ChatGPT คืออะไร? เรียนรู้วิธีใช้งาน พร้อมตัวอย่างการนำมาใช้ กับแต่ละสายงาน

ChatGPT คือ AI แชทบอทอัจฉริยะที่ถามอะไรก็ตอบได้ ที่เปิดให้คนทั่วไปได้ใช้งานแบบฟรี ๆ จึงเป็นกระแสที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ จนหลายคนอยากจะรู้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมัน ในบทความนี้ เราจะพาไปทำความรู้จักระบบ ChatGPT ตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มตั้งแต่ ChatGPT คืออะไร เทคโนโลยีเบื้องหลัง และการทำงานของระบบ รวมไปถึงวิธีการใช้งาน และวิธีการเขียน Prompt ให้มีประสิทธิภาพ พร้อมไอเดียการนำ ChatGPT มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เมื่อพูดถึง AI หลาย ๆ คนในที่นี้อาจเคยใฝ่ฝันอยากมีหุ่นยนต์ที่สามารถพูดคุยกับเราได้เหมือนเป็นมนุษย์จริง ๆ เหมือนในหนังที่เราเคยดูกัน ทุกวันนี้ความฝันนั้นไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว เพราะ ChatGPT นี้ เป็นเหมือนร่างแรกของเจ้าหุ่นยนต์ที่ใครต่างเคยใฝ่ฝันนั่นเอง ดังนั้นทุกคนควรจะรู้จักเทคโนโลยีนี้ไว้ เพื่อไม่ให้ตกยุค ตกเทรนด์

ถ้าพร้อมแล้ว ไปรู้จัก ChatGPT กันเลย!

ChatGPT คืออะไร

ChatGPT คือ AI Chat bot ที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท OpenAI ที่เป็นบริษัทพัฒนา AI รายใหญ่ของโลก ซึ่งมี Sam Altman เป็น CEO โดย ChatGPT ถูกออกแบบมาให้สามารถเข้าใจ และโต้ตอบได้ราวกับมนุษย์จริง ๆ

ChatGPT เป็นหนึ่งใน Generative AI หรือ AI ที่สามารถ ‘สร้างเนื้อหาใหม่’ ขึ้นมาได้ โดยจัดอยู่ในประเภท Text-to-Text Generative AI หรือ AI ที่สามารสร้างเนื้อหาใหม่ในรูปแบบของข้อความ จากการป้อนคำสั่งเป็นข้อความลงไปนั่นเอง

คำว่า ChatGPT ย่อมาจากคำว่า “Chat Generative Pre-trained Transformer” โดยการนำคำว่า “Chat” ที่แปลว่า การพูดคุย มารวมกับคำว่า “Generative Pre-trained Transformation (GPT)” ซึ่งคำว่า “Generative” ในที่นี้เป็นการบอกถึงความสามารถของเจ้า AI ตัวนี้ ที่สามารถสร้างเนื้อหาใหม่ขึ้นมาได้ ส่วนคำว่า “Pre-trained Transformer” นั้นคือเทคนิคในการสร้างและฝึกสอน ChatGPT ขึ้นมา เป็นเทคนิคที่ทำให้ AI เข้าใจรูปแบบและความสัมพันธ์ของข้อมูล

การที่ AI สามารถสร้างของใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ไม่แพ้ไปจากมนุษย์ ด้วยเวลาที่เร็วกว่าเป็นอย่างมาก เหมือนเป็นการเร่งความเร็วให้กับโลก ดังนั้นคำพูดจาก Sam Altman ที่ว่า “AI is going to be the most significant development in human history” หรือ “AI จะเป็นการพัฒนาที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ” จึงไม่ใช่เรื่องที่พูดเกินจริงแต่อย่างใด และทักษะการใช้งาน AI ให้มีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในอนาคตอันใกล้

