สำหรับคนที่เรียกตัวเองว่า “มนุษย์เป็ด” อาจกำลังสับสนที่เส้นทางการเรียนรู้และสายอาชีพไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง หรือไม่ได้มีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจนนัก มนุษย์เป็ดอาจไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังเรียนหรือตั้งใจทำอยู่จะแปลผลเป็นอะไรในอนาคต และไม่แน่ใจว่าควรสะสมทักษะ ประสบการณ์อะไรต่อไปดี
การมาสู่ UX Designer ของคุณปุ้ม บุศยา กิตติรังสิ Head of User Experience Design แห่ง Skooldio อาจจะเป็นตัวอย่างหนึ่งของมนุษย์เป็ดที่คลำทางจนเจองานที่ใช่สำหรับตัวเอง โดยมีความรู้สึกระหว่างทางไม่ต่างกันกับสิ่งที่มนุษย์เป็ดทุกคนรู้สึก ไม่รู้ความชอบที่แน่ชัดของตัวเองตั้งแต่แรก ไม่รู้จะต้องเรียนสิ่งนี้ไปทำไม รู้สึกว่าตัวเองมีทักษะที่จับฉ่ายมากเกินไป สับสนอยู่ในระหว่างการตัดสินใจต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่บ่อยๆ
นี่อาจจะเป็นหนึ่งในบทสัมภาษณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์เป็ดทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์เป็ดที่กำลังสนใจอยากผันตัวเข้าสู่อาชีพสาย UX
คุณปุ้มยังมีมุมมองเรื่อง UX ที่น่าสนใจ ด้วยความที่เชื่อว่าเรื่องของ UX ไม่ใช่แค่เรื่องของแอปฯ ในโทรศัพท์ที่เราใช้กันทั่วไป แต่ UX หรือประสบการณ์ของผู้ใช้งานสอดแทรกอยู่ในแทบทุกรายละเอียดในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ตั้งแต่เรื่องการเรียนของเด็กนักเรียน การเดินทางไปทำงาน การออกแบบเมืองที่พวกเราใช้ชีวิตกันอยู่ ห้างที่เราเดิน หรือแม้กระทั่งระบบการจองและจัดการวัคซีน Covid-19
นั่นคือทุกอย่างที่มีผู้ใช้งานย่อมต้องมีประสบการณ์ของผู้ใช้งาน เราจึงสามารถพบเจอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ UX ในแทบทุกกิจกรรมที่เราทำ และแทบทุกที่ที่เราไป
อยากให้คุณปุ้มช่วยแนะนำตัว และเล่าเส้นทางการเรียน/การเดินทางที่พาคุณปุ้มมาอยู่ในจุดนี้
เราเรียนจบจากภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรมจากจุฬาฯ สมัยนั้นจะเรียน 5 ปี คือปี 1-2 จนถึงต้นๆ ปี 3 ยังต้องไปเรียนออกแบบบ้านอยู่ คือเรียนออกแบบอุตสาหกรรมนะ แต่คุณต้องเขียนแปลนบ้านเป็น ซึ่งตรงนี้ยังเป็นอะไรที่เอามาปรับใช้ในการสอน UX ในปัจจุบัน เรามักจะเทียบว่าทำ UI เหมือนทำ Interior นะ ทำ UX เหมือนเป็นสถาปนิกนะ การที่คุณต้องเข้าใจ Developer ก็เหมือนคุณต้องคุยกับผู้รับเหมา หรือคุยกับวิศวกรรู้เรื่อง
