[Blog Cover]ใช้ Data หยุดฆาตกรรม!

ใช้ Database รวบรวมข้อมูลกระจัดกระจาย ยับยั้งอาชญากรต่อเนื่อง

สรุปเซสชัน ข้อมูลคนหาย อะไรอีกที่หายนอกจากคน Missing Person Database: Uncovering What’s Truly Lost โดยคุณเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ในงาน Data Connect 2024 

คุณเอกลักษณ์เล่าว่าในประเทศไทย ทุก 4 ชั่วโมงมีคน 1 คนหายออกจากบ้าน


การทำงานติดตามคนหาย

เมื่อ 30 ปีที่แล้วมูลนิธิกระจกเงา มีชาวบ้านเข้ามาขอความช่วยเหลือเพราะลูกสาวหายออกจากบ้าน แต่สิ่งที่ทำได้ในตอนนั้นคือการให้ชาวบ้านไปแจ้งความที่โรงพัก

เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ชาวบ้านคนเดิมก็กลับมาบอกว่าตอนนี้ลูกสาวยังไม่กลับบ้านเลย ซึ่งทางมูลนิธิก็แปลกใจเพราะคิดว่าตำรวจควรจะช่วยได้ จนวันนึงที่ลูกสาวกลับมาก็ได้เล่าว่าตนถูกหลอกไปขายบริการทางเพศ

เป็นสาเหตุที่ทำให้มูลนิธิไปสำรวจ ต.แม่ยาว จนพบว่าใน 1 ตำบลมีคนหายไป 20 คน เลยสงสัยต่อว่า แล้ว 1 อำเภอ 1 จังหวัดจะเป็นเท่าไหร่ ?

คนหาย = ค้ามนุษย์ ?


จริง ๆ แล้วคนหายไม่ใช่การค้ามนุษย์อย่างเดียว มีเด็กแรกเกิดหายออกจากโรงพยาบาล มีคนทุกวัยหายออกจากบ้านไป

ทางศูนย์ใช้เว็บไซต์เพื่อประกาศ แต่ปรากฎว่ามันต้องใช้ Database ซึ่งในขณะเดียวกัน มูลนิธิก็มีเจ้าหน้าที่น้อย สิ่งที่คิดว่าทำได้ จึงเป็นการจดบันทึกในกระดาษ โดยคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้จำได้ง่ายที่สุด จนเวลาผ่านไปถึงพบว่าไม่ใช่เลย นี่เลยเป็นที่มาที่ไปที่ทำให้ศูนย์สนใจระบบการรับแจ้ง นำมาซึ่งการวิเคราะห์ปัญหา

ทางศูนย์รับแจ้งคนหายทั้งหมด 18,887 ราย พบตัวแล้ว 16,315 ราย ถือเป็น 86% ของยอดการรับแจ้ง คุณเอกลักษณ์บอกว่านี่คือฐานข้อมูลคนหายที่ครบที่สุดในประเทศไทย แต่ปัญหาที่พบคือศูนย์ช่วยตามหาคนหาย แต่ไม่ได้ตามหาผู้สนับสนุนเลย ทำให้ไม่มีเงินเพื่อจ้างเจ้าหน้าที่ เลยประกาศปิดตัว คืนให้กับรัฐ

แม้ในวันที่ปิดก็ยังมีชาวบ้านโทรมาแจ้งอยู่ เพราะหน่วยงานราชการให้ความช่วยเหลือเขาไม่ได้ จนวันนึง ‘นิตยสารแพรว’ โทรมาหา เพื่อมอบเงินสนับสนุนจากการเขียนระดมทุนเป็นคอลัมน์ให้ พบว่ามีคนสนับสนุนถึง 6 แสนบาท ทำให้โปรเจกต์นี้เดินต่อไปได้

เบาะแสที่ได้รับจาก Database

นอกจากคนที่หายไปแล้ว ศูนย์ก็ยังค้นพบอะไรบางอย่าง…..

