[Blog Cover]วิธีสร้างโอกาส ‘ทุกจังหวะชีวิต’ ที่ทำให้ เฮียวิทย์ ไม่มีวันตกยุค
ความอยากรู้อยากเห็น คือนิวเคลียสของการเติบโต

สรุปคลิป “เฮียวิทย์” อายุ 50 ยุคนี้ก็เหมือน 30 ยุคก่อน จากช่อง ATIME Do Dee (จักรวาลใต้โต๊ะ) รายการใต้โต๊ะทำงาน OT EP.38 พูดคุยกับ เฮียวิทย์ – วิทย์ สิทธิเวคิน นักเล่าประวัติศาสตร์ พิธีกร ผู้ประกาศข่าวเศรษฐกิจ และ การลงทุน ดำเนินรายการโดยดีเจเผือก ดีเจอาร์ต และดีเจโบ

จุดเริ่มต้นของความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์

เฮียวิทย์ในวัยเด็ก ไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง แต่ความเรียนไม่เก่งทำให้สนุกกับการหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ ไม่ได้เรียนแต่ในตำรา

เป็นโชคดี ที่โรงเรียนใส่ใจกับการให้เด็กสนุกกับการเรียนหนังสือ สนุกกับการไปโรงเรียน

เฮียวิทย์สนุกกับการไปโรงเรียนทุกวัน แม้จะไม่รู้เรื่อง แต่จำได้ ความอยากรู้อยากเห็นหลาย ๆ อย่างของเฮียวิทย์ มาจากสิ่งที่โรงเรียนไม่ได้สอน แต่อาจดึงความสนใจเรา

ความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ของเฮียวิทย์ เริ่มต้นมาจากการดูหนังจีน กับการสงสัยว่าตัวละครในหนังเรื่องนั้น ๆ มีตัวตนจริง ๆ ไหม

การดูแลสุขภาพของเฮียวิทย์ในวัยเข้าเลข 5

เฮียวิทย์ในตอนนี้เข้าสู่อายุเลข 5 แต่ก็ยังดูกระฉับกระเฉง เคล็ดลับสุขภาพของเฮียวิทย์ คือ

1. ตื่นเช้า นอนเร็ว

เพราะต้องทำรายการเช้า เคยจัดรายการ 7 โมงเช้า แล้วต้องตื่น 5 ทุกวัน ทำให้ต้องนอนเร็ว จนครั้งหนึ่งมีหมอจีนทักว่าการตื่นตามตะวันเป็นความโชคดี เพราะตามหลักจีนมนุษย์กับธรรมชาติมีความเชื่อมโยงกัน

2. มีการบริจาคเลือดอย่างสม่ำเสมอ

แม้ว่าจุดเริ่มต้นจะเกิดจากความจำเป็นเพราะเลือดข้น แต่เฮียวิทย์ก็เชื่อว่า การ circulation เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ดีต่อตัวเอง และได้ให้ข้อคิดว่า เวลาเราเจออะไร ต้องมองหาข้อบวกกับมัน

3. ปรับวิธีทานอาหาร

ปรับการกินโดยงดมื้อเย็น แล้วมาเน้นหนักตอนเช้าได้เต็มที่ เพราะต่อให้เรากินเยอะก็ยังมีเวลาให้ร่างกายได้ย่อยทั้งวัน เมื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน มันก็จะกลายเป็นนาฬิกาชีวิตใหม่

4. อารมณ์ดี

เป็นส่วนสำคัญที่สุด เฮียวิทย์ได้เริ่มปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ แม้มีความเครียด ก็สามารถบริหารจัดการได้ดีกว่าเดิม โดยคิดเสมอว่า ‘มึงมา เดี๋ยวมึงก็ไป’ ไม่มีอะไรอยู่ถาวร ความเครียดไม่เคยช่วยให้เราแก้ปัญหาได้

การรับมือกับวิกฤติวัยกลางคน

เมื่อพูดถึงช่วงอายุสามสิบกว่า ช่วงอายุนี้มีความรับผิดชอบเยอะขึ้น ชีวิตคิดไปถึงอนาคต ความเครียดมีเยอะมาก เวลาน้อยลง และเริ่มมีปัญหาสุขภาพ

การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นที่ประสบความสำเร็จกว่า คือต้นเหตุแห่งความเครียด เราต้องมีวิธีบริหารจิตให้ดี และเรียนรู้ว่าแต่ละคนมีช่วงพีคไม่เหมือนกัน

เฮียวิทย์ได้ยกคำพูดจากนายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลาฟ โชลส์ ที่ว่า
ชาวเรือเยอรมันพูดว่า “ไม่ใช่ลม แต่เป็นใบเรือที่กำหนดทิศทางของเรือ”

ดังนั้นหากคนเรือรู้จักพลิกใบเรือ เรือก็จะไปในทิศทางที่เป็นและฝ่าคลื่นลมไปได้

วิกฤติวัยกลางคน มีจริง ทั้งความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น มีครอบครัวที่ต้องดูแล การวางแผนเกษียณ

สำหรับเฮียวิทย์ในตอนนั้นคิดว่า มีโอกาสอะไรเข้ามา ทำให้หมดอย่างเต็มที่ เพราะหากทำแล้วออกมาดี มันอาจกลายเป็นจิ๊กซอว์ที่จะเชื่อมจุดต่อไปก็ได้

