เคยเป็นทั้ง Web Designer ตั้งแต่ที่เว็บหางานในไทยยังไม่มีตำแหน่ง UX Designer เป็น Project Manager ที่ต้องทำ Wireframe และ User Flow โดยที่ไม่รู้ว่านี่คือเครื่องมือสำคัญในการทำ UX เรียนรู้การทำ Product Development และการทำงานรูปแบบ Agile หรือ Scrum จากการจับพลัดจับผลูไปเป็น Product Owner และในวัย 30 ที่เริ่มตกหลุมรัก UX แต่กำลังเครียดว่าจะเลือกเส้นทางอาชีพต่อไปในชีวิตอย่างไรดี ก็ได้คำถามจากเพื่อนว่า “ถ้าตัดเรื่องเงินออก จะทำงานอะไร”
และมีคำตอบแรกในหัวทันทีว่า “อยากเป็น UX”
นั่นคือจุดเริ่มต้นเส้นทางสายอาชีพ UX ในวัย 30 ของคุณป๋อม สุธัม ธรรมวงศ์ จากประสบการณ์การทำงานทั้งหมดที่เคยทำมาเป็นเหมือนการสะสม dots ที่สามารถ connect ได้อย่างหลากหลาย เป็นส่วนผสมให้ คุณป๋อม สุธัม ธรรมวงศ์ เจ้าของเพจและ Host ของ Podcast รายการ หมีเรื่องมาเล่า อดีต Head of Experience Design แห่ง Bitkub เป็นคนทำงานสาย UX Designer ที่มีทักษะ ประสบการณ์ และเรื่องราวเส้นทางอาชีพที่น่าสนใจมากที่สุดคนหนึ่ง
พาไปเจาะลึกเส้นทางการทำงานของคุณป๋อมที่เต็มไปด้วยการกระโดดเข้าไปฝึกฝนทักษะ เสาะหาประสบการณ์ใหม่ๆ และพัฒนาจุดแข็งของตัวเองอยู่ตลอดเวลา บทสัมภาษณ์นี้จะบอกเล่า best practice ส่วนตัวที่คุณป๋อมตกผลึกมาจากตลอดเส้นทางการทำงาน รวมถึงการถ่ายทอดแรงบันดาลใจที่เราเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่าน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่มีความสนใจงานด้าน UX/UI หรือเป็นคนที่กำลังอยู่ในระหว่างการค้นหาตัวเองอยู่ก็ตาม
Table of Contents
- พี่ป๋อมเป็นคนที่ค้นพบว่าตัวเองอยากทำงานด้าน UX ก็เมื่อผ่านการทำงานมาสักระยะแล้ว อยากจะให้ช่วยเล่าเส้นทางการทำงาน ทั้งงานหลัก หรือ project อื่นๆ ที่นำพี่ป๋อมมาสู่จุดนี้
- มัธยม – มหาลัย ความสนใจด้านศิลปะ + พื้นฐานการเขียนโค้ด จุดตั้งต้นการเป็น Web Designer
- เริ่มต้นสายอาชีพด้วยการเป็น Web Designer ที่เขียนโค้ดเป็น ทำ Flash ได้
- ผันตัวไปทำ PM จุดเปลี่ยนวิธีการสื่อสารในการทำงาน รู้จักเครื่องมือ Wireframe, User Flow ก่อนจะรู้จักคำว่า UX
- ยุคแรกเริ่ม Startup ไทย กับการชิมลางงาน UX Designer
- ผันตัวมาเริ่มต้นสาย UX ในวัย 30
- จากการผ่านงานหลายแบบ มีทักษะที่หลากหลาย พี่ป๋อมคิดว่าทักษะอะไรบ้างที่มีความสำคัญกับการทำงานด้าน UX ของพี่ป๋อมในทุกวันนี้
- พี่ป๋อมคิดว่าสำหรับคนทำงานสาย UX ควร “รู้ลึก” หรือ “รู้กว้าง” มากกว่ากัน
- พี่ป๋อมคิดว่าทิศทางอนาคตของสายงาน UX จะเป็นอย่างไร
- สิ่งที่รักมากที่สุดในงาน UX และสิ่งที่เป็นเหมือยยาขม หรือความท้าทายที่สุดในงาน UX สำหรับพี่ป๋อมคืออะไร
- คำถามสุดท้าย อยากแนะนำคนที่กำลังค้นหาตัวเองแล้วยังไม่เจอว่าอย่างไร
- UX/UI Bootcamp กับ Skooldio
พี่ป๋อมเป็นคนที่ค้นพบว่าตัวเองอยากทำงานด้าน UX ก็เมื่อผ่านการทำงานมาสักระยะแล้ว อยากจะให้ช่วยเล่าเส้นทางการทำงาน ทั้งงานหลัก หรือ project อื่นๆ ที่นำพี่ป๋อมมาสู่จุดนี้
