เชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่คุ้นกับคำว่า “Digital Products” เท่าไรนัก แต่ถ้าพูดถึงเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่เราใช้กันเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็น Canva ที่ช่วยทำสไลด์และออกแบบงาน, Grab Food สำหรับสั่งอาหาร, readAwrite ที่ใช้เขียนและอ่านนิยายออนไลน์ หรือแอปฯ Mobile Banking ที่เราหยิบมาสแกนจ่ายข้าวทุกวัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น “Digital Products”
แล้วคุณเคยสงสัยไหมว่า แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ที่เราใช้อยู่ทุกวัน ถูกสร้างขึ้นมาได้ยังไง? ใครอยู่เบื้องหลัง? และขั้นตอนในการสร้างตั้งแต่ต้นจนจบเป็นยังไง?
บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักพื้นฐานทั้งหมดของโลก Digital Products ตั้งแต่ความหมาย, คนที่อยู่เบื้องหลังการสร้าง Digital Products, ขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงกรณีศึกษาของ Digital Product ที่ประสบความสำเร็จ ถ้าพร้อมแล้วมาเริ่มกันเลยดีกว่า!
Table of Contents
- Digital Products คืออะไร?
- ใครบ้างที่อยู่เบื้องหลัง Digital Products?
- ทักษะที่จำเป็นของ Product Manager (PM) / Project Manager / Product Owner
- UX/UI Designer
- ทักษะที่จำเป็นของ UX/UI Designer
- Software Developer / Software Engineer
- ทักษะที่จำเป็นของ Software Developer / Software Engineer
- QA / Tester
- ทักษะที่จำเป็น ของ QA / Tester
- กระบวนการสร้าง Digital Products ตั้งแต่ต้นจนจบ
- Case Studies: ตัวอย่าง Digital Products ที่ประสบความสำเร็จ
- Steam by Valve
- อยากทำงานสาย Digital Products เริ่มอย่างไรดี
- ก้าวแรกสู่โลก Digital Products
Digital Products คืออะไร?
Digital Products คือสินค้าหรือบริการที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เป็นสินค้าที่ไม่สามารถจับต้องได้ในโลกความเป็นจริง ตัวอย่างของสินค้าประเภทนี้ที่เราเห็นและใช้งานกันอยู่เป็นประจำเช่นเว็บไซต์ หรือ แอปพลิเคชันนั่นเอง
ข้อดีสำคัญของ Digital Products คือมันไม่ต้องอาศัยพื้นที่โลกจริงในการจัดเก็บสินค้า และไม่ต้องทำการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้า กระบวนการซื้อขายทั้งหมดสามารถสำเร็จเสร็จสิ้นในรูปแบบออนไลน์ได้เลย ด้วยสาเหตุนี้เอง หลายองค์กรจึงทุ่มเทเวลากับทรัพยากรในการคิดค้นสินค้าหรือบริการดิจิทัลมากเพราะใช้ต้นทุนต่ำไม่ต้องสูญเสียเงินไปกับการจัดส่งและจัดเก็บสินค้าในโกดัง พอต้นทุนในการสร้างลดลง เราก็สามารถทำกำไรกับสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ได้มากขึ้น
หลังจากรู้ความหมายของ Digital Products เรียบร้อยแล้ว สเตปต่อไปเรามาทำความรู้จักคนที่อยู่เบื้องหลังการสร้าง Digital Products กันดีกว่าว่ามีใครบ้าง แต่ละตำแหน่งนั้นมีหน้าที่อะไร? สำคัญกับโปรเจกต์อย่างไร? และต้องการทักษะอะไรบ้าง?
ใครบ้างที่อยู่เบื้องหลัง Digital Products?
