Burnout in tech น่าจะเป็นประเด็นที่คนในวงการหลายคนอาจคุ้นชิน แต่กับนอกนั้นเขาอาจเพียงเคยจินตนาการว่า Programmer และ Developer ส่วนใหญ่เริ่มต้นวันใหม่ของพวกเขาในการทำงานอย่างไร กาแฟสดใหม่ พร้อมกับโปรเจกต์ที่น่าตื่นเต้นที่รอพวกเขาแก้ไข หรือทำให้สำเร็จอยู่หรือเปล่า 

ซึ่งทุกอย่างนั้นมี 2 ด้านเสมอ และสิ่งนึงที่หลายคนมักเห็นได้ชัดคือความเหนื่อล้าทางอารมณ์ของบรรดาคนทำงานสาย IT ที่ยิ่งอยู่ในองค์กรขนาดแค่ไหน ภาวะหมดไฟก็ยิ่งดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคที่ยากต่อการหลีกเลี่ยงมากขึ้นไปทุกที

Table of Contents

Burnout in Tech: Is it real?

ปัญหาสุขภาพจิตใจนั้นมีอยู่หลากหลายรูปแบบ หลายๆ คนอาจกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นภาวะหมดไฟ (Burnout) อาการจากความไม่เชื่อมั่นในตนเอง (Imposter Syndrmoe) ภาวะเครียดเรื้อรัง หรือแม้แต่ภาวะซึมเศร้า โดยจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าเพียงแค่ภาวะซึมเศร้าเพียงอย่างเดียวก็มีคนไทยกว่า 1.5 ล้านคนที่ประสบปัญหา และมีเพียง 28% เท่านั้นที่เข้าถึงการรักษา รวมไปถึงมีมากถึง 1% ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ชายในวัยทำงาน

burnout in tech interview guest

จากการพูดคุยกันสั้นๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง Skooldio ได้พูดคุยกับ 5 Developer ไทยที่ใครหลายๆ คนน่าจะรู้จักไม่ว่าจะเป็น ตั้ง-วรัทธน์ วงศ์มณีกิจ (Google Developers Expert – Web Technologies) เอก-สมเกียรติ กิจวงศ์วัฒนะ (Google Developers Expert – Android) กานต์-ดร. กานต์ อุ่ยวิรัช (Meta Developer Circle: Bangkok) ตี๋-จิรวัฒน์ กรัณย์วิทยาการ (Google Developers Expert – Firebase) และ ปันเจ-ปัญจมพงศ์ เสริมสวัสดิ์ศรี (Google Developers Expert – Web Technologies) เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตใจของคนทำงานวงการ Tech ก็พบว่า

Burnout in tech is real!

ยกเว้นคุณตี๋ คุณตั้ง คนที่เหลือบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าในช่วงที่ผ่านมาเคยเผชิญกับภาวะหมดไฟ แต่สิ่งที่ชัดเจนกว่าคือความเครียดในงานที่ทำอยู่ โดยเฉพาะในคนที่เพิ่งเรียนจบใหม่ ที่เมื่อมีวุฒิภาวะ หรือช่วงโมงบินในการทำงานต่ำ เลยยังไม่สามารถรับมือได้ดีเท่าคนที่อยู่มานานกว่า จนกลายเป็นความเครียดสะสม และเผชิญปัญหาสุขภาพใจอื่นๆ ตามมา

โดยคุณกานต์ มองว่าคนในวงการ Tech ที่ไม่เข้าใจสุขภาพจิตนั้นมีเยอะอยู่พอสมควร ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถตั้งสติแล้วรู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ แม้แต่ตัวเขาเองก่อนหน้านี้ก็จัดการเรื่องพวกนี้ไม่ค่อยได้เหมือนกัน อาจเป็นเพราะมันไม่ได้โดนปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่าเราต้องเข้าใจตัวเอง

เวลาที่เรา เพื่อนๆ หรือพี่ๆ มาแนะนำเรื่องจิตใจ คนส่วนใหญ่เลยเลือกที่จะปฏิเสธไปก่อน แล้วเขาก็จะไม่ได้ยอมรับตัวเอง ว่าตัวเองเป็น แล้วก็ไม่รู้จักตัวเองดีพอ

 

mental health first aid

เริ่มต้นทำความเข้าใจตนเอง และวางแผนการดูแลสุขภาพใจเมื่อเผชิญอุปสรรคในอนาคต

ปัญหาสุขภาพจิตใจจากการทำงาน

ความเครียดอาจไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่หลายครั้งที่เกิดขึ้นก็ทำให้แต่ละคนรู้สึกถึงผลกระทบต่อทั้งชีวิตประจำวัน และการทำงานไม่ต่างกัน เพียงแต่จะมากหรือน้อยแค่ไหน และจะมาในรูปแบบอะไร

ความเครียดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

โดยคุณปันเจบอกว่าภาวะหมดไฟมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเป็นวัฎจักร มันจะมีช่วงนึงที่รู้สึกแย่ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุใดๆ ก็ตาม มันอาจจะเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับงาน หรือไม่เกี่ยวข้องกับงาน เช่นเรื่องส่วนตัว แล้วก็จะมีช่วงที่สามารถฟื้นฟูตัวเองกลับมาได้ มันก็อาจจะรู้สึกวนเวียนอยู่เรื่อยๆ

หรืออย่างคุณตี๋ที่บอกว่าเขาเองไม่ค่อยได้หมดไฟ แต่มันจะเครียดเป็นพักๆ อยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงที่งานมันแน่น มันหนัก และต้องอาศัยการจัดการเวลาให้ดี ยิ่งเวลาที่งานที่ทำอยู่มันต้องการความสมบูรณ์แบบมากขึ้น ในเวลาที่มันจำกัดก็จะยิ่งเครียดมากกว่า

ความเครียดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

คุณตั้งคืออีกคนที่ออกความเห็นไปในทางเดียวกัน โดยเขาเป็นคนนึงที่บอกว่าตัวเองไม่ค่อยรู้สึกหมดไฟ ส่วนนึงเพราะเขาต้องแยกความสุขของตนเองกับความรับผิดชอบในงานที่ทำ และเมื่อต้องดูแลคนอื่นๆ ด้วยตัวคุณตั้งเองเลยต้องพยายามเลี้ยงตัวเองให้อยู่ในระดับที่ทำงานไปได้เรื่อยๆ ตลอด

burnout in tech is real by warat

การยอมรับปัญหาความเครียด

คุณตั้งเสริมต่อว่าทุกคนในที่นี้มีตั้งแต่ระดับ Senior จนถึง C-Level ซึ่งแน่นอนว่าระดับความเครียดของแต่ละคนก็ต่างกันออกไป โดยคุณตั้งยอมรับตนเองมีความเครียดสูงมาก จุดนึงเคยฝันร้าย ฝันผวาติดต่อกันนานหลายเดือน แต่เขายอมรับว่านี่เป็นสิ่งที่ต้องแลกมาจากการทำงานแบบนี้ เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ และเลือกที่จะใช้ชีวิตร่วมกับมันไป จนถึงจุดนึงก็พบว่าตนเองไม่ได้รู้สึกว่าต้องทำให้ตัวเองหายเครียดอีกต่อไป

เครียด กดดัน เป็นความรู้สึกนึงเลย แต่มันจะรู้สึกว่าต้องคอยคิดว่าอย่าล่วงไปนะมึง เพราะล่วงไปแล้วมันมีคนที่ Depend กับเราเยอะ

การรับรู้ปัญหาสุขภาพจิต

โดยปกติแล้วแต่ละคนจะมีสัญญาณเตือนว่าตนเองกำลังมีปัญหาสุขภาพจิตใจแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งนึงคือการสำรวจดูว่าตนเองอยู่ในระดับไหนของความเครียด

รู้เท่าทันตนเอง และขอความช่วยเหลือ

ทั้งคุณปันเจ และคุณเอก เป็น 2 คนที่มีการสำรวจตนเองอยู่สม่ำเสมอ เพราะมันเป็นขึ้นแรกที่ค่อนข้างสำคัญว่าเราอยู่ในสเตจนี้ไม่ว่ามันจะเรียกว่าอะไร Down หรือ Depress โดยคุณปันเจบอกว่าตัวเองเป็นคนโชคดี ที่สามารถฟื้นฟูสุขภาพจิตได้ด้วยตนเอง แต่ก็เข้าใจว่ามันอาจมีกรณีที่จะต้องหาความช่วยเหลือเหมือนกัน 

burnout in tech is real by panjamapong

ถ้าเราสามารถฟื้นฟูได้ด้วยตนเองก็ดี แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องหาความช่วยเหลือภายนอกไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัว ดูว่าเขารู้ไหมว่าเรามีปัญหา แล้วใครจะเป็น Comfort Zone ที่เราจะสามารถขอความช่วยเหลือได้

