ตลอดหลายปีมานี้ เราอาจคุ้นภาพลักษณ์ใหม่ของ ‘สมใจ’ แบรนด์ร้านขายเครื่องเขียนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จากจุดเริ่มต้นธุรกิจครอบครัวในห้องแถวเดียวในรุ่นที่หนึ่ง สู่รุ่นสองที่ริเริ่มนำระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการ ส่งไม้ต่อมาถึงทายาทรุ่นที่สามที่เปลี่ยนแปลงระบบการจัดการในร้านโดยมีคีย์สำคัญคือการขับเคลื่อนทุกการตัดสินใจด้วย Data และถางทางธุรกิจสู่โลกออนไลน์ที่กลายเป็นทางรอดหลักในยุค Covid-19

พูดคุยกับคุณตาล นพนารี พัวรัตนอรุณกร กรรมการบริหารฝ่ายการตลาดและการขาย หนึ่งในผู้นำยุคทายาทรุ่นสามเพื่อถอดบทเรียนการนำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาช่วยให้ธุรกิจกว่า 60 ปีสามารถอยู่รอดและเติบโตอย่างก้าวกระโดดในยุค Technology Disruption และการต้องปรับเข้าโหมด Survival เพื่อนำพาธุรกิจให้รอดพ้นผ่านวิกฤติ Covid-19 ที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่

Table of Contents

ย้อนกลับไปในวันที่คุณตาลนำระบบจัดการใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจของสมใจ ตอนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอะไร อย่างไรบ้าง

สมใจในตอนนั้น ต้องลองจินตนาการดูว่าเราใช้ POS (ระบบขายหน้าร้าน) ยิงบาร์โค้ดให้ขึ้นราคาเพื่อคำนวณอัตโนมัติ ซึ่งจริงๆ โปรแกรมที่มีอยู่ในร้านคือ ERP (ระบบบริหารจัดการทรัพยากรองค์กร) ศักยภาพมันไม่ใช่แค่เรื่องของการคิดราคา แต่มันคือระบบบริหารจัดการที่ช่วยให้เราบริหารธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต่อให้เรามีระบบ ERP ที่ดีแค่ไหนก็ไปได้ไม่ไกล ถ้า Master Data มันเละอยู่ ซึ่งเราเจอสภาพแบบนั้นจริงๆ ตัวอย่างเช่นปากกายี่ห้อหนึ่ง ในแต่ละสาขาราคาไม่เท่ากันเลย เพราะผู้จัดการแต่ละสาขาอยากจะตั้งราคาเท่าไหร่ก็ตั้ง เพราะอะไร เพราะไม่ได้มีระบบจัดซื้อกลาง ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Master Data

คือถ้าเป็นแบบนี้ในมุมของเจ้าของกิจการจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในภายในบริษัทไหม อันนี้คือเรื่องหลักที่ผู้ประกอบการต้องคำนึง สุดท้ายเราได้เงินเข้ากระเป๋าจริง แต่ไม่รู้ว่ามีของในสต๊อกหายไปเท่าไหร่ นี่จึงเป็นเหมือนตัวเร้าให้เราเปลี่ยนระบบ เพราะเราจับขโมยได้ทุกปี ซึ่งก็คือเด็กในร้านของเราเอง

somjai-master-data

ทีนี้เราก็เริ่มจัดการส่วนกลางข้อมูลของบริษัท เอา Data ที่ซ้ำซ้อนกันออกไป จัดการระบบบาร์โค้ดของสินค้าให้เป็นระเบียบเพื่อง่ายต่อการบริหารสต๊อก ดังนั้นจากแค่ใช้ระบบมาช่วยในการคำนวณเฉยๆ ก็เปลี่ยนมาเป็น ERP ที่มีส่วนกลางในการบริหารจัดการ

เราเคลียร์ตรงนี้อยู่ประมาณ 2 ปี โดยในตอนนั้นระบบ ERP ของเรารองรับ Transaction ได้ประมาณวันละ 13 – 15 สาขา และอย่างวันเสาร์ – อาทิตย์ ในตอนนั้นมี Traffic ที่เยอะมาก เราเลยคิดว่าแบบนั้นจะไปต่อไม่ได้ และระบบที่ใช้อยู่ก็ไม่ได้มาจบถึงขั้นตอนของการทำบัญชี เราก็เคยคิดว่า โอเค ถ้าอยากเติบโตต่อไปในอนาคต ต้องตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ SAP หลังจากที่ศึกษามาหลายระบบ ใช้มา 3 ปี ทุกอย่างก็ง่ายขึ้นเพราะเป็นระบบเดียวที่จบได้เลย

