“Culture องค์กร ไม่ได้สร้างจากการ Townhall แค่ครั้งเดียว”

สรุป Session แอบฟัง CEO คุยกัน เคล็ดลับบริหารงาน ของ CEO ที่ไม่เคย บอกใคร โดยคุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน CEO, AP Thai และคุณแท็ป รวิศ หาญอุตสาหะ CEO, Srichand ศรีจันทร์ และ Mission To The Moon ในงาน CTC 2024

❓Style การบริหารงานเป็นอย่างไร

คุณแท็ป แชร์ว่าขึ้นกับชวงเวลาของสถานการณ์บริษัท เช่น ถ้าสถานการณ์ปกติ ก็จะเน้นเป็นโค้ชให้น้อง ๆ ในทีมได้แสดงฝีมือ แล้วตัดสินใจในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น แต่ถ้าเป็นในสถานการณ์ที่วิกฤตก็จะลงไปทำเองมากหน่อย และใช้หลักการบริหารแบบ Tight Loose Tight ที่ได้เรียนรู้มาจากคุณซิกเว่ ซึ่ง Tight Loose Tight ประกอบด้วย 3 คำดังนี้

🔹 Tight คือตั้งเป้าหมายต้องชัด ไม่ต้องตีความ ทุกคนในทีมไปทางเดียวกัน เหมือนกับฟุตบอลที่ทุกคนรู้ว่าเป้าหมายคือการได้ประตู แต่ถ้าเป็นมวย ก็จะเน้นที่คะแนนมากกว่า ดังนั้นต้องรู้ก่อนว่าเราเล่นอยู่ในเกมไหน

🔹 Loose หมายถึง วิธีการทำงาน ต้องหลวม คือถ้าเป็นโค้ชฟุตบอล แค่วางตำแหน่งว่าใครทำอะไร แต่ถึงเวลาจริงต้องปล่อยผู้เล่นวิ่งเอง

🔹 Tight สุดท้ายคือวิธีการวัดผล ฟุตบอล League กับฟุตบอล FA Cup เองก็วัดผลไม่เหมือนกัน ดังนั้นวิธีการเล่นก็จะต่างกัน

คุณอนุพงษ์ มองว่าขึ้นกับ Stage ของบริษัท

🔸 ในวันที่บริษัทยังเล็กอยู่ พนักงานไม่มาก ก็เน้นการทำงานแบบใกล้ชิดคล้าย ๆ โค้ชทีมฟุตบอล หรือซ้ำไปกว่านั้น ถ้าผู้เล่นขาดก็ลงไปเล่นเอง ทำงานเองเช่นกัน ดังนั้นถ้าในบริษัทเล็ก ๆ จะเน้นวางตำแหน่งหลวม ๆ คนนึงทำได้หลายอย่าง ให้เกิด Flexibility ในองค์กร

🔸 ในวันที่องค์กรใหญ่ขึ้น คุณอนุพงษ์เองไม่สามารถรู้จักพนักงานได้ทุกคน ผู้นำจะมีหน้าที่กำหนด 2S2P แทน คือ Process, People, Structure และ System (Monitoring)

🔸 การบริหารในองค์กรตอนนี้ เน้นเป็นในเชิง Culture มากขึ้น ทำให้ Culture เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่การสร้าง Culture ไม่ได้เกิดจากการแค่ Townhall เพียงครั้งเดียว แต่ต้องย้ำ Value องค์กรครั้งแล้วครั้งเล่า ต้องคุยให้กับพนักงานทุกคนเข้าใจ ทำให้ Value และ Vision ในองค์กรสามารถถ่ายทอดและซึมซับไปถึงทุกภาคส่วนในองค์กร

============================

❓วิธีการตัดสินใจของคุณแท็ปและคุณอนุพงษ์

คุณแท็ป กล่าวว่าการตัดสินใจในวันที่ข้อมูลไม่พร้อม คือหน้าที่ของ CEO (ถ้าข้อมูลพร้อมมาก ใครตัดสินใจก็ได้ แม้กระทั่ง AI 😂) ซึ่งการตัดสินใจของคุณแท็ปจะประกอบไปด้วย 3 ข้อสำคัญ คือ