Product Manager (PM) / Project Manager / Product Owner
เริ่มต้นกันด้วย 3 ตำแหน่งนี้ Product Manager (PM) / Project Manager และ Product Owner ที่ถ้าอ่านชื่อทั้งสามตำแหน่งนี้ไว ๆ บางคนอาจจะสับสนได้ว่าแต่ละตำแหน่งทำหน้าที่อะไร แตกต่างกันอย่างไร เรามาลองดูกันดีกว่าว่าทั้งสามตำแหน่งรับผิดชอบงานส่วนไหนกันบ้าง
- Product Manager (PM) มีหน้าที่ในการวางแผนและควบคุมการผลิต Digital Products ให้ออกมาตรงตามโจทย์และมีคุณภาพที่สุด เป็นตำแหน่งที่นำข้อมูลจากทางฝั่งของผู้ใช้งานมาประกอบร่างกับทรัพยากรที่องค์กรมี เพื่อวางกลยุทธ์ต่อว่าเราจะสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาอย่างไรให้สำเร็จ
- Project Manager มีหน้าที่ในการรับผิดชอบวางแผนให้โปรเจกต์สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยจะต้องควบคุมงบประมาณให้ดีที่สุดและต้องสำเร็จโปรเจกต์ให้ได้ภายในช่วงเวลาเดดไลน์ที่กำหนดไว้
- Product Owner มีหน้าที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างทีมบริหารจัดการผลิตภัณฑ์กับทางองค์กร คอยตรวจสอบความคืบหน้าของการทำงานตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นถึงช่วงเสร็จสิ้นโปรเจกต์
สามตำแหน่งนี้มีความสำคัญต่อผลลัพธ์ของโปรเจกต์เป็นอย่างมาก ภาพรวมของโปรเจกต์และกระบวนการสร้างผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะผ่านไปอย่างมีประสิทธิภาพและสำเร็จลุล่วงได้หรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการของสามตำแหน่งนี้เลย คุณพลอย–อนัญญา สหัสสะรังษี Co-founder ของ NocNoc.com และอดีตผู้สอน Product Management Bootcamp ก็ได้อธิบายความแตกต่างของสามตำแหน่งนี้เอาไว้อย่างชัดเจน ใครสนใจสามารถคลิกฟังเพิ่มเติมได้เลย
ทักษะที่จำเป็นของ Product Manager (PM) / Project Manager / Product Owner
ทักษะพื้นฐานที่สามตำแหน่งนี้จำเป็นต้องมีเลยก็คือความรู้ด้าน Digital Products และเนื่องจากคนที่ทำหน้าที่ในตำแหน่งเหล่านี้จะต้องเป็นคอยประสานงานกับหลายฝ่ายและต้องคอยบริหารจัดการให้สมาชิกในทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดอยู่ตลอด อีกทั้งยังต้องคอยสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ให้ชัดเจนตลอดช่วงโปรเจกต์ ความสามารถด้านการสื่อสารและการจัดการจึงเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมากในการทำงานตำแหน่งนี้
และถ้าใครสนใจอยากข้ามสายมาเป็น Product Manager (PM) Skooldio ชวนมาอ่าน คำตอบสุด Insights จาก 4 Product Manager ว่า PM ต้องมี Skill อะไรบ้าง?
