blog rule of thumb ux-3 | Skooldio

เคยรู้สึกไหมว่าทำไมบางแอปหรือเว็บไซต์ถึงใช้งานง่าย คลิกอะไรก็เข้าใจได้ทันที แต่บางอันกลับชวนให้งุนงง เดาไม่ออกว่าต้องทำอะไรต่อ หรือกดไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

นั่นเป็นเพราะ สิ่งที่สำคัญไม่ใช่แค่ดีไซน์หน้าตา แต่ ‘คำที่อยู่บนหน้าจอ’ ก็มีบทบาทไม่แพ้กันในการกำหนดว่าประสบการณ์การใช้งานของเราจะราบรื่นหรือติดขัด

นี่คือสิ่งที่ UX Writing เข้ามาช่วย

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากเข้าใจหลักการออกแบบ UX Writing แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับหลักการเขียน UX Writing อย่างไรให้เป็นมิตรกับ User และส่งผลดีต่อบริษัทในระยะยาว ผ่านหลัก “UX Writing Rules of Thumb” จาก Google ที่เข้าใจง่ายและสามารถนำไปใช้ได้จริง

แต่สำหรับใครที่อยากทำความเข้าใจพื้นฐานของ UX Writing ก่อน อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ ไขข้อข้องใจ! UX Writing คืออะไร ทำไมสำคัญกับ Product พร้อมตัวอย่างน่าสนใจ ได้เลย

UX Writing | Skooldio

UX Writing Rules of Thumb

ประกอบไปด้วย Clear, Concise, Useful และ On brand ซึ่งสามารถนำมาใช้งานได้อย่างดีในขั้นตอน User Interface โดยเฉพาะในช่วง Prototyping ของเรา 

UX Writing rules of thumb | Skooldio

1. Clear (เขียนข้อความให้ชัดเจน)

ทำได้โดยการที่เราเลี่ยงคำศัพท์เฉพาะกลุ่ม เช่น คำวิชาการ ภาษาเฉพาะทางกฎหมาย หรือภาษาคอมพิวเตอร์ และวางใจความที่เป็นประโยชน์ต่อการทำ action ของ User ไว้ช่วงต้นประโยค เพื่อให้ User สามารถสแกนสายตาเจอได้ง่าย

ยกตัวอย่าง Clear จาก Google Slide

Verify - google | Skooldio

photo: UX Writing course (Google Slide Verification)

เริ่มจากการวาง What หรือสิ่งที่อยากให้ User ทำไว้ด้านบนสุด ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ใช้มักจะกวาดตามองก่อน ตามด้วย Why ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย แล้วจึงย้ำ How ว่า User จะยืนยันตัวตนอย่างไร และปิดท้ายด้วยปุ่ม Call To Action (CTA) “Next” เพื่อไปยังขั้นตอนถัดไป

2. Concise (กระชับ)

คำที่สั้นที่สุดอาจจะไม่ใช่คำที่ดีที่สุดเสมอไป ดังนั้น การออกแบบข้อความจึงควรใช้คำที่กระชับโดยมีใจความสำคัญครบถ้วน

ตัวอย่างเช่น Confirmation dialog จากระบบ NocNoc Seller Center

Concise ux | Skooldio

photo: UX Writing course (NocNoc Seller Center)

สถานการณ์คือ User เลือกปิดการแจ้งเตือนการเติมสต็อก เพื่อไม่ให้ระบบแนะนำเรื่องนี้อีก ด้านซ้ายคือข้อความฉบับร่าง ซึ่งยาวกว่าด้านขวา 1 บรรทัด แต่เมื่ออ่านเปรียบเทียบ จะเห็นว่าใจความสำคัญใกล้เคียงกันมาก

