Critical Thinking สกิลมาแรง ที่แม้แต่ AI ก็มาแทนเราไม่ได้

เราอยู่ในยุคที่มีข้อมูลอยู่บนอินเทอร์เน็ตมากมาย แค่หาใน Google ก็ได้คำตอบอย่างรวดเร็ว สมัยนี้ยิ่งไวและสะดวกกว่าเดิม เพราะมี Generative AI ที่หาคำตอบมาให้เราได้ทุกอย่าง 

แต่ปัญหาอยู่ที่ คำตอบที่ Google หรือ AI ให้มาเป็นสิบเป็นร้อยอัน มันถูกหรือผิด ? และเราควรเลือกใช้อันไหน ?

เป็นธรรมชาติที่มนุษย์ มักจะมองสิ่งต่าง ๆ ในแบบที่เราอยากเห็น และมีความมุมมอง หรือ อคติทางความคิดเป็นของตัวเอง (Cognitive Bias) 

ซึ่งบางทีก็อาจส่งผลให้เรามองสิ่งต่าง ๆ ผิดพลาดไป จนเลยไปถึงการตัดสินใจที่ผิดพลาดในที่สุด ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ คือ Critical Thinking 

Critical Thinking คืออะไร ?

Critical Thinking คือ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และความสามารถในการวิเคราะห์ แยกแยะปัญหาอย่างมีประสิทธิผลเพื่อประกอบการตัดสินใจ 

และยิ่งถ้าเรานำ Critical Thinking มาใช้ รวมกับความสามารถของ AI ก็จะทำให้เราทำงานได้ฉลาดมากขึ้น นี่จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ Critical Thinking กลายเป็นทักษะที่ World Economic Forum, Mckinsey, LinkedIn และ Coursera ต่างบอกว่าเป็นสกิลระดับ Top ที่องค์กรอยากได้มารวมทีม 

ซึ่งในเมื่อเป็นทักษะซึ่งมี demand สูง หลายบริษัทก็พร้อมจะทุ่มค่าตัวเพื่อคนที่มีทักษะเหล่านี้ คนทำงานก็มีโอกาสเรียกค่าตัวได้สูงไปด้วย

3 วิธีฝึกทักษะ Critical Thinking ง่าย ๆ จาก Harvard Business Review 

1. ตั้งคำถามกับทุกสิ่ง (Question assumptions)

ความคุ้นชินทำให้เรามองทุกอย่างเป็นไปในแบบที่เราคิดว่ามันควรจะเป็น แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องไปหมด

ให้ลองฝึกตั้งคำถามกับทุกสิ่งทุกอย่าง อย่าเพิ่งด่วนเชื่ออะไรง่าย ๆ เริ่มได้ตั้งแต่ตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว ไปจนถึงมุมการทำงาน เช่น 

“เพราะอะไรเราถึงต้องซักผ้าด้วยน้ำ ?”

“จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโลกเราไม่มีน้ำมัน ?”

“จะเกิดอะไรขึ้นถ้า Supplier ของเราเลิกกิจการ ?”

“ถ้าเกิดโควิดกลับมา บริษัทเราจะอยู่รอดได้อย่างไร ?”

คำถามเหล่านี้จะช่วยให้เราได้รับมุมมองใหม่ ๆ และยังช่วยขัดเกลาความคิดให้ดียิ่งขึ้น

2. คิดวิเคราะห์อย่างมีตรรกะ (Reason through logic)

หลายครั้งที่เราได้ข้อสรุปที่ “กว้างเกินไป” โดยใช้ข้อมูลที่จำกัด และไม่มีมูลมากพอ

เช่น คนมักจะชอบคิดว่า “เหตุการณ์ Y เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ X ดังนั้น เหตุการณ์ Y ต้องเกิดจากเหตุการณ์ X แน่นอน” 

ยกตัวอย่างเหตุการณ์ ที่ Manager คนหนึ่งเชื่อว่าพนักงานของเขาทำยอดขายได้มากขึ้น เพราะเขาได้แรงฮึดมาจากการประชุมยอดสุดตึงในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งนั่นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ไม่ได้รับการทดสอบ และผู้จัดการก็ไม่มีทางรู้เลยว่าความเชื่อนี้ถูกต้องหรือไม่

ดังนั้น สิ่งที่ต้องหมั่นฝึกทำ คือ ดูว่าข้อมูลถูกสรุปด้วยหลักฐานที่ชัดเจนและแม่นยำหรือยัง มองหาความเชื่อมโยงของหลักคิด จนได้ข้อสรุปที่เป็นเหตุเป็นผล 

3. คิดหลากหลายมุมมอง (Diversify thought)

หลายครั้งคนเรามักจะด่วนสรุปและเลือกฟังแต่สิ่งที่ตรงกับความเชื่อเดิมของตน โดยเฉพาะคนเป็นหัวหน้า ที่ไม่ว่าจะมีน้อง ๆ จะพยามหาหลักฐานอื่น ๆ มาแจกแจงก็ตาม แต่ก็มักจะเชื่อในข้อสรุปแรกที่ตัวเองตั้งธงไว้อยู่ดี

หรือแม้แต่อัลกอรึทึมของ Facebook หรือ Tiktok ก็มักจะโชว์คอนเทนต์ที่ตรงกับความเชื่อของเรา ซึ่งมันก็ยิ่งทำให้มุมมองของเราแคบลงกว่าเดิม

งานวิจัยบอกว่า นอกจากคนเรามักจะเชื่อในสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อเดิมแล้ว ยังชอบอยู่กับกลุ่มคนที่มีความเชื่อเหมือนกันด้วย ผลกระทบก็คือ เรากลายเป็นคนรั้นมากขึ้น จนไม่รับความเชื่อหรือความคิดใหม่ ๆ 

ดังนั้น ทางแก้ที่ง่ายที่สุดคือของข้อนี้ คือ “ออกจาก Comfort zone ของตัวเอง”

เปิดโอกาสตัวเอง ให้ได้คบกับคนหลายแบบ หลายอาชีพ ต่างวัย เราจะได้รับประสบการณ์และแนวคิดที่เราอาจไม่เคยเข้าใจมาก่อน จนเมื่อต้องทำงานจริงเราจะสามารถคิดในมุมมองของคนอื่นได้ละเอียดมากขึ้น รวมถึงสามารถลด bias ส่วนตัวได้อีกด้วย


ถ้าคุณกำลังมองหาหลักสูตรพัฒนาด้านกระบวนการคิด ที่ลงมือทำจริง เรียนโดยตรง กับ Instructors ตัวจริงในวงการ 

Skooldio กำลังจะเปิดหลักสูตรใหม่ เกี่ยวกับทักษะกระบวนการคิดในยุคดิจิทัล เพื่อต่อยอดและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานยุคใน AI 👉🏻ลงทะเบียนแสดงความสนใจเพื่อรับสิทธิพิเศษก่อนใคร ไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ คลิกเลย!

 

More in:Productivity

Comments are closed.