ด้วยความที่เราเรียนจับฉ่ายมาก ตอนจบมาเราทำเป็น Graphic Designer ที่เอเจนซี่ ทำพวกงาน Print งาน Branding มีจุดหนึ่งที่อยู่สึกว่าอยากไปเรียนต่อด้านดิจิทัล ตอนนั้นทำงานสิ่งพิมพ์แล้วมีความรู้สึกว่าอยากไปมากกว่านั้น รู้สึกว่าดิจิทัลน่าจะเล่นอะไรได้มากกว่า เลยตัดสินใจไปไปต่อปริญญาโท Communications Design ที่ Pratt Instiute สหรัฐอเมริกา
ทีนี้พอไปเรียนต่อ คำว่าออกแบบดิจิทัลมันก็กว้างอีกเหมือนกัน เหมือนเป็นเป็ดอีกเลเวลหนึ่ง คือเป็ดดิจิทัล เรียนตั้งแต่คลาสทำ Motion/Animation คลาสสอนเขียนโค้ด ไปจนถึงพวกจิตวิทยาในการออกแบบ เรียนจบก็ทำงานอยู่ที่นั่น
เรามักจะเทียบว่าทำ UI เหมือนทำ Interior นะ ทำ UX เหมือนเป็นสถาปนิกนะ การที่คุณต้องเข้าใจ Developer ก็เหมือนคุณต้องคุยกับผู้รับเหมา หรือคุยกับวิศวกรรู้เรื่อง
ตอนทำงานที่นั่นสามปี ครึ่งหนึ่งก็เหมือนได้ทำงานด้าน UX/UI คือทำแอปฯ ของธนาคารแห่งหนึ่ง พอจบ Project นั้น หัวหน้าก็มาถามว่าไม่มีงาน UX/UI แล้ว อยากทำ Content ไหม ตอนนั้นก็ตกลงทำเพราะยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร UX/UI ยังเป็นเรื่องใหม่ เรื่องของ Content ก็กำลังมาแรงมาก ตอนนั้นแบรนด์ใหญ่ๆ ของโลกจะมีโซเชียลมีเดียเป็นของตัวเอง ซึ่งก็ต้องจ้างเอเจนซีดูแล เลยมีงาน Content เข้ามาเยอะมาก ก็ได้ลองทำอยู่ประมาณปีครึ่งก่อนที่จะกลับมาที่ไทย แล้วก็ได้มาทำอยู่ที่ Skooldio ในปัจจุบัน
ถ้าถามว่าทำไมถึงเลือกมาทำสาย UX คือพอได้ลองทำงานทั้ง Content และ UX/UI ก็พบว่าโดยส่วนตัวแล้วชอบงานออกแบบที่เป็นเหตุเป็นผล อธิบายได้ มีหลักการอะไรบางอย่างรองรับ เพราะเท่าที่ผ่านการทำงานเชิง Branding มา จะรู้สึกว่าบางทีมันเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก และสไตล์เยอะไปหน่อย โดยส่วนตัวก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้แข็งในด้านนั้น พอมาทำงาน UX/UI อะไรที่เราคิดว่าต้องปรับหรือแก้ มันมีเหตุผลรองรับ เข้าใจง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาขายหรือพูดจาโน้มน้าวอะไรกันมาก เราเลยชอบความชัดเจนแบบนี้มากกว่า พอคิดว่าอะไรที่ยังไม่ดี ก็กลับไปถาม User แล้วดูว่าเขาบอกอะไร ก็ตัดสินใจได้เลย
ถ้าใครทำงานอยู่สาย Branding นานๆ จะรู้ว่างานบางงานขึ้นอยู่กับลูกค้าทั้งหมด ลูกค้าอยากได้แบบนี้ แล้วเราก็ไม่รู้จะไปเถียงกับเขายังไง เพราะหลายอย่างมันเป็นเรื่องปัจเจก เป็นนามธรรม แต่ถ้าเป็น UX/UI กรณีที่ยังแน่ใจหรือตกลงอะไรกันไม่ได้ เราก็จะไป Test กับ User ให้ว่าผลออกมาเป็นยังไง เราชอบแบบนี้มากกว่า ก็เลยเลือกมาทำงานสาย UX/UI
