ชวนเจาะเคล็ดลับการปรับตัวของ Workpoint จากธุรกิจทีวียุค Analog สู่ผู้นำด้านสื่อในยุค Digital ที่มี ‘ผู้ติดตามในช่อง YouTube มากที่สุดในไทย’ พร้อมการเป็นผู้อยู่เบื้องหลังวิธีสร้างรายการสุดปังอย่าง The Mask Singer, I Can See Your Voice หรือ The Rapper
ไปจนถึงภารกิจสร้างแพลตฟอร์มอย่าง T-POP Stage Show เพื่อส่งออก Soft Power ไทยอย่าง T-Pop ไปสู่เวทีโลก กับ ‘คุณกร – ชลากรณ์ ปัญญาโฉม’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัล จาก Workpoint
อยากให้คุณกรช่วยเล่า ‘เส้นทางการทำงานกับทาง Workpoint’ ตั้งแต่ยุคทีวี Analog จนถึงจุดเปลี่ยนผ่านมาในช่วงทีวี Digital
ช่วงแรก ๆ ที่เริ่มทำงานกับ Workpoint สมัยนั้นบริษัทยังเป็น Production House มีหน้าที่ในการผลิตรายการให้กับช่องอื่น ๆ แต่หลังจากที่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็เริ่มขยายหน้าที่ในส่วนของการทำโชว์ คอนเสิร์ต และส่วนอื่น ๆ มากขึ้น จนมีโอกาสได้ดูแลทั้งช่องทีวีในยุคดาวเทียมและดิจิทัลของทาง Workpoint ซึ่งก็ต้องรับมือกระแสของโลกออนไลน์ที่เข้ามาหลังจากนั้นด้วยเช่นกัน
การรับหน้าที่ดูแลช่องทีวีของ Workpoint จะต้องหารายการที่เป็นสีสันใหม่ ๆ ให้ช่องอยู่เสมอ โดยขั้นแรกจะต้องออกแบบหน้าตาให้ช่อง หรือการทำ Branding Design เช่น การวางผังรายการที่มีทั้งรายการวาไรตี้, เกมโชว์ และข่าว พอจำนวนรายการมีมากขึ้น ก็ต้องทำให้แต่ละรายการมีจุดเด่น ไม่ซ้ำกัน จึงไปหาประเภทรายการอื่น ๆ ที่แตกต่างมา โดยก่อนหน้านี้ Workpoint เคยมีประสบการณ์ในการทำรายการยอดนิยมจากต่างประเทศอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น The Voice season 1, season 2, Thailand’s Got Talent เลยมีความคิดที่จะซื้อรายการจากต่างประเทศมาทำอีกบ้าง
อย่างในช่วงที่มีโอกาสดูแลทีวีดาวเทียม เป็นช่วงที่เดินสายทั่วประเทศเพื่อดูว่าคนดูชอบดูอะไร และในอีกช่วงที่ได้ดูแลทีวีดิจิทัล ก็เป็นช่วงที่เดินสายต่างประเทศเพื่อไปดูว่าคนอื่นผลิตรายการอะไรกันบ้าง และได้มีโอกาสพูดคุยกับโปรดิวเซอร์รายการของสถานีโทรทัศน์ต่างประเทศ จนได้รายการชื่อดังอย่าง I Can See Your Voice มาทำในที่สุด
เหตุผลของการเลือกรายการยอดฮิตมาทำให้ถูกจริตคนไทย ?
