สรุป Session EXCELLENCE & PURPOSE FORUM: IGNITING SUCCESS WITH PASSION FOR PERFORMANCE & LEADERSHIP โดยคุณต๊อด-ปิติ ภิรมย์ภักดี, ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์, โค้ชเช – ชัชชัย เช และ น้องเทนนิส- พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ในงาน Thailand HR Day 2024
คุณต๊อดเล่าว่า ถ้าเรามองการบริหารจัดการชมรม สมาคมเป็นเหมือนบริษัท กีฬาเป็นอาชีพ เราจะเข้าใจมากขึ้น มันไม่ใช่แค่การแข่งขันกีฬาในวันเวลาแข่งขันเท่านั้น มันมีกระบวนการต่าง ๆ ที่ถูกวางเอาไว้มากมาย นอกจากนักกีฬากับโค้ชก็มีทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังมหาศาล มีการทำงานเป็นทีม ภาพที่คนดูเห็นอาจเป็นภาพในวันที่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว แต่ด้านอื่น ๆ เราไม่เห็น
ความมุ่งมั่นคือวินัย ที่ทำซ้ำ ๆ ถ้าเราเปลี่ยนความน่าเบื่อให้เป็นวินัย เราก็จะเปิดมุมมองที่เราไม่เคยได้มอง
Table of Contents
- ทำงานซ้ำกับคนเดิม ทะเลาะกัน ไม่เห็นด้วย จะผ่านปัญหาเหล่านั้นอย่างไร
- ถ้าย้อนกลับไปจะทำอะไรให้ดีขึ้น ?
- ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ต้องต่อสู้กับคำพูด ความคิดคน อะไรคือเรื่องสำคัญ?
- Mindset นักกีฬาอะไรสำคัญ ?
- ในมุม CEO อยากให้พนักงานทำอะไรเพิ่มไหม ?
- น้องเทนนิสกับคนหลังบ้าน
- อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ผ่านช่วงเวลาต่าง ๆ มาได้
- โค้ชเชมีเทคนิคอะไรที่ทำให้ทุกคนสู้ไปด้วยกัน
- เทนนิสรู้สึกอย่างไรกับการเก็บตัวอยู่ในค่ายฝึกซ้อม
- บาลานซ์สปีดของธุรกิจกับการพัฒนาคน
- คู่แข่ง
- Mindset / การแข่งขัน / ทีมซัพพอร์ต
ทำงานซ้ำกับคนเดิม ทะเลาะกัน ไม่เห็นด้วย จะผ่านปัญหาเหล่านั้นอย่างไร
คุณต๊อดบอกว่าสิ่งที่สำคัญคือ HR ต้องเปลี่ยนความน่าเบื่อให้ไม่น่าเบื่อ อาจจะไม่ต้องถึงขั้นสนุก แต่ถ้าเรามี Direction เข้าใจเป้าหมาย เข้าใจว่าทำเพื่ออะไร แม้ความน่าเบื่อจะไม่หมดไป แต่มันจะลดน้อยลง ก่อนความสนุกเราจะเจอกับความท้าทายในการทำงานที่ซ้ำซากจำเจ
และเราก็ต้องมี KPI ตัววัดให้ได้ว่าสิ่งที่เราทำ มีประโยชน์แค่ไหน ในการทำงาน ในการฝึกซ้อมเราก็ต้องประเมินว่ามันทำให้สมรรถภาพเราดีขึ้นหรือไม่ ไม่เช่นนั้นก็เหมือนกับเราลงทุนไปโดยที่ไม่มีผลตอบแทน
ด้านน้องเทนนิส ก็ใช้เวลาหลายปีมาก ๆ กว่าจะประสบความสำเร็จ ความสำเร็จไม่ได้สร้างภายในวันเดียว มีการฝึกซ้อมที่ทั้งท้อ และเหนื่อยบ้าง แต่เอามาเป็นความท้าทาย แม้จะไม่ชอบวิ่ง แต่ก็เป็นความท้าทายที่อยากวิ่งชนะเพื่อน ก็ซ้อมเพิ่มมากขึ้นกว่าคนอื่น ซื้อรองเท้า ทำทุกทางให้ตัวเองพัฒนาตัวเองไปข้างหน้า ทุกอย่างคือบทเรียนที่ทำให้น้องเทนนิสเป็นน้องเทนนิสในทุกวันนี้
ถ้าย้อนกลับไปจะทำอะไรให้ดีขึ้น ?