UX/UI Designer
อีกหนึ่งตำแหน่งสำคัญของการทำ Digital Products เรามาทำความรู้จักกันว่า UX/UI Designer ทำหน้าที่อะไร แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
- UX Designer มีหน้าที่ในการออกแบบการใช้งานของสินค้าหรือบริการให้ตอบโจทย์ เพื่อให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจที่สุด โดยคำว่า UX (User Experience) นั้นจะเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์ทุกแง่มุมระหว่างผู้ใช้งานและตัวผลิตภัณฑ์เลย
- UI Designer มีหน้าที่ในการออกแบบรูปร่างหน้าตาของผลิตภัณฑ์ สร้างความน่าดึงดูดให้แก่ผู้ใช้งานได้ตั้งแต่แรกเห็น ที่สำคัญคือทางผู้ออกแบบจะต้องทำให้ UI (User Interface) ใช้งานได้ง่าย ไม่สับสน
ถ้าจะให้อธิบายความแตกต่างของสองตำแหน่งแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ การสร้าง Digital Products ก็เหมือนกับการสร้างตึก โดย UX Designer เป็นเหมือนสถาปนิก/วิศวกร ออกแบบโครงสร้างให้ใช้งานง่ายและตรงตามวัตถุประสงค์
ส่วน UI Designer เหมือนมัณฑนากรหรือนักออกแบบภายใน ออกแบบรูปลักษณ์ให้สวยงามและน่าใช้งาน
การจะออกแบบ UX และ UI ให้ตอบโจทย์ได้อย่างเต็มที่ได้นั้น ทาง UX/UI Designer จะต้องมีข้อมูลที่แน่ชัดว่า กลุ่มเป้าหมายคือใคร และพวกเขาต้องการอะไร เพื่อที่ผู้ออกแบบจะได้ออกแบบ Digital Product ให้มีการใช้งานและหน้าตาที่ตรงกับลักษณะและความต้องการของผู้ใช้งานได้ดีที่สุด
UX/UI Designer เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อคุณค่าของตัวผลิตภัณฑ์ เมื่อประสบการณ์การใช้งานและหน้าตาของผลิตภัณฑ์ถูกออกแบบมาอย่างดีเยี่ยมจนสามารถสร้างความพึงพอใจอย่างถึงที่สุดให้กับผู้ใช้งานได้ ตัวของผู้ใช้งานก็จะให้คุณค่าต่อสินค้าและบริการนั้นสูงขึ้นตามไปด้วย
ทักษะที่จำเป็นของ UX/UI Designer
เนื่องจาก UX/UI Designer จะต้องทำหน้าที่ไล่ไปตั้งแต่การศึกษาตัวผู้ใช้งาน ไปจนถึงการลงมือออกแบบ Digital Products ให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง การทำงานในตำแหน่งนี้จึงอาศัยทักษะรอบด้านที่ครอบคลุมถึงการเก็บวิเคราะห์ข้อมูล การคิดไอเดีย การมีความคิดสร้างสรรค์ และการมีความรู้ด้านการออกแบบที่ดี
อีกหนึ่งทักษะที่นักออกแบบทั้งสองตำแหน่งต้องมีเลยก็คือทักษะการใช้เครื่องมือ (Toolset) สำหรับการออกแบบโดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น Figma เป็นต้น ใครยังไม่เคยใช้ Figma มาก่อนก็ไม่ต้องกังวลไป มาทำความรู้จักกับ Figma ว่า Figma คืออะไร? ทำไมถึงเป็น Tool มาแรงที่สุดในวงการ Design กัน
Software Developer / Software Engineer
Software Developer และ Software Engineer มีหน้าที่ในวางแผนกระบวนการสร้างซอฟต์แวร์และลงมือเขียนโปรแกรมให้ซอฟต์แวร์ทำงานอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
หากเปรียบเทียบตัวซอฟต์แวร์เป็นภาพวาดศิลปะ Software Engineer คือคนที่วางแผนว่าเราจะวาดงานออกมาอย่างไร ใช้สีโทนไหน และจะวาดออกมาด้วยเทคนิคอะไร ส่วน Software Developer คือศิลปินที่ลงมือวาดผลงานศิลปะชิ้นนั้นขึ้นมา โดยตลอดช่วงโปรเจกต์การสร้างซอฟต์แวร์ ทั้งสองตำแหน่งนี้ก็จะต้องคอยสื่อสารและประสานงานร่วมกันอยู่ตลอดเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย
ด้วยความที่โลกธุรกิจในปัจจุบันมีการแข่งขันกันทางเทคโนโลยีสูงมาก หากองค์กรต้องการที่จะมี Digital Products ที่โดดเด่นและทันสมัย องค์กรก็จะขาดมันสมองและความสามารถด้านเทคโนโลยีจากสองตำแหน่งนี้ไม่ได้เลย ยิ่งเรามี Software Engineer และ Software Developer ที่มีคุณภาพ องค์กรก็จะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
ทักษะที่จำเป็นของ Software Developer / Software Engineer
Hard Skills
ทักษะยืนพื้นที่ Software Engineer และ Software Developer จำเป็นต้องมีอย่างแรกเลยก็คือ ความรู้เรื่อง Coding และความรู้เรื่องโครงสร้างข้อมูลกับ Algorithm เข้าใจระบบการจัดการฐานข้อมูล (Database Management System) เพื่อจะได้สามารถจัดระเบียบและจัดเก็บข้อมูลสำคัญในการพัฒนา Digital Products ได้ นอกจากนี้ก็ต้องต้องอาศัยทักษะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบซอฟต์แวร์ด้วย
Soft Skills
ในเมื่อสองตำแหน่งนี้จะต้องคอยประสานงานกันอยู่ตลอดตั้งแต่ช่วงวางแผนยันช่วงสิ้นสุดโปรเจกต์ ทักษะการสื่อสารและการทำงานเป็นทีมจึงจำเป็นอย่างมาก
แน่นอนว่าระหว่างการทำงานด้านเทคนิคมักจะมีปัญหาไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะฉะนั้นการมีทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีก็เป็นทักษะที่ขาดไม่ได้เหมือนกัน ถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา คุณก็ต้องรู้จักปรับตัวและปรับเปลี่ยนเปลี่ยนแผนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันให้ได้
QA / Tester
หน้าที่ของ QA / Tester คือการทดสอบคุณภาพของตัว Digital Products หาข้อบกพร่องให้ได้มากที่สุดและระบุที่มาของปัญหาเพื่อจะได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น หลังจากทราบที่มาของข้อผิดพลาดแล้ว ผู้ที่ทำงานในตำแหน่งนี้ก็จะต้องส่งข้อเสนอแนะ (Feedback) กลับไปที่ต้นทางได้ว่าเราจะต้องแก้ไขงานตรงจุดไหนและอย่างไร
แน่นอนว่าทุกองค์กรคงไม่อยากปล่อยให้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพหลุดไปถึงมือของลูกค้า ด้วยเหตุนี้ QA / Tester จึงเปรียบเสมือนกับปราการด่านสุดท้ายที่จะตรวจสอบและอุดรอยรั่วทุกจุดเพื่อทำให้แน่ใจว่า ผู้ใช้งานจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงสุดอย่างที่พวกเขาสมควรจะได้
ทักษะที่จำเป็น ของ QA / Tester
Hard Skills
คนที่จะทำงานตำแหน่ง QA / Tester ได้ดีนั้นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัว Digital Products นั้น ๆ เป็นอย่างดี และต้องมีทักษะเครื่องมือและเทคนิคต่างๆ ที่ช่วยในการตรวจหาข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์อย่างแม่นยำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เช่น ทักษะเรื่องระบบทดสอบอัตโนมัติ (Automation Testing)
ถึงแม้ว่า QA / Tester จะไม่จำเป็นต้องโปรแกรมเมอร์ระดับเซียน แต่ความรู้พื้นฐานเรื่องโปรแกรมกับภาษาสคริปต์อย่าง Python, Java, หรือ JavaScrpit เป็นสิ่งที่จำเป็นกับคนทำงานตำแหน่งนี้เช่นกัน
Soft Skills