เบื้องหลังการทำงานของระบบ ChatGPT

หลายคนอาจสงสัยว่า เจ้า ChatGPT ที่สามารถตอบกลับให้เป็นธรรมชาติแบบมนุษย์ได้ มันสื่อสารกับผู้ใช้งานโดยวิธีใด หรือ ChatGPT ทำงานยังไงนะ จริง ๆ แล้วเบื้องหลังการตอบกลับของ ChatGPT นั้นมาจากการ “เดาคำ” ถัดไปในประโยค ซึ่งเป็นการเดาที่มีหลักการ เพราะมันได้รับการ “ฝึกสอน” จากข้อมูลบน Internet ซึ่งมีมากขนาดที่คุณนึกไม่ถึง ถ้านึกไม่ออกว่ามันมากขนาดไหน ให้ลองนึกเว็บไซต์ Wikipedia ที่มีข้อมูลแทบจะทุกอย่างอยู่ในนั้น แต่จริง ๆ ข้อมูลใน Wikipedia นั้นอาจไม่ถึง 1% ของข้อมูลที่เจ้า ChatGPT นั้นได้เรียนรู้ด้วยซ้ำ!

เมื่อ ChatGPT ได้รับข้อมูลเยอะ ๆ เข้า การเดาคำต่อ ๆ ไปในประโยค ก็เริ่มจะมี Pattern มากขึ้น สมมติถ้าคุณเห็นคำว่า “ข้าวกะเพราไก่ไข่___” คำแรกที่คนส่วนมากจะนึกถึงก็คงเป็นคำว่า “ไข่ดาว” เพราะเราได้ยินคำนี้มาบ่อย ๆ ซึ่งก็เหมือนกับ ChatGPT เลย

ซึ่งเมื่อบวกกับคำสั่ง หรือ Prompt ที่เราใส่เข้าไป ChatGPT ก็จะพยายามจับต้นชนปลาย เอาบริบทที่เราถาม บวกกับความรู้ที่มันได้เรียน มาใช้ “เดา” คำต่อไปในประโยค เพื่อคิดหาคำตอบที่จะเอามาตอบเรานั่นเอง

และท้ายที่สุด ChatGPT ก็ยังไม่หยุดพัฒนา มันยังเอาข้อมูลที่เราคุยกับมันในแต่ละครั้งไป “ฝึก” ต่อด้วย ดังนั้นมันจึงมีความเก่งมากขึ้นทุก ๆ วัน


วิธีสมัคร และการเข้าใช้งาน ChatGPT

อ่านมาถึงตรงนี้ หลาย ๆ คนน่าจะอยากลองใช้ ChatGPT กันแล้ว เพื่อให้ไม่เป็นการเสียเวลา ทุกคนสามารถลองเปิดเล่นกันไปได้พร้อมกับการอ่านบทความนี้ไปด้วยเลย โดยวิธีการสมัครสมาชิก และการเข้าใช้งาน สามารถดูได้ตามหัวข้อด้านล่างเลย

วิธีการสมัครใช้งาน ChatGPT

การสมัคร ChatGPT นั้น เบื้องต้นสามารถทำได้ฟรี และง่ายมาก ๆ เพียง 3 ขั้นตอน 

วิธีการสมัครใช้งาน ChatGPT

วิธีการสมัครใช้งาน ChatGPT

  1. เข้าหน้าเว็บ OpenAI เพื่อสมัครสมาชิก โดยสามารถผูกกับ Gmail, Microsoft หรือจะ Apple account ก็ได้ (ในรูปตัวอย่างจะเป็นการผูกกับบัญชี Gmail)
  2. กรอกข้อมูล ชื่อ นามสกุล วันเกิด
  3. กรอกเบอร์โทรศัพท์ และรอรับ SMS เพื่อยืนยันตัวตน แล้วเข้าใช้งานได้เลย

วิธีการเข้าใช้งาน ChatGPT

หลังจากสมัครสมาชิกเรียบร้อย สามารถเข้าใช้งานได้ทันที โดยการเข้าใช้งาน ให้เข้าไปที่ เข้าไปที่ https://chat.openai.com/ จากนั้นสามารถพิมพ์คำถาม หรือพูดคุยได้ที่ช่องแชทด้านล่าง ดังรูป