เมื่อ 12 ปีที่แล้ว มีผู้หญิงคนนึงมาแจ้งว่าสามีที่ทำอาชีพขับรถกระบะรับจ้างหายไป เธอไปแจ้งความมาแล้วแต่โดนตั้งคำถามว่าอาจเป็นการตั้งใจหายไป หรือเป็นปัญหาระหว่างสามีภรรยาหรือเปล่า ทำให้ไม่ได้รับการติดตาม

พอมาดูจากสถิติแล้วพบว่าในรอบ 1 เดือนมีคนขับกระบะรับจ้างหายไป 4 คน โดยมีสถานการณ์แบบเดียวกันทุกคน คือ จอดรถข้างถนนแล้วมีคนมาจ้างให้ไปส่งของที่ภาคใต้ ระหว่างทางให้ดื่มกาแฟ แล้วคนขับก็มีอาการสะลึมสะลือ

เมื่อทางศูนย์ได้ทำงานร่วมกับสถานีวิทยุ ThaiPBS ก็พบว่า มีคนที่หายไปแบบนี้ถึง 9 ราย ทำให้สุดท้ายกองปราบปรามสามารถสืบและจับตัวคนร้ายได้ และพบว่าเป็นคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง แต่หลังจากนั้น 2 วันผู้ต้องหาก็จบชีวิตตัวเอง

ถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่ได้รู้ความจริงทั้งหมด แต่ก็ทำให้อีกหลายครอบครัวไม่ต้องสังเวยชีวิต

ลูกสาวที่หายไป

ในจังหวัดสระแก้ว ครอบครัวนึงมีลูกสาววัย 19 ปี หายออกจากบ้านไป แต่หลังจากหายไปไม่นาน ก็มีข้อความส่งไปหาเพื่อนสนิทว่า ‘ฝากดูแลพ่อแม่ด้วย ไปทำงานที่ต่างประเทศ’

จนเวลาผ่านไป 7 ปี ก็ยังไม่มีการติดต่อกลับมา และเมื่อดูในระบบแล้วไม่พบการเคลื่อนไหว จึงมีการสันนิษฐานว่าเธออาจเสียชีวิตแล้ว

เมื่อลงไปคุยในพื้นที่ ศูนย์ถามรายละเอียดทั้งหมดจากพ่อแม่ตั้งแต่เกิดจนถึงก่อนที่จะหายตัวไป ก็ได้รับข้อมูลว่า ก่อนที่เธอจะหายตัวไป มีผู้ชายระดับผอ.โรงเรียนมาติดพันและใช้ความรุนแรง ซึ่งที่สุดท้ายที่รู้คือเธอไปทำงานในโรงงานที่ปราจีนบุรี

ศูนย์ทำการค้นหาในรัศมี 200 กม. สอบถามหน่วยงานต่าง ๆ ว่ามีผู้หญิงไม่ทราบชื่อเสียชีวิตหรือไม่ จนไปเจอที่โรงพยาบาลแห่งนึงที่แจ้งว่าพบหญิงสาวเสียชีวิตในไร่อ้อย มีรอยสักที่ข้อเท้า เราก็ไปดูว่าศพถูกพบที่ไหน ถูกส่งไปชันสูตรที่ไหน ตามต่อจนสามารถนำมาตรวจสอบ DNA เทียบกับแม่ของเธอได้ และพิสูจน์ได้ว่าเป็นหญิงสาวคนนั้นจริง ๆ เมื่อสอบสวนต่อไป จึงสามารถจับกุมคนร้ายซึ่งก็คือผอ.ที่มาติดพันเธอนั่นเอง

แม้จะตามหาความจริงได้แล้ว แต่ก็ไม่สามารถเอาร่างกลับบ้านได้ เพราะร่างถูกฝังในสุสานในฐานะศพนิรนาม และถูกทำลายจากการล้างป่าช้าไปแล้ว

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการจัดเก็บข้อมูลศพนิรนาม ข้อมูลคนหาย เพราะเราไม่มีกฎหมายโดยตรง จึงทำให้ศพนิรนามถูกทำลายไป

ป้องกันผู้สูงอายุหายออกจากบ้าน ด้วย wristband


มีผู้สูงอายุหายออกจากบ้านไป ด้วยการพลัดหลง โรคอัลไซเมอร์ อยู่มาวันนึงมีกลุ่ม Developer ได้ติดต่อมูลนิธิมา เพราะอยากช่วยพัฒนา wristband ที่ติด qr-code

จากโปรเจกต์นี้ ทำให้มีครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ 5-10 รายต่อเดือนกลับบ้านได้ บางคนหายไป 5 ครั้งแต่กลับมาได้ทุกครั้งจากผู้หวังดีที่แสกน qr-code แจ้งที่ศูนย์

สิ่งนี้อาจแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถลดความรุนแรงจากปัญหานี้ได้

More in:Data

Comments are closed.