ด้านน้องเทนนิสแชร์ว่า
1. บริหารจัดการเวลา แบ่งเวลาให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเรื่องเรียน ซ้อม ครอบครัว เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีเวลาให้ครอบครัว เพราะต้องจากบ้านมาฝึกซ้อมในกรุงเทพฯ เป็นเวลานาน
2. เรื่องเป้าหมาย น้องเทนนิสตั้งไว้ชัดแล้วว่าไม่อยากไปแค่ ‘เข้าร่วม’ หรือแค่คว้าเหรียญใดเหรียญหนึ่ง แต่บอกตัวเองเสมอว่าจะเอา ‘เหรียญทอง’ ซึ่งไม่ได้เป็นการกดดันตัวเอง โดยทุกครั้งจะเอา Post-it ไปแปะ ว่าเหนื่อยวันนี้สบายวันหน้า เหนื่อยวันนี้จะทำให้เราชนะในวันหน้า นี่คือสิ่งที่ทำให้น้องเทนนิสจะทำให้ดีขึ้นอีก
ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ต้องต่อสู้กับคำพูด ความคิดคน อะไรคือเรื่องสำคัญ?
สำหรับน้องเทนนิส ตลอด 20 ปี วันที่ยากสุดคือวันที่เริ่มเล่น ไม่มีใครคิดว่าน้องจะเป็นนักกีฬาได้แม้จะอยู่ในครอบครัวนักกีฬา น้องเทนนิสเป็นลูกหลงที่เกิดช้ากว่าพี่ ๆ สิบกว่าปี แต่คุณพ่อก็เชื่อเสมอว่าเธอทำได้ ให้กำลังใจว่าทำได้ เรามีมือ แขน เหมือนกัน มีหัวใจที่พ่อผลักดันอยู่ สนับสนุนอย่างเต็มที่ ในวันที่ไปแข่งแม้จะแพ้หรือชนะ ก็เป็นเรื่องราวที่ทำให้ชีวิตสมบูรณ์ มันคือชีวิต มันคือกีฬา เหมือนกับชีวิตที่มีขึ้นลง ทุกครั้งมีบทเรียน ประสบการณ์ สอนให้แข็งแกร่งขึ้นทุกวัน
ในการแข่งซีเกมส์ครั้งแรกที่พม่าปี 2013 ตอนนั้นน้องเทนนิสเป็นเยาวชนดาวรุ่ง ไปแข่งหวังเหรียญทอง แต่ก็พ่ายแพ้ไปอย่างเจ็บปวด วันนั้นเป็นประสบการณ์ที่น้องบอกกับตัวเองว่า หลังจากนี้ไม่ว่าจะสู้กับใครจะเตะให้คะแนนห่างที่สุด เป็นสิ่งที่สอนให้เธออย่างดี ไม่ว่าจะแพ้ชนะ ก็ได้บทเรียนกลับมาเสมอ
Mindset นักกีฬาอะไรสำคัญ ?
