ทักษะของคน ‘โชคดี’ ที่ทำให้ไม่พลาดโอกาสทอง | Skooldio

ในตอนนี้หลายคนอาจรู้สึกว่าตัวเองกำลังวิ่งไล่ตามสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ รูปแบบการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม หรือเทรนด์ต่าง ๆ ที่พุ่งเข้าใส่เราแทบไม่หยุด แต่ในโลกที่ดูหมุนเร็วเกินกว่าที่ใครจะตามทัน ทำไมบางคนถึงดูเหมือน “โชคดี” อยู่เสมอ? แม้หลายคนก็ทำงานหนักไม่แพ้กัน แต่ทำไมพวกเขาถึงเป็นคนที่มองเห็นโอกาสก่อนใคร ตัดสินใจได้เฉียบคม ความโชคดีนั้นจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องของโชคชะตา หรือเป็นทักษะที่ฝึกฝนได้กันแน่?

How to Become a Top Performer | Skooldio

โชคดี ไม่ใช่เรื่องฟ้าลิขิต แต่คือทักษะที่ฝึกได้

คุณเล้ง ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร CEO แห่ง MFEC ได้เล่าไว้ในรายการ Chief’s Table ของ Skooldio ว่า “โชค” เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า พลังแห่งการสังเกต (Power of Observation)

คุณเล้งเล่าถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่แยกผู้เข้าร่วมเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม “คนโชคดี” และกลุ่ม “คนโชคร้าย” โดยให้โจทย์เหมือนกันคือ อ่านนิตยสารหนึ่งเล่ม แล้วบอกว่าภายในนั้นมีรูปภาพทั้งหมดกี่ภาพ

ผลที่ออกมาน่าสนใจมาก กลุ่มคน “โชคดี” ใช้เวลาเฉลี่ยแค่ 5 วินาทีในการตอบ ในขณะที่อีกกลุ่มใช้เวลานานถึง 5 นาที ทั้งที่โจทย์เหมือนกันทุกอย่าง ความแตกต่างนั้นอยู่ที่ การสังเกตเห็นข้อความเล็ก ๆ บนหน้านิตยสารที่เขียนว่า “มีภาพทั้งหมด 43 ภาพ ไม่ต้องนับแล้ว” คนโชคดีเห็นข้อความนั้นทันที ส่วนคนโชคร้ายไม่ทันสังเกตและยังคงนับภาพต่อไป

คำถามสำคัญคือ คนโชคดีมีดวงหรือแค่ “มองเห็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น?”

พลังแห่งการสังเกตเปลี่ยนชีวิต

คุณเล้งชวนเราคิดต่อว่า ในชีวิตจริงก็เช่นเดียวกัน โอกาสอาจวางอยู่ตรงหน้าเราแล้ว เพียงแต่เราสังเกตเห็นมันหรือไม่? คนโชคดีไม่ใช่คนที่โอกาสเข้ามาหาบ่อยที่สุด แต่คือคนที่ “มองเห็นโอกาส” และรู้ว่าควรจะคว้ามันไว้ 

การฝึกให้ตัวเองมีสติ รู้เท่าทันสถานการณ์ และสังเกตเห็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ซ่อนอยู่ คือคุณสมบัติที่จะทำให้คุณเปลี่ยนเกมได้ในโลกที่ไม่แน่นอน

บทเรียนจากสนามกอล์ฟ

คุณเล้งยกตัวอย่างบทเรียนจากสนามกอล์ฟว่า ถ้าเราเล่นกอล์ฟเดิมพันกันหลุมละ 20 บาท เราก็อาจจะตีไปแบบสบาย ๆ ไม่ได้ซีเรียสอะไร แต่ถ้าเดิมพันเปลี่ยนเป็นหลุมละ 2,000 หรือ 200,000 บาท พฤติกรรมของเราจะเปลี่ยนทันที เราจะวางแผน ซ้อมจริง วางกลยุทธ์ และเลือกอุปกรณ์อย่างละเอียด

