Blog Series: Product Managers – The Mutants Among Us ภาคต่อของ Skooldio LIVE ที่ได้นำเรื่องราวของเหล่า PM ที่เป็นเหมือนมนุษย์กลายพันธุ์ ย้ายสายงานจากเดิมที่เคยทำอยู่ โดยยังใช้ความรู้ที่มี มาประกอบกับการเก็บ Skill ใหม่ๆ ให้กลายเป็น PM ในปัจจุบัน มาเล่าสู่กันฟัง
Product Manager คนที่ 3 ของเรามีเส้นทางที่เต็มไปด้วยความพยายาม ความลุ้นระทึก และความสู้ของเจ้าตัวมากๆ จากการจบ Chemical Engineering (วิศวกรรมเคมี) เริ่มต้นการทำงานแบบตรงสาย ด้วยการเป็น Process Engineer ในโรงกลั่นน้ำมัน จากนั้นก็ได้ตัดสินใจเปลี่ยนสายงานมาฝั่ง Business โดยผันตัวมาทำ Business Development จนค้นพบความชอบในการทำ Product ของตัวเอง และเริ่มต้นสมัครงานโดยที่ยังไม่มีประสบการณ์ในตำแหน่งนี้โดยตรงมาก่อน ข้าวสวยเริ่มต้นเส้นทางสู่ Product Manager อย่างไรบ้าง ไปดูกัน
อ่านตอนที่ 1: เศรษฐศาสตร์ / Developer / Product Manager ข้ามสามสายเพื่อได้มาลงตัวที่นี่
อ่านตอนที่ 2: Product Manager สาย UX/UI ทักษะไหนที่ทำให้เราโดดเด่น
Table of Contents
- แนะนำตัว
- เรียบจบจากที่ไหนมา
- จุดเปลี่ยนมายังไง
- แต่โดยตำแหน่งคือ Business Development
- ทำไมถึงชอบด้าน Product
- เตรียมตัวหางานยังไงบ้าง
- ศึกษาความรู้เพิ่มเติมยังไงบ้าง เมื่อมาจากสายเคมี แต่ต้องมาจับ Tech Product
- ทักษะอะไรที่สำคัญต่อการเป็น Product Manager
- การเป็น Process Engineer มาก่อน ช่วยอะไรในการเป็น Product Manager บ้าง
- เรียนรู้การเป็น Product Manager จากไหนบ้าง
- อยากฝากอะไรถึงคนที่กำลังย้ายสายมาเป็น Product Manager
แนะนำตัว
สวัสดีค่ะ ชื่อข้าวสวย รัตินันท์ วุฒิพันธไชย ตอนนี้เป็น Product Manager อยู่ที่ LINE MAN Wongnai อยู่ในทีม Growth ของฝั่ง Wongnai รับผิดชอบเรื่องการเพิ่ม Engagement เพิ่ม Active Users ของ Wongnai Platform ทั้งเว็บและแอพค่ะ และด้วยความที่ Wongnai เป็น User-generated Content ก็ต้องดูแลพวก Rating, Review ด้วย
เรียบจบจากที่ไหนมา
จบ Chemical and Biomolecular Engineering จาก KAIST หรือ Korea Advanced Institute of Science and Technology ประเทศเกาหลีใต้ค่ะ กลับมาก็อยู่โรงกลั่นน้ำมัน เป็น Process Engineer อยู่สองปีครึ่ง ตอนนั้นก็ดูแล Process การบำบัดน้ำเสีย ว่าทำยังไงให้ Process ทำงานได้ Smooth ดูแล Plant บำบัดน้ำเสีย ก็ต้องดูแลให้น้ำเสียที่ถูกบำบัดออกมาได้มาตรฐานตามกฎหมาย ถ้าต้นทางส่งน้ำเสียที่มีน้ำมันปนมามากเกินไป เราก็ต้องคอยดูว่า จะปรับ Process ยังไงให้น้ำที่ได้ออกมายังเป็นไปตามมาตรฐานอยู่
จุดเปลี่ยนมายังไง
