‘หัวหน้ายุ่งทั้งวัน จนไม่มีเวลาให้คำปรึกษา’
‘บางทีรู้สึกว่างานที่ทำอยู่มันไม่ใช่ แต่หัวหน้าก็ไม่เคยถามไถ่ว่ารู้สึกยังไงกับงานที่ทำ’
อีกหนึ่งสาเหตุการลาออกยอดฮิตของพนักงานมาจากการที่เขารู้สึกไม่ได้รับความใส่ใจมากพอ โดยเฉพาะจากหัวหน้า ถึงขนาดมีงานวิจัยที่ว่าคนทำงานลาออกเพราะหัวหน้าถึง 70%
มีผลสำรวจจาก Workplace Intelligence เผยให้เห็นว่าพนักงาน Gen Z เกือบครึ่ง วางแผนจะลาออกหลังทำงานภายใน 6 เดือน และ 47% ของ Gen Z เลือกใช้ ChatGPT หรือเครื่องมือ AI ยอดนิยมในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน แทนที่จะปรึกษาหัวหน้าโดยตรง
นี่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรูปแบบการทำงาน เมื่อเด็กรุ่นใหม่ต้องการคำแนะนำด้าน Career Path ก็ไม่เลือกที่จะขอคำแนะนำจากหัวหน้าอีกต่อไป
Table of Contents
องค์กรควรปรับตัวอย่างไร ?
CNBC กล่าวว่าสิ่งที่องค์กรและหัวหน้าควรปรับคือการประชุมแบบส่วนตัวกับพนักงาน(หรือที่นิยมเรียกว่า 1-1) อย่างน้อยทุก ๆ 3 เดือน ให้เขารู้สึกได้รับการดูแล ถูกสนใจ ส่วนหัวหน้าก็ได้สนิทและเข้าใจลูกน้องมากขึ้น
ในเมื่อปัญหาของทั้ง 2 คน คือขาดการสื่อสาร ทำให้ไม่เข้าใจกัน ดังนั้นในฝั่งหัวหน้าก็ต้องพัฒนาการสื่อสาร เพราะสิ่งที่เราจะชนะใจลูกทีมมากกว่า AI ได้คือการเข้าอกเข้าใจ การช่วยออกความเห็น และแชร์ประสบการณ์ที่ AI ไม่มี
เมื่อประชุม 1-1 ก็ควรให้คำแนะนำกับลูกทีมแบบตรงไปตรงมา แม้ว่าสิ่งที่ลูกทีมต้องการในตอนนี้จะไม่มีในที่บริษัท นี่คือความจริงใจที่ Manager ควรมีให้แก่ลูกทีม
2 เทคนิคง่าย ๆ ที่ควรใช้เมื่อให้คำปรึกษากับลูกน้อง
1. Listen and Care
จริง ๆ การให้คำแนะนำเรื่อง Career ไม่ใช่เรื่องยาก CNBC กล่าวว่าปัญหาคือหัวหน้ามักละเลยการแสดงออกถึงความห่วงใย เพราะเพียงแค่แนะนำ Podcast หรือหนังสือดี ๆ สักเล่ม ก็สร้างความประทับใจให้ลูกทีมได้แล้วว่าหัวหน้าใส่ใจเขา
บทความจาก Forbes ในเรื่อง How To Give Career Advice To Young People แนะนำว่าเวลา 1-1 ให้เน้นการตั้งคำถามที่ดี และฟังให้เยอะ อย่าให้เป็นการที่เราพูดอยู่ฝ่ายเดียว ถามให้ลึกเพื่อให้เขาได้คิดไตร่ตรองกับตัวเองเยอะ ๆ
2. Empathy
เราจะให้คำแนะนำที่ดีไม่ได้เลย ถ้าไม่เรียนรู้ที่จะเข้าใจคนอื่นก่อน สิ่งที่ต้องทำคือตั้งใจฟัง และใช้จุดแข็งที่คนต่างกับ Gen AI คือ Empathy
คนเจน Z จะรู้สึกอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เมื่อคุณก็เคยมีผ่านประสบการณ์เดียวกับเขา เขาจะแชร์เรื่องราวของเขาให้คุณฟังมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็เล่าประสบการณ์ของคนที่รู้จักให้เขาฟัง หรือจะให้ดี ถ้าคุณ Connect ให้เขาไปคุยกับคนที่มีประสบการณ์ในสายงานที่เขาสนใจ
ลองจินตนาการว่าถ้าเราเป็นน้อง ๆ ในสถานการณ์แบบนี้เราจะรู้สึกยังไง คิดอะไร และจะทำอย่างไร นี่จะช่วยให้คุณเข้าใจเขา และเขาจะรู้สึกว่าคุณเข้าใจเขาจริง ๆ
การ 1-1 ที่ดี ไม่ใช่การเอาเรื่องงานมาพูด หรือเป็นช่วงเวลาแห่งการตำหนิลูกทีม ควรใช้โทนเสียงที่ Positive ให้กำลังใจ สนับสนุน และให้เขารู้สึกว่า เรากำลังผลักดันเขาอยู่เสมอ ถ้าเมื่อไหร่ที่ลูกทีมมีท่าทีว่าไม่อยาก 1-1 นั่นแปลว่าคุณมาผิดทาง เพราะเขาไม่ได้รู้สึก Comfort ที่จะปรึกษาเรื่องชีวิตการทำงานกับคุณ