มัธยม – มหาลัย ความสนใจด้านศิลปะ + พื้นฐานการเขียนโค้ด จุดตั้งต้นการเป็น Web Designer
ผมมักจะชอบเล่าเรื่องจุดเริ่มต้นเล็กๆ สมัยมัธยม ตั้งแต่ตอนนั้นชอบงานศิลปะ แต่ไม่คิดว่าจะเป็นอาชีพได้ ไม่ได้วาดรูปเก่งขนาดนั้น และตอนนั้นมีเรียน HTML เรียน Dreamweaver เริ่มเขียนโค้ดง่ายๆ อย่าง Marquee code ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่าจะเอาไปทำอะไร จนจะเข้ามหาลัย เราก็ไม่รู้หรอกว่าจะเรียนอะไรดี ก็เรียนตามพี่ๆ ที่เรียนคอมพิวเตอร์เพราะดูมีอนาคตดี พี่สาวแนะนำให้เรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์ (วิทย์คอมฯ) ตอนมัธยมเรียนไม่เก่ง ไม่ค่อยตั้งใจเรียน จบมาก็ไม่ได้เกรดสูง
พอเข้ามหาลัยความจริงจังเพิ่มมาตรงที่เราตั้งใจเรียนในห้องมากขึ้น เพราะในห้องเรียนรู้สึกแปลกใหม่ เจอเพื่อนใหม่ เลยตั้งใจเรียน และคะแนนก็ดีขึ้นเฉยเลย เกรดก็ดีขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกว่าเจ๋ง เลยตั้งใจเรียนไป
กระโดดข้ามมาช่วงฝึกงาน ก็ไปฝึกงานหลังจากเข้าค่ายชื่อ YWC (Young Webmaster Camp) ตอนนั้นเป็นรุ่นที่ 5 ไปเข้าค่ายในสาขา Web Designer แต่ผมเขียนโปรแกรมไม่เก่งนะ แค่เข้าใจว่าต้องเขียนยังไง พอจบค่าย เราเดินไปหาพี่ป้อม ภาวุธ ผู้ก่อตั้ง TARAD.com ขอไปฝึกงานด้วย เขาก็ให้ไปฝึกงานเป็น Web Designer เราก็เลยคิดว่าต่อยอดจากค่ายไปเลย เราไม่ได้ชอบขนาดนั้น แต่น่าจะเป็นสิ่งที่เราถนัดที่สุดที่น่าจะเอาไปประกอบอาชีพได้ เพราะเราเขียนโค้ดไม่เก่ง
เริ่มต้นสายอาชีพด้วยการเป็น Web Designer ที่เขียนโค้ดเป็น ทำ Flash ได้
พอฝึกงานเสร็จสมัครงานที่เว็บ Dek-D.com เป็น Web Designer ในสมัยนั้น ปี 2008 ผมว่าประเทศไทยยังไม่น่ามีคำว่า UX/UI Designer ในเว็บหางานอย่างแน่นอน ชื่อตำแหน่งงานในตอนนั้นเกี่ยวกับเรื่อง web จะมี Web Master, HTML Editor, Web Designer, Graphic Designer อะไรประมาณนั้น
พอเห็นโปรแกรมเมอร์เขาทำงานแล้วรู้สึกว่าตอน project จบมหาลัยเราก็เขียน HTML นะ ก็เลยบอกโปรแกรมเมอร์ว่าขอทำด้วย อยากเขียนโค้ดที่เป็นส่วนหน้าเว็บบ้าง เขาก็บอกเอาเลย สมัยนั้นผมไม่แน่ใจว่ามีคำว่า front-end ไหม แต่เทียบกับปัจจุบัน ผมก็คิดว่าผมทำงานกึ่งๆ front-end แล้วนะ เป็นที่ถกเถียงกันใน community สมัยก่อนเหมือนกันว่า Web Designer ควรจะต้องเขียนโค้ดเป็นหรือป่าว เหมือนสมัยนี้เป๊ะเลย UX จะต้องทำ UI ไหม UX จะต้องเขียนโค้ดไหม แค่สมัยนั้นยังเป็นคำว่า Web Designer อยู่ ตอนนั้นผมไม่สนใจหรอกนะว่ามันจะมีการแบ่งฝ่ายอะไรกันยังไงบ้าง ผมสนใจแค่ว่าถ้าทำแล้วงานมันเสร็จ ทำแล้วเราฟิน เราวินอ่ะ ผมทำ ก็เลยทำ แล้วก็ทำไปได้ประมาณ 2 ปี