แยกให้ออกว่า Burnout หรือแค่ติดงาน

ในขณะที่คุณเอกบอกว่าตัวเองรู้จักคำว่า Burnout มานานแล้ว รู้ว่าอาการเป็นอย่างไร และอะไรทำให้เกิดอาการขึ้น จึงพยายามเลี่ยงมาโดยตลอด

burnout in tech is real by somkiat

บางคนบอกว่างานอยู่ในหัวตลอดเวลา ก็มักจะถามว่า คุณ Burnout หรือคุณแค่ติดงาน มันไม่เหมือนกัน บางทีงานมันสนุกเราเลยเลือกที่จะเก็บกลับไปคิดไง มันเป็นเพราะเราคาใจ แล้วรู้สึกว่ามันท้าทายก็เลยนอนคิดจนหลับไป แต่ถ้าเรารู้สึกแย่กับการคิดไม่ออกซักที วิตกกังวล หรือใช้ชีวิตแล้วไม่มีความสุขอย่าง ไม่อยากไปเที่ยงไหนเลยฉันเหนื่อย หรือไม่อยากอยู่ในห้องเฉยๆ ฉันเบื่อ ก็อาจจะมองว่าเริ่มมีความผิดปกติแล้ว

อาการทางกายที่เปลี่ยน ความรู้สึกที่เปลี่ยน

ส่วนคนที่เหลือนั้นจะมีอาการที่ต่างกันออกไป ทั้งทางกาย และความรู้สึกในแต่ละวัน โดยคุณตั้งเล่าว่ามีบางช่วงที่เครียด จนเอาอารมณ์ความโมโห ความหงุดหงิดกลับไปลงกับคนรอบตัวที่ไม่ใช่คนในออฟฟิศ พอโตขึ้นเลยพยายามบอกกับตัวเองเสมอว่า จบวันก็คือจบวัน พยายามหยุดคิด พยายามชัตดาวน์ตัวเอง เพื่อให้เวลากลับบ้านแล้วไม่มีปัญหาตามกลับมาด้วย

หรือคุณกานต์เองก็จะรู้สึกว่าตัวเองโฟกัสเรื่องงานได้ไม่เท่าเดิม จะเริ่มหาอะไรอย่างอื่นๆ อ่าน ที่อาจจะช่วยส่งเสริมสกิลการทำงานอื่นๆ ของตนเอง หรือเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบ งานอื่นๆ ที่อาจให้น้องๆ ตนก็จะกระโดดไปงานอื่นๆ แทน

คุณปันเจส่วนใหญ่จะสัมผัสได้ว่าแรงกายแรงใจในการทำงานอยู่ดีๆ ก็หมดไป หลายๆ ครั้งก็คาดการณ์ไม่ได้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่แต่มันมักจะวนเวียนมาเรื่อยๆ เดี่ยวมันจะดีขึ้นได้เองเมื่อครบรอบของมันก็จะมีทางของมันเองในการฟื้นฟูจิตใจตนเอง แต่ถ้าหากแรงจูงใจมันหายไปมากๆ ก็จะเริ่มได้ฟีดแบ็คจากเพื่อนร่วมงาน จากน้องๆ พี่ๆ ว่าช่วงนี้ดูเนือยๆ นะ เป็นอะไรหรือเปล่า ให้ช่วยอะไรใหม่

burnout in tech is real by jirawat

และคุณตี๋เองบอกว่าเขามีอาการหลายๆ อย่างที่คนไม่ค่อยรู้นะ อย่างมือเย็น ใจสั่น รวมไปถึงการเปลี่ยนท่านั่งลงไปนั่งยองๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวเองชอบคิดไปก่อนว่าโปรแกรมจะเป็นประมาณไหน จะทำงานอย่างไร แล้วเวลาเขียนจริงๆ มันไม่ได้แบบนั้นก็จะหมกมุ่น ไม่ปลดปล่อยกับสิ่งที่คิด จนมันมีอาการออกมาเรื่อยๆ

วิธีจัดการกับอารมรณ์

จากการพูดคุยเราพบว่าแต่ละคนมีวิธีการรับมือกับอารมณ์ ความเครียด และสุขภาพจิตแตกต่างกันไปไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือทัศนคติ

อย่างคุณปันเจที่โชคดีที่ตัวเองสามารถฟื้นฟูสุขภาพจิตใจของตนได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ยังคงพยายามสำรวจตนเองอยู่สม่ำเสมอ เพราะถ้าบางครั้งเกิดเหตุการณ์ที่อยากเกินกว่าตัวเองจะรับมือได้ก็อาจเลือกที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด หรือจิตแพทย์ เพราะถ้ามันไปถึงเลเวลนั้น มันจะไปก็ต้องไป

ทำในสิ่งที่อยากทำก่อน

หนึ่งในปัญหาหลักที่คุณตั้งมองว่าคนหลายๆ คนมักเป็น คือการทำในสิ่งที่ตัวเองไม่อยากทำในเวลานั้น จนทำให้รู้สึกว่าเรา Burnout คิดเรื่องงานไม่ออก แต่ก็ยังพยายามเค้นไอเดียออกมาในเวลานั้นแล้วให้มันได้ไอเดียออกมา