ถ้าถามว่าทำไมถึงเลือกมาทำสาย UX คือพอได้ลองทำงานทั้ง Content และ UX/UI ก็พบว่าโดยส่วนตัวแล้วชอบงานออกแบบที่เป็นเหตุเป็นผล อธิบายได้ มีหลักการอะไรบางอย่างรองรับ
ประสบการณ์ ทักษะที่สะสมมา ส่งผลต่อการทำงาน UX/UI ในวันนี้อย่างไร
ส่วนตัวเป็นคนเชื่อในเรื่องของฟังก์ชัน ถ้าคนเห็นและรู้ว่าสิ่งๆ นั้นใช้งานอย่างไร ก็จะทำให้งานออกแบบนั้นเป็นงานที่ดี นี่คือคุณค่าของงานออกแบบที่เราเชื่อ อย่างตอนเรียนเราก็เรียนเรื่อง Design Thinking ก็ส่งผลมาต่อทุกวันนี้ ตอนที่เคยทำงาน Branding ต้องออกแบบ Packaging นอกจากในแง่ความสวยงาม โลโก้ชัด ก็ต้องคำนึงถึงอย่างอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขนส่ง ต้นทุนการผลิต อะไรเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่เราสะสมมาเรื่อยๆ อันนี้คือในส่วนของสิ่งที่ได้เรียนได้ทำงานมา
ทีนี้ย้อนมาพูดถึงพื้นฐานของตัวเอง ตั้งแต่สมัยเด็กๆ จะชอบอะไรที่มีความเข้าใจง่าย ไม่ชอบอะไรที่มันงง เวลาไปห้างเราก็จะไม่ชอบห้างที่จอดรถยาก การตั้งชื่อชั้นต่างๆ ที่งง จะกดปุ่มลิฟต์ต้องคิดนานว่าจะไปชั้นไหน หรือบางห้างที่เราแค่จะลงไปข้างล่างก็ต้องอ้อมไปใช้บันไดเลื่อนที่ไกลมาก อาจจะด้วยความที่เราเคยเรียนสถาปัตย์ เคยทำแปลนบ้าน ก็เลยจะเป็นความหงุดหงิดส่วนตัวในชีวิตประจำวัน เราเป็นคนช่างสังเกต ชอบคิดว่าจะทำยังไงให้มันดีขึ้นได้ ถ้าเราออกแบบห้างนี้ เราจะวางบันไดเลื่อนไว้ตรงไหน จะตั้งชื่อชั้นต่างๆ ในลิฟท์ให้เข้าใจง่ายขึ้นยังไง จะหาที่จอดรถง่ายขึ้นได้ยังไง
ส่วนตัวเป็นคนเชื่อในเรื่องของฟังก์ชัน ถ้าคนเห็นและรู้ว่าสิ่งๆ นั้นใช้งานอย่างไร ก็จะทำให้งานออกแบบนั้นเป็นงานที่ดี นี่คือคุณค่าของงานออกแบบที่เราเชื่อ
เป็นแบบนี้ตั้งแต่ยังไม่รู้จัก UX แต่พอวันหนึ่งมารู้ว่ามีสายงานที่ทำเรื่องกระบวนการคิดของคน การตัดสินใจของคนก็เลยชอบสายนี้มากขึ้น และมาทำงานสายนี้
นักออกแบบกับเมือง
ตอนอยู่นิวยอร์กจะมีเขตที่เรียกว่าแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นศูนย์กลางหลัก จะมีการออกแบบผังเมืองเป็น Grid ตั้งชื่อถนนต่างๆ อย่างเป็นระเบียบ ถ้าสมมติเราไม่เคยไปนิวยอร์กมาก่อน แล้วเพื่อนนัดว่าเจอกันที่ไหนก็สามารถเปิดแอปฯ แผนที่และไปได้ง่ายมาก แต่ถ้าใครไม่เคยมาประเทศไทยจะยากมากเวลานัด ทั้งในเรื่องของผังเมือง การการตั้งชื่อถนนที่จำยาก ซึ่งสิ่งที่เราให้ความสนใจคืออะไรที่มันเข้าใจง่าย ซึ่งนิวยอร์กเป็นเมืองแบบนั้น