ช่วงประมาณปี 2009-2010 เว็บอีกประเภทหนึ่งที่กำลังมาแรงมากเลยคือเว็บประเภท Flash ผมก็คิดว่าต้องทำ เพราะมาสายนี้แล้ว อยากทำมาก อยากทำ animation สวยๆ บนหน้าเว็บ ก็เลยหางานที่เป็นเว็บเกี่ยวกับ Flash แล้วก็ไปได้งานที่บริษัทโฆษณา เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินคำว่า Advertising Agency ตอนไปสัมภาษณ์เขาบอกว่าผมไม่มีงาน Flash banner พวกนี้เลย ต้องไปฝึกเยอะๆ นะ เราก็คิดว่าคงไม่ได้งานแล้วแหละ แต่อาทิตย์ต่อมาเขาก็โทรมาบอกว่ารับเราเข้าทำงาน เราเลยถามกลับไปว่าทำไมถึงรับ เขาบอกด้วยประโยคประโยคหนึ่งที่ทำให้ผมเป็นผมในทุกวันนี้ เป็น mindset ที่แบบฉึกเข้าไปในหัวเลย เขาบอกผมว่า “พี่อยากลองให้โอกาสป๋อมดู” แค่นั้นเอง เรียบง่ายมาก และเราก็รู้สึกว่านั่นเป็นการให้โอกาสที่ดีมากๆ เลยในชีวิต
ถือเป็นจุดเปลี่ยนในช่วงการเป็นดีไซเนอร์ ถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ผมทำงานอยู่ที่บริษัทนั้นประมาณ 6 เดือน พอร์ตงานในตอนนั้นทำให้สามารถหางานได้หลังจากนั้นอีกประมาณ 2-3 ปี โดยที่ไม่ต้องอัปเดตพอร์ตเลย งาน Flash banner สมัยนั้นเป็นงานที่หวือหวามาก และคนก็ชอบมาก ผมทำงาน Flash banner วันหนึ่งประมาณ 20-30 ชิ้นต่อวัน เยอะมาก สนุกมาก ก็ยังเป็นงานที่มีเรื่องเขียนโค้ดอยู่ สายออกแบบเว็บเหมือนเดิม แต่ก็ยังไม่มีคำว่า UX เลย
ผมทำที่บริษัทโฆษณานั้น แล้วก็ย้ายไปอยู่ sanook.com เวลารวมๆ ตรงนี้ตั้งแต่ Dek-D.com จนถึง sanook.com เป็นเวลา 4 ปี ที่ผมทำ role ดีไซเนอร์ เขียนโค้ด ทำ Flash banner ทีนี้ผมรู้สึกผมอยากเติมโต ทำยังไงดีนะ ฉันอยากเป็น senior ได้ไหมนะ มันมีโอกาสที่เข้ามา พี่ที่อยู่บริษัทโฆษณาคนหนึ่งทักเข้ามาว่ากำลังหา PM (Project Manager) อยู่ มีใครแนะนำไหม ผมบอกไปเลยว่าผมอยากทำ เคยเห็นคนบรีฟงานเราตอนอยู่ sanook.com ที่เป็น PM ซึ่งเราคิดว่าเราทำได้ แล้วก็สัมภาษณ์ผ่านได้ไปเป็น PM ที่ Dentsu
ผันตัวไปทำ PM จุดเปลี่ยนวิธีการสื่อสารในการทำงาน รู้จักเครื่องมือ Wireframe, User Flow ก่อนจะรู้จักคำว่า UX
ทีนี้หน้าที่ของ PM ต้องเป็นคนกลางในการสื่อสารกับคนหลายกลุ่มมาก ต้องคุยกับหัวหน้าทีมเรา คุยกับทีมเรา คุยกับลูกค้า ทีมลูกค้า ไปจนถึงเวนเดอร์ของลูกค้า คือมันมีปาร์ตี้เยอะมากในการคุย มันเปลี่ยนวิธีการสื่อสารของผมไปเยอะมาก ทีนี้ด้วยความเป็นคนกลางนี้ ผมต้องใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Wireframe ในการคุยบรีฟ ผมทำ Wireframe ประมาณ 80% ของงานที่ผมทำ ทำ User Flow ประมาณ 80% ของงานที่ผมทำ ทำเยอะมากในทุกวันโดยที่ไม่รู้ว่านี่คือเครื่องมือที่ UX ใช้ทำงานกัน
ยุคแรกเริ่ม Startup ไทย กับการชิมลางงาน UX Designer
ช่วงปี 2013 – 2014 เป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มมีคำว่า Startup บูมขึ้นมา มีโครงการหนึ่งชื่อว่า Startup Weekend ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการคนสามรูปแบบไปเข้าร่วม คือ Developer , Business และ UX Designer ซึ่งรู้สึกชอบคำว่า UX Designer ก็เริ่มหาข้อมูลเล็กน้อยแล้วผมว่า เห้ย มันเหมือนที่ผมทำอยู่แล้ว wireframe ก็ทำมาแล้ว user flow ก็ทำมาแล้ว ไปสมัครเลย รูปแบบงานคือเราต้องไปหาคนร่วมทีมในงานทำ project ด้วยกัน หัวข้อทีมผมเป็นหัวข้อที่คนโหวตเยอะที่สุดในงาน แต่มาตายตรง business ประเด็นสำคัญคือผมเริ่มรู้แล้วว่างาน UX สนุก