หลายๆ ครั้งเราเครียด เพราะเราทำในสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราจำเป็นต้องทำสิ่งนี้ ตอนนี้เลยหรือเปล่า

การคิดเรื่องงาน อยู่กับงานทั้งวัน หรือเครียดกับงานไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ถ้าคุณสนุกไปกับมัน ตราบใดที่ไม่ได้มีอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่เป็นเรื่องไม่ดีกับตัวเอง เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจว่าเราจำเป็นต้องทำสิ่งๆ นี้ตอนนี้อยู่หรือเปล่า

ถ้าฉันต้องคิดงานให้ออก คำถามคือเราอยากทำมันจริงๆ ใช่ไหม คิดตอนนี้แล้วจะคิดออกเลยใช่ไหม ถ้าเกิดตอนนั้นเราอยากนั่งพักเฉยๆ ไม่อยากคุยกับใคร ไม่อยากคิดงาน ก็ไม่ต้องทำ แต่ถ้ารู้สึกว่าเราต้องทำ แล้วเป็นสิ่งที่เราชอบด้วย ก็อย่าไปมองว่ามันเป็นงานหรือไม่ใช่งาน แค่โฟกัสกับความสุขในช้วงเวลานั้นๆ ดีกว่า

เปลี่ยนกิจกรรมที่ทำอยู่

ถ้ารู้ตัวว่าเครียดก็ไปทำอย่างอื่นครับ คุณตี๋บอกว่าถ้าตัวเขารู้สึกว่าเครียด ติดแหง๊ก หมกมุ่น หรือดำดิ่งอยู่กับการเขียนโปรแกรมแล้วมันไม่สำเร็จซักที บางครั้งก็จะใช้วิธีไปอาบน้ำ(ที่บ้าน) เพราะเวลาที่เข้าห้องน้ำ อาบน้ำหรือทำธุระอื่นๆ มันรู้สึกได้ปลดปล่อย แล้วคิดออกว่าได้ว่าต้องแก้ไขปัญหาอย่างไรต่อ

เราต้องฝึกที่จะหยุดคิด ฝึกที่จะเปลี่ยนสิ่งที่ตนเองโฟกัสอยู่ ถ้าเราทำงานเสร็จแล้ว เรานั่งเฉยๆ เราไม่สามารถหยุดคิดเรื่องงานได้หรอก เราต้องหากิจกรรมอะไรมาดึงดูดความสนใจเพื่อให้ลืมงานที่ทำอยู่ไปเลย

คุณเอกเสริมขึ้นมา พร้อมบอกว่าถ้างานมันยาก คิดไม่ออกซักทีผมก็จะบอกว่าโอเคร ถ้าคิดไม่ออก แล้วหมดเวลางานแล้วก็เลิก ไปทำอย่างอื่นต่อแทน อาจจะมีกลับมาคิดนิดหน่อยตอนนอน แล้วพอตัวเองได้พักมาสักพักนึงก็จะคิดว่าที่ลองมาก่อนหน้านี้มันไม่น่าเวิร์คมั้ง ลองหาวิธีใหม่ดีกว่า ซึ่งวิธีที่ว่าอาจไม่ใช่การเขียนโค้ดใหม่ แต่อาจเป็นการที่เราไปถามคนอื่นๆ ในบางเคสก็ได้ หลักๆ คือแชร์ปัญหาก่อน แล้วดูว่าสิ่งนี้มีใครช่วยกระจาย หรือช่วยเหลือได้ไหม

ส่วนคุณกานต์ก็เลือกที่จะออกไปเที่ยวบ้าง แต่ก็ไม่ได้บ่อยมากนักและมักจะเป็นตัวเลือกที่ 2 เพราะที่ๆ เขารู้สึกว่าบำบัดได้จริงๆ คือไปพวกงาน Conference หรือคอมมูนิตี้

มันทำให้รู้สึกแบบเออเรามี Motivation เพิ่มมากขึ้น เราได้คุยกับผู้คน ในสิ่งที่เราชอบเหมือนกัน มันจะกลับมาแล้วรู้สึก Full feel เต็มอิ่มครับ

การจัดการความเครียดของเรา โดยที่หาอะไรอย่างอื่นทำ ส่วนนึงก็เพื่อที่จะเอาไอเดียใหม่ๆ มาใส่ในงานของเราได้ด้วย แล้วก็คลายเครียดด้วย อะไรก็ตามที่เราเรียนเพิ่มเติม มันรู้สึกผ่อนคลายกว่า

วิธีจัดการกับความเครียดของคนในทีม

น้องๆ ในทีมอาจไม่ค่อยได้คุยกับเราหรอกตอนเขาหมดไฟ หรือเครียด กว่าเราจะรู้ว่าเขาเครียดก็ตอนเขาลาออกแล้ว ทั้งคุณเอก และคุณปันเจมองว่าการสร้างพื้นที่ปลอดภัย และสายสัมพันธ์ระหว่างการทำงานในองค์กรนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้พนักงาน กล้าที่จะสื่อสารเมื่อเกิดปัญหา