แต่ละวันคือการต่ออิฐชีวิตแต่ละก้อน โฟกัสที่วันนี้ มีโอกาสทำ ทำให้ดีที่สุด

หากเราไม่ชอบงานที่ทำ จะฝืนไปทำไม

เปรียบเหมือนเราวิ่งมาราธอน แล้วระหว่างทางมีทางแยกเต็มไปหมด หากเรามองเห็นแล้ว เรากล้าที่จะเสี่ยงเปลี่ยนเส้นทางใหม่ไหม และหากคิดแล้วผิด อย่าตกใจ ทุกอย่างมียูเทิร์นตลอด หากลองแล้วพลาด อย่าไปเสียใจกับมัน ทุกอย่างล้วนแต่เป็นบทเรียน

‘Humanware’ คืออะไร

มนุษย์บนโลกนี้หลายพันล้านคน นิสัยไม่เหมือนกัน มนุษย์แต่ละชาติก็มีอุปนิสัยแตกต่างกัน เฮียวิทย์เรียกบุคลิกเฉพาะเหล่านั้นว่า Humanware

คนแต่ละประเทศมีวิถีชีวิตและลักษณะการทำงานแตกต่างกัน แต่ละคนถูกสร้างขึ้นมาในลักษณะที่ไม่เหมือนกัน พอเราเจอคนหลายชาติ เราจะเรียนรู้ว่าแล้วเราควรจะเพิ่มเติมอะไร อันไหนที่คิดว่าเวิร์คกับเรา อันไหนดีเราเก็บไปใช้ นี่คือ Humanware

การศึกษาในต่างประเทศ กับมุมมองด้านการใช้ชีวิต

การศึกษาในต่างประเทศใช้เวลาน้อย ให้เด็กมีจินตนาการในการคิด และไปถึงแก่นว่าเอาไปทำอะไร และการเรียนในระดับผู้ใหญ่ จะมีความ ‘เหี้ยม’ กว่า หลักสูตรเข้มกว่าและกระตุ้นให้ผู้เรียนต้องช่วยเหลือตัวเอง หากอะไรไม่ได้มาตรฐานก็จะถูกคัดออก ใส่ใจแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย

เรื่องเล็ก ๆ เหล่านี้สามารถที่จะรวมกันแล้วส่งผลต่อภาพใหญ่ของประเทศได้

หากพูดถึงคนที่มีอายุของต่างประเทศ เฮียวิทย์ยกคำของต่างชาติอย่างการมองว่า A year older is a year wiser มาเป็นตัวอย่าง ยิ่งอายุมากขึ้น ก็ยิ่งมีปัญญามากขึ้น ใส่ใจกับวิถีชีวิตที่โฟกัสที่ตัวเอง ประหยัดค่าดูแลสุขภาพภายหลังด้วยการดูแลร่างกายตัวเองให้ดีในตอนนี้

ประเทศไทยกับสังคมแห่งการเรียนรู้

นอกจากทีวีก็ยังมีโซเชียลมีเดียที่เป็นเหมือนโลกอีกใบนึง ทำให้เราได้ให้ข้อมูลอะไรบางอย่าง เช่น รายการความรู้ต่าง ๆ ที่ทำให้คนรู้สึกกะตือรือร้นกับการเรียนรู้ เฮียวิทย์กล่าวว่าตัวเองเป็นแค่ขาเล็ก ๆ ขาหนึ่งของ History

ประเทศที่พัฒนาแล้ว ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ มุมมองต่อคำว่าประวัติศาสตร์ คือกรณีศึกษาทำให้เรามีการคิดเชิงเหตุเชิงผล คือสหสาขาวิชาที่เกิดขึ้น และอยู่ภายในกรอบเวลาเดียวกันคืออดีต

‘ความอยากรู้อยากเห็น’ คือนิวเคลียสของการเติบโต ทำให้เขาเรียนรู้

เฮียวิทย์กล่าวว่ารู้สึกดีใจที่เห็นคนไทยกะตือรือร้นกับการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ดีใจที่สังคมที่อยากเรียนรู้มันเกิดขึ้น เป็นโปรเจกต์ที่เฮียวิทย์มีความสุขที่ได้ทำ

เฮียวิทย์ได้ฝากข้อความถึงคนที่สนใจอยากทำคอนเทนต์สายสาระ ว่า อย่าท้อถอย ให้ทำต่อไปแม้จะมีคนดูไม่เยอะ แค่เราสามารถทำให้คน ๆ นั้นมี passion กับวิทยาการได้ จุดประกายให้คนกลุ่มหนึ่งเกิดขึ้น มันยิ่งใหญ่มาก

ให้ฝึกฝนต่อไป และเราจะเก่งขึ้นเรื่อย ๆ หากเราไม่ฝึกฝนเลย เมื่อมีโอกาสมาเราก็จะคว้ามันเอาไว้ไม่ได้

กว่าที่เฮียวิทย์จะมาถึงจุดนี้ได้ก็ฝ่าฟันอุปสรรคมามากมาย ใช้ความอดทน ใช้เวลา สั่งสมความรู้และประสบการณ์

ความช่างสังเกต และ ความช่างจำ วันหนึ่งมันจะต่อออกมาเป็นจิ๊กซอว์ เป็นสายยาวและจะทำให้เราได้เจอในสิ่งที่เราชอบ

More in:Business

Comments are closed.