ตอนที่เอาระบบจัดการใหม่มาเปลี่ยนแปลงธุรกิจ มีความท้าทายด้านการจัดการคนไหม

มี เจอเยอะมาก พนักงานแอบด่าก็มี เจอทุกรูปแบบเลย แล้วสมัยนั้นเราก็ใจร้อนด้วย เป็นคนที่ถ้าตั้งเป้าหมายแล้วจะไม่มีวอกแวก ใครมาขวางไม่ได้เลย เคยโดนต่อต้านจากคนเยอะมาก จากคนในองค์กรตัวเอง พอมาถึงตอนนี้เราก็คิดว่าได้เรียนรู้ว่าเราอาจจะไม่จำเป็นต้องยึดติดกับผลลัพธ์ขนาดนั้นก็ได้ เพื่อแลกกับความสัมพันธ์

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเราทำการเปลี่ยนแปลง จะเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วที่จะมีคนรับไม่ไหวและออกไป เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับให้ได้ แรกๆ เราก็มีรับไม่ได้ที่ผู้จัดการมาขอออก หลังๆ ก็มีการพยายามปรับๆ ตำแหน่งบ้าง แต่ถ้าสุดท้ายเขาปรับตัวเข้ากับระบบใหม่ไม่ได้จริงๆ ก็อาจต้องบอกลากัน แต่ก็เป็นการจากกันด้วยดี มันจะมีแบบนี้อยู่เป็นประจำ ทุกครั้งที่มีการอัปเดตระบบ ก็จะต้องมีคนที่ไม่อยู่ต่อ ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจตรงนั้น และเจรจาตกลงกันเป็นกรณีไป

somjai-on-change

ผ่านมาถึงทุกวันนี้นี้คิดว่าระบบอยู่ตัวแล้วหรือยัง

ก็ยังไม่อยู่ตัวนะ เราต้องเปลี่ยนเรื่อยๆ ธุรกิจ Retail คือธุรกิจที่น่าปวดหัวที่สุด โดยเฉพาะพวกซุปเปอร์มาร์เก็ต รองลงมาก็จะเป็นอย่างธุรกิจเรานี่แหละ มันยังมีจุดที่เราไปไม่ถึงอีกเยอะแยะมากมายให้แก้ไขได้ไม่จบ

พอจัดการระบบใหม่โดยเฉพาะการจัดการกับ Data มีการใช้ Data ช่วยในการบริหารจัดการ หรือต่อยอดการใช้งานไปในทิศทางไหนบ้าง

ที่เราบริหารจัดการธุรกิจทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการขายออกไป ซื้อเข้ามา ใช้ Data ทั้งหมด Data เป็นเหมือนหางเสือเรือของบริษัทเลยในการจะตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้าอะไร ซื้อเท่าไหร่ ซื้อเมื่อไหร่ อย่างเช่นจู่ๆ เราจะซื้อปากกายี่ห้อหนึ่งมาพันแท่งเลย ทำแบบนั้นไม่ได้ เราต้องมาทำการคาดการณ์ยอดขายก่อน โดยอิงจากข้อมูลยอดขายที่ผ่านมาประมาณสามถึงหกเดือนที่ผ่านมา อะไรแบบนี้เป็นต้น สมมติว่าเราจะสั่งปากกาพันแท่ง ระบบจะคำนวนข้อมูลออกมาเลยว่าปากกาพันแท่งนี้จะอยู่ในร้านเรากี่วัน และยังมีนโยบายของเราที่ระบุไว้ว่าควรจะเป็นกี่วัน ซึ่งถ้าเกิดเกินค่าตรงนี้ไปเราก็ไม่สามารถสั่งได้ ยกเว้นกรณีจำเป็นอื่นๆ เช่นต้องสต๊อกของที่เป็น Seasonal