นอกจากนี้ยังมีการออกแบบที่น่าสนใจในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นคนจะข้ามถนน บางทีด้วยความเป็นเมืองศิลปะ แทนที่จะมีป้ายธรรมดาๆ มาติดว่าเดินข้ามถนนห้ามเล่นมือถือ นู่นนี่นั่น ก็มีตัวหนังสือมาติดตรงทางข้ามม้าลายว่า Look! น่ารักๆ แทน เรารู้สึกว่าเป็นการออกแบบที่ทำให้คนเกิดพฤติกรรมบางอย่างโดยแทรกเข้าไปกับความสวยงามและความเรียบร้อยของเมือง
อีกตัวอย่างหนึ่งอย่างในซับเวย์อย่างโปรเจกต์ REACH คือแทนที่จะให้คนยืนรอรถไฟกลับบ้านเฉยๆ ก็จะมีการออกแบบลูกเล่นให้คนสามารถมี Interaction กันได้ ถ้าโบกมือขึ้นไปตรงท่อเสียงที่ติดไว้ตรงชานชาลาก็จะมีเสียงนกร้อง หากอีกฝั่งทำแบบเดียวกลับมาก็อาจจะมีเสียงน้ำไหล เสียงใบไม้ เป็นต้น เป็นการทำให้คนรอรถไฟได้โดยที่ไม่เบื่อ เราเลยรู้สึกว่าชอบเมืองที่มีเรื่องการออกแบบแบบนี้ มันเป็นเรื่องของประสบการณ์ ไม่ใช่แค่ฟังก์ชันที่เวิร์ก แต่ใส่ความสนุกเข้าไปด้วยในการใช้ชีวิต – ใครสนใจเรื่องโปรเจกต์ Interactive อ่านเพิ่มเติมได้เลยที่นี่
ทำงานกับ Skooldio กับ Passion ที่อยากแก้ปัญหาด้านการศึกษา
ส่วนตัวเป็นคนที่โตมากับการศึกษาไทยแล้วรู้สึกมีบางอย่างที่ไม่ชอบ รู้สึกมาตั้งแต่เด็กโดยที่ยังไม่ได้เรียนดีไซน์เลย คือรู้สึกว่าหนังสือเรียนไม่สวย ใช้ภาษาที่เราอ่านแล้วไม่เข้าใจ เราเลยรู้สึกว่าการศึกษาไทยไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ และเราว่ารุ่นเราเรียนหนักแล้วนะ แต่ก็รู้สึกว่าเด็กเรียนหนักมากขึ้นทุกปี เลยรู้สึกว่าอยากเข้ามาทำอะไรสักอย่างกับการศึกษาไทยให้ดีขึ้น เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ประเทศเรามีปัญหาอยู่ ซึ่งนอกจากงานหลักที่ทำของ Skooldio ก็จะมี Project ด้านการศึกษาอื่นๆ ที่ได้ทำสำหรับระบบการศึกษาไทย
Project แรกที่เป็นรูปเป็นร่างจริงจังคือแอปฯ ที่ชื่อว่า TCASter ตอนนั้นเป็นช่วงที่ระบบการศึกษาไทยเปลี่ยนมาเป็น TCAS ครั้งแรก ซึ่งช่วงแรกที่เปลี่ยนระบบ แต่ละมหาลัยก็จะประกาศหลักเกณฑ์ของตัวเอง ซึ่งแต่ละที่ก็จะมี Format ไม่เหมือนกันเลย บางที่เป็นแค่ข้อมูลในเว็บ บางที่ให้โหลดเป็นไฟล์ PDF บางที่มีกระทั่งเป็นไฟล์ Excel ซึ่งมันดูยากมาก ตอนนั้นภาพรวมทั้งประเทศเป็นแบบนี้