1️⃣ สิ่งที่เป็นสัญญาณว่าการตัดสินใจนั่นมาถูกทางแล้วคือ ‘การตัดสินใจที่ใช่ ใจต้องสั่น’ เหมือนกับที่คุณโจ้ธนาเคยแบ่งปันให้ฟัง สิ่งนี้จะเรียกว่า Guts Feeling ก็ได้ แต่ Guts Feeling จะเกิดขึ้นได้ผ่านการสั่งสมประสบการณ์ ได้รับการ Mentor มาถูกต้อง

2️⃣ การตัดสินใจต้องมี Proportion ที่ถูกต้อง เช่น ถ้าเป็น Studio จะซื้อภาพยนต์ ก็ต้องให้น้ำหนักทั้ง Visual และมุมอื่น ๆ ด้วย อย่าให้น้ำหนักอะไรที่เราชอบมากเกินไป

3️⃣ การตัดสินใจของเรา อาจไม่ได้มาจากที่เราคิดเองทั้งหมด มันประกอบด้วยปัจจัยอื่น ๆ ด้วย ซึ่งจะรู้ได้จากผ่านการทดลองเยอะ ๆ ผ่าน Process ที่ดี เช่น เอาสินค้าออกไปทดลองกับตลาด ให้ลูกค้าได้ลองใช้และให้ Feedback

คุณอนุพงษ์ เองก็ร่วมแบ่งปันเช่นกัน ว่าการตัดสินใจไม่ได้ขึ้นกับ CEO เพียงคนเดียว แต่ต้องให้การตัดสินใจอยู่กับคนที่ใกล้ลูกค้ามากที่สุด คนที่อยู่หน้างานด้วย

ในปัจจุบัน คุณอนุพงษ์เลยถอยออกมาเป็นแค่เพียงผู้ตั้งขอบเขต ดังคำกล่าวที่ว่า “There are no independent without boundaries” เน้นการให้ข้อเสนอแนะ แล้วให้น้อง ๆ ตัดสินใจ แต่การให้อิสระน้อง ๆ ในการตัดสินใจก็ต้องตั้งกฎให้ชัดเจน เช่น คุณอนุพงษ์จะบอกเสมอว่า Failure is on me, Success is on you หรือใน AP เองนั้นเน้นวัด Outcome มากกว่า Effort ซึ่งทั้งหมดนี้ คุณอนุพงษ์เปรียบเทียบ CEO กับ Conductor ที่รู้ว่าควรดึงจุดเด่นของใครออกมาตอนไหน เป็นคน Set Rules and Regulations แล้วปล่อยให้พนักงานหรือนักดนตรีเป็นคนบรรเลง

============================

❓เป็น CEO สามารถ Burnout ได้มั้ย

คุณแท็ป แชร์ว่า การดูแลร่างกายและจิตใจเป็นเรื่องสำคัญมาก คุณแท็ปเองก็เคยโดนสะกิดโดยพี่ท่านนึงว่า

“ความสำเร็จของบริษัทขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของคุณแท็ป มากกว่าความสามารถในการทำงาน”

ทำให้กลับมาตกตะกอนได้ว่าการรู้เท่าทันอารมณ์นั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคำพูดของผู้บริหาร (ยิ่งถ้าอยู่ในอารมณ์โมโห) พูดเสร็จไปแล้วก็ลืม แต่ผู้ฟังไม่เคยลืม ดังนั้นการบริหารจิตใจและความเครียดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูแลให้ดีและไม่ไปทำร้ายจิตใจคนอื่น

เช่นเดียวกับร่างกาย ก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญเช่นกัน คุณแท็ปต้องมีการ Block เวลาสำหรับการไป Gym เลยทีเดียว เพราะเมื่อร่างกายแข็งแรง ก็จะพร้อมที่จะรับมือกับปัญหา เช่นเดียวกับการนอนด้วย ที่เป็นอีก 1 สิ่งสำคัญ เมื่อนอนดี ก็จะอารมณ์ดี ทำงานดี

ดังนั้นการดูแลร่างกายและจิตใจจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก “งานเยอะไม่ทำให้ Burnout แต่ถ้างานน้อย แต่ดูแลร่างกายและจิตใจไม่ดี ก็ Burnout ได้”

คุณอนุพงษ์ เสริมอีกว่าสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งสุขภาพกาย เป็นมันไม่สามารถย้อนกลับไปสร้างได้