อันนี้คือการใช้ Data ช่วยในการซื้อของเข้ามา ประโยชน์คือมันทำให้เราใช้เงินอย่างฉลาด โดยเฉพาะทุกวันนี้ที่เรามีเงินจำกัด มันไม่ใช่ยุคช่วงที่เราขายดีอีกต่อไป ที่จะคิดแค่ว่าสั่งมาก่อนเถอะ เดี๋ยวก็ขายได้ ตอนนี้คือถ้าสั่งอะไรผิดแค่หนึ่งก้าว เราอาจต้องกู้เงินธนาคารเลย และสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าเราใช้ความจำคนจำเอาว่าอะไรขายดี คือมันไม่เหมือนกันทุกวันเลยนะ มันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

somjai-data

โควิดปีที่แล้วกับปีนี้ก็ไม่เหมือนกัน ปีที่แล้วขาย Face Shield ดีมาก แต่ทุกวันนี้ของที่ขายดีคือทิชชู่เปียก แอลกอฮอล์ ซึ่ง Face Shield ขายไม่ออกเลย ลูกค้าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งต่อให้เราเป็นคนที่ฉลาดขนาดไหนก็ Detect ไม่ได้ทั้งหมดหรอก อย่างของเรามี 70,000 SKU จะมานั่งจำว่าวันนี้อะไรขายดี มันไม่ได้ เราเลยต้องทำงานกันด้วย Data และให้พนักงานของเราทำงานด้วย Data เช่นกัน
จากแต่ก่อนที่ให้อำนาจผู้จัดการในการสั่งของ พอเราระบบเข้ามาเราก็ให้เขาดูจาก Data ว่าจะสั่งของเท่าไหร่ อะไรบ้าง ซึ่งมันก็มีความไม่เข้าใจเกิดขึ้นเหมือนกัน เช่นเขาเคยสั่งของรายการนี้ ในจำนวนเท่านี้มาหลายสิบปี จู่ๆ ระบบบอกให้เขาสั่งน้อยลงด้วยความที่สถานการณ์เปลี่ยนไป ลูกค้าเปลี่ยนไป คนไม่ซื้อมากเหมือนเดิมแล้ว เขาก็ไม่เข้าใจ ต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งเหมือนกันกว่าเขาจะเข้าใจ

ทุกวันนี้ถ้ามาหาเราแล้วบอกของไม่พอโดยที่ไม่มี Data มาอ้างอิง เราไม่คุยด้วยเลยนะ เพราะมันจะดูลอยมาก และมันจะคุยกันไม่จบ

ส่วนในด้านของการที่ลูกค้ามาซื้อสินค้า เราก็เก็บ Data ทั้งหมด เพื่อจะได้รู้ว่าอะไรขายดี อะไรขายไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วระบบก็ไม่ได้ฉลาดเท่าพวกแพลตฟอร์มนะ คือเราชอบทำงานกับแพลตฟอร์มอย่าง Lazada และ Shopee มาก คือรู้สึกว่ารู้จักร้านตัวเองดีขึ้นเยอะ เพราะเขามีระบบวิเคราะห์ที่ดีมาก

นอกจากการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารจัดการใหม่ ก็ได้มีการริเริ่มทำ E-Commerce ด้วย ตอนนั้นมี Vision แบบไหน

จริงๆ เราเริ่มต้นตั้งแต่ยุคขายของบน Facebook ยุคแรกๆ แล้วเราก็คิดว่ามันเป็นโอกาสนะ เพราะเราไม่ได้มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ และเราก็ไม่ได้มีเงินที่จะลงทุนไปทั่วประเทศมากขนาดนั้น เพราะเราก็เป็นแค่ธุรกิจครอบครัว เราเห็นสัญญานว่ามีคนสั่งของจาก Facebook มาทุกวันก็เลยคิดว่ามันเป็นสัญญาณที่ดี เราก็เลยเริ่มทำเว็บของเราเอง ตอนนั้นความรู้เราเป็นศูนย์เลยนะ ด้านการตลาดก็เป็นศูนย์เลย เราไม่มีหลักการอะไรเลย

เว็บเริ่มเปิดตัวในเดือนพ.ย. 2559 มี SKU เริ่มต้นประมาณ 3,000 เราถ่ายรูปสินค้าใหม่ลงไปทั้งหมด เหนื่อยมาก นอนดึกทุกวัน ด้วยความที่สินค้าไม่เคยขึ้นออนไลน์ และข้อมูลตอนนั้นก็ไม่เป็นระบียบ ต้องมาเคลียร์จัดหมวดหมู่ใหม่ ใช้เวลาในการเตรียมข้อมูลให้พร้อมอยู่ประมาณครึ่งปีได้

