ความคิดสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในทักษะที่ขาดไม่ได้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม หลายคนอาจจะคิดว่าตัวเองไม่ค่อยมีหัวทางด้านนี้ บางคนตีกรอบให้กับตัวเอง ขณะที่บางคนเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องของพรสวรรค์ที่มีเฉพาะกับบางคนเท่านั้น หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้คุณกลับมาตั้งต้น ต่อสู้กับความเชื่อผิดๆเหล่านั้น และปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ในตัวคุณออกมาอย่างเต็มที่
Creative Confidence ถูกเขียนโดยสองพี่น้องตระกูล Kelly โดย David Kelly ผู้เป็นพี่นั้น เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านการออกแบบชื่อดังอย่าง IDEO และสถานบ่มเพาะนวัตกร “Stanford d.school” อันเลื่องชื่อ นอกจากนี่ยังมีผลงานส่วนตัวอีกมากมาย เช่น ออกแบบเม้าส์ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ตัวแรกของโลก เป็นต้น
ขณะที่ Tom Kelly ผู้น้องนั้น เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง IDEO และยังเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับนวัตกรรมชื่อดังอีกหลายเล่ม เช่น “The Art of Innovation” และ “The Ten Faces of Innovation” โดยปัจจุบัน Tom นั้นเป้นผู้บริหารให้กับ “Haas School of Business” ที่ UC Berkeley และ University of Tokyo
ทั้งคู่ทำงานร่วมกันมากว่า 30 ปีในงานด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม และได้พบว่ายังมีความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์อย่างมากมาย พวกเขาจึงตั้งใจเปิดเผยให้คุณรู้ว่า การเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์นั้น ไม่ได้ยากอย่างที่คิด
และนี่คือวิธีปลุกความคิดสร้างสรรค์ในแบบของ Creative Confidence
เปลี่ยนความคิด สู่ความสร้างสรรค์
กระบวนการที่เน้นผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลางนั้น คือหัวใจของการสร้างนวัตกรรมไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจความต้องการ แรงจูงใจ หรือความเชื่อของลูกค้า รวมไปถึงความสามารถในการสร้างของสักชิ้นขึ้นมาและนำไปขายได้ แต่เมื่อลงลึกไปในรายละเอียด ไม่มีสูตรสำเร็จใดเลย ที่บอกได้ว่า หากคุณทำสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้ว คุณจะได้ไอเดียที่ดี หรือสร้างนวัตกรรมออกมาได้ แต่คุณก็มักจะได้เห็นขั้นตอนเหล่านี้ร่วมอยู่ด้วยเสมอ
1. เริ่มหาแรงบันดาลใจ ซึ่งมักจะทำผ่านการพูดคุยกับผู้คน การออกไปหาประสบการณ์ใหม่ การออกไปดูว่าในอุตสาหกรรมอื่นๆเขาทำงานกันอย่างไร
2. นำข้อมูลมาปะติดปะต่อกัน นั่นคือกรองข้อมูลเชิงลึกที่ได้มาจากขั้นตอนที่แล้วมาแปลงให้เป็นงานที่สามารถลงมือทำได้ บรรลุได้
3. สร้างไอเดียใหม่ๆ และทำการทดลอง โดยในขั้นตอนการสร้างไอเดียนั้น คุณจะต้องคิดไอเดียออกมาในปริมาณมากๆ แล้วจึงเลือกแนวทางที่ตอบโจทย์มากที่สุดมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง
4. ลงมือปฏิบัติจริง โดยการปรับปรุงไอเดีย ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ตัวอย่างให้ดีขึ้น ผ่านการทำซ้ำไปเรื่อยๆ
สิ่งสำคัญคือ ในระหว่างที่คุณกำลังลงมือทำอยู่นั้น คุณจะต้องเปิดใจของคุณอยู่เสมอ และเชื่อมั่นว่าในทุกครั้งที่คุณได้เรียนรู้ เริ่มปรับปรุงผลงาน และทำมันอย่างแน่วแน่แล้ว งานของคุณจะค่อยๆดีขึ้น และประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน
เปลี่ยนความกลัว ให้เป็นความกล้า
พวกเรานั้นต่างตกอยู่ท่ามกลางความกลัว กลัวที่จะทำอะไรผิดพลาด กลัวจะถูกผู้อื่นตัดสิน หรือกลัวในสิ่งที่เราไม่รู้ จึงไม่แปลกนัก หากเราจะพยายามปลีกตัวให้ห่างจากโอกาสที่จะทำให้เกิดความผิดพลาดนั้นๆ แต่ในการสร้างสิ่งใหม่ให้สำเร็จนั้น คุณจะต้องเข้าไปใกล้กับความล้มเหลวให้มากที่สุด และทำตัวให้คุ้นเคยกับความล้มเหลวให้มากที่สุด ทำไมกัน?