หน้าแรกของ ChatGPT

หน้าแรกของ ChatGPT

เมื่อเรากดส่งคำถามไป ChatGPT ก็จะตอบกลับมาดังรูปด้านล่าง โดยเราสามารถให้คำแนะนำคำตอบของมันได้ตรงส่วนที่ 1 ดังรูป, สามารถกดแชร์ผลลัพธ์ไปให้เพื่อน ๆ ต่อได้ด้วย โดยกดตรงส่วนที่ 2 และถ้าต้องการสร้าง Chat ใหม่ (ควรสร้างใหม่เมื่อเปลี่ยนหัวข้อการพูดคุย) ให้กด “+ New chat” ที่ส่วนที่ 3

การใช้งาน ChatGPT

การใช้งาน ChatGPT

นอกจากนี้ ยังสามารถตั้งค่าการใช้งานได้ด้วย โดยกดที่ส่วนที่ 4 ตามรูปด้านบน เมื่อกดแล้วจะมีเมนูแสดง 3 หัวข้อ คือ Custom instructions, Settings และ Log out

โดยสำหรับส่วน Custom instructions เป็นส่วนที่เราสามารถบอกข้อมูลของเราเบื้องต้นไว้ก่อนได้ เพื่อให้ ChatGPT เข้าใจบริบทของเรามากยิ่งขึ้น และจะตอบกลับเราได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

ChatGPT Custom instructions

ChatGPT Custom instructions

ตามรูปด้านบน Custom instructions จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

  1. “What would you like ChatGPT to know about you to provide better responses? เป็นส่วนที่เราสามารถใส่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอง เช่น อาชีพของเรา, บริษัทของเรา, เป้าหมายของเรา เพื่อให้ ChatGPT รู้จักเราดีมากขึ้น และมีแนวโน้มจะตอบในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับบริบทของเรามากยิ่งขึ้น
  2. “How would you like ChatGPT to respond? เป็นส่วนที่เราสามารถบอกมันได้ว่าการตอบกลับแบบไหนที่เราอยากได้ เช่น ใช้ภาษาที่เป็นทางการ, ให้ตอบยาว ๆ เป็นต้น

และสำหรับเมนู Settings จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ General และ Data Control ดังรูป

การตั้งค่า ChatGPT

การตั้งค่า ChatGPT

สำหรับ General เราสามารถปรับธีมการใช้งานได้ เช่น Dark mode, Light mode และสามารถลบข้อมูล Chat ทั้งหมดก็ได้เช่นกัน

และในส่วน Data Controls จะเป็นเรื่องของข้อมูล สำหรับเมนูแรกที่ชื่อว่า Chat history & training จะเกี่ยวกับการนำข้อมูลไปใช้ฝึกฝน ChatGPT ต่อ ดังนั้นหากเป็นข้อมูลที่เป็นความลับ ก็แนะนำให้มาปิดเมนูตรงนี้ก่อน (แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ควรเอาข้อมูลที่เป็นความลับมาคุยกับ ChatGPT ตั้งแต่แรกนะ) แต่การปิดในส่วนนี้ จะแลกมาด้วยการที่เราไม่สามารถเก็บประวัติการคุย หรือ Chat history ได้นั่นเอง ส่วนเมนูอื่น ๆ จะเกี่ยวกับการ Share ข้อมูล ทุกคนสามารถเข้าไปลองเล่นกันได้เลย

การเข้าใช้งาน ChatGPT เบื้องต้น มีประมาณนี้ แต่ยังมีเมนูยิบย่อยอีกมากมายที่ทุกคนสามารถลองเข้าไปใช้กันได้ครับ