เหตุผลที่เลือกรายการ I Can See Your Voice ด้วยปัจจัยแรก คือ ประสบการณ์จากการทำรายการ ‘ตลก 6 ฉาก’ ซิทคอมยอดฮิตที่มีฉากจบเป็นร้องเพลง ของ คุณพีค – ภัทรศยา เครือสุวรรณศิริ เป็นภาพจำของรายการ
และได้มีโอกาสได้พูดคุยกับโปรดิวเซอร์รายการ ณ ขณะนั้น อย่างคุณ Don Kang – ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Netflix VP, Content (Korea) ได้นำเสนอกับคุณกรว่า “รายการร้องเพลงส่วนใหญ่ คนร้องเพลงดีเท่านั้นจะดัง แต่รายการนี้ ไม่ต้องร้องเพลงดีก็ดังได้” พอได้ฟังก็เลยอยากลองเริ่มทำดู และด้วยความสามารถของโปรดิวเซอร์หลักของ Workpoint เองก็สามารถปรุงให้รายการเป็นรสคนไทยมากขึ้นได้ จนทำให้รายการประสบความสำเร็จได้
หรือรายการดังอีกรายการหนึ่งอย่าง ‘The Mask Singer’ ก็ได้คุณ Don Kang แนะนำมาอีกเช่นกัน ตอนแรกก็รู้สึกว่าเป็นรายการที่ตลกดี มีคนใส่หน้ากากกระดาษมาร้องเพลง เลยได้ให้มอบโจทย์นี้ต่อกับโปรดิวเซอร์ของ Workpoint ที่ได้สร้างสรรค์รายการออกมาให้มีความน่าสนใจมากขึ้นจากเวอร์ชั่นต้นฉบับ จากการทำเพียงหน้ากากกระดาษ ก็เปลี่ยนให้เป็นชุดมาสคอตที่มีความอลังการมากขึ้นกว่าเดิม
มองว่า The Mask Singer ประสบความสำเร็จด้วยเหตุผลอย่างหนึ่ง คือ เป็นช่วงเวลาที่ตรงกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ Facebook และ Youtube อยากทดลองฟังก์ชันในการไลฟ์พอดี ทำให้คนที่ไม่อยู่บ้านก็สามารถดูรายการบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ ส่วนคนที่อยู่บ้านก็ยังดูรายการทางทีวีได้เหมือนเดิม
แพลตฟอร์มกับคอนเทนต์เป็นของคู่กัน ฉะนั้น เวลาแพลตฟอร์มจะทำอะไร ก็ต้องมาคุยกับคนทำคอนเทนต์ก่อน
ในช่วงที่ Workpoint ได้ปล่อยรายการออกมามากมาย รวมถึงได้ทดลองช่องทางบนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วยภายในบริษัทฯ มีแนวทางการตัดสินใจที่สนับสนุนทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้อย่างไรบ้าง ?
ภายในบริษัทค่อนข้างมีความ Unity ใครอยากทำเรื่องใหม่ ๆ อะไรก็ทำได้ แต่จะคอยช่วยจัดการความเสี่ยงนั้นให้ “สมมติถ้าไม่เวิร์ค เดี๋ยวพี่ก็เลิกเองแหละ” (หัวเราะ) รวมถึงมีการสื่อสารกับทุกคนให้ชัดเจนว่าจะทดลองทำอะไรใหม่ ๆ แล้วมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง ถ้าผลออกมาไม่เป็นไปตามที่คิด ก็ค่อยเลิกทำกันไป
แล้วมีแนวทางการทำความความเข้าใจคนดู เพื่อทำในสิ่งที่ตรงความต้องการของคนดูอย่างไรบ้าง ?
การทำคอนเทนต์ให้ตรงกับความเข้าใจคนดู ต้อง ‘ทำให้เยอะ’ เพื่อให้มีประสบการณ์และเกิดเป็น Sense of Content ที่สามารถจับทางที่คนดูต้องการได้
ประเภทของคอนเทนต์ที่คนทั้งโลกมักจะชอบดู มีอยู่ 5 ประเภท ได้แก่ สัตว์ประหลาด, อาชญากรรม, ขำ, ซึ้ง และ Local Content
อย่าง I Can See Your Voice ก็อยู่ในประเภท ‘ขำ’, The Mask Singer อยู่ในประเภท ‘สัตว์ประหลาด’ ส่วน The Rapper เป็นส่วนผสมระหว่าง ‘สัตว์ประหลาด และ Local Content’
โอกาสที่ได้เรียนรู้จากแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Facebook, Youtube ?
การทำงานของแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็เหมือนกับ AI ในช่วงแรกที่แพลตฟอร์มเหล่านี้ ทดลองทำอะไรใหม่ ๆ ก็ยังไม่มีแนวทางของ Product นั้นที่ชัดเจน แต่พอผ่านไปสักระนะหนึ่ง อาจจะประมาณ 3 ปี ก็มี Data ในมือที่เยอะขึ้น จึงจะค่อย ๆ รู้ว่าควรปรับหรือเปลี่ยนแปลงทิศทางของ Product นั้นให้ไปในแนวทางใด ซึ่งก็มีถูกบ้างผิดบ้างเป็นธรรมดา
ยกตัวอย่างเช่น ฟังก์ชั่น Live ของ Facebook ในวันที่ทดสอบเป็นวันแรก ๆ ตอนนั้นมองว่าฟังก์ชั่นนี้จะต้องเป็นฟังก์ชั่นที่คนไทยเอามาใช้ในการขายของอย่างแน่นอน เพราะขนาดแพลตฟอร์มอย่างโทรทัศน์ คนไทยก็ยังสามารถใช้ในการขายของได้เช่นเดียวกัน
อยากให้เล่าที่มาของการการที่คุณกรได้ผันตัวมาสร้างแพลตฟอร์มให้กับ T-POP เพื่อที่จะจุดกระแสนี้ให้ไปไกลระดับโลก ?
มีโอกาสไปงานของ Google ที่มีการรวมตัวกันของผู้ผลิตรายการดัง ๆ ทั่วโลก อย่างเช่น CEO จาก Disney, Netflix ได้มีโอกาสได้พูดคุยกัน ทำให้ได้ทราบ Insights อย่างหนึ่ง ว่าทั่วโลกสนใจคอนเทนต์ ‘เพลง’ จากประเทศไทย
ถ้าจะนำคอนเทนต์จากประเทศไทยให้ไปไกลในระดับโลกได้ ไปด้วยเพลงง่ายที่สุด เพราะจับแค่จังหวะและอารมณ์ ส่วนคอนเทนต์เกมโชว์, วาไรตี้ มันเรื่องของมีกำแพงภาษา
จึงตัดสินใจที่จะทำอะไรเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเพลง และเริ่มที่ T-POP
สำหรับชื่อ T-POP มองว่าการมีชื่อเรียกแบบนี้จะทำให้อะไร ๆ ง่ายขึ้น อย่างการริเริ่มทำ T-POP Stage Show เวทีสำหรับเหล่าศิลปินในการแสดงผลงานเพลงของตนเอง ทุกคนทุกค่าย ต่างก็มีเป้าหมายที่จะมาออกรายการนี้ เพราะอย่างน้อยศิลปินทุกคนก็จะได้ Media Exposure (การเปิดรับข่าวสารจากสื่อ) กลับไป
สามารถเรียกว่า Workpoint เป็นคนจุดกระแส T-POP ขึ้นมาได้หรือไม่ ?
มองว่าเป็นการหยิบสิ่งที่มีอยู่แล้ว มา ‘ขีดเส้นใต้’ ให้คนอื่นเห็นความสำคัญมากขึ้นมากกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับอุตสาหกรรมเพลงและประเทศด้วย เพราะตอนนี้ประเทศก็มีความกึ่ง ๆ ที่จะเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมดนตรี ซึ่งมีผลมาจากการที่คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตกันเยอะ โดยเฉพาะในส่วนของ Music รวมถึงแฟนคลับชาวไทยเองที่พร้อมสนับสนุนศิลปินเช่น การช่วยดันให้ติดเทรนด์ X โลกอยู่เสมอ
แต่ก็มีมุมที่น่าเป็นห่วงคือ ฝั่งประเทศเกาหลีก็พยายามที่จะเข้าหาประเทศไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งบริษัทในไทย, เลือกคนไทยไปอยู่ในวงของเกาหลีเอง หรือประเทศญี่ปุ่น อินโดนิเซีย ก็มีท่าทีเช่นเดียวกัน ซึ่งในมุมมองของผู้เสพสื่อ หรือคนดู ก็ดีเพราะมีของให้เลือกเยอะ แต่ในมุมมองของผู้ผลิต หรือคนทำ ก็ต้องมีความแข็งแรงในการผลิต และนำส่งสื่อเหล่านี้ออกไปนอกประเทศให้ได้บ้าง
ซึ่งพอบอกว่าเราจะเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเพลง การมีค่ายเพลงก็จะทำให้เข้าใจปัญหามากขึ้น จึงเกิดเป็นค่าย ‘XOXO Entertainment’ ขึ้น
แล้วทำไมทางค่ายถึงเลือกที่จะเริ่มต้นปั้นวง ‘4EVE’ มาปั้นเป็นวงแรก ?