ตอนนั้นทางทีม Learn Corporation ก็มาคุยกับทาง Skooldio ว่าทำยังไงให้มันง่ายขึ้น สิ่งที่เราทำคือเอาทุกข้อมูลที่แต่ละมหาลัยมี Format ที่แตกต่างกันมาทำให้มันดูง่าย จัดการข้อมูลและแสดงผลเป็นกราฟฟิกที่มองแปปเดียวก็เข้าใจได้เลย ซึ่งก็มีนักเรียนเข้ามาใช้งานเยอะมาก ปีแรกที่แอปฯ เปิดตัว มีผู้ใช้งานกว่า 200,000 คน ปัจจุนมียอดใช้สะสมกว่า 900,000 คน
อีก Project ที่เราได้เข้าไปมีส่วนร่วมอยู่บ้างคือ TrainKru ก่อนหน้าที่เราจะมาทำงานด้านการศึกษา ความตั้งใจของเราคืออยากช่วยให้ประสบการณ์การเรียนของนักเรียนดีขึ้น สนุกขึ้น เรียนอย่างมีความสุขมากขึ้น แต่พอเข้ามาแตะจริงๆ ก็จะรู้ว่าไม่ใช่แค่เรื่องของนักเรียนแล้ว เราได้เข้าใจครูมากขึ้น บางทีเราก็โทษครูอย่างเดียวไม่ได้เพราะระบบมันมาแบบนี้ แอปฯ Trainkru คือแพลตฟอร์มที่ให้ครูมาเรียนสิ่งที่ครูยังไม่รู้และไปสอนเด็ก เช่น สองสามปีก่อนมีการประกาศออกมาว่า ต่อไปนี้นักเรียนม.ต้นจะต้องเขียนโค้ดเป็น ซึ่งครูจำนวนมากในประเทศไทยไม่น่าจะเขียนโค้ดเป็น แพลตฟอร์มนี้ก็เลยจะมาสอนครูในเรื่องพวกนี้ เพื่อเติมเต็มใน Ecosystem ของระบบ
สิ่งหนึ่งที่พอเข้ามาทำแล้วเห็นปัญหา คือบางครั้งไม่ใช่เรื่องของการไม่มีบทเรียน หรือความพร้อมด้านเทคโนโลยีขั้นสูงอะไร เพราะสิ่งที่เจอคือครูเป็นจำนวนมากจะเจอปัญหาการจำพาสเวิร์ดเพื่อ Login เข้าใช้งานไม่ได้ ตรงจุดนี้ก็ต้องมาคิดออกแบบวิธีการยืนยันตัวตนกันใหม่ บางทีถ้ามันเป็นแค่เรื่องเทคโนโลยีง่ายๆ ในการให้ครูสามารถเข้าระบบไปเรียนยังเข้าไม่ได้ ก็จะจบตั้งแต่ต้นทางแล้วไม่ว่าเราจะทำคอร์สไว้ดีแค่ไหน
นอกจากหน่วยงานการศึกษา หน่วยงานไหนอีกบ้างที่ควรใส่ใจเรื่อง UX/UI
เราว่าอีกเยอะเลย เพราะมันคือเรื่องในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นเรื่องระบบขนส่งสาธารณะ ทุกวันนี้รถไฟฟ้าก็ยังมีความงงๆ ในเรื่องของป้ายสถานีต่างๆ เวลามีสถานีเพิ่มขึ้นมาก็เปลี่ยนที คนอาจรู้สึกว่าใช้ยากในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องพูดถึงนักท่องเที่ยว
สองปีก่อนได้ไปทำ UX ให้กับ MuvMi ที่เป้นระบบเอาตุ๊กๆ พลังงานไฟฟ้ามาวิ่งแบบมีระบบแทร็กให้เราและคนอื่นๆ สามารถแชร์รถไปด้วยกันได้ ตอนนี้ก็มีเปิดบริการอยู่ในหลายพื้นที่ เราคิดว่าการออกแบบอะไรแบบนี้จะช่วยปิดช่องว่างในการออกแบบเมืองได้ เช่นถนนในกรุงเทพมีตรอกซอกซอยเยอะ ปกติคนก็ต้องเรียกวินหรือแท็กซี่กันไปคนละคัน ซึ่งมันก็ส่งผลต่อทั้งราคาที่แพง และในเรื่องของโลกร้อน