พื้นที่ปลอดภัยในที่ทำงาน

ไม่ได้มีเพียงแค่ความปลอดภัยต่อสุขภาพกาย แต่รวมถึงสุขภาพใจ โดยคุณเอกจะให้ความสำคัญกับน้องกลุ่ม Junior หรือเด็กจบใหม่มากกว่า ที่อาจจะมีแรงบันดาลใจในการทำงานเยอะจนเลือกที่จะทำงานล่วงเวลา ซึ่งคุณเอกเองก็เข้าใจ เพราะถ้าชอบก็ทำไป แต่อยากระลึกเสมอว่าแบบนี้มันทำให้ Burnout ได้

ที่มักจะเจอปัญหา Burnout คือมักจะแบกรับความกดดันเกี่ยวกับงานโดยไม่รู้ตัว แล้วก็ Burnout ไปเอง

อีกสิ่งที่ทำควบคู่ไปคือการเข้าไปคุยกับน้องๆ เรื่องงาน เพราะต่อให้น้องไม่บอกเรื่องงานแต่การที่เราเข้าไปคุยกับน้อง ถามรายละเอียดเพิ่มเติม เสนอแนะเกี่ยวกับงาน เพื่อที่อย่างน้อยเขารู้ว่าถ้าเกิดปัญหาต้องคุยกับใครนะ แล้วเราต้องพยายามสอนน้องว่าคุยได้เสมอนะ และทำให้เขารู้สึกมีที่พึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าถามได้ทุกเรื่องนะ บางเรื่องก็อาจจะต้องกระจายไปให้คนอื่นบ้าง

สำหรับคุณปันเจมองว่าการสร้างสายสัมพันธ์บางอย่างระหว่างการทำงาน จะช่วยเปิดโอกาสให้เราในการเล่าเรื่องปัญหาต่างๆ ถ้าเขาจะไม่ได้แชร์กับเรา แล้วเขาจะหาวิธีจัดการด้วยตัวเอง แต่ว่าเราในฐานะคนที่อยากจะช่วย เราก็อยากจะรับฟังว่ามีปัญหาอะไรหรือป่าว แล้วถ้าเราโชคดีที่น้องๆ ได้แชร์มา 

ดูว่าปัญหาที่เขาจัดการเองมันได้แค่ไหน เราสามารถให้คำแนะนำได้แบบไหนที่จะมีประโยชน์กับเขา แล้วพยายามไม่เอาวิธีการแก้ไขปัญหาของเราไปใส่ให้เขา เพราะแต่ละคนก็มีบริบทไม่เหมือนกัน

แล้วก็พยายามจะขุดเขาให้ลึกลงไปว่าจริงๆแล้วปัญหาของเขามันคืออะไร แต่ละคนมันก็มีเรื่องค่อนข้างแตกต่างกัน ก็พยายามช่วยเขาแหละ พยายามคุย พยายามดูว่าจริงๆแล้วปัญหาคืออะไร หรือบางอย่างปัญหามันไม่ได้หนัก แต่ว่าพอเขาคิดวนไปวนมาแล้วหาทางออกไม่ได้ เราอาจจะไม่ได้บอกว่า เห้ยนี้ไงมันแก้แค่นี้เอง แต่มันก็คือการช่วย Reflect ว่า ถ้าเป็นแบบนี้แล้วมันจะเป็นยังไงต่อล่ะ แล้วมันมีทางไหมที่จะแก้

mental health first aid

เรียนรู้วิธีสร้างพื้นที่ปลอดภัยในที่ทำงาน พร้อมออกแบบสวัสดิการใหม่เหมาะสม

Work Life Balance

ส่วนตัวคุณตั้งนั้นไม่เชื่อว่าคนเราสามารถแบ่งเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานได้อย่างที่ใครพูดกัน ทำให้เวลาพูดคุย 1-1 กับน้องๆ ในทีมก็จะพยายามถามคำถามแรกๆ เลยคือชีวิตช่วงนี้เป็นไงบ้าง ทั้งส่วนตัวและทั้งงาน มันก็จะเห็นแล้วว่าช่วงนี้เขาโอเคหรือเปล่า บางคนงานมันไม่ได้แย่หรอก แต่ชีวิตครอบครัวเขาแย่มากเลย 