การเข้าใช้งาน ChatGPT บนโทรศัพท์มือถือ

ตอนนี้เราสามารถเข้าใช้งาน ChatGPT บนโทรศัพท์มือถือได้ด้วยเช่นกัน แต่ถ้าคนที่เคยลองเข้าไปหาแอปฯ ChatGPT ใน App store หรือ Play store จะเห็นว่ามีแอปฯ ที่ไอคอนคล้ายกับ ChatGPT เยอะจนเกิดคำถามว่า “ChatGPT คือแอปฯ ไหนกันแน่” เพื่อไม่ให้เป็นการสับสน ทุกคนสามารถดาวน์โหลดแอปฯ  ChatGPT จาก OpenAI ได้ที่ลิงค์ด้านล่างเลย

  1. ดาวน์โหลด ChatGPT สำหรับ Apple
  2. ดาวน์โหลด ChatGPT สำหรับ Android

โดยการใช้งานก็เหมือนกับบนคอมพิวเตอร์เลย สามารถพิมพ์ข้อความที่กล่องข้อความด้านล่าง และดูเมนูเพิ่มเติมได้ที่ปุ่ม “…” ด้านบนขวาของหน้าจอ

ChatGPT มีค่าใช้จ่ายไหม เดือนละกี่บาท และแบบฟรีกับเสียเงินต่างกันอย่างไร

ในปัจจุบัน ChatGPT จะมี 2 รูปแบบให้เลือกใช้หลัก ๆ คือ GPT-3.5 กับ GPT-4 โดยเราสามารถเข้าใช้งาน ChatGPT ได้ฟรีในรูปแบบของ GPT-3.5 แต่หากต้องการใช้ GPT-4 ที่เป็นเวอร์ชันที่ใหม่กว่า ฉลาดกว่า จะต้องสมัครสมาชิก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเดือนละ $20 หรือประมาณ 700 บาท

ChatGPT แบบฟรีกับเสียเงินต่างกันอย่างไร

ChatGPT แบบฟรีกับเสียเงินต่างกันอย่างไร

นอกจากเรื่องความฉลาดแล้ว ข้อดีของ GPT-4 คือสามารถเชื่อมต่อกับระบบเสริม หรือ Plug-in ที่จะยิ่งทำให้การทำงานสะดวกขึ้นไปอีก เช่น Plug-in ที่สร้างกราฟให้, Plug-in ที่สามารถดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ได้ หรือ Plug-in ที่สร้างรูปภาพได้จากคำสั่งที่พิมพ์ไป เป็นต้น

จริง ๆ แล้ว GPT-3.5 ก็สามารถตอบคำถามหรือช่วยงานของเราได้มากพอสมควรแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเจ้า GPT-4 นั้นเก่ง และสะดวกกว่าจริง ๆ ดังนั้นใครที่ตัดสินใจอยู่ควรศึกษารายละเอียด และพิจารณาให้ดีก่อนนะครับ


วิธีใช้งาน ChatGPT

จริง ๆ แล้ว การใช้งาน ChatGPT ก็เหมือนกับการคุยกับคน ๆ หนึ่งผ่าน Chat เราสามารถปฏิบัติเหมือนมันเป็นคนหนึ่งคนได้เลย สามารถคุยเหมือนเพื่อน เหมือนเจ้านาย หรือเหมือนลูกค้าก็ได้ แต่การจะคุยอย่างมีประสิทธิภาพ หรือเพื่อให้ ChatGPT ตอบคำถามได้ตรงประเด็น และถูกต้องมากยิ่งขึ้น เราควรรู้จักคำว่า “Prompt” หรือคำสั่งสำหรับสื่อสารก่อน

Prompt คืออะไร

Prompt คือ คำสั่งเพื่อให้ AI ทำงานได้ตามที่เราคาดหวังเอาไว้ หรือถ้าให้เปรียบเทียบง่าย ๆ กับเจ้า ChatGPT ที่เป็น Chat bot แล้ว Prompt เหมือนเป็น “ประโยคเปิดบทสนทนา” ในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้ ChatGPT เข้าใจบริบทว่าตอนนี้คุยเรื่องอะไรอยู่