แต่พอเว็บขึ้นเราก็ล้มเหลวในแง่การจัดการ เพราะเราไม่ได้เอาคนที่มีความรู้และเป็นตัวหลักที่ขายอยู่ในหน้าร้านของเราเข้ามามีส่วนในงานนี้ อีกเรื่องคือการที่ไม่ได้แนะนำหน่วยงานใหม่นี้ในองค์กร ตอนนั้นคนในองค์กรทุกคนไม่เข้าใจการทำงานแบบนั่งโต๊ะ เพราะพอเป็นหน้าร้านขายปลีก ทุกคนต้องวิ่งขายของ ใครหยุดนั่งคือขี้เกียจ แล้วคนที่ขายออนไลน์ก็จะนั่งอยู่หน้าคอมเกือบทั้งวัน ก็มีเสียงต่อต้านจากองค์กร พอมีแต่พนักงานใหม่มาทำตรงนี้ ลูกค้าถามอะไรมาก็ตอบไม่ได้ ตอนนั้นใช้เวลาสองปีพัฒนาเว็บที่ใช้ไม่ได้เลยเพราะความยากในการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งในแง่การบริหารจัดการ และเรื่องทางเทคนิคการเขียนโปรแกรมที่เราควบคุมเองไม่ได้ พอถึงสองปีเราก็จ้างคนทำเว็บใหม่ ล้างระบบเริ่มใหม่หมดเลยถึงเริ่มอยู่ตัว

unlocking-the-winning-edge-with-data-driven-strategies

ตอนแรกที่ทำออนไลน์เราไม่คิดเลยว่าเราจะมาถูกทาง เพราะมันเป็นรายได้แค่ 1% – 2% ของเรา แต่พอโควิดมาเรารู้เลยมาเรากำลังมาทางที่ถูกต้อง ก่อนหน้านี้เราจะรู้สึกผิดมาตลอดที่รู้สึกว่าผลตอบแทนจากการทำออนไลน์มันไม่โอเคเหมือนทำหน้าร้าน ตอนนั้นเลยคิดแค่ว่ามันเป็นเหมือนเว็บประดับหน้าร้าน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วประสิทธิภาพมันสูงมาก พอโควิดมาทำให้เรารู้สึกว่าตัดสินใจถูก

อีกสิ่งที่เราคิดว่าเราตัดสินใจผิดคือการเข้าแพลตฟอร์มช้า (Shopee, Lazada) ถ้าเข้าเร็วกว่านี้จะดีกว่านี้เยอะ เพราะคิดว่าง่ายกว่าเว็บตัวเอง โดยเฉพาะในแง่ที่ต้นทุนในการหาลูกค้า เราคิดว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้มีครบทุกอย่างที่จะเป็นอนาคตของ Retail หลายๆ ร้าน

somjai-ecommerce

เจอผลกระทบอะไรจาก Covid-19 บ้าง และปรับตัวอย่างไรบ้าง

โควิดปีที่แล้วมันแย่เพราะทุกคนตกใจ เหมือนอุกกาบาตลงมาในโลก ทุกคนตั้งรับไม่ได้ ก่อนหน้านั้นทุกคนมีรายได้สม่ำเสมอ สามเดือนแรกมันยังไม่มีการเปลี่ยนพฤติกรรมมากนัก ในมุมมองเราตอนนั้นก็ไม่ได้แย่มาก แต่ในช่วงนี้ต้องบอกว่ามันสิ้นหวังในแง่ที่ว่ามันจะอยู่อีกนานไหม ผู้ประกอบการเสียทุกอย่างหมดเลย และไม่รู้ว่าจะได้อะไรกลับคืนมาบ้าง ตอนนี้กลายเป็นว่าคนที่สายป่านยาวคือคนที่อยู่รอด ไม่ใช่คนที่ทำกลยุทธ์เก่ง เราคิดว่ามันไม่แฟร์สำหรับผู้ประกอบการไทยนะ เราควรได้รับสิทธิ์บางอย่างมากกว่านี้ และเราควรได้รับทิศทางที่ชัดเจนว่าเมื่อไหร่ทุกอย่างจะดีขึ้น คือมันต้องมีสัญญาณบ้างอย่างบ้าง ทุกวันนี้พอมันไม่มี มันทำให้เราอ่านเกมยาก 