เริ่มจากว่าเราอยากช่วยเหลือสังคม อยากทำด้านการศึกษา แล้วก็เห็นว่าเราไม่ได้อยากโตไปเป็น Technical Expert ในงานรูปแบบเดิม ก็เลยออกมาเป็น Business Development ที่ Learn Corporation ตอนนั้นที่สนใจมากๆ เลยก็จะเป็นเรื่องครู เราได้มีโอกาสไปเห็นตัวอย่างของคุณครูที่ทำหน้าที่เป็น facilitator ตอนไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่อเมริกา เขาช่วยโยนคำถามให้เด็กกล้าคิด กล้าแสดงความคิดเห็น ซึ่งมันทำให้บรรยากาศในห้องเรียนสนุกมากๆ เราเลยอยากนำวิธีการสอนแบบนี้มาส่งต่อให้กับคุณครูไทยบ้าง เข้ามาก็เลยขอทำส่วนที่เกี่ยวกับคุณครูก่อนเลย
ตอนนั้นได้จับ Product ที่ชื่อว่า TrainKru เป็นแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ของคุณครู ตอนนั้นเป็นปีที่ 2 ของ Product นี้ล่ะ ก็ได้รับมอบหมายมาว่า จากอุปสรรคปัญหาที่เจอในปีก่อน ช่วยพัฒนาแพลตฟอร์มให้แก้ปัญหาเหล่านี้ให้หน่อย เราก็ลองดู ตอนนั้นทำคนเดียวก็จริง แต่เป็นช่วงเวลาที่อยากตื่นมาทำงานทุกเช้าเลย
เราเริ่มจากทำความเข้าใจ Product ก่อน คุยกับทุกฝ่าย เก็บข้อมูลและปัญหามา รวบรวมวิเคราะห์ดูว่าจะแก้ปัญหายังไง เอาไอเดียและฟีเจอร์ไปคุยกับ Developers ว่าทำอย่างนี้ได้มั้ย เริ่มทำ Priority และ Roadmap ตัด Scope งานว่าอะไรทำก่อนทำหลัง แล้วก็เอาไปคุยกับทุกคนใหม่ว่าจะไปทางนี้นะ ทำไปประมาณ 2-3 เดือน โคตรมันเลย สนุกมาก
แต่โดยตำแหน่งคือ Business Development
ใช่ แต่ตอนนั้นสนุกมาก เลยไม่สนเท่าไหร่ว่ามันไม่ใช่งาน Business Development แต่ก็เริ่มสงสัยล่ะ ว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่เขาทำกันมันน่าจะมีคนทำหน้าที่แบบเรา และมันน่าจะมีชื่อสำหรับตำแหน่งนี้อยู่ ด้วยความที่ตอนนั้นทำงานใกล้ชิดกับ Developers ก็ถามเค้าว่า ส่วนงานที่เราทำอยู่มันเรียกว่าอะไร เค้าก็ตอบว่า น่าจะเรียกว่า Product Owner / Product Manager อะไรประมาณนั้น เราก็ทดคำนี้ไว้ในใจแล้วก็ทำงานต่อ หลังจากนั้นก็ได้ rotate ไปทำแนว Sales ตามตำแหน่ง BD จริงๆ แต่ก็ไม่รู้สึกสนุกเท่ากับตอนทำ Product ก็เลยเริ่มศึกษาว่าตำแหน่ง Product Owner / Product Manager คืออะไร แล้วก็เริ่มหางาน
ทำไมถึงชอบด้าน Product
ชอบการที่ได้คิดของ แล้วได้สร้างตามที่คิดจริงๆ ได้ facilitate ทุกอย่างทั้ง Vision / Roadmap / Flow ออกมา แล้วพอสิ่งที่เราวางแผนไว้ ได้ถูกทำออกมาจริงๆ มีคนใช้จริงๆ และมันเป็นประโยชน์กับผู้ใช้จริงๆ เราก็ happy
เตรียมตัวหางานยังไงบ้าง
ส่วนตัวเชื่อว่าเวลาสมัครงาน ถ้าเรามีประสบการณ์ในการทำงานนั้นจริงๆ แล้วเราแสดงออกมาให้เขาเห็นได้ว่า เรารู้เนื้องานที่เราทำ และเราชอบมันมากแค่ไหน คนที่สัมภาษณ์จะรู้ถึงความตั้งใจของเรา จริงๆ บริษัทเค้าต้องเป็นคนวัดว่าเราเหมาะที่จะทำงานกับบริษัทเขามั้ย ซึ่งถ้ามันตรง บริษัทเค้าก็จะเลือกเราเอง