ความใส่ใจในรายละเอียดเป็นทักษะที่ QA / Tester จะขาดตกบกพร่องไม่ได้เลยเพราะการจะหาข้อผิดพลาดให้เจอได้มากที่สุดนั้นจะต้องอาศัยการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกซอกทุกมุม หากขาดทักษะตรงนี้ไปก็อาจทำให้ข้อผิดพลาดบางจุดหลุดรอดสายตาไปได้
นอกจากนี้ ทีมสร้างกับทีมตรวจสอบ Digital Products จะต้องคอยสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลและคำแนะนำกันอยู่ตลอด การทำงานเป็นทีมและการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นทักษะที่ QA / Tester พึงมี
ใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วมีความสนใจในสายงาน Software Testing และสงสัยว่าถ้าหากอยากเริ่มต้นสายงาน Software Testing ต้องรู้อะไรบ้าง ? สามารถอ่านเพิ่มเติมจาก blog ของ Skooldio ได้เลย
ทั้งหมดที่ได้เล่ามาในส่วนนี้ก็คือตัวอย่างของผู้ที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง Digital Products นั่นเอง ซึ่งแต่ละตำแหน่งก็จะมีบทบาทที่สำคัญแตกต่างกันออกไปในการทำให้ผลิตภัณฑ์ออกมาเสร็จสมบูรณ์ ต่อไปเราจะพาผู้อ่านมาเรียนรู้กระบวนการการสร้าง Digital Products ตั้งแต่ต้นจนจบกัน
กระบวนการสร้าง Digital Products ตั้งแต่ต้นจนจบ
Product Discovery
คือขั้นตอนที่ทีมจะต้องมาคิดและหาข้อสรุปกันว่า ผู้ใช้งานกำลังมีปัญหาอะไร และเราจะสร้างสินค้าหรือบริการอะไรขึ้นมาที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพวกเขาได้ ซึ่งขั้นตอน Product Discovery นี้ถือเป็นกระบวนการแรกสุดและเป็นรากฐานความแกร่งของตัว Digital Products เลย หากเริ่มต้นจากจุดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่ผลิตภัณฑ์จะประสบความสำเร็จ
Marty Cagan ผู้ก่อตั้งบริษัท Silicon Valley Product Group และเป็นผู้คว่ำหวอดในสายงานการจัดการผลิตภัณฑ์ (Product Management) ได้พูดถึงใจความสำคัญของขั้นตอน Product Discovery ไว้ว่า
“อย่างแรกเลยครับ คุณต้องหาให้ได้ก่อนว่าในสังคมมันมีคนที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ของคุณอยู่จริงๆ อย่างที่สอง คุณต้องคิดผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาให้คนเหล่านั้นได้ โดยผลิตภัณฑ์นั้นจะต้องใช้งานได้ มีประโยชน์ และทำออกมาได้จริง”
หลังจากที่ทีมได้ผ่านกระบวนการ Product Discovery จนเสร็จสิ้นจนได้คำตอบที่ชัดเจนแล้วว่าผู้ใช้งานกำลังมีปัญหาอะไร พร้อมทั้งคิดค้นสินค้าหรือบริการที่จะมาแก้ปัญหาให้พวกเขาแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการเริ่มลงมือสร้าง Digital Products ซึ่งเรียกว่าช่วง Product Delivery นั่นเอง
Product Delivery
คือกระบวนการที่เปลี่ยนไอเดียตั้งต้นในตอนแรกให้มาเป็นตัว Digital Products ที่สมบูรณ์ โดยใช้ององค์ความรู้ด้านต่างๆ มาทำให้ผลิตภัณฑ์ออกมามีประสิทธิภาพที่สุดและใช้เวลาในการผลิตรวดเร็วที่สุด ขั้นตอนแรกสุดก็คือการเริ่มพัฒนาสินค้าหรือบริการนั้นๆ (Product Development) โดยผู้ที่รับผิดชอบในส่วนนี้ก็คือ UX/UI Designer กับ Software Developer / Software Engineer นั่นเอง