ในชีวิตจริงก็เหมือนกัน ถ้าเราใช้ mindset เหมือนกำลังเดิมพันหลุมละ 20 บาทกับทุกโอกาสที่เข้ามา เราก็จะปล่อยผ่านไปแบบไม่ใส่ใจมาก แต่ถ้าเรารู้ว่า “นี่แหละคือโอกาสที่เดิมพันสูง” เราก็จะเตรียมตัวอย่างเต็มที่ ทำการบ้านให้ลึก และทุ่มเทให้สุดพลัง

คุณเล้งสอนให้เรารู้จักแยกแยะว่าจังหวะไหน ควร all-in และจังหวะไหนควรผ่อนแรง เพราะไม่มีใครสามารถใส่เต็มร้อยได้ตลอดเวลา แต่การมองให้ออกว่านี่คือหลุมละ 2 แสนคือจุดเปลี่ยนสำคัญ

เข้าใจระบบสมอง: System 1 กับ System 2

อีกแนวคิดที่คุณเล้งหยิบยกมาคือเรื่องสมองสองระบบ System 1 กับ System 2 

  • System 1 — คิดเร็ว / ไม่ต้องใช้ความพยายาม / บางครั้งก็ทำงานโดยอัตโนมัติ / ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ
  • System 2 — คิดช้า / ต้องใช้ความพยายาม ตั้งสติ ตั้งใจ / การคิดที่เป็นระบบ / ใช้ตรรกะต่าง ๆ

เรามักอยู่ในโหมด System 1 เพราะมันง่ายและประหยัดพลังงาน แต่เมื่อไหร่ที่เจอจังหวะสำคัญในชีวิต เราต้องสลับไปใช้ System 2 เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสใหญ่ไป ความโชคดีของคนหนึ่งคน อาจเป็นเพราะเขา “รู้ว่าเมื่อไหร่ควรใช้ System 2”

ประยุกต์ใช้ “พลังแห่งการสังเกต” ในชีวิตจริง

ทักษะนี้ไม่ใช่แค่ใช้ในการตัดสินใจเรื่องใหญ่เท่านั้น แต่สามารถฝึกใช้ได้กับทุกแง่มุมของชีวิตไม่ว่าจะเป็น

  • ด้านความสัมพันธ์ ที่เราเจอคนมากมายในชีวิต แต่มีเพียงไม่กี่คนที่เราควรลงทุนความรู้สึกและเวลาไปด้วย
  • ด้านการงานในออฟฟิศมีงานเต็มไปหมด ทั้งงานเล็ก งานใหญ่ งานที่คนอื่นไม่อยากทำ แต่บางงานคือโอกาสเปลี่ยนชีวิต คุณมองออกไหมว่างานไหนคือ “หลุมละ 2 แสน”? ถ้าคุณทุ่มเทกับงานที่มี impact สูง ในขณะที่คนอื่นทำอย่างลวก ๆ โอกาสที่จะโดดเด่นก็จะมาหาคุณเอง

พลังแห่งการสังเกตฝึกได้

การสังเกต ไม่ได้แปลว่าต้องเงียบและมองเท่านั้น แต่มันคือการ “ใส่ใจ” ในสิ่งที่คนอื่นมองข้าม เราอาจไม่สามารถควบคุมโอกาสที่เข้ามาได้ แต่เราสามารถควบคุมความสามารถในการมองเห็นมัน และเลือกตอบสนองได้อย่างชาญฉลาด

โชคดีคือทักษะที่เริ่มต้นได้จากการ “สังเกตเห็น” สิ่งเล็ก ๆ รอบตัว 

รับชมบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของคุณเล้ง CEO แห่ง MFEC – ความลับของทักษะชีวิตที่ช่วยให้โตเร็วขึ้น 10 ปี จากรายการ Chief’s Table EP.4 ได้แล้ววันนี้ ที่ Youtube: Skooldio 

คุณเล้ง CEO แห่ง MFEC - ความลับของทักษะชีวิตที่ช่วยให้โตเร็วขึ้น 10 ปี Chief's Table EP.4 | Skooldio

More in:Business

Comments are closed.