The people we sit near at work inevitably impact our day. They may brighten our mood or drive us crazy.
นักวิจัยค้นพบ “Spillover effect” (ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัจจัยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง) สุดช็อก!
Dylan Minor อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การจัดการ พบว่าพนักงานระดับ “high-performer” ในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ส่งผลต่อประสิทธิภาพของเพื่อนร่วมงานในรัศมี 25 ฟุต เพิ่มขึ้นถึง 15% และคาดการณ์ว่า “พลังบวก” นี้สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้บริษัทถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี!
แต่เหรียญมีสองด้าน…
“พนักงาน toxic” (ในงานวิจัยนี้ คือ คนที่ร้ายแรงพอที่จะโดนไล่ออก) ก็ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างเช่นกัน แถมผลกระทบด้านลบนี้รุนแรงกว่า “พลังบวก” ถึงสองเท่า และที่แย่ไปกว่านั้นคือ “พิษ” นี้แพร่กระจายเร็ว แต่เมื่อกำจัดพนักงานเหล่านี้ออกไป ไม่ว่าจะด้วยการปลดออกหรือย้ายให้ไปทำงานทางไกล พิษร้ายนี้ก็จะสลายไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน
นอกจากนี้ผลวิจัยยังชี้ทางสว่างให้บริษัทต่าง ๆ โดยบอกว่า แทนที่จะทุ่มงบไปกับการอบรมพนักงานราคาแพงหรือการสรรหาคนเก่งเพียงอย่างเดียว บริษัทอาจใช้วิธีง่าย ๆ ที่แทบไม่เปลืองเงินอย่าง “การจัดโต๊ะทำงานใหม่” เพื่อกระตุ้นประสิทธิภาพได้ (แต่อาจจะยากหน่อย สำหรับบริษัทที่เป็น hot desk)
Spillover Effect
งานวิจัยนี้ต่อยอดมาจากผลวิจัยก่อนหน้าของ Minor กับ Michael Housman ผู้ร่วมก่อตั้ง HiQ Labs ซึ่งเคยมุ่งเน้นไปที่แค่ “พนักงาน toxic”
โดยทีมวิจัยร่วมมือกับบริษัทที่ปรึกษา Cornerstone OnDemand ศึกษาพนักงานบริการรายชั่วโมงกว่า 58,000 คน จาก 11 บริษัทชั้นนำ พบว่า “พิษ” จากพนักงาน toxic สร้างความเสียหายทางการเงินรุนแรงกว่าผลตอบแทนจากพนักงานระดับ “high-performer” มาก โดยนักวิจัยประเมินว่าความเสียหายจากพนักงานพลังงานลบอยู่ที่ราว ๆ 12,800 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปีเลยทีเดียว
“เรารู้กันดีว่าใครที่นั่งข้างๆ เราส่งผลตั้งแต่สมัยอนุบาลแล้ว” Minor กล่าว
แต่…มันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะคนเรามีความสามารถที่หลากหลาย เก่งไม่เท่ากัน บางคนเก่งบางอย่าง บางคนไม่เก่งเลยก็มี Minor ชี้ว่า ลักษณะงานในยุคนี้มักเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะหลายด้าน เราไม่ได้แค่ประกอบชิ้นส่วนทีละชิ้นเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
คำถามต่อมาคือ ในเมื่อลักษณะงานยุคใหม่ต้องใช้ทักษะหลากหลาย การนั่งใกล้กันส่งผลต่อผลงานอย่างไร?
Minor และ Housman เดินทางไปศึกษาพนักงานกว่า 2,000 คน ในบริษัทไอทีแห่งหนึ่ง โดยเก็บข้อมูลประสิทธิภาพการทำงานอย่างละเอียด ตลอด 2 ปี พวกเขาเลือกตัวชี้วัดประสิทธิภาพ 2 ด้าน คือ ความเร็ว และคุณภาพ จากนั้นจัดอันดับเป็น “สูง” หรือ “ต่ำ” ให้กับพนักงานแต่ละคน
เช่นเคย พวกเขาจัดกลุ่ม “พนักงาน toxic” โดยพิจารณาจากพฤติกรรมรุนแรงที่นำไปสู่การไล่ออก ซึ่งคิดเป็น 2% ของพนักงานทั้งหมดในการศึกษานี้
สุดท้าย นักวิจัยติดตามความเปลี่ยนแปลงของผลงานแต่ละคน ตามไปด้วยการเปลี่ยนแปลงของเพื่อนร่วมโต๊ะ พร้อมทั้งบันทึกตำแหน่งที่นั่งของพนักงานทุกคนอย่างละเอียด