หลังจากได้ผลิตภัณฑ์ออกมาเรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้าสู่ช่วงทดสอบซอฟต์แวร์ (Software Testing) เพื่อดูให้แน่ใจว่าตัว Digital Products ที่สร้างขึ้นมามีข้อบกพร่องตรงไหนบ้าง การทดสอบซอฟต์แวร์ถือเป็นกระบวนการที่สำคัญไม่แพ้กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เลยเพราะยิ่งเราตรวจหาปัญหาได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน เราก็ยิ่งสามารถปรับปรุงให้ Digital Products มีความสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ขั้นตอนถัดไปคือการลงสู่สนามจริงด้วยการปล่อยผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ลงสู่ตลาดอย่างเป็นทางการ หลังจากเวลาผ่านไปสักระยะ ทางทีมก็จะต้องทำการวัดผลและวิเคราะห์ (Measurement / Analysis) เพื่อทำการประเมินว่า Digital Products ของตัวเองสามารถตีโจทย์กลุ่มผู้ใช้งานได้จริงหรือไม่? กลุ่มคนที่ใช้งานตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนแรกหรือเปล่า? หากมีผลลัพธ์บางอย่างที่ไม่ตรงตามเป้า ทางทีมก็จะต้องมาหาแนวทางแก้ไขเพื่อปรับปรุงตัวผลิตภัณฑ์ต่อไป
หลังจากผู้อ่านได้ทำความรู้จักคนที่ทำงานเบื้องหลังและได้เรียนรู้กระบวนการสร้าง Digital Products ตั้งแต่ต้นจนจบกันแล้ว เราขอพาทุกคนไปดูตัวอย่างของ Digital Products ที่ประสบความสำเร็จกันดีกว่า
Case Studies: ตัวอย่าง Digital Products ที่ประสบความสำเร็จ
Make by KBANK
MAKE by KBank คือ แอปพลิเคชันที่มีจุดเด่นในเรื่องการเป็นตัวช่วยจัดการเงิน โดยมีฟีเจอร์ “Cloud Pocket” ที่ช่วยให้เราสามารถแบ่งเงินในบัญชีออกเป็นกระเป๋าย่อย ๆ ตามเป้าหมายได้ เช่น กระเป๋าเงินเก็บห้ามใช้ กระเป๋าไปคอนเสิร์ต และอื่น ๆ ตามที่ต้องการ
โจทย์ที่ทีมพัฒนาของ Make ตั้งขึ้นมาอย่างแรกเลยเริ่มต้นจากโจทย์ด้านเทรนด์โลกการเงินที่ได้เห็นเทรนด์ของแอปพลิเคชันธนาคารที่กำลังมา อย่าง Neobank และโจทย์ด้านเทคโนโลยีที่ประกอบกับในช่วงนั้นมีข่าวเกี่ยวกับแอปพลิเคชันธนาคารล่ม สองโจทย์นี้ทำให้ทีม MAKE มองเห็นโอกาสในการทดลองทำ
และอีกหนึ่งความตั้งใจคือการสร้าง Mobile Banking ที่ให้ผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง และมีความ casual เป็นมนุษย์มากขึ้น ต่างจาก mobile banking แบบเดิม ๆ ที่อาจให้ความรู้สึกเป็นทางการ จริงจัง
ในวันที่ MAKE เริ่ม launch product ออกไปยังลูกค้ากลุ่มเด็ก ๆ ตามที่ตั้งใจไว้ ด้วย message ที่สื่อสารถึงความเป็น ‘social banking’ ว่า Make by Kbank mobile banking สำหรับคนรุ่นใหม่ ใช้งานกับเพื่อนได้สนุก แต่ผลลัพธ์กลับไม่ออกมาดีตามที่ตั้งใจไว้ จึงเป็นจุดที่ทีมกลับมาทบทวนและ research อีกครั้ง ซึ่งจุดนี้แสดงให้เห็นเลยว่า บางครั้ง ต่อให้เราศึกษาความต้องการของลูกค้ามาก่อน มันก็ยังมีความเป็นไปได้ที่ผู้ใช้งานจริงจะไม่ตรงกับการวิจัยที่ทีมไปค้นคว้ามาตอนแรก
ซึ่งพอทางทีม MAKE ได้ศึกษาผู้ใช้งานก็พบว่า ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาไม่ได้ใช้ MAKE ในฐานะ Social Banking เท่าไหร่ แต่พวกเขาจะใช้ MAKE เป็นเครื่องมือเพื่อจัดการเงินมากกว่า นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทีมตัดสินใจเปลี่ยนแปลง message ปรับตามที่ผู้ใช้งานเห็นประโยชน์และสะท้อนกลับมา โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา MAKE by KBank ก็มี Users มากกว่า 2 ล้านคน!