ตอนนั้นเรียนโทด้าน marketing อยู่ เพราะอยากต่อยอดงานสายโฆษณา ทีนี้เรียนโทโฆษณากับทำงานโฆษณามันเหนื่อยมาก หนักมาก ชีวิตจะพัง เลยเบรกตัวเองจากการทำงานโฆษณาไปโฟกัสเรื่องการเรียน แต่ยังต้องมีรายได้เลี้ยงตัวเอง เลยได้ไปช่วยรุ่นน้องคนหนึ่งทำ product ที่ชื่อว่า Eventpop ด้วยความที่เป็น Startup ผมได้ทำทุกอย่าง ออกแบบบ้าง เขียน flow บ้าง ทำทุกอย่างเพื่อให้งานเกิด แลกกับการมีเวลาเรียนโทมากขึ้น
ผันตัวมาเริ่มต้นสาย UX ในวัย 30
ผมติดใจว่างาน product สนุกอยากลุยต่อ ก็เลยหางาน UX ก็ได้งานในบริษัท Claim Di ชื่อตำแหน่งงานอย่างเป็นทางการครั้งแรกว่า UX ก็คือที่นี่ ตอนนั้นปี 2016 อายุ 30 แล้ว กังวลนะว่าอายุ 30 แล้วยังจะเปลี่ยนสายงานอีกหรอ ทำไมไม่เป็น PM ต่อ ตอนนั้นผมเครียดนะ แต่เพื่อนคนนึงมาถามผมว่าถ้าวันนี้ไม่สนใจเรื่องเงินเดือนเลย โยนเงินเดือนทิ้งไปเลย อยากทำไร คำตอบแรกในหัวผมคือ UX เลย เลยหางาน UX และได้งานที่นี่
กังวลนะว่าอายุ 30 แล้วยังจะเปลี่ยนสายงานอีกหรอ.. แต่เพื่อนคนนึงมาถามผมว่าถ้าวันนี้ไม่สนใจเรื่องเงินเดือนเลย โยนเงินเดือนทิ้งไปเลย อยากทำไร คำตอบแรกในหัวผมคือ UX เลย
จากนั้นก็มีโอกาสไปทำงานเป็น PO (Product Owner) กับรุ่นน้องที่ชื่อว่า ตั้ง วรัทธน์ (Co-Founder ของ Wisesight) ตอนนั้นบริษัทเป็นการรวม PO ที่มี expertise หลายด้าน มีสายเทค สายธุรกิจ สาย Machine Learning ส่วนผมคือสาย UX สนุกมาก ได้เรียนรู้อะไรเยอะมากเกี่ยวกับ Product Development เรียนรู้เรื่อง culture, Agile, Scrum เยอะมากๆ โดยที่ไม่ได้ไปเรียนคอร์สเลย ให้งานมันสอนเราหมดเลย
แต่การเป็น UX และสวมหมวก PO มันบาลานซ์ยากมาก ยังอยากทำ UX ขอไปโฟกัส UX เลย เป็น PO ได้ 2 ปี ก็ออกไปอยู่ที่ SCB10x ไปบอก คุณต้อง กวีวุฒิ (เจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่ง และ Head of 10X Project, SCB Thailand) ว่าอยากทำ UX Researcher อยากทำ research เยอะๆ เขาก็ให้ทำ แลกกับการที่เราต้องสร้างทีมให้เขา เราก็คิดว่าทำได้เพราะผ่านงาน PO มาแล้ว จากนั้นก็ได้ไปทำเป็น Senior UX ที่ Thoughtworks ทำมาจนปัจจุบันนี้กำลังจะไปเริ่มงานใหม่ที่ Bitkub เป็น Head of Experience Design
จากการผ่านงานหลายแบบ มีทักษะที่หลากหลาย พี่ป๋อมคิดว่าทักษะอะไรบ้างที่มีความสำคัญกับการทำงานด้าน UX ของพี่ป๋อมในทุกวันนี้
ออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้เป็นคนออกแบบสวย แต่ผมเป็นคนออกแบบที่ใช้เหตุผล เคยมี Creative Director บอกว่าผมเป็น Designer ที่ไม่ใช่ Artist แต่เป็น Scientist ก็คือเหมือนมี logic มันคือการคิดอย่างเป็นเหตุผล คิดอย่างเป็นระบบ ผมเน้นความสวยงามนะ แต่ผมเน้นความสวยงามที่มาจากเหตุผลก่อนอันดับแรก ทำไมอันนี้ต้องซ้าย ทำไมต้องขวา ทำไมต้องกึ่งกลาง มันต้องมีตรรกะอะไรสักอย่างหนึ่งมาวาง