คุณต๊อดเล่าว่า เราตีความหมายได้หลายอย่าง เช่น ถ้าเราไปโทษคนอื่นและไม่ปรับปรุงตัวเอง ก็อาจจะไม่มีน้องเทนนิสในทุกวันนี้ ในชีวิตการทำงานเช่นเดียวกัน มีขึ้นลง แต่ขึ้นแล้วจะบริหารตัวเราเองได้อย่างไร แล้วเวลาลงจะบริหารไม่ให้เราท้อได้อย่างไร
ในเรื่องสปิริตความเป็นนักสู้ ไม่ใช่แค่เราจะชนะเขาอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับว่าเราจะชนะแบบไหน ชนะแบบมีน้ำใจกีฬา หรือ ชนะอย่างไม่ยุติธรรม Sportmanship สำคัญ ทั้งกีฬาและการทำธุรกิจ
การแข่งขันไม่ว่ากีฬาหรือธุรกิจ สิ่งสำคัญคือ
1. การเคารพกติกา
2. การมี Sportsmanship
HR เองก็เป็นคนที่ได้รับ Recognition ช้าสุด แต่อะไรพลาดรับก่อนใครเลย แต่ก็ทำความเข้าใจกับมันและรับรู้ บางครั้งเราอยากเปลี่ยนเกณฑ์กติกามันก็ยาก ก็เหมือนนักกีฬากับโค้ชต้องทำงานเป็นทีม ทัพหลังมีอีกเพียบ ความสำเร็จของนักกีฬาหรือบริษัทก็เกิดจากทัพหลังด้วย บางครั้งพวกเขาไม่มี Recognition ผู้บริหารก็ต้องอย่าลืมมองทีมข้างหลังด้วย
ในมุม CEO อยากให้พนักงานทำอะไรเพิ่มไหม ?
คุณต๊อดบอกว่าวันนี้ต้องมองที่กติกาและเป้าหมาย หลายบริษัทกติกามีความคล้ายคลึงกัน แต่ในการตั้งเป้า ตั้งโจทย์ ต้องบูรณการคำถามหลายเรื่อง ว่าการมี HR เขาช่วยอะไรได้บ้าง HR ในองค์กรคุณต๊อด ไม่ใช่แค่การหาคน แต่คือกลยุทธ์ด้วย
การเซทเป้าหมายเดิม ๆ ทำอะไรซ้ำ ๆ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เปลี่ยนแปลง outcome บนโลกแห่งการแข่งขัน HR ก็จะเหนื่อยกับพนักงานและ New Gen เพราะทุกคนมีความต้องการของตัวเอง โลกต้องมีการเปลี่ยนแปลง Dynamic สำคัญมาก เราต้องเข้าใจโจทย์ จะได้วางกลยุทธ์ให้ถูกต้อง เหมือนการแข่งกีฬาทุกชนิด วันแรกที่แข่งกับวันนี้ กฎเปลี่ยนไปเยอะ
ในโลกการทำงานโควิดก็เป็นสิ่งที่ทำให้หลายอย่างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก ๆ และเกิด New Normal ต่าง ๆ มากมาย เราจะไม่กลับไปเหมือนเก่า มันเป็นแสตนดาร์ดใหม่ ชาเลนจ์ของ HR ในอีก 3-5 ปี คือการเสิร์ฟตัวธุรกิจ แต่ก็ต้องมีกลยุทธ์ และตัววัดด้วย
น้องเทนนิสกับคนหลังบ้าน
คนดูมักจะเห็นแค่ 3 คน น้องเทนนิส โค้ชเช คุณหมอ แต่กว่าจะถึงวันนี้ก็มีคนอีกเยอะ เช่น สมาคมเทควันโด ที่ให้ที่พัก ที่ฝึกซ้อม / นักจิตวิทยา ที่ต้องฝึกใจไม่แพ้ร่างกาย / นักโภชนาการ กินอาหารที่มีประโยชน์ คุมน้ำหนัก และยังมีทีมงานอีกมากมายเลยที่ช่วยกันดูแลให้เกิดนักกีฬาหนึ่งคน กว่าจะมีวันนี้ก็เป็นหลายร้อยชีวิต
อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ผ่านช่วงเวลาต่าง ๆ มาได้
โค้ชเชเล่าว่าได้เจอกับเทนนิสครั้งแรก ตอนน้องอายุ 14 ปี จนถึงวันนี้ก็อยู่กันมา 13 ปีแล้ว ตอนแรกไม่คิดว่าเขาจะได้เหรียญทองโอลิมปิก จำได้ว่าช่วงเก็บตัวเป็นรุ่นเยาวชนสิบกว่าคน เทนนิสมีรูปร่างที่ผอม และดูไม่มีแรง แต่เขามองว่าน้องเป็นเด็กดี มีความมุ่งมั่น อดทน
ในวันนี้ที่นักกีฬาเทควันโดไทยคว้าได้เหรีญทองคำโอลิมปิกมา แต่ 22 ปีที่แล้วตอนโค้ชมาเมืองไทยในปี 2002 ทั้งสมาคมและโค้ช ‘เริ่มจากศูนย์’ เพราะในตอนนั้นไม่มีแม้กระทั่งนักกีฬาทีมชาติ แล้วก็โค้ชเชพูดไทยไม่ได้ และมีสัญญาจ้างแค่ 8 เดือน ทางสมาคมให้หน้าที่แค่ถึงเอเชียนเกมส์เท่านั้น
การที่หลายคนคนชื่นชมเรื่องราวความสำเร็จเทควันโดได้เหรียญทองโอลิมปิก แต่คนไม่ค่อยสนเรื่องระหว่าง 20 ปีนั้น ไม่ใช่แค่เทนนิส แต่เราก็เคยได้เหรียญโอลิมปิกตั้งแต่คุณวิว – เยาวภา สมัยโอลิมปิค 2004 เอเธนส์ ก็ทำให้คนไทยเริ่มรู้จักกีฬาเทควันโดมากขึ้น เป็นเวลานานที่ทั้งสมาคมซัพพอร์ต และ มีทีมงานที่ดูแลและคอยช่วยเหลือกันมามากมาย
โค้ชเชรู้สึกขอบคุณนักกีฬา ทุกคนผ่านการส่งเทรน Physical Training ตอนเช้า ทุกคนก็ไปเรียนต่อ เรียนเสร็จก็กลับมาซ้อมต่อ เรียนไปด้วยซ้อมไปด้วย ฝึกซ้อมก็หนักมาก
เวลาคนถามว่าโค้ชเชดุไหม โค้ชก็ดุเรื่องระเบียบวินัย เรื่องกีฬาการต่อสู้ ถ้าฝึกซ้อมไปไม่ดี ไปแข่งก็มีโอกาสแพ้ ดังนั้นเลยเข้มข้นเรื่องระเบียบวินัยมาก ช่วงแรกโค้ชเชก็ดุมาก ไม่ยอมแม้กระทั่งให้นักกีฬาเข้าห้องน้ำ เพราะบางคนอยู่ในห้องน้ำเป็น 20-30 นาที ก็เลยต้องเข้มงวด แต่โค้ชรู้สึกขอบคุณที่ทุกคนทั้งทุ่มเทอดทน แม้ตอนแรกก็จะแพ้บ่อยครั้ง แต่ก็ทำต่อไปเรื่อย ๆ กลับมาฝึกซ้อมหนัก และ ก็คว้าความสำเร็จมาได้
โค้ชเชมีเทคนิคอะไรที่ทำให้ทุกคนสู้ไปด้วยกัน
เทควันโดเก็บตัวซ้อมกัน 11 เดือน ทุกคนอยู่ในแคมป์ กิน ซ้อม นอน ด้วยกัน ก็เหมือนต้องเป็นทั้งพ่อทั้งแม่ ทั้งลุง System ของเทควันโดเหมือนครอบครัว ดูแลไม่ใช่แค่เรื่องซ้อม พูดคุยเรื่องส่วนตัวกันด้วย ก็พยายามศึกษาเรื่องเทควันโด และชีวิตด้วย ต้องเป็นเหมือนครอบครัวกันและกัน
เทนนิสรู้สึกอย่างไรกับการเก็บตัวอยู่ในค่ายฝึกซ้อม