เหมียวจด
คือ แอปพลิเคชันแรกของไทย ที่สามารถจดรายจ่ายอัตโนมัติจากการอ่านสลิปโอนเงิน (e-Slip) ในโทรศัพท์มือถือ โจทย์ของเหมียวจดคือการสร้าง Product ที่จะเป็น Next Big Thing หลังจาก KBTG ได้มี Products อย่างขุนทองและ MAKE by KBank มาแล้ว โดยต้องมองหา product ที่มี potential ว่าคนจะเข้ามาใช้งานได้เยอะและสามารถแก้ปัญหาคนได้มาก โดยภายในระยะเวลา 6 เดือน เหมียวจดมี users มากถึง 100,000 คน!
เหมียวจดเริ่มต้น spark ไอเดียจากการมองเห็นว่าเรามีสลิปรายจ่ายอยู่มากมายในมือถือ แต่ก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร จะลบก็ไม่กล้าลบ ซึ่งไอเดียที่ได้ถูกนำมาใช้จริงคือไอเดียการจดรายจ่าย ‘อัตโนมัติ’
เหมียวจดนั้นมีความตั้งใจว่าจะโตไปกับ community ซึ่งเหมียวจดเป็นแอปพลิเคชันที่รับฟีเจอร์มาจากฟีดแบคของ Users โดยทีมพัฒนาของเหมียวจดมีการสังเกตและจับตามองว่า users อยากได้อะไร ซึ่งหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการพัฒนา products ให้ออกมาตอบโจทย์คือการทดสอบ หรือ Testing ซึ่งเหมียวจดก็ได้มีการทดสอบไอเดียก่อน 2 รูปแบบ คือ
- ทดสอบแบบ Qualitative : ใช้วิธีการสัมภาษณ์
- ทดสอบแบบ Quantitative : ลองทำ landing page และยิง ads ในระยะเวลาสั้น ๆ เป็น Fake Door Testing (Fake Door Testing คือการ จำลอง Product ไปเสนอขายก่อนจะสร้างจริง)
ซึ่งสิ่งที่ได้รับจากการทดสอบเหล่านี้ ไม่ว่าจะคำตอบที่แสดงถึงความสนใจอยากใช้งาน หรือ การกดปุ่มดาวน์โหลดในหน้า landing ก็จะเป็นเหมือนหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าคนสนใจไอเดียนี้นั่นเอง
Steam by Valve

PHOTO: STEAM
Steam เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันสำหรับการซื้อวิดีโอเกมในรูปแบบดิจิทัล (Video Game Digital Distribution Service) ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ข้อแตกต่างที่ทำให้ Steam โดดเด่นก็คือการที่ Steam ไม่ได้เป็นแค่ช่องทางการซื้อวิดีโอเกมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีบริการและฟีเจอร์อื่น ๆ สำหรับเกมเมอร์แบบครบวงจรด้วย เช่น ช่องกระดานสนทนาพูดคุย, ข่าวสารจากเกมต่างๆ , ตลาดซื้อขายไอเทมจากเกม, การถ่ายทอดสด, การจัดการโปรไฟล์ผู้ใช้งานที่สามารถปรับแต่งได้อย่างละเอียด, ฯลฯ
โจทย์สำคัญที่ Valve ตีแตกคือ เขาได้มัดรวมทุกสิ่งที่เกมเมอร์ต้องการและใช้งานอยู่ประจำให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันนี้ที่เดียว จนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาสิบกว่าปีแล้วที่ Steam ยังคงเป็นแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันซื้อวิดีโอเกมที่ครบวงจรและได้รับความนิยมจากเกมเมอร์ทั่วโลก
อยากทำงานสาย Digital Products เริ่มอย่างไรดี
Product Manager / Product Owner
เราขอแนะนำ Product Management Bootcamp หลักสูตรสุดเข้มข้น สอนครบทุก Process การทำ PM ให้คุณพร้อมทำงาน จากการทำ Workshop และการทำโปรเจกต์ พร้อมเรียนรู้ Best Practice จาก PM ตัวจริงระดับโลก