เราคิดว่าเรื่องอื่นที่จะทำได้อีกก็อยู่ในทุกที่เลย ล่าสุดอย่างการจองวัคซีน หรือการจองตรวจโควิด ก็ไม่มีการดึงข้อมูลมารวมกันไว้ตรงกลางเรื่องพวกนี้ภาครัฐควรจะมีการดึงบุคลากรพวก UX Designer มาช่วยเพิ่มขึ้น หรือเว็บไซต์ต่างๆ ของราชการที่ยังมีข้อมูลเป็น PDF หรืออย่างการท่องเที่ยวไทยที่ถ้ามีเรื่องของ UX เข้าไปช่วยก็จะพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวได้ดีมาก ตั้งแต่ระบบจองตั๋ว หรือในขบวนรถไฟว่าขึ้นไปแล้วเจอประสบการณ์แบบไหนบ้าง ส่วนตัวคิดว่าโดยรวมแล้วประสบการณ์ยังไม่มีการเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ
UX ที่ทำงานใน Industry เดียวไปเลย กับ UX ที่ทำงานหลากหลาย Industries แบบไหนดีกว่ากัน
อาจจะพูดได้ในแง่ของ UX ที่ทำงานหลากหลาย อาจเหมือนเป็น UX ที่เป็นเป็ดอีกที เราคิดว่าการได้ลองทำงานหลายๆ Industries เป็นเรื่องดีในแง่ที่จะได้ไม่ตัน อย่าง Skooldio ก็ไม่ได้ทำแค่สายการศึกษา แต่ที่ผ่านมาเรามีทำทั้ง Project ที่เป็น E-Commerce, ประกัน และอีกหลายๆ อย่าง ทุกครั้งที่มีงานแบบนี้เข้ามาทีมจากที่ทำงานกันเฉาๆ ก็จะตื่นเต้นที่ได้ทำ Project นอกบ้าง อย่างตอนนี้ที่ทำอยู่กับหน่วยงานของรัฐที่หนึ่ง เป็นเว็บทดสอบสุขภาพจิตในช่วง Covid-19 ซึ่ง Project เหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับการศึกษาโดยตรง แต่ในมุมมองของเราการที่เราได้ทำ Project อื่นๆ บ้าง เหมือนกับการได้ลับสมองตลอดเวลา อย่างปีก่อนน้องคนหนึ่งในทีมได้ทำโปรเจคที่เดี่ยวกับการเงิน น้องก็แฮปปี้มาก ก็ได้เรียนรู้การทำ UI อีกแบบ คือสำหรับที่ Skooldio นอกจากสายการศึกษาที่เป็นงานหลักของเรา ก็ยังมีแกนที่เป็น Software Studio ที่จะมี Project นอกให้น้องๆ ได้มาฝึกลับสมองกัน
มีวิธีเรียนรู้หรือฝึกฝนตัวเองอย่างไร
ส่วนใหญ่เป็นการฝึกคิดฝึกสังเกตในชีวิตประจำวัน เวลาที่เราใช้แอปฯ ต่างๆ เราก็จะ Think Aloud เป็น Process หนึ่งของ UX ฝึกการเทสกับตัวเอง ฉันเปิดแอปฯ นี้ เจอหน้านี้ครั้งแรกฉันคิดอะไร หน้านี้งงนิดนึงนะ ใช้คำนี้หมายถึงอะไร แกะออกมาเป็น Steps
อย่างมีวันหนึ่งเราตื่นเช้ามาจองวัคซีนให้พ่อแม่ เราก็เขียนรีวิวยาวมากเหมือนกันว่ามันงงหลายจุดมากเลย เราพยายามบ่นแบบมีมุมของ UX มาจับ เช่นแบบตรงนี้ตามหลักแล้วควรมีสิ่งนี้ พอมันไม่มีก็ทำให้เกิดประสบการร์การใช้งานที่ไม่ดี เราชอบทำอะไรแบบนี้ ไม่รู้ว่าเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองไหม แต่เป็นการฝึกให้ตัวเองหัดดู หัดสังเกตอะไรเหล่านี้ตลอดเวลา ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งฝืนอะไร เพราะเป็นคนชอบทำอะไรแบบนี้อยู่แล้ว