ความล้มเหลวเป็นเหมือนยาขม มันทำให้คุณดูแย่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับมัน แต่มันกลับทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้นอย่างรวดเร็ว คนที่มีความคิดสร้างสรรค์นั้นรักในการริเริ่มทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อเรียนรู้จากผลการทดลองที่ล้มเหลวอยู่เสมอ และด้วยการทดลองบ่อยๆนี้เอง ที่จะช่วยเปลี่ยนให้ความน่ากลัวขนาดใหญ่ให้ค่อยๆเป็นเรื่องท้าทายที่เล็กลง จนสามารถบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น
คุณจะสร้างความกล้าขึ้นมาได้อย่างไร
– สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดในช่องทางออนไลน์ โดยใช้เทคนิค “Be a fly on the wall” เพื่อมองหา feedback หรือความต้องการของลูกค้าที่อาจไม่ได้บอกให้คุณทราบ
– ทดลองใช้บริการของทีม customer service โดยอาจแกล้งวางตัวเป็นลูกค้า เพื่อสัมผัสประสบการณ์จริงที่ลูกค้ารายอื่นๆต้องเจอ และมองเห็นโอกาสที่จะนำมาสู่การปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น
– เข้าไปพูดคุยผู้เชี่ยวชาญ โดยผู้เชี่ยวชาญที่ว่านี้ ไม่ใช่คนที่นั่งอยู่บนห้องทำงานหรูๆ แต่แต่คนที่ต้องอยู่กับหน้างานที่ต้องรับมือกับปัญหาจริง เช่น พนักงานต้อนรับ หรือผู้ช่วยพยาบาล เป็นต้น
– ออกตามหาข้อมูลเชิงลึก ผ่านการออกไปสังเกตในขณะที่ลูกค้ากำลังใช้งานผลิตภัณฑ์ของคุณจริงๆ ว่าเขานั้นแสดงออก เขาคิด เขารู้สึกอย่างไร
– เข้าไปพูดคุยกับลูกค้า โดยอาจจะเข้าหาลูกค้าด้วยการขอสอบถามปัญหาแบบสั้นๆ แล้วค่อยๆไล่หาข้อมูลเพิ่มด้วยการถามว่า “ทำไม” หรือ “คุณเล่าให้เราฟังหน่อยได้ไหม”
เวลาคุณเล่นเกมส์ แม้ว่าในตลอดทั้งเกมส์นั้นคุณจะเล่นได้แย่มากก็ตาม แต่คุณก็จะรู้สึกมีความสุขหลังจากที่คุณเอาชนะเกมส์ได้แล้ว การนำเทคนิคเหล่านี้มาใช้ก็เช่นกัน คุณอาจจะรู้สึกขัดเขินหรือลำบากใจอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผลลัพธ์ที่รออยู่จะทำให้คุณรู้สึกเป็นผู้ชนะอย่างแน่นอน
จากกระดาษเปล่า สู่ข้อมูลมหาศาล
หากถามว่า คุณจะเริ่มต้นจุดไฟในการสร้างความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร ในบทนี้จะเต็มไปด้วยวิธีการที่หลากหลาย โดยคุณต้องทดลองทำกิจกรรมเหล่านั้นเอง แม้ว่าจะฟังดูตลก แต่สิ่งที่คุณจะได้จากกิจกรรมเหล่านี้คือทัศนคติที่คุณจะทำงานนั้นๆให้สำเร็จ และความพยายามที่คุณได้ใส่ลงไปการทำงาน ยิ่งกว่านั้น ในการทำกิจกรรม คุณต้องวางตัวเป็นเหมือนนักเดินทางที่พร้อมจะสังเกตสิ่งต่างๆรอบตัว และพาตัวคุณออกไปพบกับไอเดียและประสบการณ์ใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังมีวิธีอื่นๆที่แนะนำอีก เช่น