“Imagine you’re having a conversation with a smart computer that understands what you’re saying. When you want to talk to this computer, you say something to start the conversation. That thing you say to start the chat is called a “prompt” It’s like giving the computer a little hint about what you want to talk about.” – ChatGPT

เพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น ถ้าคุณต้องการถาม ChatGPT เกี่ยวกับสภาพอากาศ Prompt ของคุณอาจจะเป็น “วันนี้อากาศเป็นอย่างไร” ChatGPT ก็จะใช้ Prompt นี้ในการเข้าใจว่าคุณต้องการข้อมูลอะไร แล้วตอบกลับมาโดยอิงจากที่คุณถามนั่นเอง

การออกแบบ Prompt ให้มีประสิทธิภาพ

หลาย ๆ คนมักจะมีเทคนิคการสร้าง Prompt ให้มีประสิทธิภาพหลายข้อ แต่หลักการจริง ๆ ในการสร้าง Prompt ให้มีดีที่ Skooldio อยากให้ทุกคนจำไว้มีเพียง 2 อย่าง ได้แก่

  1. Be Clear and Specific: เขียน Prompt ให้ชัดเจน และตรงประเด็น เพื่อให้ ChatGPT สามารถเข้าใจได้ง่ายว่าคุณต้องการอะไร
  2. Provide Context: ให้บริบทเพิ่มเติม เช่น ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ AI สามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น และมีข้อมูลเพียงพอที่จะตอบกลับได้อย่างตรงประเด็น

อยากให้ทุกคนนึกภาพว่า ChatGPT เป็นเหมือนน้องนักศึกษาฝึกงานคนหนึ่ง ที่มีความรู้เยอะมาก ๆ แต่วิธีการทำงานของเค้าก็อาจจะไม่ได้เก่งขนาดนั้น มีมึน ๆ งง ๆ บ้าง ดังนั้นการที่จะช่วยให้น้องคนนี้ทำงานได้ตรงใจเรามากที่สุด นั่นก็คือการสั่งงานให้เคลียร์ และการให้บริบทกับน้องเพิ่มเติมนั่นเอง

ChatGPT ใช้ภาษาไทยได้ไหม

ChatGPT สามารถรับรู้และสร้างข้อความในภาษาไทยได้เช่นกัน นั่นคือเราสามารถใช้ภาษาไทยในการพูดคุยกับมันได้ แต่อย่างที่กล่าวไปด้านบนว่า ChatGPT นั้นถูก “ฝึก” มาจากข้อมูลที่เป็นข้อความ ซึ่งข้อความภาษาไทยในอินเทอร์เน็ตนั้นมีจำนวนน้อยกว่าข้อมูลภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก ทำให้ความฉลาดของมันไม่เท่ากับการพูดคุยเป็นภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้ ChatGPT ยังตอบกลับเป็นข้อความภาษาไทยได้น้อยกว่าข้อความภาษาอังกฤษ ทั้งนี้เนื่องจากการตอบกลับของ ChatGPT ในแต่ละครั้ง จะมีการจำกัดจำนวน Token ซึ่งตัวอักษรภาษาไทยใช้ Token เยอะกว่าภาษาอังกฤษนั่นเอง

ChatGPT ใช้ภาษาไทยได้ไหม

ChatGPT ใช้ภาษาไทย VS. ภาษาอังกฤษ

จากรูปจะเห็นว่าหากใช้ภาษาไทย คำตอบที่ได้จะดูมึน ๆ งง ๆ อย่างเช่นข้อ 3 หรือ ข้อ 10 รวมถึงการใช้ภาษาก็จะไม่เหมือนมนุษย์เท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม การสื่อสารกับ ChatGPT เป็นภาษาไทย ก็ดีขึ้นมาก ๆ ในเวลาไม่ถึง 1 ปีที่ผ่านมา และยังมีการพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน

Tips: สำหรับคนที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ สามารถใช้ Google Translate แปลแบบผิด ๆ ถูก ๆ ไปก่อนก็ได้ เจ้า ChatGPT มันจะพยายามเข้าใจประโยคนั้นเองถึงแม้ว่าจะผิด Grammar ก็ตาม

ChatGPT ทำอะไรได้บ้าง 

จริง ๆ แล้ว ChatGPT สามารถทำได้แทบจะทุกอย่าง ถ้าคุณต้องการคำตอบกลับมาในรูปแบบ “ข้อความ” แต่ตัวอย่างของการใช้งานที่ถูกนำมาใช้บ่อย ๆ เช่น

  1. การแปลงข้อความ (Text transformation) เช่น จัดรูปแบบข้อมูล, ปรับโทน, แก้ไวยากรณ์
  2. การสกัดข้อมูลจากข้อความ (Information extraction) เช่น ดึงอีเมล, ชื่อเฉพาะ
  3. การจำแนกข้อความ (Text classification) เช่น ความรู้สึก (sentiment), หมวดหมู่ต่างๆ 
  4. การสรุปข้อความ (Text summarization)
  5. การเขียนข้อความ (Text generation) เช่น แต่งกลอน, เขียนบทความ, เขียนอีเมล
  6. การถามตอบ (Question Answering)
  7. การช่วยคิดไอเดีย (Idea Generation) เช่น คิดไอเดียทำสไลด์, คิดบทพูด, คิดไอเดียแก้ปัญหา

เนื่องจากความสามารถที่หลากหลาย จึงมีการนำ ChatGPT ไปประยุกต์ใช้ที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งเรื่องในชีวิตประจำวัน จนไปถึงการประยุกต์ใช้กับการทำงาน


10 ตัวอย่างวิธีการนำ ChatGPT มาใช้กับสายงานต่าง ๆ

การนำ Generative AI และ ChatGPT มาใช้กับสายงานต่าง ๆ

การนำ Generative AI และ ChatGPT มาใช้กับสายงานต่าง ๆ

Generative AI และ ChatGPT เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในการทำงานในปัจจุบัน และมีงานวิจัยรองรับว่าแทบทุกอาชีพจะได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของ AI จนอาจจะพูดได้ว่า “คนที่ใช้ AI ไม่เป็น จะเหมือนกับคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น” เลยก็ว่าได้ เพราะ AI จะช่วยให้งานเร็วขึ้น ดีขึ้น เหมือนมีผู้ช่วยส่วนตัวนั่นเอง 

Generative AI และ ChatGPT สามารถนำไปประยุกต์กับใช้กับอาชีพแทบทุกอาชีพ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง 10 งาน ที่ AI เข้ามาช่วยเหลือได้