Do & Don’t สำหรับเป็ดที่อยากมาเป็น UX
จริงๆ UX เป็นสายที่คนมาจากหลายสายเหมือนกัน เราเคยเจอคนที่มาจากทั้งสาย Tech หรือสาย Marketing ก็มี ไม่ได้หมายความว่าคนที่จบสายออกแบบมาแล้วจะทำได้ดีกว่าคนอื่น ทุกคนสามารถข้ามสายมาได้หมด
แต่เราคิดว่าสิ่งที่คนจะเป็น UX ควรจะมี คือเป็นมนุษย์ที่เวลาเจออะไรที่ใช้ยาก ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้มันใช้ง่ายมากขึ้น มันต้องมีคำถามแบบนี้ขึ้นอยู่ตลอด ใน Skooldio เราจะชอบเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ต่อมเอ๊ะ’
สำหรับเรื่อง Don’t หลายครั้งเรามักจะโดดไปคิด Solution เร็วเกินไป บางทีเรารู้ว่า User มีปัญหาก็จะคิดว่าทำอย่างนี้สิ แล้วก็ฝังใจกับไอเดียนั้นไปเลย บางทีเราตรวจงานน้องๆ ที่ทำ Flow มาละเอียดมาก แต่เป็น Flow ที่มาจากการคิดแก้ปัญหาแค่ววิธีเดียว เราก็จะตีกลับมาให้ลองคิดให้มากกว่านี้หน่อย แต่ไม่ต้องลงรายละเอียดเท่านี้ เอาแค่ให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่าจะแก้ยังไง แต่ขอให้มีหลายวิธีมากกว่านี้ เราจะได้เห็นทางเลือกและการเปรียบเทียบว่ามีอะไรที่ดีกว่า
แต่เราคิดว่าสิ่งที่คนจะเป็น UX ควรจะมี คือเป็นมนุษย์ที่เวลาเจออะไรที่ใช้ยาก ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้มันใช้ง่ายมากขึ้น เราจะชอบเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ต่อมเอ๊ะ’
สำหรับใครที่อ่านแล้วสนใจอยากผันตัวเองมาทำงานสาย UX บ้าง Skooldio กำลังเปิดรับสมัครหลักสูตร UX/UI Bootcamp หลักสูตร 8 สัปดาห์เต็มที่จะทำให้คุณเข้าใจครบทุกหัวข้อสำคัญด้าน UX UI พร้อมรับ Certificate และเริ่มต้นสร้างผลงานใส่ Portfolio ด้วยโปรเจกต์ที่ได้ทำตั้งแต่เริ่มจนจบ เตรียมพร้อมสู่การเป็น UX/UI Designer มือโปร
หรือจะเป็นเวิร์กชอป UX Foundations เวิร์ปชอปที่จะพาเปิดโลกสู่สายอาชีพ UX อย่างเข้มข้นตลอด 1 วันเต็มของการเรียนรู้และลงมือทำ สมัครก่อน รับส่วนลดถึง 2,000 บาท สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยที่นี่ https://to.skooldio.com/Mu9YsBsxZjb
แต่ถ้าอยาก Upskill พร้อมๆ กันไปเลยทั้ง UX/UI เราก็มี Bundle รวมเวิร์กชอป UX/UI ครบจบที่เดียว 3 วันเต็มที่จะเรียนรู้และลงมือปฏิบัติเรื่อง UX/UI อย่างอัดแน่น พิเศษ! เมื่อซื้อแบบ Bundle รับส่วนลดถึง 4,900 บาท สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยที่นี่ https://to.skooldio.com/rBY6JJHRJib