หลังจากที่ได้คุยกับโปรดิวเซอร์ต่างประเทศ ก็ได้รู้ว่าการปั้นบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปนั้นยากที่สุด เพราะถ้าเป็นศิลปินวงเพลงร็อค, เพลงป็อป, ศิลปินเดี่ยว, กลุ่มอินดี้ หรือบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปบางคนก็อาจจะทำเพลงกันเอง แต่สำหรับการทำวงจะต้องดูแลเรื่องของแฟชั่น, เสื้อผ้าหน้าผม, การแต่งตัวให้ศิลปินด้วย เพราะการ “ทำวงผู้หญิงให้คนรัก มันไม่ได้ง่าย”
ส่วนในแง่การทำวงและทำเพลง ก็ใช้ Data เป็นตัวจัดการ รวมกับความชำนาญในการใช้โซเชียลมีเดีย อย่างวง 4EVE เองที่มีอายุวง 2 ปีที่มีประมาณ 20 เพลง ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับศิลปินยุคนี้ แต่ถ้าเทียบกับศิลปินในยุคก่อน ๆ ที่ออกอัลบั้ม ปีละ 1 อัลบั้ม มี 9-10 เพลง แต่ศิลปินสมัยนี้ออกเพลงเป็น Single แล้วก็จะมีความกังวลด้วยว่าเพลงนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่
สำหรับ 4EVE อัลบั้มแรก ปล่อยเพลงออกมาก่อนเดือนละ 1 เพลง จนถึงเพลงที่ 3 ถึงปล่อยเต็มทั้งอัลบั้ม แต่ก็มีประแสตอบรับไม่ค่อยดีจากแฟนคลับที่รู้สึกว่าปล่อยเพลงถี่ไป เพลงเก่ายังไม่ได้โปรโมทก็มีเพลงใหม่ออกมาแล้ว แต่สำหรับคนทั่วไป อาจจะทำให้เห็นผลงานน้อง ๆ ผ่านตาบ่อยมากขึ้น
เมื่อก่อนจะชอบให้น้อง ๆ ถ่ายคลิป Youtube กันบ่อย แล้วไม่ต้องปล่อยเพลง แต่ก็มองว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่ ผสมผสานกันไป ถ้าถ่ายคลิปบ่อยเกิน คนอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็น Youtuber ก็ได้ จึงต้องบาลานซ์ระหว่างการทำคอนเทนต์ใน Youtube บ้างและกลับมาออกผลงานเพลงบ้าง
การที่ 4EVE ประสบความสำเร็จ นอกจากความเก่งของเมมเบอร์ ผลงานเพลงที่ดีแล้ว ก็มาจากความสามารถของคุณกรในการทำความเข้าใจโซเชียลมีเดีย และได้ทดลองกับพื้นที่ตรงนี้ด้วยหรือไม่ ?
ไม่ได้คิดว่าตัวเองเข้าใจและมองโซเชียลมีเดียได้ขาดขนาดนั้น แต่จะเป็นแนว ‘ทำไปดูผลไป’ มากกว่า ช่วงหลัง ๆ จะเห็นรูปพี่อยู่กับ 4EVE อยู่ตลอดเวลา เพราะต้องการไปดูว่าผู้ชมเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาไปบ้างหรือไม่ แล้วถ้ายังเป็นคนที่หน้าตาคุ้นเคยอยู่ไปเรื่อย ๆ หมายความว่าวงดนตรีวงนี้เป็นวงดนตรีแบบ Target ที่ต้องเน้นการเอาใจแฟนคลับ แต่ถ้าอยากจะทำวงในระยะยาว ก็ควรต้องมีการเพิ่มคนดูกลุ่มใหมเรื่อย ๆ เลยชอบที่จะทำอัลบั้ม เพราะช่วยให้เห็นภาพของการเป็นวงที่ชัดกว่า
พอเห็นภาพทั้งการทำวง ทำค่าย สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณกรมองเห็นอนาคตของ T-POP เป็นอย่างไรถึงได้ร่วมกับ SCB เริ่มทำแอป T-POP จริงจัง ?