  1. งานด้าน Human Resource: เนื่องจาก ChatGPT สามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่ใส่เข้าไป และช่วยในงานเขียนต่าง ๆ ดังนั้นจึงการใช้งานในงานด้าน HR จึงเป็นไปได้แทบทั้งหมด เช่น การเขียน Job Description โดยให้วิเคราะห์จาก Competencies ที่ต้องการ, การตรวจ Resume ของผู้สมัคร เทียบกับ Job Description, การออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ ภายในองค์กร
  2. งานด้าน Programming: หนึ่งในความสามารถของ ChatGPT นั้นคือเรื่อง Coding มันสามารถเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ได้ ทำให้มีการนำไปใช้งานอย่างหลากหลาย เช่น ช่วย Code, ช่วยตรวจ Bug, ช่วยเรื่องการวางระบบ เป็นต้น
  3. งานด้าน Data: ในงานด้าน Data ส่วนมากที่นำ ChatGPT มาประยุกต์จะเป็นด้านการวิเคราะห์, ช่วยคิดไอเดีย และเรื่อง Coding เช่น การช่วยออกแบบ Dashboard, การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น, เป็นตัวช่วยเขียนโค้ดในภาษาต่าง ๆ 
  4. งานด้าน UX: งานด้าน UX หรือการออกแบบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน สามารถนำ ChatGPT มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลจากลูกค้า และนำข้อมูลเหล่านั้นไปคิดต่อยอด เช่น ช่วยคิดคำถามสัมภาษณ์ผู้ใช้งาน, การช่วยสรุป Feedback, การสรุปข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น
  5. งานด้าน Innovation: การใช้ ChatGPT ก็เข้ามาช่วยให้การคิด Innovation นั้นง่ายขึ้นมากเช่นกัน การสร้าง Innovation ควรเริ่มจากการเข้าใจลูกค้า แล้วนำข้อมูลของลูกค้ามาสร้างเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ ซึ่ง ChatGPT ก็เข้ามาช่วยได้ทั้งกระบวนการ เช่น การหาข้อมูลลูกค้า, การสรุปข้อมูล, การคิดไอเดียแก้ปัญหา ไปจนถึงการทดสอบ
  6. งานด้าน Marketing และ SEO: งานด้านการตลาด เช่น การช่วยคิดคอนเทนต์, การวางแผนและคิดกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมกับสินค้านั้น ๆ รวมถึงด้าน SEO เช่น การช่วยคิดและจัดกลุ่ม Keyword, เป็นตัวช่วยในการเขียน Blog เป็นต้น
  7. งานด้าน Sales: ผู้ที่เป็นตัวแทนขาย หรือผู้ที่ต้องติดต่อกับลูกค้า สามารถใช้ ChatGPT ในการเตรียมข้อมูล, สำรวจตลาด, เตรียม Personalized sales pitch, เตรียมสไลด์ เพื่อเพิ่มความเป็นมืออาชีพก่อนไปคุยกับลูกค้าได้ ซึ่งก็เป็นการช่วยเพิ่มโอกาสปิดการขายได้อย่างมากเลย
  8. งานด้านภาษาอังกฤษ: หนึ่งในความสามารถของ ChatGPT คือการรู้ภาษา ทำให้เราสามารถถามเรื่องเกี่ยวกับภาษาได้โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ทั้ง “ฟัง พูด อ่าน เขียน” เช่น ช่วยสรุปข้อความยาว ๆ ให้สั้นลง อ่านง่ายขึ้น, ช่วยเขียนอีเมล เขียนบทความภาษาอังกฤษ, ช่วยตรวจการออกเสียงภาษาอังกฤษให้พูดได้เป๊ะมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
  9. งานด้าน Graphic Design: นอกจาก ChatGPT แล้ว ยังมี AI ที่สามารถสร้างรูปภาพต่าง ๆ ขึ้นมาได้ หรือที่หลาย ๆ คนมักเรียกติดปากว่า “AI วาดรูป” ทำให้คนที่ต้องทำรูปภาพสามารถใช้ AI ในการช่วยทำงานได้ เช่น การสร้างรูปจากข้อความ, การต่อยอดจากภาพต้นฉบับ ให้กลายเป็นรูปเพิ่มเติมหลายรูป, การปรับรูปแบบของภาพ เป็นต้น
  10. งานด้าน Architect: อย่างที่เล่าไปว่ายังมี Generative AI ตัวที่สามารถสร้างรูปภาพต่าง ๆ ขึ้นมาได้ ซึ่งสายงานด้านสถาปัตยกรรมจึงได้ประโยชน์จาก AI ประเภทนี้ไปเต็ม ๆ มันสามารถต่อยอดสร้างภาพที่สมจริงจากแบบร่างได้เลย ช่วยให้สายสถาปัตย์ไม่ต้องมานั่งทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ช่วยคิดไอเดียเร็ว ๆ ไปเสนอลูกค้าก่อนมาลงแรงจริงได้ดีเลยทีเดียว

จะเห็นว่า Generative AI และ ChatGPT เข้ามาช่วยในการทำงานเป็นอย่างมาก งานบางอย่างสามารถทำเสร็จเร็วขึ้นกว่า 10 เท่า ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนที่ใช้ AI เป็นจะได้เปรียบคนที่ใช้ AI ไม่เป็น ดังประโยคที่ว่า “AI will not replace you. A person using AI will.”