อย่างของเราเจอผลกระทบหนักเลย แคมเปญ Back to School เราต้องสั่งของเยอะมากเพื่อรองรับการเปิดเทอม แต่สุดท้ายคือต้องเลื่อน ซึ่งคนที่ต้องแบกรับสต๊อกทั้งหมดไว้ก็คือตัวผู้ประกอบการเอง เรายังต้องจ่ายบิลต่างๆ ตามกำหนดเวลาเดิม เราค่อนข้างเป็นห่วงจนเริ่มคิดว่าหรือเราต้องลองสำรวจตลาดต่างประเทศบ้างแล้ว เราคิดว่าถ้า Q4 ยังไม่กลับมา หลายๆ กิจการอาจจะพยุงไม่ไหวแล้ว

โอเคว่าเรามีช่องทางออนไลน์ แต่ก็มีรายรับระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมด เราก็ต้องปรับตัวทำ Warehouse Online  ทำ ERP Online คือรีบทำโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับการขายแบบออนไลน์ให้รองรับรายได้ที่จะโตขึ้นจากตรงนั้น สต๊อกต่างๆ ที่เคยจะขายในห้างก็ย้ายมาทางออนไลน์

ในฐานะผู้ประกอบการ ทักษะส่วนตัวอะไรที่คุณตาลมีแล้วรู้สึกมากๆ ในการบริหารธุรกิจของคุณตาล

เราว่าอันดับแรกคือเรื่องตรรกะ คือถ้าตรรกะไม่พังมันไปต่อได้ เราโชคดีที่มีพื้นฐานในการเรียนที่ช่วยเรื่องเชิงตรรกะ ทำให้พอไปได้ 

เรื่องที่สองคือการฟัง ปกติเราเป็นคนพูดเก่งมาก แต่เราฟังจากพี่โจ้ ธนา มาว่าเราเป็นผู้บริหารที่ทำทุกอย่างเองทั้งหมดไม่ได้อยู่แล้ว แต่ก็จะไม่มีใครทำอะไรให้เราได้เลยถ้าเราเอาแต่พูดและปิดกั้นความคิดเขา เราก็เริ่มที่จะฟังมากขึ้น เวลาประชุมจะไม่นั่งหัวโต๊ะ แล้วจะไม่ค่อยพูด ปล่อยให้พนักงานพูดไป พยายามให้พนักงานกลั่นและเค้นความคิดของตัวเองออกมา ต่อให้บางอย่างที่เขาเสนอจะไม่สมเหตุสมผลสำหรับเรามากๆ เราก็ไม่พูดทันทีเพราะเขาอาจจะไม่กล้าเสนออะไรอีก บางครั้งต้องให้เกิดความผิดพลาดขึ้นมาบ้าง ไม่เป็นไร เราก็แค่แก้ไขใหม่ 

somajai-listen

เราชอบทำงานกับเด็กมาก เพราะเขาจะมีอะไรหลายอย่างที่เราไม่เคยรู้ เราแค่นั่งฟังเขาแล้วช่วยตบๆ ตอนท้าย แค่นั้นแหละหน้าที่เรา ที่เหลือปล่อยให้เขาจัดการ ให้อำนาจและเครื่องมือที่จำเป็นให้เขาได้ทำอะไรใหม่ๆ

บางทีเราก็มีการทำโปรเจกต์ที่น่าสนุก ท้าทาย โดยที่เราไม่ได้หวัง Revenue แต่เรากลัวเด็กๆ เบื่อ ถ้าไม่ได้ทำอะไรที่ท้าทายบ้าง เด็กสมัยนี้เปลี่ยนงานบ่อย หลายคนชอบทำฟรีแลนซ์ ถ้าเราไม่มีอะไรให้เขา เขาก็ไม่อยู่กับเรา เราก็คิดในมุมว่าเราจะให้อะไรเขาได้มากที่สุด เราคิดว่าอันนี้ก็เป็นโจทย์ของผู้ประกอบการในปัจจุบันด้วยเหมือนกัน ถ้าอยากได้คนเก่งๆ เข้ามา เราคิดว่าการได้ล้อมรอบตัวเองด้วยคนทำงานเก่งๆ จะทำให้การทำงานสนุก