อันต่อมาก็น่าจะเป็นเรื่องพูด ผมเป็นคนชอบพูด ชอบเล่า ชอบสื่อสาร ทีนี้ถามว่าการพูดกับ UX มันเอื้อกันยังไง คือถ้าเราเอาแต่ขาย design มันอาจจะไม่มีประโยชน์ถ้าเกิดเราไม่มีข้อมูลหรือความเป็นเหตุผลอยู่ด้วย งานออกแบบมันมีความเป็นปัจเจก สมมติมีคนบอกว่าไม่ชอบสีส้ม แค่นั้นมันไม่ได้ มันต้องมีเหตุผลอธิบาย เช่น 80% ของ user ไม่ชอบสีส้ม คือเอา data เอาเหตุผลมาคุยกัน ดังนั้นถ้าคุณเป็น Designer ที่มีเหตุผล มี data รองรับ และสื่อสารได้ ผมบอกเลยว่ามันจะแข็งแรงมาก
ถ้าคุณเป็น designer ที่มีเหตุผล มี data รองรับ และสื่อสารได้ ผมบอกเลยว่ามันจะแข็งแรงมาก
ในการทำงานเราจะได้เจอคนที่เอาอารมณ์มาคุยแน่ๆ ดังนั้นทักษะในการอ่านเกม อ่านบรรยากาศ หรือ empathy ว่าทำไมเขาถึงชอบและไม่ชอบอะไร แทนที่จะเถียงกลับ เราพยายามตั้งคำถามกลับ “พี่ ผมอยากรู้เพิ่มนิดนึงว่ามันมีเหตุการณ์หรือปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้พี่ไม่ชอบสีส้ม เล่าให้ฟังหน่อยสิ พี่มีข้อมูลอะไรบ้างที่จะทำให้เราตัดสินใจได้บ้าง” ถ้าเกิดเรารู้วิธีการสื่อสารที่ทำให้คนรอบตัวตัดสินใจร่วมกันได้ ทักษะนี้เรียกว่า facilitate เพื่อทำให้คนสามารถเห็นภาพร่วมกัน และช่วยกันตอบได้ ซึ่งการจะทำแบบนี้ก็ต้องมีการ provide ข้อมูล แสดงว่าต้องมีเรื่อง Data Visualization ด้วย เห็นไหมว่าแค่ยกสถานการณ์หนึ่งขึ้นมา เราจะเห็นเลยว่าต้องใช้ทักษะอะไรบ้าง บางทีเราไม่ต้องไปนึก หรือหาอ่านตามเว็บว่า UX ต้องทำอะไรบ้าง เราลองนึกถึงสถานกาณณ์ว่า UX คนหนึ่งต้องทำงานเจอเหตุการณ์อะไรบ้าง เดี๋ยวก็จะมาเอง
ถ้าเกิดเรารู้วิธีการสื่อสารที่ทำให้คนรอบตัวตัดสินใจร่วมกันได้ ทักษะนี้เรียกว่า facilitate เพื่อทำให้คนสามารถเห็นภาพร่วมกัน เห็นแล้วสามารถดีดนิ้วตอบได้ทันที
ทักษะด้าน collaboration สำคัญมาก เพราะไม่ใช่แค่การทำกับทีม business ต้องทำกับ developer ด้วย ไหนจะต้องทำงานกับ user ที่มีหลายแบบ ก็ต้องมี empathize และกลับไปที่ communication ที่ใครๆ ก็บอกว่าเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะเราทำงานกับหลายคนบนโลก
พี่ป๋อมคิดว่าสำหรับคนทำงานสาย UX ควร “รู้ลึก” หรือ “รู้กว้าง” มากกว่ากัน
ผมคงจะถามกลับก่อนว่าเป็นคนชอบทำงานแบบไหน ผมเชื่อว่าแต่ละคนมีสไตล์ของตัวเอง มีบุคลิกของตัวเอง ต้องถามตัวเองว่าเหมาะกับแบบไหน ผมคิดว่าการจะรู้ว่าตัวเองเหมาะกับกว้าง หรือลึก อาจจะต้องลงมือทำดูก่อน เพราะแต่ละแบบก็มีข้อดีและความท้าทายอยู่ มีสิ่งที่เราอาจจะชอบหรือไม่ชอบ อยู่ที่การออกแบบการทำงาน
ทีนี้ความลึกมันมีหลายแกน research บ้าง strategy บ้าง หรืออาจจะเริ่มจากกว้างก่อนก็ได้ และพอได้ลองทำบางอย่างแล้วรู้สึกอยากลงลึก ก็ลองลงลึกดู อาจจะตั้งเวลาไว้สามเดือน จะทำแต่เรื่องนี้ และกลับมารีเฟล็กซ์ตัวเองว่าชอบไม่ชอบ ผมชอบบอกเด็กจบใหม่ว่าทุกงานมีปัญหาหมด แต่เราจะแฮปปี้กับปัญหาไหนในระยะยาวบ้าง เช่นโปรแกรมเมอร์เขียนโค้ด เจอ bug ตลอดเวลา เราโอเคไหมเจอ bug ตลอดเวลา ลองหานิสัยตัวเองดูว่าเราเป็นคนนิสัยแบบไหน ส่วนตัวผมเองก็คิดว่าตัวเองเป็นคนรู้กว้าง จะลงลึกมากไม่ได้ ถ้ามาถามศัพท์เทคนิค ทฤษฎีลึกๆ จะตอบไม่ได้