น้องเทนนิสเล่าว่า ตั้งแต่แบกกระเป๋ามาอยู่กรุงเทพกับสมาคม 13 ปี ตอนแรกก็โดดเดี่ยวและเหงา แต่ก็มีเพื่อน ๆ จากต่างจังหวัดที่มาจากหลายที่มาอยู่รวมกัน ฝึกซ้อมด้วยกัน ก็แปลกใหม่เหมือนเข้าค่าย แต่พอนาน ๆ ไปเพื่อนก็ออกกันไป มีคนเข้า-ออก แต่ก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ เพราะมีความฝันที่อยากคว้าเหรียญทอง ก็ต้องทำมัน
พอเครียด โค้ชก็จะเรียกเข้าไปคุยบ้างว่าเกิดอะไร บางทีก็มีใช้ทั้งไม้แข็ง ไม้อ่อน เรียกว่าต้องศึกษาเข้าใจซึ่งกันและกัน อยู่ด้วยกันแบบเหมือนเป็นพ่ออีกคน เป็นความสบายใจที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้ห่างบ้าน
3 คำให้โค้ชเช คือ “อบอุ่นมาก” เป็นเหมือนอีกหนึ่งครอบครัว เป็นเพื่อน เป็นพ่อที่ใส่ใจกัน ทำให้รู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยว
บาลานซ์สปีดของธุรกิจกับการพัฒนาคน
การที่รอ HR สร้างใคร บางทีเรารอไม่ไหว ทำอย่างไรให้บาลานซ์สปีดของธุรกิจกับการพัฒนาคนได้ ? คุณต๊อดบอกว่า ทุกคนมีปัญหาและจุดเริ่มต้นคล้าย ๆ กัน ยุคนี้ไม่ใช่แค่อัปสกิล แต่ต้องรีสกิลด้วย ต้องเริ่มจากการประเมินเราเองก่อนไปเปรียบเทียบกับคู่แข่ง กลับมาดูว่าสกิลที่พนักงานเรามีเพียงพอไหม ตัวเรา องค์กร พร้อมไหม อย่าไปมัวแต่มองข้างนอกเพราะอาจทำให้เราพลาดเป้าหมาย แต่ละคนมีจุดอ่อนแข็งต่างกัน จะเทรนอย่างไรให้มีพัฒนาที่ดีและเหมาะสมกับองค์กร ถ้าไม่รู้ตัวเองเอาแต่ตามกระแสเราอาจจะ Mislead ได้
ไม่มีใครชอบการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เรามีวันนี้ไม่ได้การันตีว่าเรามีอนาคต สิ่งที่ผ่านมาไม่ได้แปลว่าเรามีดีทั้งหมด แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป การที่เราใช้วัฒนธรรมเดิมก็อาจไม่สามารถรักษาคนเอาไว้ได้ จะเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือจะให้คู่แข่งเปลี่ยนเรา ก็ขึ้นอยู่กับเรา
มากกว่ากลยุทธ์คือ การสื่อสาร ไม่ว่าจะสื่อสารไม่ดี คนไม่อยากฟัง และยิ่งถ้าเราสื่อสารไม่ดี คนอาจจะก้าวกลับไปจาก Comfort zone ไป Safe zone ได้เลย ก็ต้องดูว่าเราอยู่กระบวนการไหน
หลายครั้ง HR เป็นเหมือนตัวซัพพอร์ต แต่ต้องพลิกให้ตัวเองเป็น “กลยุทธ์ setter” ด้วย มีเชิงรุกในการเข้าไปปิดปัญหา พัฒนาหลายส่วน ไม่ต่างกับนักกีฬา ถ้ายิ่งเจ็บปวดแล้วฝืนซ้อมก็ยิ่งเจ็บยาว เราถึงต้องไปดูว่ากล้ามเนื้อมัดไหนอ่อนแอ การประเมินร่างกายก็เหมือนเป็นการประเมินธุรกิจ แล้วก็ดูต่อว่าเราจะไปพัฒนาส่วนนั้นให้แข็งแรง ไม่บาดเจ็บได้อย่างไร
คู่แข่ง