อีกส่วนหนึ่งคิดว่า เราจะสัมภาษณ์งานได้ดีที่สุด ในตอนที่เราไม่กดดันและเป็นตัวของตัวเอง คือ ไม่ได้ตั้งความหวังว่า ต้องได้งานนี้ให้ได้ ต้องไปหาคำพูดเฉพาะทางเท่ๆ มาใช้ตอนสัมภาษณ์เพื่อทำให้ดูดี แบบนั้นมันไม่ธรรมชาติ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องแสดงออกให้ชัดเจนว่าเราทำอะไรมา และเราทำอะไรได้อีกบ้าง ไม่โกหก ไม่รู้ก็คือไม่รู้ คิดว่านี่แหละเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ได้งาน Product Owner ที่ธนาคารแห่งหนึ่ง แล้วก็ได้มาเป็น Product Manager ที่ LINE MAN Wongnai
ศึกษาความรู้เพิ่มเติมยังไงบ้าง เมื่อมาจากสายเคมี แต่ต้องมาจับ Tech Product
ตอนเป็น Product Owner อยู่ที่ธนาคาร ก็ใช้วิธีถาม ไม่รู้ไม่เข้าใจตรงไหนก็ถามเลย ถ้าช่วงไหนพอมีเวลาหน่อย ก็ไปนั่งหลัง Dev แล้วถามเลยว่าพี่ทำอะไรอยู่ อยากรู้ด้วย เพราะสุดท้ายแล้วเราก็ต้องเข้าใจ Technology ให้มากขึ้น ไปนั่งอยู่กับเค้า ฟังว่าเค้าทำอะไร ตอนนั้นก็ได้รู้คำศัพท์เยอะขึ้นมาก พยายามทำความเข้าใจว่ามันคืออะไร เกี่ยวข้องยังไงกับ Product ที่เราทำอยู่
เรียนออนไลน์ก็สำคัญ เรียน Web Scraping แล้วได้รู้คำศัพท์ รู้ไอเดียเยอะมาก เราไม่ต้องถึงกับโค้ดเป็น แต่มันทำให้เราเข้าใจได้เร็วขึ้น เช่นได้รู้จักคำว่า regex, JSON มาจากคอร์ส Web Scraping นี่แหละ วันก่อน Dev ก็เพิ่งคุยกันเรื่องนี้ เราก็เข้าใจแล้วว่าพูดอะไรกัน แสดงความเห็นได้
ทักษะอะไรที่สำคัญต่อการเป็น Product Manager
Prioritization สำคัญมากเลย ในองค์กรมันจะมีการตัดสินใจทั้งจาก Direction ของบริษัท ทั้งจากความต้องการจาก Users แต่ด้วยทีมของเราที่มีคนจำกัด เราก็ต้องจัดลำดับความสำคัญและตัดสินใจว่าจะทำอะไรก่อนอะไรหลัง เพราะอะไร อีกส่วนหนึ่งคิดว่า Planning ดีๆ ก็ช่วยได้มาก วางแผนแต่ไม่ยึดติดกับแผน ต้องสามารถที่จะปรับแผนให้เป็นไปตามทิศทางของ Product และองค์กรได้เสมอ
เรื่อง Logic ก็สำคัญ เราต้องไว เช่นเวลามีคนมาคุยเรื่อง Feaures นี้ว่ามันน่าทำมากเลยเราต้องคิดตามให้ทัน จับความเชื่อมโยงให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยประสบการณ์และความเข้าใจทั้งด้าน Business, Design, และ Technology เราเองก็ยังถือว่าเป็นมือใหม่ แต่ก็ต้องพยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เวลาใครพูดอะไรในเรื่องพวกนี้ เราจะได้เข้าใจ
เรื่องความเข้าใจใน Data ก็สำคัญมาก เวลา Product Manager คิดอยากจะทำอะไร ควรต้องวิ่งกลับมาดู Data ก่อนเสมอ เช่นเวลาที่เราเองอยากจะทำฟีเจอร์อะไรใหม่ เราควรจะตั้งคำถามกับตัวเองว่ามันสำคัญจริงหรือเปล่า จะมีคนใช้เยอะหรอ แล้วก็หาคำตอบโดยการใช้ข้อมูล ซึ่งเราก็ควรที่จะรู้เครื่องมือในการทำงานกับข้อมูล เช่น การเขียน SQL ก็จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์และทำความเข้าใจข้อมูลได้มากขึ้น