กับอีกข้อนึงที่คุณตั้งใช้ในทีม คือมีกฏว่า 6 โมงคือ 6 โมงนะ เลิกงานคือเลิกงาน เสาร์-อาทิตย์ คือเสาร์-อาทิตย์ วันลามีต้องใช้ พอถึงปลายปีใครมีวันลาเหลือเราก็จะบอกเลยว่าวันลาต้องใช้นะ อย่าคิดว่าไม่ลาก็ได้

คือคน Burnout ส่วนนึงเลยเกิดขึ้นก็เพราะทำงาน Overtime ด้วย เราเลยพยายามโฟกัสเรื่องนี้ให้ได้ก่อนเลย

พร้อมเสริมว่าตนไม่ค่อยพลักดันน้องๆ ในทีม ด้วยเป้าหมายของงานเท่าไหร่ แต่มักจะพลักดันด้วยเป้าหมายของชีวิตมากกว่า เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเราทำงานเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น เราจึงมักบอกว่าให้ตั้งเป้าหมายชีวิตให้ไกลเข้าไว้ อยากมีชีวิตแบบไหน แล้วเชื่อว่าการทำงานมันจะพาให้เราไปมีชีวิตที่ดีขึ้นได้

ถ้าถามว่าเราเหนื่อยไหมเราเหนื่อย แต่เราฝันว่าอยากมีบ้านที่อเมริกา ถ้าเราทำงานเรื่อยๆ ไม่เครียด มันจะยากมากนะที่จะได้มันมา แต่เราไม่ได้รู้สึกเสียอะไรนะ เพราะเราทำเพื่อให้ได้มันมา

ดังนั้นจึงมักถามน้องๆ ว่าอยากมีชีวิตแบบไหน แล้วจัดงานที่เข้ากับคุณภาพชีวิตที่เขาต้องการให้ เพราะเราเชื่อว่าเป้าหมายของชีวิต และเป้าหมายของงานมันต้องไปด้วยกัน ถ้าเป้าหมายของงานไม่ตอบโจทย์ชีวิตเราเลยมันก็ไม่อยากทำ

เข้าใจในงานที่ทำอยู่

ในขณะที่คุณตี๋แชร์วิธีการรับมือเกี่ยวกับภาวะเบื่องาน (Brownout หรือ Boreout) ให้ฟังว่าปกติแล้วเขามักจะพูดถึงความหมายของชีวิตให้น้องๆ ฟังว่าการทำงานที่นี้ การมีผู้ใช้งานจำนวนมากแบบนี้ เรามาพร้อมกับพลังและความรับผิดชอบ เพราะสิ่งที่เราทำอยู่มันมีคุณค่ากับคนจำนวนมาก ถ้าเราไม่ทำสิ่งนี้จะมีอีกหลายคนที่มีความสุข หรือหมดโอกาสไป ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ช่วยชีวิตพวกเขา

ข้าว เวลาเราหิวกินแปปเดียวเดี่ยวเราก็หิว แต่ถ้าเราสร้างความภูมิใจได้เรากินได้ตลอดชีวิตเลย

ซึ่งเหมือนกับคุณกานต์ที่บอกว่าน้องๆ ในทีมไม่ได้เล่าตรงๆ หรอกว่าเผชิญปัญหาอะไรอยู่ แต่มักจะบ่นถึงสิ่งที่เผชิญอยู่มากกว่า แล้วสิ่งที่คุณกานต์พยายามทำให้หายเครียด หรือการหาสื่งใดๆ ก็ตามที่เขาสามารถสร้างคุณค่าในงานที่ทำให้กับทีม ซึ่งจะช่วยให้เขาสนุกกับการทำงานมากขึ้น

สิ่งที่อยากบอก Programmer หรือ Developer คนอื่นๆ

พักบ้าง ไปใช้ชีวิตบ้าง (ตั้ง-วรัทธน์ วงศ์มณีกิจ)

พักเยอะๆ อย่าเป็นคนทำงานอัดยาวๆ แล้วหวังว่าจะพักตอนปลาย พยายามทำๆ พักๆ ในเชิงธุรกิจเอง หรือในฐานะหัวหน้าทีมเอง เราไม่ได้อยากได้น้องที่อัดมาตลอด 3 เดือนแล้วหยุดไปอีก 3 เดือนเราอยากได้น้องที่ทำ 4 วันตลอดก็ได้ มันช่วยให้เรามีเวลาฟื้นฟูตัวเอง 

ไม่ต้องพยายามแบกอะไรไว้เยอะ ตั้งคำถามกับตัวเองตลอดว่าต้องเครียดขนาดนี้ไหม แม้ว่าจะเป็น C-level ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องแบกทุกอย่างไว้ตลอดเวลา ทุกวันนี้เราเองก็มีบางเรื่องที่ช่างมันเหมือนกัน เราถูกสอนว่าปล่อยให้คนอื่นทำบ้างในบางส่วนเหมือนกัน

