“ไม่ใช่ทุกคนจะเข้ามาแล้วเป็น leader ได้”
สรุปวิธีการบริหารธรรมนูญแบบสิงห์ Singha Corporation Session: The Leader of Transformation ตำราผู้นำสิงห์ในยุคเปลี่ยนผ่าน โดยคุณเต้ ภูริต ภิรมย์ภักดี ในงาน The Secret Sauce Summit ขอนแก่น The Secret Sauce
ลงมือทำเองในทุกส่วน เพื่อให้เข้าใจคนหน้างาน
คุณเต้เริ่มต้นงานจาก เริ่มจากพนักงานล้างถังเบียร์อยู่ 1-2 สัปดาห์ แล้วขอไปขับ Forklift แทนเพราะรู้สึกชอบมากกว่า นอกจากนั้นยังเคยมีประสบการณ์ทั้งในฝั่งของ R&D, Marketing หรือตำแหน่งอื่น ๆ ด้วย ซึ่งการผ่านการทำงานหน้างานมา ช่วยให้เข้าใจความรู้สึกของพนักงานหน้างานได้เป็นอย่างดี
ถ้าทำแบบเดิมแล้วธุรกิจไปไม่รอด ก็ต้องปรับกลยุทธ์
บริษัทเคยมีช่วง Turnaround มาก่อน โดยคุณพ่อ เพราะในอดีตที่มีการแข่งขัยสูง เพียงแค่สิงห์อย่างเดียว ไม่สามารถสู้ราคาได้ เลยออกผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใน 2 อาทิตย์ ที่ชื่อว่า “ลีโอ” แม้ว่าตอนแรกจะยังขายไม่ได้ แต่พอเริ่มมีการแบ่งขายให้ลองชิม ก็สามารถกู้สถานการณ์กลับมาได้ ซึ่งสถานการณ์ตอนนั้นทำให้ได้เรียนรู้ว่า ถ้าเรายังดันทุรังทำธุรกิจแบบเดิม ก็จะไม่สามารถอยู่รอด ธุรกิจเลยจำเป็นจะต้องปรับกลยุทธ์
เรียนรู้จากความผิดพลาด แล้วเอาบทเรียนมาพัฒนาปัจจุบันและอนาคต
การ Turnaround ครั้งที่ 2 เนื่องจากปัญหาภายในองค์กรที่เกิดขึ้นเพราะการมีผู้นำหลายคนในองค์กร ทำให้พนักงานไม่รู้ว่าจะต้องตามใคร แต่พอคุณเต้ขึ้นมาบริหารบุญรอดบริวเวอรี่ ก็เริ่มเข้ามาทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์ในเชิงลึกมากขึ้น เข้ามาปรับปรุง Product โดยเรียนรู้จากความผิดพลาด เหมือนกับความเชื่อของคุณเต้ที่คุณเต้เลือกที่จะขีดฆ่าความผิดพลาดในอดีตแทนการลบให้หายไป เพื่อให้ยังกลับมาเรียนรู้จากความผิดพลาดได้ ไม่ใช่ลืมเลือนความผิดพลาดนั้น
ตัวอย่างความผิดพลาดในอดีตเช่น ชาเขียวโมชิ ซึ่งตอนเริ่มต้นนั้นมองจากชาเขียวเจ้าตลาดอย่างโออิชิหรืออิชิตัน แต่กลับไม่ได้จุดเด่นหรือข้อแตกต่างจากทั้ง 2 เจ้า ซึ่งทำให้เจ้าโมชินั้นไปต่อไม่ไหว แต่ความผิดพลาดในอดีตก็กลับมาเป็นบทเรียนในปัจจุบัน จนพัฒนามาเป็น Product อย่างสิงห์เลม่อนโซดา ที่เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจลูกค้าอย่างจริงจัง ต้องรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร ทำไมถึงขาดสินค้าเราไปจะมีอะไรมาทดแทน แล้วจึงพัฒนาจนเป็นสินค้าที่แตกต่างจากคู่แข่งเจ้าอื่น ๆ
ไม่ฮุบตลาดไว้คนเดียว แต่ต้องรู้จักแบ่งปันและสร้างเพื่อนร่วมทาง
ตั้งใจจะทำสิงห์เลม่อนโซดาแค่ในรูปแบบของกระป๋องอย่างเดียว แต่ไม่ผลิตออกมาในรูปแบบของขวด PET เพราะไม่ต้องการจะทับตลาดของใคร เลือกที่จะให้มากกว่าแก่งแย่งกัน ทุกธุรกิจก็ต้องการเพื่อนต้องการพันธมิตร นอกจากเรื่องของธุรกิจหลักแล้ว สิงห์เองก็ยังให้โอกาสคน เลือกที่จะแบ่งปัน พาคนไปถึงฝัน รวมไปถึงการสนับสนุนนักศึกษาและนักกีฬาด้วย
หรือตัวอย่างในอดีตที่สิงห์เองก็มี Snacks แล้วเคยเป็นคู่แข่งกับบริษัทที่ญี่ปุ่น แข่งกันไปแข่งกันมาจนขาดทุนกันทุกฝ่าย คุณเต้เลยคิดที่จะเจรจาด้วยความจริงใจกับทางบริษัทญี่ปุ่นเพื่อรวมบริษัทกัน ซึ่งก็ส่งผลดีต่อทุกฝ่ายมากกว่า
รู้จุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองก่อนเลือกเส้นทางในการเดินหน้า