ตอนนี้การเข้ามาของ AI ยังถือเป็นแค่ช่วงเริ่มต้น แต่ก็สร้างผลกระทบต่อการทำงานอย่างมาก ในอนาคตอันใกล้นี้ AI จะถูกพัฒนาให้เก่งขึ้นอีกเป็นหลายเท่าตัว ซึ่งก็จะกระทบต่อการทำงานเป็นหลายเท่าตัวเช่นกัน ดังนั้นการเรียนรู้เรื่อง Generative AI และ ChatGPT หรือ ศึกษาเรื่อง AI วาดรูป รวมถึงการปรับตัวให้สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้เลย

อ่านต่อ: รวม 40 ChatGPT Prompts สำหรับ 8 สายงาน ทำให้คุณทำงานเร็วขึ้น 10 เท่า

ข้อควรระวังในการใช้งาน ChatGPT

การใช้ ChatGPT ให้มีประสิทธิภาพนั้น ควรเข้าใจข้อจำกัดของมันเพื่อให้ใช้งานได้อย่างถูกต้อง ซึ่งโดยทั่วไปมีข้อที่ควรระวังอยู่หลัก 2 ข้อ ได้แก่ ความถูกต้องของข้อมูล และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

  1. ความถูกต้องของข้อมูล: ในความเก่งกาจของ ChatGPT นั้น ก็มีหลายทีที่ข้อมูลผิดพลาด สาเหตุหลัก ๆ คือ วิธีการตอบกลับของ ChatGPT นั้นคือการ “เดา” คำถัดไป โดยอ้างอิงจากข้อมูลต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต ดังนั้นหากข้อมูลในเรื่องนั้น ๆ มีน้อย ก็อาจจะทำให้ ChatGPT เกิดความสับสน จนอาจตอบคำตอบที่ผิดออกมาได้ (และมันจะตอบแบบมั่นใจมาก ๆ จนทำให้บางทีเราก็คิดว่าข้อมูลนั้นถูกแล้ว) จึงควรตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนนำข้อมูลไปใช้
  2. ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล: อย่างที่บอกไปแล้วว่า ChatGPT นั้นมีการนำข้อมูลที่เราบอกมัน ไปพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่จะนำข้อมูลที่เป็นความลับไปคุยกับมัน เพราะข้อมูลนั้นอาจหลุดออกไปสู่โลกภายนอกได้ (ถ้าจะคุย ก็ควรปรับข้อมูลให้เป็น anonymous ก่อน) หรือต้องไปปิดการตั้งค่าใน Settings ในหัวข้อ Chat history & training ซะก่อน

ถึงจะรอบรู้ขนาดไหน ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอไป ดังนั้นการเรียนรู้การใช้งาน ChatGPT อย่างถูกต้อง จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรทำก่อนการใช้งาน เพื่อให้ทุกคนใช้งานได้อย่างอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุด


หวังว่าทุกคนจะได้รับความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ ChatGPT กันไปไม่มากก็น้อย สุดท้ายผมอยากจะฝากไว้ว่า AI เป็นสิ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคนไปแน่ ๆ คนที่ใช้ AI ไม่เป็น จะเหมือนกับคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น ดังนั้นการรีบปรับตัวให้อยู่ร่วมกับ AI ได้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ

ถ้าไม่อยากพลาดความรู้ดี ๆ แบบนี้ อย่าลืมกดติดตาม Skooldio บน Facebook, Instagram และ TikTok เอาไว้ด้วย ขอบคุณคร้าบบบบ

Bhumibhat Imsamran
Business Development Associate | Skooldio

More in:AI

Comments are closed.