แอปพลิเคชัน T-POP ตอนนี้ค่อนข้างโตขึ้นเรื่อย ๆ กำลังดูว่าค่ายเพลงต้องการจะใช้ประโยชน์อะไรจากแอปเพิ่มอีก เพราะตอนนี้แอปก็มี Commerce ให้ลองใช้ และเอาค่ายเป็นตัวทดสอบที่ง่ายที่สุด อย่างทางฝั่งเกาหลีเอง ที่มีค่ายเพลงที่ค่อนข้างใหญ่มาก ทำให้แต่ละค่ายสามารถมีแอปพลิเคชันของตัวเองได้ เช่น Weverse รวมถึงมีระบบแฟนคลับแบบจริงจัง ต่างกับประเทศไทยที่ต้องบริหารทั้งแฟนคลับและแฟนเพลง ศิลปินที่มีแฟนเพลงเยอะ ก็พยายามเปลี่ยนแฟนเพลงกลุ่มนั้นให้เป็นแฟนคลับ ส่วนศิลปินที่แฟนคลับเยอะ ก็ต้องพยายามหาแฟนเพลงมาเพิ่มให้อีก ซึ่งถ้าจะให้เวิร์กก็ต้องมีทั้งแฟนเพลงและแฟนคลับ
ตอนนี้ตัวแอปตอนนี้ ก็มี Weekly Chart ให้แฟนคลับได้มาโหวต โดยดึงข้อมูลมาจาก Spotify, Youtube มา เมื่อเราเข้าแอปไปแล้วไม่รู้จักใคร ก็สามารถกดเข้าไปฟังเพลงศิลปินคนนั้นได้ ถือเป็นการเรียกแฟนคลับให้ศิลปินเพิ่มขึ้นด้วย ในขณะเดียวกัน พอ Metrology เอาข้อมูลจาก Spotify, Youtube มา ที่มีฐานของแฟนเพลงอยู่ การที่มียอดฟังเพลงเยอะ ก็แสดงถึงยอดแฟนเพลงที่เยอะด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ต้องบาลานซ์แฟนทั้งสองประเภทให้พอดีกัน
ถ้าไม่ได้มีแฟนคลับเยอะจริง ๆ ก็ดูว่าต้องมีแฟนเพลงเยอะขนาดไหน หรือถ้าแฟนเพลงไม่ได้เยอะ จะต้องมีแฟนคลับเยอะขนาดไหน ถึงจะไปกันได้
อนาคตของ T-POP จะเป็นอย่างไรบ้าง ?
จริง ๆ ต้องวานรัฐ ไม่มีตัวเลือกอื่นเลย เพราะอย่างประเทศเกาหลี สถานีโทรทัศน์ทุกสถานีมีงานเพลง แต่บ้านเราไม่มีใครทำ เพราะไม่ได้เงิน ต้องออกแรง ต้องอาศัยสปอนเซอร์ที่ใจดี และรัฐก็ต้องเอาด้วยมาสนับสนุน ซึ่งเผื่อใครมาดู โมเมนตัมนี้ต้องรีบจัดการ พเราะว่าช่วงนี้อ่านนิตยสารต่างประเทศเยอะ ก็จะเจออย่างฟิลิปปินส์ P-POP is the future, J-POP coming back และ K-POP ก็ทำให้เห็นแล้ว
มีความเชื่อหนึ่งว่า K-POP มันอาจจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว กำลังรอ Wave ใหม่ ก็เดากันว่าจะเป็น T-POP แต่ถ้าไม่ได้ถูกสนับสนุนโดยรัฐบาล ก็น่าจะยาก เพราะตอนนี้คนในอุตสาหกรรมก็ออกแรงกันเองอยู่ทุกคน
มีอะไรที่ได้เรียนรู้จากการทำงานกับพี่ ๆ รุ่นเดอะมาหลาย 10 ปี อย่างพี่จิก – ประภาส ชลศรานนท์ และพี่ตา – ปัญญา นิรันดร์กุล บ้าง?