การสร้างกำลังใจก็เป็นหน้าที่โค้ช ทุกกีฬา สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทุกคนอยากชนะ แต่เรื่องชนะอยู่ที่ใจ โค้ชอยากสร้างเรื่องใจ ให้ใจสู้ มั่นใจ ไม่ท้อ นักกีฬาบางคนเทคนิคดี แต่ไม่มั่นใจ ใจไม่สู้ ตอนซ้อมแม้เล่นดีมากใจสู้ แต่เวลาแข่งมีความกดดัน กลัวแพ้ ก็จะมีปัญหาเรื่องใจ เรื่องเทคนิคก็อยู่ที่นักกีฬา แต่เรื่องใจโค้ชต้องสร้าง และให้เขาฝึกซ้อมเรื่องความมั่นใจ ใจสู้ ไม่ต้องกลัวแพ้ ไม่ใช่แค่กีฬา นักธุรกิจ คนทั่วไป เรื่องใจเองก็สำคัญที่สุด ในวันที่เริ่มจาก 0 แม้จะแพ้ตลอด แต่ก็พยายามต่อเนื่อง สู้ต่อ ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จ
สำหรับน้องเทนนิส ก่อนมาถึงวันแข่งก็ฝึกมามากอยู่แล้ว เช้า กลางวัน เย็น เพราะตอนซ้อมเตะกับผู้ชายตลอด พอข้ามขีดจำกัดตัวเองไปแล้ว เวลาไปแข่งเลยไม่กลัวใคร วันไหนเล่นไม่ดีก็ซ้อมต่อ ทำให้พร้อมที่สุด เมื่อโอกาสมาถึงก็ใส่อย่างเต็มที่ ไม่ปราณีไม่ยั้งเล่นจนหมดเวลา ที่หน้าออกมาไม่กดดันแต่จริง ๆ ก็กดดัน แต่ก็พยายามทำใจให้สบาย ไม่เครียด มองดูบรรยากาศและซึมซับ เล่นอย่างที่ซ้อม ทำเต็มที่แบบที่เตรียมมา ไม่ว่าผลจะเป็นไงก็บอกว่าตัวเองทำเต็มที่แล้วตั้งแต่ตอนที่ซ้อมจนถึงวันแข่ง
Mindset / การแข่งขัน / ทีมซัพพอร์ต
ในศาสตร์การบริหารคนเป็นสิ่งที่ยากมาก คุณต๊อดผ่านมาหลายบริษัทในเครือ และมองว่าตัวเองมีความโหดพอ ๆ กับโค้ชเช มองถึงความอยู่รอด และการแข่งขัน ทำให้เขาเข้มงวด เพราะถ้าเราทำให้อะไรเดิม ๆ มันอาจทำให้ธุรกิจเราต้องไป outsource หรือ อาจปิด BU นั้น ๆ ไป
ทุกอย่างเวลาตั้งเป้าหมาย ต้องเห็นวัตถุประสงค์ชัดเจน และรู้ว่าเราแข่งอยู่ในสนามไหน ประเมินทั้งตัวเราเองและสภาพแวดล้อม จากนั้นจึงไปมองว่าสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับใครบ้างซึ่ง HR เกี่ยวข้องกับคนเยอะมาก หากเรามองหน่วยงานเป็นลูกค้าก็ดูว่าเราจะเสิร์ฟอย่างไรไม่ให้ผิดกฎกติกานั้น จะ Manage Gap อย่างไร มากน้อยแค่ไหนก็สำคัญ
แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือผู้บริหารระดับ C- Level ต้องเข้าใจบุคลากรด้วย และเรื่องกลยุทธ์เมื่อต้อง convince เจ้าหน้าที่ / C-level ถ้าเราไม่มีกลยุทธ์เขาก็ไม่เชื่อ
การเปลี่ยนแปลงดีที่สุดตอนเราอยู่บนภูเขา ไม่ใช่ตอนที่เราเดินลง
คุณต๊อดทิ้งท้ายด้วยสามสิ่งที่สำคัญอย่าง เป้าหมาย / กลยุทธ์ / การวัดผล : อยากได้เป้าอะไร มีกลยุทธ์อย่างไร และวัดผลอย่างไร ถ้าพื้นฐานสามอันนี้เราทำได้ ก็จะดีกว่าอยู่เฉย ๆ อย่างแน่นอน