พิเศษ! แลกเปลี่ยนมุมมอง เปิดโลกไอเดียใหม่ ๆ ไปกับ PM Networking Event สร้าง Connection ที่แข็งแกร่ง เพื่อต่อยอดโอกาส สู่ตำแหน่งงาน Product Manager
UX/UI Designer
สำหรับใครที่สนใจอยากย้ายสาย,หรืออยากเริ่มต้นเป็น UX/UI Designer หลักสูตร UX/UI Bootcamp เหมาะกับคุณ! หลักสูตร 8 สัปดาห์นี้จะช่วยติดสปีดการเรียนรู้ให้คุณก้าวสู่การเป็น UX/UI Designer อย่างมั่นใจ เนื้อหาเก็บครบทุกทักษะที่จำเป็นตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจนออกมาเป็น Product เรียนกับผู้เชี่ยวชาญตัวจริงในสายงาน UX/UI
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม/สมัครเรียน คลิก UX/UI Bootcamp
Software Developer / Software Engineer
ถ้าคุณคือคนที่อยากเป็น “นักพัฒนาเว็บไซต์” ที่เก่ง แต่ไม่รู้ว่าต้องศึกษาอะไรบ้าง? เรียนภาษาไหนดี? จะเลือกใช้ Framework ตัวไหน? ให้เราช่วยคุณอัปสกิลในแบบที่องค์กร Tech ต้องการ พัฒนาให้เป็น Dev ที่โดดเด่น เก่งแบบก้าวกระโดดไปกับ Web Development Bootcamp ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม/ลงทะเบียนแสดงความสนใจก่อนได้เลย!
QA / Tester
ใครที่สนใจอยากอัปสกิลด้าน QA / Tester เราขอแนะนำเวิร์กชอป Test Case & Scenario Design for E2E Testing เวิร์กชอป 2 วันที่ออกแบบมาเพื่อให้คุณได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์แบบครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนา การตรวจสอบ ไปจนถึงการทดสอบ เพื่อช่วยให้ซอฟต์แวร์ของคุณมีคุณภาพและตอบโจทย์การใช้งานจริง
และเวิร์กชอป Full-Stack Automation Software Testing เวิร์กชอป 2 วันที่ทุกคนจะได้รู้ว่าการออกแบบการทดสอบซอฟต์แวร์ที่ดี คืออะไร เมื่อออกแบบแล้วจะนำไปใช้งานได้อย่างไรและมีประโยชน์อย่างไร มีขั้นตอนในการพัฒนาอย่างไร อะไรที่ควรระวัง ไปจนถึงขั้นตอนการเลือกใช้ tools ต่าง ๆ ให้เหมาะสม โดยเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงในวงการของอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ
ก้าวแรกสู่โลก Digital Products
ในบทความนี้เราจะเห็นว่ากว่าที่สินค้าหรือบริการหนึ่งจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ ต้องผ่านการทำงานร่วมกันจากหลายฝ่ายและกระบวนการพัฒนาที่เข้มข้น การสร้าง Digital Products อาจดูเป็นเรื่องใหม่และท้าทายสำหรับใครหลายคน แต่ Skooldio อยากเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังเริ่มต้น เพราะทุกความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ล้วนเริ่มต้นจากความกล้าในก้าวแรกเสมอ
References อื่น ๆ
- Product Delivery | Learning Loop
- A Step-By-Step Guide for Conducting Better Product Discovery | productboard
- What is UX / UI Design? | FLATIRON SCHOOL
- 12 Software Developer Skills To Learn (With Examples) | indeed
- Top 5 Soft & Hard Skills Every Software Tester Must Have | SKILLS YOU NEED