การเป็น Process Engineer มาก่อน ช่วยอะไรในการเป็น Product Manager บ้าง
รู้สึกว่ารูปแบบงานของ Process Engineer กับ Product Manager มันคล้ายกันมากๆ คือตั้งต้นมาจากว่าปัญหาคืออะไร ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ต้นเหตุคืออะไร แล้วจะแก้ยังไง ทำยังไงให้มันดีขึ้น มันแค่เปลี่ยนชื่อตำแหน่ง เปลี่ยนอุตสาหกรรมไป เพราะยุคสมัยนี้มันเป็น Technology ไปหมดแล้ว โจทย์เปลี่ยนไป แต่เราก็เป็นนักแก้ปัญหาเหมือนเดิม
ข้อดีของวิศวะคือการคิดเป็นเหตุเป็นผล ตรรกศาสตร์ Logical Thinking เวลาเราได้ยินอะไรมา เราจะไม่ได้เชื่อทันที แต่เราจะค่อยๆ หาหลักฐานสนับสนุน แล้วค่อยสรุปว่า สิ่งที่ได้ยินมานั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง นี่เป็นข้อดีมากๆ ทำให้เราไม่หลงทางไปแก้ปัญหาผิดจุด
เรียนรู้การเป็น Product Manager จากไหนบ้าง
มีตั้งแต่เรียนคอร์สออนไลน์ ทั้งพวก Product, Data, หรือ Technology 101 for Non Programmer ก็ช่วยได้เยอะ ข่าวเกี่ยวกับเทคโนโลยีก็ต้องตามอยู่บ้าง เวลาไปใช้เว็บ / แอพอื่นๆ ชอบตรงไหนก็จดๆ เอาไว้
อ่านหนังสือ The Making of a Manager ของ Julie Zhuo เพราะเราเป็นมือใหม่ด้วย ยังขาดประสบการณ์ในการจัดการทีม ก็เลยอ่านเล่มนี้ จะได้เพิ่ม Soft Skill ด้านการบริหารคน บริหารทีม สำหรับใครที่เป็นมือใหม่ในการดูแลทีม เล่มนี้แนะนำเลย
อยากฝากอะไรถึงคนที่กำลังย้ายสายมาเป็น Product Manager
ถ้ามีโอกาสของ Product Manager ในองค์กร อยากให้กระโจนใส่เลย อาสาหรือวิ่งเข้าไปช่วยเลย แต่ถ้าไม่มีโอกาสในองค์กร แนะนำว่าเตรียมตัวเยอะๆ อ่านหนังสือ เรียนคอร์สออนไลน์ คิดโจทย์ในมุม Product ว่าถ้าเราอยากแก้ปัญหาอะไรได้สักอย่างหนึ่ง เราจะทำอะไร เพราะอะไร
หรือถ้าอยากรู้จริงๆ ว่าเราเหมาะกับการเป็น Product Manager มั้ย สมัครงานไปเลย แล้วไปเล่าประสบการณ์ให้เค้าฟัง เพราะเราไม่ใช่คนที่บอกว่าเราทำได้หรือไม่ได้ อย่าไปกลัว สมัครงานไปก่อน คนที่สัมภาษณ์เราเค้าจะเป็นคนบอกเองว่าเราพร้อมหรือยัง และขอ Feedback มาว่าข้อดีข้อเสียของเราคืออะไร หรือเรายังขาดอะไรสำหรับตำแหน่งนี้ จะได้กลับมาตั้งต้นเก็บเกี่ยวทักษะและประสบการณ์ได้ถูกจุด
Skooldio เปิด Bootcamp ให้คุณได้พัฒนาทั้งสาม Skill หลักในการเป็น Product Manager กับ Product Management Bootcamp หลักสูตร 10 สัปดาห์ (PM Bootcamp) เพื่อเตรียมคุณให้พร้อมสู่การเป็น Product Manager เปิดรับสมัครแล้ววันนี้!