พี่ป๋อมคิดว่าทิศทางอนาคตของสายงาน UX จะเป็นอย่างไร
ต้องบอกก่อนว่าผมมักจะมีความคิดตั้งต้นในการทำงานกับทุกที่ นั่นคือการคิดว่าเราจะใช้ความถนัดของเราทำอะไรดี ถัดมาคือแล้วความถนัดของเราจะช่วยเหลืองานนั้นได้มากน้อยขนาดไหน และเราจะต่อยอดจากจุดนั้นได้อย่างไร มองว่าการเลือกที่ทำงานเหมือนการเลือกวิชาในมหาลัย ทำไปแล้วสองปี สามปี ได้วิชาอะไรติดตัวมาบ้าง มองแบบนี้แล้วจะรู้สึกว่าเอาไปต่อยอดได้
ดังนั้นจะไม่ค่อยมองชื่อตำแหน่งก่อน จะไม่ค่อยยึดติดกับคำว่าถ้าทำ UX แล้วจะไม่ทำ UI คือเรารู้สึกว่า UX เป็นบทบาทหนึ่งของการทำให้ product เกิดขึ้นมาได้ ด้วยความเข้าใจพฤติกรรมของ user และความเข้าใจ business ว่าเราจะตอบสนองความต้องการของทั้งสองฝั่งอย่างไร และเราจะใช้ solution หรือเทคโนโลยีอะไรที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้ อันนี้คือในส่วนความเข้าใจด้านบทบาทที่ต้องมี แต่ถ้าถามว่า action ต้องทำอะไรบ้าง ก็คือทำอะไรก็ได้นะ ถ้าความสามารถที่เรามีสามารถตอบสนองความต้องการนั้นได้ มันคือการตั้งเป้าหมายว่าเราสามารถนำ product ไปสู่เป้าหมายได้ และจะทำมันอย่างเต็มที่
ทีนี้ตลาดปัจจุบันนี้โอกาสของคำว่า UX มีอยู่เยอะมาก มี product เกิดขึ้นเยอะมากขึ้นทุกวัน อาจจะด้วยเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการใช้ภาษาโปรแกรมใหม่ๆ เครื่องมือใหม่ๆ การเข้าถึงข้อมูลข้ามประเทศ การ cross กันของหลากหลายศาสตร์ร่วมกันเช่น data, UX, Machine Learning, AI มัน connect กันได้หมดเลย มันสามารถเล่นแร่แปรธาตุให้เกิด product ใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา
โอกาสของ UX เป็นเรื่องของการที่ว่า product ถูกสร้างมาเพื่อใคร ถ้าเพื่อคน เราต้องทำความเข้าใจคนนะ และอาจจะเป็น user หลายๆ กลุ่ม เช่น กลุ่มที่เป็นผู้ใช้งาน หรือกลุ่มที่เป็นผู้ผลิต ก็จะมีศาสตร์อื่นๆ เช่น Service Design ที่จะทำให้เห็นว่าเราไม่ได้ทำแค่เพื่อ user กลุ่มเดียว แต่ยังมีอีกหลายกลุ่มมากๆ
UX ยังไงก็ยังจำเป็น เพียงแต่จะมีหลายตำแหน่งมาเกี่ยวข้อง เช่น UI Designer, UX Writer ตอนนี้เริ่มมี UX Engineer ในบ้านเราเพิ่มขึ้น UX Researcher ก็เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น ยังมี area อีกมากสำหรับ UX
สิ่งที่รักมากที่สุดในงาน UX และสิ่งที่เป็นเหมือยยาขม หรือความท้าทายที่สุดในงาน UX สำหรับพี่ป๋อมคืออะไร
ผมเป็นคนชอบทำ Wireframe และ user Flow เวลาผมอยู่ออฟฟิศจะชอบยืนอยู่ตรงกระดานแล้วก็วาดไปเรื่อยๆ อันนี้ไปต่ออันนั้น connect กับอันนี้ ที่ชอบเพราะเรากำลังพ่นความคิดของเราออกไปแล้ว validate ได้ทันทีว่ามันใช่หรือไม่ใช่ มีอะไรต่อยอดหรือเปล่า เป็น feedback loop ที่เร็ว เห็นปุ๊บแล้วแก้ไขได้เลย แล้วก็ชอบเล่าเรื่อง เพราะบางทีเราคุยกับตัวเองมัน bias เราต้องลองคุยกับคนอื่นดูว่าคิดเห็นยังไงบ้าง น่าจะเป็นยังไงได้อีก เป็นกึ่งๆ การ research เพื่อดูว่าสิ่งที่เราคิดมันถูกหรือเปล่า ผิดตรงไหน แต่ไม่เอาอารมณ์นะ ยังต้องคุยเรื่อง data อยู่ ทำไมมันต้องปรับ มีอะไรมาอ้างอิงไหม