หากสังเกตข้อความที่ขีดเส้นใต้ทางด้านซ้าย จะพบว่ามีความซ้ำซ้อน จึงตัดประโยค “คุณแน่ใจที่จะปิดการแจ้งเตือนหรือไม่” ออก และคงไว้เฉพาะข้อความที่บอกผลลัพธ์ของการปิดแจ้งเตือน ส่วน Title เปลี่ยนเป็นประโยคคำถาม เพื่อให้ช่วยยืนยัน Action ของ User ได้ทันทีตั้งแต่ต้น

3. Useful (เป็นประโยชน์)

การใช้คำที่เหมาะสมจะช่วยให้ User ตัดสินใจทำ Next action ได้ทันทีโดยแทบไม่ต้องคิด ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้เราออกแบบข้อความที่เป็นประโยชน์กับ User ได้ คือ การเพิ่ม Context

ตัวอย่างจากแอป Robinhood

Useful ux | Skooldio

UX Writing course (Robinhood)

 

ในช่องค้นหา แทนที่จะใช้แค่คำว่า “Search” และไอคอนแว่นขยายทั่วไป แอปเลือกใช้ Placeholder ที่มี Hint ชักจูงให้เกิด Action เช่น  “เช้านี้กินไรดีนะ”, “เมื่อเย็นนี้มีอะไรกินยัง”, หรือ “อย่านอนถ้ายังหิว”
ซึ่งเป็นคำถามที่สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ User ใช้งานจริง

นอกจากนี้ ยังมี Instruction เล็ก ๆ ใต้ปุ่ม Search เพื่อเพิ่มความ Clear และ Useful ยิ่งขึ้นด้วย

4. On brand (สะท้อนตัวตนของแบรนด์)

การเขียนข้อความบน User Interface ควรสะท้อน ตัวตนของแบรนด์ และเน้นย้ำ คุณค่าที่แบรนด์ต้องการส่งมอบ (Value Proposition) เพราะสิ่งนี้จะทำให้แบรนด์ของเราดูแตกต่าง มีเอกลักษณ์ และสร้างคาแรคเตอร์ที่ผู้ใช้จดจำได้

ยกตัวอย่างเช่น Confirmation Dialog บนแพลตฟอร์มส่งอีเมล (EDM – Electronic Direct Mail)

On brand ux | Skooldio

UX Writing course (Confirmation Dialog – EDM)

หากสังเกตฝั่งซ้าย จะเห็นว่าเป็นข้อความแนว informative หรือให้ข้อมูลอย่างเดียว อ่านแล้วรู้สึกเหมือนกำลังคุยกับหุ่นยนต์ ไม่มีอารมณ์ร่วม และไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของข้อความ ทำให้สแกนสายตาได้ยาก

ในขณะที่ฝั่งขวา มีการใส่ empathy เข้าใจว่า User ต้องส่งอีเมลจำนวนมาก และถึงแม้จะทำบ่อยแค่ไหน ก็ยังมีความตื่นเต้นอยู่เสมอ ภาพและข้อความที่ใช้มีอารมณ์ร่วมกันอย่างสอดคล้อง ทำให้ดูน่าใช้งานและมีคาแรคเตอร์ที่น่าจดจำกว่า

และนี่คือ หลัก UX Writing Rules of Thumb ที่มีความสำคัญอย่างมากในการออกแบบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งเนื้อหาในบทความนี้เป็นเพียงบางส่วนจากคอร์ส UX Writing โดย Skooldio

สอนโดย คุณธิชาวดี มีสมพืช Senior UX Writer, NocNoc 

ใครที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คอร์ส UX Writing หรือถ้าใครยังลังเล ไม่แน่ใจว่าคอร์สนี้เหมาะกับตัวเองหรือเปล่า ลองใช้ Skooldio AI Suggestion ก่อนได้เลย ทำง่าย ๆ เพียงตอบคำถามไม่กี่ข้อ แล้ว AI จะช่วยประมวลผลความเหมาะสมเบื้องต้นให้ทันที!

Skooldy AI Box | SkooldioUX Writing course | Skooldio

More in:Business

Comments are closed.