อารมณ์ความคิดมันห้ามไม่ได้ แต่เราใส่ใจหรือเราไม่ใส่ใจมันได้

สรุปเซสชัน Mindful Living in the Digital Age: Strategies for Emotional Ease โดยหมอเอิ้น พญ.พิยะดา หาชัยภูมิ จิตแพทย์นักแต่งเพลง เเละ ที่ปรึกษาผู้บริหารด้าน People & Mindful Leadership เจ้าของเพจ Good Mind Academy by หมอเอิ้น พิยะดา ในงาน Thailand HR Tech Conference & Exposition 2024

ในยุคปัจจุบัน ที่มีการเชื่อมต่อที่ไร้พรมแดนและมีการสื่อสารตลอดเวลา ในบางครั้งข้อมูลที่เราเสพ ถ้ามากเกินไปก็ส่งผลกระทบกับจิตใจเรา

❓ แล้วเราจะจัดการความครียดที่มากระทบได้ยังไงบ้าง

การที่เราเครียดอาจจะเพราะเรารู้สึกว่าเราอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่มันเร็ว สิ่งที่เราต้องถามตัวเองคือ อะไรที่ทำให้เราเครียด อะไรที่ทำให้เรากังวล

โดยปกติแล้วคนเราจะชอบอะไรที่เรารู้สึกคุ้นเคย ความเปลี่ยนแปลงเลยมากระตุ้นเรา เช่น สมมติกำลังศึกษาประเด็นหนึ่งไปสักพัก แต่ปรากฏว่าวันถัดไปประเด็นนั้นเอาท์ไปแล้ว ความเร็วและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้ใจเราอยู่ท่ามกลางความรู้สึกของการไม่รู้ ทำให้เราไม่สามารถคาดการณ์ นำไปสู่ความรู้สึกว่าเราต้องปรับตัวตลอดเวลา ปล่อยให้ตัวเองว่างไม่ได้ เราไม่มี Space ให้ตัวเองในการที่จะหยุดเสพข้อมูลเพราะเรากลัวจะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง

คำถามสำคัญที่ต้องถามตัวเองคือ เรากำลังเครียดหรือกังวลเพราะอะไรอยู่ เราเครียดเพราะเราเปรียบเทียบตัวเองอะไรอยู่หรือเปล่า เราอาจไม่มีเวลาให้หัวใจได้พัก ดังนั้นเราควรหาเวลาให้สมองเราได้พักผ่อนบ้างก็ได้

❓ เราจะสร้างสมดุลการใช้เทคโนโลยีและใช้ชีวิตอย่างมีสติได้อย่างไร

สติ คือการรับรู้ตัวเองตามความเป็นจริง เราคิด เรารู้สึกอะไรอยู่ เรามีพื้นที่ที่จะมีความคิดความรู้สึกแต่ “เราจะไม่เป็นทาสของความคิดและความรู้สึกนั้น”

เราจะพบว่าเราก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย การไม่เพอร์เฟคเป็นเรื่องปกติ มันทำให้เรามีอิสระทางความรู้สึก มันนำมาซึ่ง ‘Solution’ พอกลับมาที่เรื่องของเทคโนโลยี เรารู้ว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสียเช่นเดียวกับอารมณ์ ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกใช้มันยังไง ถ้าเราเลือกใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา มันก็จะเป็นการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่เป็นทาสของมัน

❓แล้วหลักการใช้ชีวิตอย่างมีสติสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในที่ทำงาน และจะนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารคนยังไง

การทำงานคือการอยู่ร่วมกับคน เราต้องบริหารทรัพยากรและดึง potential ของคนคนนั้นให้ออกมาเป็นประโยชน์มากที่สุด

ถ้าเราใช้สติ มันจะช่วยให้เราเข้าใจคำว่ามนุษย์ ต้องทำความเข้าใจว่าคนเราไม่เหมือนกัน และมี core value ที่ต่างกัน แต่ละคนให้ความสำคัญในแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน เมื่อเราเคารพความแตกต่างของแต่ละคน เราจะค้นพบว่าเราทุกคนมีความงามและความไม่น่ารักเหมือนกัน

เมื่อเราเข้าใจถึงความแตกต่าง เราจะบริหารทรัพยากรภายในใจได้ด้วยการสื่อสาร เราจะฟังมากขึ้น เราจะฟังในสิ่งที่เราคิดไม่ถึง เราจะยอมรับกันมากขึ้น เราจะเริ่มเข้าใจกันมากขึ้น

🔸 เทคนิคที่ง่ายและได้ผลเพื่อฝึกให้มีสติในการทำงาน

การที่เราจะมีสติในการทำงานได้นั้น เราต้องฝึกใจให้พร้อมที่จะใช้งาน ต้องเริ่มต้นจากที่ตัวเรามีความสบายใจก่อน เราถึงจะไม่ยึดติดกับความคิดหรือความรู้สึก

ก่อนจะมีสติ สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นกับใจเราก่อนคือ self awareness คือเรารับรู้ทุกอย่างตามความเป็นจริงโดยไม่เอาอคติมาพิพากษาตัวเอง อารมณ์ความคิดมันห้ามไม่ได้ แต่เราเลือกใส่ใจหรือเราไม่ใส่ใจมันได้

เคล็ดลับในการฝึกใจคือเราต้องกลับมารับรู้และวางใจที่ร่างกายของเรา ร่างกายไม่โกหก ความคิดและจิตใจโกหกได้เสมอ เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกกับอะไรแล้วรู้สึกไม่สบาย รู้สึกทุกข์ใจ อย่าไปเชื่อมันมาก ให้รับรู้ว่ามันเครียด มันไม่สบายใจ แล้วให้กลับมารู้สึกกับการหายใจ เราฝึกใจให้พร้อมใช้งานด้วยการรับรู้ทางร่างกายได้

❓ การฟังเพลงหรือการสร้างสรรค์เพลง มีบทบาทอย่างไรในการเสริมสร้างสมาธิและการผ่อนคลายทางอารมณ์

ในบางครั้งเพลงก็เป็นจิตแพทย์ให้เรา เวลาเรามีความคิดเราพูดออกมาได้ แต่บางครั้งเรารู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ แต่เราก็อธิบายไม่ได้ เพลงบางเพลงฟังปุ๊ปน้ำตาไหล เพราะเพลงมันพูดแทนเรา

บางที เรื่องไหนมีอิมแพคกับอารมณ์​กับชีวิตกับประสบการณ์เท่าไหร่ โอกาสที่เค้าจะเห็นปัญหาและอารมณ์กับตัวเองโดยตรงยากมาก ๆ นั่นเปนเหตุผลว่าทำไมต้องมีใครซักคนที่รับฟังเรา ความทุกข์เยียวยาได้ด้วยการที่เรามองเห็นเรายอมรับและเราเข้าใจมัน

เพลงทำหน้าที่นั้นเยอะมาก วันที่เราเหนื่อยและอยากเข้าใจชีวิต พอเราได้ยินเพลงปุ๊ป เราอาจจะรู้สึกว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป แต่ถ้าให้คนจริง ๆ มาพูดแบบนี้เราอาจจะรู้สึกว่าเขาไม่เข้าใจก็ได้ หลายครั้งเพลงมาเป็นเพื่อนที่อยู่ข้าง ๆ เฉย ๆ มาเป็นจิตแพทย์ที่สะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจ ที่เราไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้

#PMAT #ThailandHRTech2024 #HRTechExpo #HRConference #HREvent #HRSustainable #HRLeadership #HRNetworking #HRInnovation #DigitalLeadership #AI

More in:Business

Comments are closed.