พี่ตาเป็นมนุษย์ที่สามารถพูดอะไรก็ได้ให้มันสำคัญได้ตลอดเวลา คนทำรู้สึกฮึกเหิม ถือเป็นสกิลพิเศษที่พี่ตาแกมีแบบเหลือล้นเลย อย่างเราจะได้ยินว่า
ทำอะไรให้สำเร็จ ไม่ใช่ทำแค่เสร็จ ๆ
พี่ฟังพี่ตาประโยคนี้ตั้งแต่เริ่มทำงาน ทำให้ทุกคนมีพลังงานเหลือล้น ตอนได้ยินประโยคนี้เสมอ
ส่วนพี่จิกเป็นมนุษย์ที่ชัดเจนเรื่อง ‘กรอบการทำงานที่ไม่มีกรอบ’ เวลาเรานึกถึงพี่จิก เราจะนึกถึง Creative ไร้รูปแบบ ไม่มีกรอบ แต่จริง ๆ แกมีกรอบของแกอยู่ เวลาแกถามหรือซักไซ้ ก็จะพุ่งไปที่เรื่องนั้นเลย สมมติพี่ทำเพลงมาเพลงหนึ่ง พี่จิกก็จะถามง่าย ๆ ว่า
อยากได้อะไรจากเพลงนี้ แล้วได้สิ่งนั้นจริง ๆ ไหม การที่ถามว่าอยากได้อะไร แปลว่ามีโจทย์ให้อยู่ ไม่ใช่แค่ทำเพราะอยากทำ
ซึ่งการได้ทำงานกับสองคนนี้ ก็จะได้ภาพที่ทำให้การทำงานอยู่ในร่องในรอยมากขึ้น
แล้วอะไรที่ทำให้ Workpoint ปรับตัวได้อย่างสำเร็จในทุกยุค ?
ทำเยอะ (หัวเราะ) แล้วถ้าทำผิด มักจะเป็นผิดที่ ผิดทาง ผิดเวลา เคยทำรายการ Social Icon เป็นรายการที่เอาคนเก่งโซเชียลมีเดียมาไลฟ์แข่งกัน ถ้าทำวันนี้อาจจะดีกว่าทำวันนั้น เหมือนวันนั้นเราเห่อเร็วไปหน่อย ด้วยวันนั้นเทคโนโลยีมันยังไม่ทันใจเรา ทำให้คนดูยังสับสน และเรื่องของดีไซน์ของรายการที่ต้องออกอากาศทั้งทางทีวีและทางออนไลน์ ทำให้ตอนนั้นก็ต้องเลิกไป
สุดท้ายแล้วคุณกรเห็นทิศทางธุรกิจสื่อในอนาคตเป็นอย่างไรบ้าง ?
เดี๋ยวมันจะต้องเจอจุดร่วม แพลตฟอร์มเขาทำคอนเทนต์ คนทำแพลตฟอร์มมีสกิลที่เป็นวิศวกรรมศาสตร์มาก ส่วนคอนเทนต์มันมีเรื่องความรู้สึกค่อยข้างเยอะ เลยต้องหาส่วนผสมให้มันพอดีกัน ซึ่งคงต้องเขย่าไปเรื่อน ๆ สักพักจนเจอจุดร่วม แต่ถ้าให้เดาในระยะ 3 ปีจากนี้ อาจจะพุ่งไปที่ Social Commerce (การขายสินค้าหรือบริการผ่านโซเชียลมีเดีย) ก่อนในระยะสั้น มันเป็นของที่ KPI (ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของงาน) มันชัดที่สุด พอเราคุยกันเรื่อง Engagement, Reach มันมีเรื่องรสนิยม ความต้องการอื่น ๆ ผสมอยู่เยอะ Social Commerce มันถึงแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงนี้
รับชมสัมภาษณ์เต็มในรูปแบบวิดีโอ ได้ที่ Chief’s Table Ep.10