ความชอบก็น่าจะเป็นเรื่องการพูด การลงมือทำ การ test เนี่ยแหละ เหมือนการ bounce ideas แล้วก็คุยกัน คิดเห็นยังไงบ้าง ผมสนุกกับการทำงานกับคน ไม่ชอบทำงานคนเดียว
ยาขมหรอ ผมว่าแต่ละคนมีวิธีการมองมุมที่ชอบหรือไม่ชอบแต่ละช่วงของการทำงานไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างหลังๆ มานี้ละกัน ตอนเราทำงาน Consult สิ่งที่เกิดขึ้นคือเวลาทำงานกับลูกค้า บางครั้งอุปสรรคหรือความท้าทายคือการทำยังไงให้มันไป meet expectations ของลูกค้าได้มากที่สุด เป็นสิ่งที่ท้าทาย ไม่ได้อยากบอกว่าไม่ดีนะแต่เป็น challenge ที่รู้สึกเหนื่อย มันผ่านไปยากมากเลยนะ
ถ้าพูดคำว่า meet expectations ลูกค้าก็จะมีเรื่อง stakeholder management การบริหารความคาดหวังของลูกค้าด้วย การขุด insights มาให้ได้มากที่สุด จริงๆ มีทั้งชอบและไม่ชอบนะต้องบอกก่อน ชอบตอนที่ได้ขุดเจอ แต่ตอนยังขุดไม่เจอมันเลยเหนื่อยไง แบบ มันจริงไหมนะ ที่เขาอยากได้มันจริงหรือป่าว ทำไมวันก่อนพูดอีกแบบแล้ววันนี้พูดอีกแบบ เค้าเป็น stakeholder ตัวจริงหรือมีใครบงการเบื้องหลัง เลยเหมือนเป็นนักสืบที่ค่อยๆ สืบไปเรื่อยๆ ตอนสืบจะเหนื่อยหน่อย
บางคนอาจรู้สึกว่าโห ทำไมยากขนาดนี้ แต่ผมแอบเชื่อว่าถ้าทำไปซักพักก็จะรู้เลยว่า ถ้าพี่พูดแบบนี้ผมรู้เลยว่าพี่จะพูดว่าอะไร มันอาจจะสนุกขึ้นทันที ความสนุกเกิดจากการที่เรารู้ว่ามันยาก แต่เราทำแล้วปลดล็อกได้ มันมีเรื่องที่คุยกันในออฟฟิศว่า ไม่ว่าใครก็แล้วแต่บนโลกใบนี้ถ้าทำอะไรแล้วทำได้เลย แสดงว่าอีกไม่นานคุณกำลังจะเบื่อเพราะคุณรู้แล้วว่ามันทำยังไง แต่ถ้าเราอยากสนุกกับมันก็ต้องมีความยากอะไรบางอย่างของมันซ่อนอยู่ ณ วันแรกที่เราสัมภาษณ์ user ไม่ได้เลย โคตรเหนื่อยเลย กว่าจะคุยรู้เรื่อง กว่าจะจบ บ่นๆๆ พอทำไปซักสองปี มา จัดมา โห สนุกเลย
ผมคิดว่าความท้าทายของแต่ละช่วงเวลามันไม่เหมือนกัน จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้าเป็น ณ วันนี้ผมก็ยังคิดว่า challenge เป็นเรื่องการเล่น data, stakeholder management, manage expectations จะเป็นของช่วงนี้ ถ้าช่วงแรกๆ จะเป็นเรื่องการทำงานกับทีม การสื่อสารกับ Developer, Product Owner
คำถามสุดท้าย อยากแนะนำคนที่กำลังค้นหาตัวเองแล้วยังไม่เจอว่าอย่างไร
เริ่มจากการถามว่าที่ผ่านมาไม่ชอบอะไรบ้าง แล้วทำไมไม่ชอบ เพราะอะไร ถ้าจะทำให้สิ่งนั้นเกิดเป็นความชอบ ทำได้ไหม เพราะอะไร ผมน่าจะเริ่มตั้งคำถามกลับกับสิ่งที่เขาเป็นอยู่ ถ้าผมทำสิ่งนี้อาจอ้างอิงถึง process หนึ่งของการทำ UX คือการทำ research
ผมก็ถามต่อว่าชอบอะไรบ้าง เล่าให้ฟังหน่อย กิจวัตรประจำวันอะไรบ้างที่ทำแล้วไม่เบื่อเลย มีไหม มีอะไรที่ทำแล้วโคตรฟิน มีไหม มันต้องมีอยู่ ไม่มีทางที่เราคุยกันแค่ 5 นาทีแล้วตอบได้เลย ผมไม่เร่งรัด ผมจะบอกว่าผมให้เวลา 1 สัปดาห์ต่อจากนี้ หรือแล้วแต่ ไม่รีบ วันไหนก็ได้ที่รู้แล้วว่าฉันทำอะไรแล้วแฮปปี้ไม่แฮปปี้ ลองจดโน้ตมาหน่อย เขียนไดอารี่สั้นๆ ก็ได้ว่าวันนึงทำอะไรบ้าง เอา keyword เหล่านั้นมากองรวมกันแล้วดูว่ามี possibility อะไรที่จะทำให้เกิดอาชีพนั้นได้มากที่สุด มันคงไม่มี 100% หรอกแต่คงมีที่มากที่สุด น่าจะเป็นวิธีนึง