ในมุมของด้านจิตใจเอง เรามองงานเป็นงาน เป็นเรื่องเครียดหรือเรื่องสนุก ถ้ามองว่าคือสิ่งที่เครียด อยากกลับบ้าน สิ่งนั้นอาจไม่ใช่งานที่ใช่ คนเราไม่ได้มีเวลาโฟกัสอะไรได้นาน ดังนั้นทำงานให้สนุก

คุณอนุพงษ์ เล่าเพิ่มเติมว่า บางทีการที่เราเบื่องาน อาจไม่ใช่เพราะตัวงาน แต่เป็นเรื่องของคน ลองกลับมาถามกับตัวเองก่อนว่า จริง ๆ เราเบื่ออะไร นอกจากนี้ลองเรียนรู้เรื่อง Outward Mindset ไม่ใช่เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วมาตอบในมุมมองเรา แต่มันคือการมองลงลึกไปใน Need, Objective และ Challenge ของอีกฝ่าย ต้องเข้าใจว่าอีกฝ่ายมีพฤติกรรมแบบนั้นคืออะไร

คุณอนุพงษ์เล่าว่า สมมติเราเจอคนมาขโมยของ ตอนแรก ๆ ย่อมโกรธ แต่ถ้าเรารู้ว่าขโมยคนนั้นคือผู้หญิงที่ต้องหาเลี้ยงครอบครัว เอาเงินไปเลี้ยงลูกที่กำลังจะตาย ความโกรธเราอาจจะหายไป (แต่แน่นอนว่าความผิดจะยังคงอยู่) ดังนั้นถ้าเรารู้ถึง Need, Objective และ Challenge เราจะควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น

============================
❓เมื่อ AI เข้ามา CEO ต้องกลัวไหม

คุณแท็ป เล่าว่ามีทั้งความกลัวและตื่นเต้น เพราะ AI มันพัฒนาและเก่งขึ้นเร็วมาก แต่เราต้องกลับมามองว่า “ตัวเราเองล่ะ จะมี Value อะไรที่ไม่เปลี่ยนบ้าง ในวันที่โลกเปลี่ยนไป” นั่นคือ

1️⃣ คนที่จะเจริญรุ่งเรืองได้ ต้องเป็นคนนิสัยดี และเป็นที่รัก – ในอดีตคนทำงานเก่งนิสัยไม่ดี อาจจะพออยู่รอด แต่ในปัจจุบันไม่ใช่แล้ว นอกจากความเก่ง ต้องเป็นคนที่คนอื่นอยากอยู่ด้วย

2️⃣ Self Control ควบคุมอารมณ์ของตัวเอง หรือต้องไม่หลงผิด – Leader are surrounded by wall, mirror, and liars นั่นคือผู้นำถูกล้อมรอบด้วยกรอบ มีแต่กำแพงที่กั้นให้เหลือแต่สิ่งดี ๆ มาให้ กระจกสะท้อน Ego และคนรอบ ๆ มักจะพูดแต่สิ่งดี ๆ ใส่ แต่ผู้นำที่แท้ต้องมองให้เห็นถึงความจริงว่าเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ เรายังจำเป็นจะต้องเข้าใจหลักการทำงานเบื้องหลังหรือวิวัฒนาการของเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อให้ตามโลกทัน ในอดีตเทคโนโลยีอาจไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงมาก คืออาจจะมีเครื่องจักรที่คอยทุ่นแรง แต่ในวันนี้ AI นั้นเข้ามา ‘คิดแทน’ มนุษย์ด้วย

คุณอนุพงษ์ เล่าเสริมว่า ตอนนี้ AI เข้ามาช่วยทำให้ Productivity โต แต่สิ่งที่มนุษย์ต้องทำคือ ‘การตั้งคำถาม’ มนุษย์เองจะตั้งคำถามอย่างไรให้ AI ทำงานได้มีประสิทธิภาพ เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง แต่ต้องรู้พอที่จะตั้งคำถามที่ถูกต้องให้ AI ทำงาน เพราะตอนนี้ AI เองอาจจะยังไม่สามารถสร้างของใหม่ได้ แต่เน้นเอาสิ่งเก่า ๆ ที่มนุษย์เคยสร้าง มาผสมกันตอบออกมาเป็นคำตอบ ดังนั้นอย่าปล่อยให้ AI เป็น auto-pilot ต้องให้เป็นแค่ co-pilot ที่ทำงานร่วมกับเรา

#CTC2024 #Skooldio

More in:Business

Comments are closed.