คุณเต้เริ่มต้นจากดูบริษัทที่ขาดทุน ดูว่าบริษัทไหนจะปิดหรือไปต่อ จากนั้นต้องทำให้ทีมเป็นภาพเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เน้นที่คนที่มองเห็นภาพเดียวกัน พร้อมจะลุยไปพร้อมกัน ส่วนถ้าใครไม่เห็นด้วย ร่วมทางไปต่อด้วยกันไม่ได้ก็ต้องตัดออก
เช่น ธุรกิจซานตาเฟ่ หลังจากซื้อมาแล้วก็มีการขาดทุน แต่พอคุณเต้ขอมาบริหาร คุณเต้เลยเริ่มต้นจากการส่งทีมงานเข้าไปศึกษาทั้งธุรกิจและตลาด กระตุ้นให้ทุกคนอิน เพื่อสร้างสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการเอาตัวเลขมาชี้วัดผลการทำงานด้วย
การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ผู้นำต้องตั้งใจ หิวโหยที่อยากจะเปลี่ยนแปลง ต้องโปร่งใสและชัดเจนในจุดมุ่งหมายด้วย
อย่างวราฟู้ดส์ คือจำเป็นจะต้องเข้าไปหา New S-Curve ใหม่ ไม่พึ่งพาเพียงแค่สินค้าเกษตร แต่รับผลิตสิงห์เลม่อนโซดาด้วย
เริ่ม disrupt ตัวเองก่อน อย่ารอให้ใครมา disrupt เรา
เช่น Singha Ventures เริ่มจากลงทุนในบริษัทใหญ่ ๆ Fund of fund เพื่อไปขอความรู้ ศึกษาดูเทรนด์ เพื่อให้เราเจอโอกาสก่อนคนอื่น หรือในปัจจุบันก็ลงทุนใน AI หลาย ๆ ตัวอยู่ด้วย ทั้ง OpenAI และ Claude ซึ่งจะเห็นได้ว่า Singha Ventures จะไม่ได้ลงทุนแค่เฉพาะสิ่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันเท่านั้น แต่ลงทุนในนวัตกรรมอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้บริษัทเองปรับตัวได้ทัน ต้องเปลี่ยน Mindset ในการบริหารเป็นผู้ตาม คือ คิดเสมอว่าเราจะดีขึ้นกว่านี้ได้ยังไง ต้องพัฒนาตัวเองตรงไหนบ้าง
เปลี่ยนให้ไว เพื่อให้ตามตลาดทัน
ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ความไวก็ไม่ใช่คำตอบเสมอไป ต้องคิดให้รอบคอบและเหมาะกับตลาดด้วย เพราะในบางครั้ง การมาไวเกินไป ในขณะที่ตลาดยังไม่ตอบสนอง ผู้บริโภคไม่เข้าใจ ก็มีโอกาสล้มเหลวเช่นกัน
แข่งขันอย่างตรงไปตรงมา
คุณเต้เองก็เห็นด้วยกับสุราเสรี/Craft beer ทุกคนมีโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียม ถ้าใครผลิตสินค้าได้ดี ก็ควรจะได้รับผลตอบแทนอย่างเหมาะสม
“ฟัง” เพื่อให้เข้าใจ และแก้ไข Generation gap
คุณเต้ต้องบริหารจัดการคนทั้งคนรุ่นก่อน และคนรุ่นใหม่ ทำได้โดยการ “ฟัง” ว่าใครมีส่วนร่วมในส่วนไหน ทำความเข้าใจกับทุกคนในองค์กร รู้ว่าในเวลาในใครมีส่วนสำคัญบ้าง ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้ว่าในแต่ละช่วงเวลา แต่ละคนให้ความสำคัญกับอะไร
ธรรมนูญแบบสิงห์
Respect ทุกคน คือ คนในตระกูลสามารถเลือกได้ว่าใครชอบอะไร ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องกลับมาทำกงสีกับครอบครัว ทำความเข้าใจว่าตัวเองชอบอะไร ต้องการอะไร เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบการทำธุรกิจแบบนี้ และบริหารธุรกิจนี้ให้ไปรอดได้
Balance หาสมดุลทั้งชีวิตและธุรกิจ
คนเราทำงาน 7 วันต่อเนื่องก็เหนื่อยก็ล้า ต้องมีวันพักบ้าง ต้องหาสมดุลในชีวิตด้วย เช่นเดียวกันในมุมธุรกิจไม่ใช่ว่าต้องรวยที่สุดในประเทศ แต่ต้องยั่งยืนไปด้วย ต้อง Balance คนรอบตัวด้วย ทำให้พนักงานอยู่รอด และทุกคนที่อยู่ใน ecosystem เติบโตไปด้วยกัน
คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ
เข้าใจในสิ่งที่ตั้งใจ ปรับความคิดให้สนุกไปกับสิ่งที่ทำ ให้รู้สึกถึงความตื่นเต้นและยิ่งใหญ่ในสิ่งที่เรากำลังสร้าง เริ่มทำจากสิ่งเล็ก ๆ ก่อน ไปเรื่อย ๆ จะสร้างสิ่งใหญ่ ๆ ได้ในอนาคต จะเติบโตได้อย่างแข็งแรงและทำอะไรก็ตาม อย่ายอมแพ้ในโชคชะตา ไม่มีใครเกิดมาไม่เคยล้อเหลว แต่ความล้มเหลวนั้นจะเป็นพลังทำให้เราแข็งแกร่งและเติบโต