– ไปเข้าเรียนในคอร์สเรียนที่น่าสนใจ
– อ่านหนังสือหรือบล้อกที่คุณสนใจ
– ลองฟังแพลงแนวใหม่ๆดูบ้าง
– มองหาไอเดียใหม่ๆจากต่างประเทศหรือจากอุตสาหกรรมอื่นๆ
– ลองหาเวลาพักสัก 20 นาที หากรู้สึกว่าปัญหาดูยุ่งเกินไป
– ทำความเข้าใจลูกค้าโดยการเข้าไปสังเกตหรือพูดคุย
– ลองปรับมุมมองที่มีต่อปัญหาโดยการเดินถอยหลังสักหนึ่งก้าว เพื่อทำความเข้าใจ และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างถูกทาง
– หาความรู้จากเพื่อนฝูงหรือคนรอบตัวดูบ้าง
เทคนิคเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ง่ายๆที่คุณสามารถเริ่มทำได้เลย แต่หากคุณยังไม่มั่นใจว่าจะทำสิ่งนี้ได้หรือไม่ ในบทถัดไปจะบอกว่า คุณจะเริ่มก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร
จากวางแผน สู่การลงมือทำ
คุณอยู่ท่ามกลางผลิตภัณฑ์ที่ทำงานไม่ดี บริการที่ให้บริการอย่างเชื่องช้า และหลายสิ่งหลายอย่างที่ถูกวางแผนมาไม่ดีนัก แต่หากคุณต้องธุรกิจของคุณเอง คุณอาจใช้เทคนิค “bug lists” มาช่วยวางแผนได้ โดยการเขียนสิ่งที่อาจะทำให้งานของคุณออกมาไม่ดี สิ่งนี้จะช่วยทำให้คุณระมัดระวังตัวมากขึ้น มันอาจดูเหมือนคุณกำลังดูโฟกัสแต่ด้านที่ไม่ดี แต่กลับกัน มันทำให้คุณเห็นโอกาสที่จะทำให้งานออกมาดีมากกว่า
และเมื่อคุณต้องลงมือทำ คือ การที่คุณพร้อมที่จะแบ่งงานในมือออกเป็นงานย่อยๆ แล้วทำงานย่อยๆนั้นให้เสร็จเร็วๆ สร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบออกไปทดสอบเร็วๆ และทำซ้ำเร็วๆ แทนที่จะมองหาแต่วิธีการที่ดีที่สุดแล้วค่อยทำ และนี่คือตัวอย่างของการเริ่มต้นทัศนคติแบบนี้
– ร้องขอความช่วยเหลือเมื่อคุณต้องการ
– ให้เพื่อนร่วมงานช่วยกดดัน โดยอาจนั่งทำงานด้วยกัน แล้วมีคนที่เริ่มลงมือก่อน
– เข้าหาลูกค้า เพื่อเล่าไอเดียให้ฟัง และเก็บ get feedback กลับมา
– ลองทำตัวอย่างแบบง่ายๆออกไปก่อน
– ลดจำนวนผู้ที่เกี่ยวข้องลง เพื่อให้งานที่ทำดูไม่สำคัญมากเกินไปนัก
จากหน้าที่ สู่ความกระหาย
คุณอาจมองงานที่คุณต้องทำว่าเป็นอาชีพก็ได้ เป็นความรับผิดชอบก็ได้ แต่การทำงานทุกอย่างนั้น ไม่สามารถสร้างความสุขให้กับทุกคนได้ แล้วงานอะไรที่ทำให้คุณมีความสุขล่ะ? หากคุณกำลังมองหาความสุขในการทำงานนั้น คุณอาจถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ที่ชื่อว่า “theater of the mind” เสียก่อน
– คุณทำอะไรได้ดีบ้าง?
– คนอื่นๆจะยอมจ่ายเงินเพื่อให้คุณทำสิ่งใดให้?
– คุณเกิดมาเพื่อทำอะไร?