ธุรกิจเองก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรมากจากการที่คุณแบกขนาดนั้นเหมือนกัน สุดท้ายคุณก็ตายแล้วธุรกิจก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี

ใช้ชีวิตครับ ทุกอย่างมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อย่าไปพยายามแยก ใช้ชีวิตให้มัน Mixed กันเดี่ยวกันก็ Balanced ได้เอง ลองเช็คตัวเองอะ ถ้าเราทำงานเบื่อแล้วออก ติดกันเยอะ บางทีคำถามอาจเป็นว่าปัญหาเป็นที่เราหรือเปล่า ไม่ได้เป็นที่งาน

เราควรทำงานใน สภาพแวดล้อมที่ทำให้เรามีสุขภาพจิตที่ดี (ปันเจ-ปัญจมพงศ์ เสริมสวัสดิ์ศรี)

จริงๆ ก็เรียกได้ว่า Burnout เป็นปัญหายอดฮิตเลยก็ว่าได้ ตอนนั้นเคยทำแบบสำรวจว่า อะไรคือปัจจัยหลักในการเลือกที่ทำงาน เรื่องสุขภาพจิตนี่ก็มาอันดับหนึ่งเหมือนกันถ้าจำไม่ผิด 

เพราะว่าถ้าคนที่มีประสบการณ์ทำงานมาสักพักหนึ่งจะรู้ได้ว่าสุขภาพจิตเราสำคัญมาก เราควรทำงานใน สภาพแวดล้อมที่ทำให้เรามีสุขภาพจิตที่ดี แล้วอย่างอื่นจะตามมา ไม่ว่า Performance ไม่ว่า Motivation ก็จะตามมา

ที่ว่ายอดฮิตก็เพราะว่าช่วงหลังๆพอมันมีเรื่องโควิดเข้ามา มี WFH เข้ามา มันมีแนวโน้วที่สิ่งเหล่านี้ จะไม่ได้ถูกสังเกตและถูกพูดถึงได้มากขึ้น ด้วยความที่แบบ Remote ด้วย ไม่ค่อยได้เจอหน้ากัน ปฎิสัมพันธ์ระหว่างคนน้อยลง ถ้าจะแนะนำก็คือ ถึงแม้ว่าเป็น Introvert ก็ตาม การที่ออกมาพบปะผู้คนก็ช่วยได้ 

ในมุมของปัญหาการ Burnout แล้วก็ You are not alone ไม่ได้เป็นคนเดียวแน่นอน มีคนเป็นพอสมควร แล้วก็การที่ได้มาแชร์กันแบบนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่แบบว่าโอเคปัญหานี้มีอยู่จริง แล้วปัญหานี้ก็เรียกว่าแก้ได้ สุดท้ายจริงๆก็คือยังไงเราเปลี่ยนสภาพแวดล้อมได้อยู่แล้วเนอะในการทำงาน ไม่ได้จะยุให้ใครลาออกนะ แต่มันก็มีทางของมัน

การลาออกไม่ใช่ทางออกของ Burnout (เอก-สมเกียรติ กิจวงศ์วัฒนะ)

การดูแลร่างกายและสุขภาพจิตคือหน้าที่อย่างนึงในฐานะมนุษย์ ถ้าเราเสียสุขภาพจิตและสุขภาพกายเราก็ทำงานไม่ได้ แต่ว่าจริงๆ ในยุคสมัยนี้ความยากคือเรื่องการรับรู้ปัญหา เราไม่มีเทคนิคหรอกว่าเราจะรู้ได้ไงว่าปัญหามาถึงจุดที่ต้องแก้ด้วยวิธีอื่น อยากให้ถามตัวเองทุกครั้งที่เจอปัญหาค้างคาว่าเรากำลังแก้ปัญหาผิดวิธีที่มันใช้ระยะเวลานานเกินหรือเปล่าเพราะมันทำให้เกิดความเครียดสะสม และส่งผลต่อร่างกาย

คือไม่อยากให้มองว่าถ้า Burnout การลาออกคือทางออก เพราะมันไม่ได้ส่งผลดี เพราะสังคมเราถ้าเราพูดถึงประเด็นนี้ คนส่วนใหญ่จะบอกให้ลาออกแม้กระทั่งผมเองทั้งที่มันไม่ใช่ เพราะมันเป็นเพียงการหนีปัญหา 

ถ้าเราฝ่าฝันจนถึงจุดที่เราผ่านมันได้โดยที่เราไม่เสียสุขภาพจิต มันจะทำให้เราพัฒนาตัวเองได้ เราจะเข้าใจว่าจริงๆ แล้วปัญหาที่เราเจอมันไม่ได้หมดไฟเพราะปัญหา แต่เป็นเพราะวิธีการแก้ปัญหาที่ผิดวิธี ถ้าคุณหนีมันไปคุณจะไม่เจอวิธีจัดการกับมันได้