แล้วทักษะด้าน Data คุณตาลมีความรู้ความเข้าใจแค่ไหน ถึงนำการเปลี่ยนแปลงธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วย Data ได้

เราคิดว่าด้วยความที่เราเรียนสายวิศวะ เรียนเศรษฐศาสตร์ เราก็อยู่กับข้อมูลและสถิติมาตลอด อย่าง Thesis จบเราก็ทำประเด็นเรื่องพลังงานหมุนเวียนแบบไหนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ก็เลยได้ใช้ Data มาตลอด เลยคิดว่าน่าจะได้เรื่องของ Data มาจากตรงนั้น

มาที่ปัจจุบัน เด็กรุ่นใหม่ที่ทำงานกับเรา เราคิดว่าพวกเขาเป็นประเภท Data-Driven หมดเลยนะ โดยที่เราไม่ได้ถ่ายทอดให้เขา เขารู้วิธีว่าต้องจัดการกับ Data อย่างไร เช่นให้โจทย์ไปว่าอยากดูยอดขาย อะไรขายดี เด็กก็ไปทำ Pivot Table มาให้ เราว่าปัจจุบันคงมีที่ให้เรียนเยอะในโลกออนไลน์

เราคิดว่าทักษะเรื่อง Data เป็นเรื่องพื้นฐานที่คนที่อยากจะประสบความสำเร็จต้องมี เหมือนเป็นทักษะหนึ่งที่ต้องมีติดตัวไว้

somjai-data-skill

คำแนะนำสำหรับธุรกิจที่ต้องปรับตัวในยุค Covid-19 ที่ยังไม่จบ

ค่อยๆ ปรับ วู่วามมากไม่ได้ในตอนนี้ อาจจะต้องลิสต์ออกมาว่า ถ้าจะให้ธุรกิจอยู่ต่อไปอีก 10 ปี เราต้องทำอะไรบ้าง อันไหนที่ต้องทำ ต้องทำตอนนี้เลยไหม หรืออีกสองปีค่อยทำก็ได้ ถ้าอะไรที่ต้องทำตอนนี้ถึงจะรอดได้ แพงแค่ไหนก็ต้องลงทุนทำ

สมมติคุณขายของออฟไลน์แบบดั้งเดิมอย่างเดียวแล้วรู้สึกว่าได้รับผลกระทบมาก สิ่งที่ต้องทำตอนนี้และใช้ต้นทุนน้อยที่สุดก็คือไปทางออนไลน์ และไปลงรายละเอียดลึกๆ ว่าถ้าจะไปออนไลน์ต้องทำอย่างไรบ้างด้วยต้นทุนที่น้อยที่สุด สมมติจะไปออนไลน์ ต้องมีรูป แทนที่คุณจะจ้างช่างกล้องมาถ่าย คุณหาฉากง่ายๆ มาถ่ายเอง รูปสวยน้อยหน่อย แต่มีของขายแล้ว เราต้องดูว่าจะต้องทำอะไรบ้าง และจ่ายแบบคนจน ลงทุนให้น้อยที่สุด ลงทุนในสิ่งที่จำเป็น ต้องระวัง เพราะต่อให้วันนี้ธุรกิจของคุณยังไม่เป็นไร แต่อีกสองเดือนไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง


ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่รู้ว่า Data เป็นเรื่องสำคัญ สามารถนำมาใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจได้จริง แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร พบกับหลักสูจนสำหรับผู้นำ ผู้จัดการ และผู้บริหารที่อยากเป็นคน
ตัดสินใจด้วย Data เป็น ผ่านการลงมือทำจริงผ่านสถานการณ์จำลอง (Simulation) จาก Harvard Business Publising (HBP)

ย่อยเนื้อหารวมเพื่อผู้บริหาร หรือผู้นำที่ไม่ค่อยมีเวลาเรียนให้เข้าใจวิธีการตัดสินใจผ่าน Dashboard ได้ พร้อมเรียนรู้จุดร่วมความผิดพลาด และความสำเร็จจากหลากหลายองค์กรชั้นนำกับเวิร์กชอป Unlocking the Wining Edge with Data-Driven Strategies สอนโดย ดร.ต้า วิโรจน์ จิรพัฒนกุล Managing Director ที่ Skooldio

More in:Business

Comments are closed.