High Output Management (i): วัดคนด้วย Output ไม่ใช่ Activities
ที่ประชุมเยอะๆ นี่นับว่าทำงานมีประสิทธิภาพมั้ย? ตอบ email ทั้งวันรับโทรศัพท์ลูกค้าทั้งวันแปลว่าทำงานเก่งหรือเปล่า? มาเช้ากลับดึก ทำงานวันเสาร์อาทิตย์ตลอด เป็นสัญญาณของคนขยันที่องค์กรควรให้รางวัลใช่หรือไม่?
หลายคนคงเคยมีคำถามประมาณนี้ในใจ เคยเปรียบเทียบชีวิตการทำงานของตัวเองกับคนอื่น ทั้งเพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนสมัยเรียน คิดถึงเรื่อง work-life balance เช่น “ถ้าเราทำงานเสร็จเยอะแต่กลับไว ในขณะที่อีกคนทำงานเสร็จน้อยแต่มาเช้ากลับดึก จริงๆ องค์กรควรจะอยากได้คนอย่างเรามากกว่าหรือเปล่า?”
ในบทความนี้เราจะมาลองดูหลักคิดง่ายๆ ในการวัดผลของงาน ว่าเราควรวัดอะไร แบบไหนที่เรียกว่าทำงานแล้วได้งาน
ในทุกองค์กรตั้งแต่ร้านค้าเล็กๆ มีแค่เจ้าของกับลูกน้อง 2–3 คนไปจนถึงบริษัทในใหญ่โตค้ำโลกอย่าง Google หรือ Nike ล้วนมีคนที่ทำหน้าที่เป็น manager ทั้งนั้น ไม่ว่าตัวตำแหน่งจะชื่อว่าอะไร จะต้องมีคนบางคนในทีมที่ทำงานด้านการบริหาร
คุณคิดว่า output ของ manager เหล่านี้คืออะไร?
การตัดสินใจและความคิดเห็น
การกำหนดทิศทางของทีมของ product
ข้อผิดพลาดในงานที่ตรวจพบ
การสอนงานให้ทีม
การบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
สิ่งเหล่านี้ใช่ output ของ manager หรือไม่?
อย่าสับสน Activities กับ Output
หากคิดดีๆ แล้วทั้ง 5 ข้อข้างต้นเป็นเพียง activities หรือสิ่งที่ผู้บริหารทำเพื่อให้ได้มาซึ่ง output ที่ต้องการเท่านั้น
แล้วอย่างงั้นแบบไหนถึงจะเรียกว่า output?
ถ้าคุณเป็น ผ.อ. โรงเรียน output ของคุณไม่ใช่การวางแผนงานประจำปีแต่คือนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนหรือจบชั้นนั้นๆ และพร้อมที่จะไปเรียนชั้นถัดไป
ถ้าคุณเป็นหมอ output ของคุณไม่ใช่ชั่วโมงที่คุณอยู่เวรแต่เป็นจำนวนคนไข้ที่ได้รับการรักษาจนกลับสู่สภาวะปกติ
A Manager’s Output
ในหนังสือ High Output Management หนังสือ management ระดับตำนานโดย Andy Grove ได้สรุปเรื่อง output ไว้อย่างกระชับได้ใจความว่า…
A manager’s output = the output of his organization + the output of the neighboring organizations under his influence.
นั่นคือ output ของ manager คนหนึ่ง = output ของทีมที่เขาดูแล + output ของทีมอื่นที่เขาไม่ได้ดูแลโดยตรง แต่มีอิทธิพลเหนืออยู่
ทำไมถึงนิยาม output ในบริบทของทีมแต่ไม่พูดถึงบริบทของคนเป็นรายบุคคล? เหตุผลเพราะในความเป็นจริงแล้วงานทุกอย่างล้วนเป็นของการทำงานร่วมกันเป็นทีมทั้งสิ้น
ตามนิยามข้างบนการที่ manager ทำ งานตัวเอง เสร็จเยอะไม่ได้แปลว่า manager คนนั้น output เยอะ
ตัวอย่างเช่น หาก manager เอาเวลาไปสอนงานให้สมาชิกใหม่ของทีม 1 ชั่วโมง แล้วทำให้สมาชิกคนนี้ productive ไปทั้งสัปดาห์จะส่งผลให้ output ของทีมมากกว่าการที่ manager เอาเวลาไปทำงานเองคนเดียวแต่สมาชิกทีมทำงานไม่เป็น
Know-How Manager ไม่มีลูกทีมก็เป็น Manager ได้
ความน่าสนใจหนึ่งของสมการ output ข้างต้นคือการให้ความสำคัญกับ output ในส่วนที่ influence ทีมใกล้เคียงนั่นคือหากคุณเป็นทีมกลยุทธ์ที่วางแผนก็มี output ได้โดยการ influence ให้ทีมอื่นทำงานได้ดีขึ้นจากข้อมูลที่คุณสรุปมา
ในอีกมุมหนึ่งหากคุณเป็นผู้บริหารองค์กร คุณก็ควรจะหาวิธีวัด output ของคนที่ทำงานในแบบ know-how manager ด้วย เพราะถึงแม้จะไม่ได้มียอดของตัวเองตรงๆ ที่เกิดจากยอดขายให้ลูกค้าข้างนอก แต่การที่ทำให้ทีมอื่นๆ productive สามารถส่งผลต่อ output องค์กรอย่างมาก
บทส่งท้าย
เห็นมั้ยหละว่า เพียงแค่เราเริ่มวัดผลของงานด้วย output แทนที่จะเป็น activities เราก็จะสามารถกระตุ้นให้คนทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อองค์กรจริงๆ ไม่มีการมาทำตัวเสมือนยุ่งแต่ทำงานแล้วไม่เกิดผลอีกต่อไป
หากคุณเบื่องานที่ busy แต่ไม่ productive ลองมาคุยกับเราที่ สคูลดิโอ…สตูดิโอของคนอยากอัพสกิล 😁