วิธีอื่นๆ เช่น บางคนชอบทำ personality test ทำ strengthfinder หรือทำงานอะไรไปก่อน ถ้ามีความเร่งรีบหรือเดือดร้อนเรื่องการใช้เงิน ผมมองว่าทำงานที่ทำได้ไปก่อนแต่เป็นงานที่เราสามารถมีเวลาส่วนตัวให้ตกผลึกตัวเองได้ว่า งานที่ชั้นทำหนึ่งวันต่อไปนี้มีอะไรบ้างที่ชั้นชอบและไม่ชอบ ถามว่าเวลาส่วนตัวก็เอาไว้ reflect ตัวเอง เช่น เลิกงานแล้วไป community ไหม ไป community ที่ใกล้เคียงที่เราจบมาหรือทำงานมา หรือไป community ที่เราสนใจ
เช่น คุณทำงานการเงิน วันนึงได้ยินคำว่า UX โอ้โห อะไรเนี่ย เลยไปสุงสิงใน community ทั้ง physical และ online event ลองหาอ่าน แล้วก็ลองดูว่าที่เค้าเขียนมา จินตนาการดูว่าถ้าเป็นเราจะรู้สึกยังไงบ้าง ลองหาอุปสรรคของสิ่งที่เรากำลังสนใจ ผมว่าเรื่องนี้คือเรื่องดี อุปสรรคคืออะไร รู้ให้ได้ แล้วก็เริ่มทดลองทำ ลอง reflect ตัวเองดู
คิดว่าถ้าทำได้มากกว่าหนึ่งครั้งก็จะดี ไม่ควรทำได้แค่ครั้งเดียวแล้วเลิก บางทีเรายังไม่ไปให้สุดเลยยังไม่เจอเสน่ห์ที่อยู่ในนั้นก็ได้ ความฟินมันอาจอยู่ตอนท้าย เช่น ตัว prototype คนกดเล่นแล้วชมว่าสวยมากเลย อ้าวความฟินมันอยู่ตรงนี้ ช่วงแรกเหนื่อยหน่อย นั่นหมายความว่าเราจะทำยังไงให้ความเหนื่อยหน่อยมันสนุก ก็เป็นไปได้ อาจจะมี
หรือจริงๆ เราไม่ต้องทำสิ่งนั้นก็ได้ ให้คนอื่นที่เก่งกว่าทำสิ่งนั้นแทน คนที่เป็น PM, Lead Team หรือ Senior คือการทำให้สิ่งสิ่งนั้นมันเกิด แต่เราไม่ได้บอกว่าเราต้องทำให้มันเกิด แต่เราต้องทำให้ใครก็แล้วแต่ทำให้มันเกิดก็อาจจะเป็นไปได้
UX/UI Bootcamp กับ Skooldio
สำหรับสายงาน UX/UI สิ่งที่สำคัญคือการทำลงมือทำเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ในแต่ละโปรเจกต์ แน่นอนว่าในการเดินทางสายนี้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองแต่ใช้เวลาค่อนข้างนานในการลองผิดลองถูก ศึกษาหาข้อมูล หาประสบการณ์ต่างๆ
แต่ถ้ามาเริ่มต้นกับ Bootcamp นี้ คนที่ไม่มีพื้นฐานด้าน UX/UI มาก่อนจะเริ่มต้นได้เร็วและไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกเอง เพราะเนื้อหาในหลักสูตรนี้ถูกออกแบบมาให้เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น ถึงไม่มีประสบการณ์มาก่อนก็เข้าใจได้และค่อยๆ เรียนรู้ไปในทุกหัวข้อ ทุกเครื่องมือด้าน UX UI สอนผ่านประสบการณ์ตรงจากผู้สอนที่ทำงานในวงการ UX UI โดยตรง
ทีมงานผู้เชี่ยวชาญในวงการคอยให้คำแนะนำคุณอยู่ตลอด และพร้อมแบ่งปันประสบการณ์จากการทำงานจริงเพื่อต่อยอดสู่สร้างโปรเจกต์จริงได้ไวขึ้น ที่สำคัญที่สุด หลังจบ Bootcamp นี้เราอยากให้ทุกคนได้อะไรกลับไปจริงๆ ทุกคนจึงจะได้ลงมือทำโปรเจกต์จริงในทุกหัวข้อของแต่ละสัปดาห์เพื่อสะสมเป็นผลงานใส่ Portfolio นำไปสมัครงานได้ทันทีหลังจบ Bootcamp