แต่เพราะว่าปัญหามันมีหลายแบบ ปัญหาในงานถ้าเรารู้เป้าหมายของงานนั้นๆ ว่าทำแล้วได้อะไรก็อาจจะง่าย แต่ที่ยากคือปัญหาในองค์กรที่ทำให้คน Burnout อันนี้ยากมากเพราะผมเองก็ไม่มีทางออกให้

เพราะถ้าองค์กรทำให้คน Burnout ต่อให้จ้าง Consult มาเปลี่ยนแปลงใช้เวลา 3 ปีกว่าจะสำเร็จคนก็ตายหมดก่อน เราก็ต้องดูให้ดีว่ามันเป็นที่งาน ที่เรา หรือองค์กร ถ้าถามว่าผม พี่ตี๋ หรือตั้งรู้ได้ไงก็ต้องตอบว่าองค์กรเราเอื้อต่อพนักงานมากกว่ามองว่าเราเป็นเพียงเครื่องจักร

คนที่ Burnout คือคนที่ทำงานที่ตัวเองไม่ได้ชอบ ซ้ำๆ  (กานต์-ดร. กานต์ อุ่ยวิรัช)

ผมเชื่ออย่างนึงว่า burnout ไม่ใช่เพราะว่าเราทำงานหนัก หรือโดนสั่งงานมา คือคนทำงานหนักเขาอาจจะไม่ได้ burnout ก็ได้ อย่างสมมุติอย่างของหน่อยทำงานหนักนู่นนี่นั้น แต่ว่าอาจจะไม่ได้รู้สึก burnout 

burnout in tech is real by kan

เพราะงั้นถ้าอยากจะฝาก ให้กับคนอื่นที่รู้สึกหมดไฟ ผมคิดว่าลองสำรวจตัวเองดูว่าเราไม่ชอบสิ่งไหน ในสิ่งที่ทำอยู่อ่ะครับ แล้วก็ลองพยายามหาสิ่งที่ตัวเองชอบ ผมคิดว่ามันจะออกจาก burnout ได้เร็วที่สุด

เข้าใจความสำคัญของงานที่ทำอยู่ (ตี๋-จิรวัฒน์ กรัณย์วิทยาการ)

สิ่งที่ทำให้ผมไม่ Burnout คือการรับรู้ถึงความสำคัญของสิ่งที่ผมทำ ดังนั้นลองพยายามเข้าใจความสำคัญของงานที่ทำอยู่ ไม่ว่าคุณกำลังจะพัฒนาสินค้า หรือบริการอะไร อย่างเช่นเป็นคอนเทนต์ ถ้าคนได้อ่านผ่านแอปนี้ เว็ปนี้ หรือบริการนี้ เข้าจะมีความรู้มากขึ้น เขาจะตามเท่าทันเศรษฐกิจ และการเมือง แล้วมีชีวิตที่ดีขึ้น

หรือว่าเป็นเกี่ยวกับความบันเทิง แล้วผู้ใช้มีความสุขขึ้น คุณคือส่วนสำคัญที่มอบความสุขให้กับเขา เขาทำเกี่ยวกับการศึกษาอย่าง Skooldio คอนเทนต์ของเราอาจช่วยพัฒนาสกิล และทัศนคติให้กับผู้อื่น ทำเกี่ยวกับ Social Network เราทำให้คนใกล้กันมากขึ้น อากง อาม่าใกล้กับลูกหลาน หรือเพื่อนๆ มาเจอกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความหมายในการทำงาน และทำไมต้องมีเรา

แน่นอนว่าการมาทำงานเราต้องได้รับค่าตอบแทนกลับไปดูแลครอบครัวของเรา แต่ชีวิตพวกเราจะมีความหมายขึ้นมาเลยถ้าเราได้ทำอะไรที่ช่วยให้คนอื่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับใครที่อ่านแล้วสนใจที่จะเริ่มต้นศึกษาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตใจ เรียนรู้เกี่ยวกับการรู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันปัญหาสุขภาพใจ และวางแผนแนวทางในการฟื้นฟูรักษาสุขภาพใจตัวเอง รวมไปถึงขอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ กับคอร์ส Mental Health First Aid จาก Skooldio

mental health online course

เข้าใจแนวคิดและวิธีการสังเกตุพฤติกรรมของตนเองเพื่อนำไปสู่ Self Awarness เรื่องของสุขภาพใจ พร้อมรู้จัก Tone of Voice ที่สามารถนำไปปรับใช้ในบริบทต่างๆ กับคนรอบตัว

(ดูรายละเอียดคอร์สออนไลน์ คลิกที่นี่)

More in:Business

Comments are closed.