Positive Spillover
ข่าวดี! ไม่ว่าใครก็ได้ประโยชน์จากการมีเพื่อนร่วมโต๊ะทำงานเก่ง โดยผลงานของพนักงานภายในรัศมี 25 ฟุต จะดีขึ้น ไม่ว่าเพื่อนร่วมโต๊ะจะเด่นเรื่องความเร็วหรือคุณภาพ ยิ่งไปกว่านั้น การนั่งคู่กับคนที่ทักษะ “เสริม” กัน ยิ่งส่งผลดีเป็นพิเศษ เช่น Bil มีจุดเด่นเรื่องความเร็วแต่ Bob ทำงานช้า Bob ก็จะยิ่งทำงานเร็วขึ้น มากกว่ากรณีที่ทั้งคู่เป็นคนทำงานเร็วอยู่แล้ว และความเร็วของ Bil จะไม่ลดลงเพราะนั่งทำงานกับคนที่ทำช้ากว่าด้วย ในด้านคุณภาพก็เช่นกัน
“ไม่ว่าใครก็จะไม่แย่ลงในด้านที่ตัวเองถนัด แต่จะยิ่งเก่งขึ้นในด้านที่ตัวเองอ่อนแอ” Minor กล่าว
Minor มองว่า แนวคิดการจับคู่คนที่ทักษะ “เสริม” กันนั้นมีประโยชน์ โดยเฉพาะทักษะที่มีขีดจำกัด อย่างเช่น ความเร็ว
ในทางกลับกัน สำหรับทักษะที่ไม่มีขีดจำกัด อย่างเช่น ความคิดสร้างสรรค์ การจับคู่ทักษะ “เสริม” กัน อาจช่วยกระตุ้นให้ทั้งคู่สร้างสรรค์ผลงานได้มากขึ้นและแปลกใหม่ยิ่งขึ้น
Negative Spillover
แต่ข่าวร้ายก็คือ สำหรับคนที่ได้ “พนักงาน toxic” มาเป็นเพื่อนร่วมโต๊ะ ความเสี่ยงที่ตัวคุณเองจะกลายเป็นพนักงาน toxic ด้วยนั้นเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็วแทบจะทันที ผลกระทบยิ่งรุนแรงไปอีก เพราะความ “toxic” นี้ส่งผลร้ายไปได้ทั้งชั้นและอาจทำให้คุณเสี่ยงที่จะทำผิดร้ายแรงพอที่จะโดนไล่ออกตามไปด้วย ในขณะที่ “พลังบวก” ส่งผลดีแค่ในรัศมี 25 ฟุตเท่านั้นและยังใช้เวลานานประมาณ 1 เดือน กว่าจะมีผลกับเพื่อนร่วมโต๊ะ
แล้วทำไมการนั่งใกล้ใครถึงส่งผลต่อผลงาน?
เพื่อนร่วมโต๊ะส่งต่อพฤติกรรมเชิงบวก/ลบ หรือเป็นเพราะแรงกดดันทางสังคม (Peer Pressure)
นักวิจัยตั้งสมมติฐานว่า ถ้าพนักงานเรียนรู้ทักษะจากเพื่อนร่วมโต๊ะ ไม่ว่าผลกระทบเชิงบวกหรือลบ ก็น่าจะคงอยู่แม้เพื่อนร่วมโต๊ะคนเก่งจะย้ายไปแล้ว แต่ข้อมูลกลับชี้ว่า ไม่ว่าจะเป็น “พลังบวก” หรือ “พิษ” ล้วนส่งผลชั่วคราวทั้งด้านดีและด้านลบ
Spatial Management Matters
ผลวิจัยนี้มีประโยชน์สำหรับหัวหน้าในการบริหารทีมเช่นกัน
นอกเหนือจากการชี้วัดผลกระทบของการนั่งใกล้กัน Minor ยังค้นพบอีกว่า ในกรณีของพนักงานรายชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องมี “พนักงานระดับซูเปอร์สตาร์” พนักงานที่เก่งจริง ๆ อาจจะไม่ใช่คนที่เก่งทุกอย่าง แต่เป็นคนที่เก่งคนละด้าน การจับคู่คนที่เก่งคนละด้านมาทำงานร่วมกัน น่าจะส่งผลดีมากกว่า
Minor แนะนำให้หัวหน้าลิสต์ทักษะสำคัญ 2-3 อย่างที่ต้องการในทีม จากนั้นพิจารณาว่าแต่ละทักษะมี limit อะไรหรือไม่ ถ้าเป็นทักษะที่มีขีดจำกัด อย่างความเร็ว หัวหน้าควรจัดให้พนักงานที่มีทักษะเสริมกันทำงานใกล้ชิดกัน แต่ถ้าเป็นทักษะที่ไม่มีขีดจำกัด อย่างความคิดสร้างสรรค์ หัวหน้าควรจัดให้พนักงานที่มีทักษะใกล้เคียงกันทำงานใกล้ชิดกัน
Minor เชื่อว่าเราสามารถวัดผลกระทบเหล่านี้ได้ และใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการออกแบบผังโต๊ะทำงานที่ดีที่สุด เพื่อประโยชน์ขององค์กร
Reference:
https://insight.kellogg.northwestern.edu/article/sitting-near-a-high-performer-can-make-you-better-at-your-job
https://hbr.org/2017/02/want-to-be-more-productive-sit-next-to-someone-who-is
https://www.hbs.edu/faculty/Pages/item.aspx?num=50046