คุณอาจพบว่า คำถามสุดท้ายตอบได้ยากกว่าข้ออื่น คุณอาจค้นหาคำตอบได้จากการทำสิ่งเหล่านี้
– มองหากิจกรรมบางอย่างที่คุณเข้าไปมีส่วนร่วมมากๆ และหาว่าคุณทำไปอยู่ตรงไหนของกิจกรรมนั้น
– ลองเขียนกิจกรรมประจำวันที่ทำให้คุณรู้สึกดีออกมา
– วิเคราะห์สิ่งที่คุณหลงรัก เพื่อดูว่าอะไรคือองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้คุณมีความสุข และเมื่อพบสิ่งนั้นแล้ว ให้หาเวลาในแต่ละวันเพื่อทำสิ่งนั้นให้ได้
– ลองทำกิจกรรมที่มีความใกล้เคียงกับสิ่งที่คุณชอบ
และเมื่อคุณได้ตอบทั้ง 3 คำถามใน “theater of the mind” ได้แล้ว งานที่ปรากฏอยู่ตรงกลางนั่นเอง ที่จะทำให้คุณมีความสุข
สร้างทีมที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์
เมื่อคุณได้ลองฝึกความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองแล้ว ก็อาจจะสร้างผลกระทบต่อโลกใบนี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่หากคุณต้องการสร้างผลกระทบในวงที่กว้างกว่า คุณอาจจะต้องหาแรงสนับสนุนเพิ่มจากผู้คนรอบข้างอีกสักหน่อย การสร้างความคิดสร้างสรรค์ในองค์กรนั้นดูจะเป็นจุดเริ่มต้นง่ายๆ ลองไปทำตามเทคนิคเหล่านี้ดู
– มีอารมณ์ขันอยู่เสมอ
– สร้างแรงผลักดันจากผู้คนรอบๆตัว
– ลดขั้นตอนในการทำงานลง
– ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์และความเชื่อใจกันภายในทีม
– ไม่ตัดสินความคิดของผู้อื่น
เริ่มทำกันเลย!
หัวข้อนี้จะให้ความสำคัญกับการลงมือทำเพื่อฝึกความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก ซึ่งแต่ละกิจกรรมที่หนังสือได้คัดเลือกมานั้นจะมีความเชื่อมโยงไปกับคำถามและความท้าทายในเชิงนวัตกรรม สิ่งสำคัญในบทนี้คือ ให้ลองเปิดใจแล้วสนุกไปกับกิจกรรมนั้นๆ
กิจกรรมในบทนี้จะเริ่มตั้งแต่กิจกรรมที่สามารถเล่นได้คนเดียว จนไปถึงกิจกรรมที่ต้องเล่นร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆในทีม แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ รูปแบบของกิจกรรมจะมีความเรียบง่าย นั่นหมายความว่า ใครๆก็สามารถเข้าถึงกิจกรรมเหล่านี้ได้นั่นเอง
โอบกอดความคิดสร้างสรรค์
มีความเชื่อว่า คนเราทุกคนต่างมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าที่เราคิด ซึ่งหากสภาพแวดล้อมและสังคมรอบๆตัวนั้นเอื้อต่อการฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์แล้วนั้น จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ในตัวคุณเบ่งบานออกมาได้
อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยทำให้คุณมีความคิดสร้างสรรค์ได้ก็คือการลงมือทำ การฝึกฝนเพียงวันละ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง การทำความรู้จักกับผู้คนที่มีความสนใจกระบวนการคิดเชิงออกแบบ การออกไปเรียนรู้ ออกไปพบปะสังคมใหม่ๆด้านนวัตกรรม สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆช่วยให้คุณสร้างความสำเร็จขึ้นมาทีละนิด
สรุป
ความคิดสร้างสรรค์นั้นคือความเชื่อ เชื่อว่าตัวเราเองนั้นมีความสามารถพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้ คือความเชื่อมั่นว่าตัวเราจะสามารถทำทุกอย่างให้สำเร็จได้
ความคิดสร้างสรรค์นั้นเปรียบเสมือนกล้ามเนื้อ ที่สามารถเติบโตและแข็งแรงขึ้นได้จากการฝึกฝนและใช้งานบ่อยๆ และเมื่อคุณใช้งานกล้ามเนื้อมัดนี้มากขึ้นเท่าไร คุณก็จะยิ่งมั่นใจมากขึ้นเท่านั้น
Goodreads: 4.03 (8,325 ratings)
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://www.creativeconfidence.com/