรือก็คือมีทักษะ Critical Thinking ตั้งคำถามกับข้อมูลอย่างถี่ถ้วน เปิดใจรับฟังมุมมองที่แตกต่าง พร้อมที่จะเปลี่ยนความคิดหากมีหลักฐานที่เพียงพอ และตระหนักถึงอคติของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจได้ในทุกสถานการณ์


ถ้าคุณอยากรู้ว่า Critical Thinking คืออะไร? แล้วเราจะเรียนรู้เพื่อเป็นคนที่ ‘ตัดสินใจเฉียบคม’ กว่าเดิมได้ยังไงบ้าง? เข้าไปอ่านบทความกันต่อได้เลยที่ คลิก

More in:Business

Comments are closed.