สรุปเนื้อหาจาก Session “The Future of Talent Management 2023”

สรุปเนื้อหาจาก Session “The Future of Talent Management 2023” บนเวที Mission To The Moon Forum 2023 โดย ดร.ต้า วิโรจน์ จิรพัฒนกุล Managing Director จาก Skooldio และ คุณอ้อ พรทิพย์ กองชุน Chief Growth Officer จาก Jitta สองตัวแทนผู้บริหารองค์กรยุคใหม่ที่มาพูดคุยเจาะลึกเทรนด์การเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานในปัจจุบัน พร้อมแชร์เคล็ดลับเรื่อง Talent Management ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรในยุคนี้

ภาพบรรยากาศ Session “The Future of Talent Management 2023” บนเวที Mission To The Moon Forum 2023

1. ภาพรวมตลาดแรงงานทั่วโลกในปี 2023

คุณอ้อเริ่มฉายภาพว่าแนวโน้มตลาดแรงงานทั่วโลกเป็นไปตามเทรนด์ Digital Transformation ที่แฝงอยู่ในทุกอณูของการทำงาน ทำให้ความต้องการ Tech Talent เพิ่มขึ้น ตั้งแต่คนสายเทคอย่าง Software Engineer, UX/UI Designer หรือ Data หรือแม้แต่องค์กรที่ไม่ได้เทคมาก ก็ยังต้องการคนทำงานทั่วไปที่มีทักษะ และความเข้าใจเรื่องการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานให้เก่งขึ้น

อีกเรื่องคือนโยบายและบรรยากาศในการทำงานที่มีความยืดหยุ่น เรื่องของ Work From Home, Work From Anywhere หรือ Hybrid Working ก็เป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมาก

ดร.ต้าเสริมว่าปัจจุบันอาจแบ่งคนได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือคนอาชีพเดิมที่ใช้เทคโนโลยีได้เก่งขึ้น เช่นนักการตลาดที่ยังต้องใช้ทักษะพื้นฐานด้านการตลาด แต่สามารถเข้าใจเรื่องเครื่องมือทางการตลาดใหม่ๆ ยิงแอด Facebook เป็น หรือใช้ Data เป็น กลุ่มนี้ใครขยับ Upskill ก่อนจะได้เปรียบมาก

กลุ่มถัดมาคือคนกลางๆ อาจจะถูกทดแทนด้วยคนที่ใช้ AI ได้เก่ง คนไม่เก่งที่เรียนรู้จะใช้ AI มาช่วยในการทำงานจะสามารถทำงานได้เทียบเท่าหรือดีกว่าคนกลางๆ โดยเฉพาะงานส่วนใหญ่ที่เป็นงานรูทีน งานถึก จะถูกแทนที่แน่นอน สุดท้ายผลสำรวจต่างๆ ทั่วโลกต่างพูดถึงงานที่จะหายไปเพราะ AI แต่ก็จะมีงานที่เกิดขึ้นใหม่เพราะ AI เช่นกัน ตอนนี้คอมพิวเตอร์ช่วยเราคิดได้มากแล้ว ความสำคัญเลยมาอยู่ที่คนที่จะปรับแต่งให้คอมพิวเตอร์ช่วยคิด และทำให้การตัดสินใจสุดท้ายออกมาดีที่สุด

2. องค์กรจะเปลี่ยนคนเก่าให้เก่ง และดึงดูดคนเก่งใหม่ๆ เข้ามาอย่างไร

ดร.ต้าแชร์ 4 ขั้นตอนในการช่วยให้คนเก่าสามารถปรับตัวได้ ขั้นแรกคือให้เขาตระหนักก่อนว่าทำไมต้องมีทักษะใหม่ รวมถึงให้เห็นว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยทำให้เขาทำงานเก่งขึ้นได้ยังไง

ถัดจากการทำให้ตระหนัก คนเป็นผู้นำต้องรับบทเป็น Role Model คือทำให้ดู ใช้ Data ตัดสินใจ ใช้ ChatGPT ช่วยทำงานให้เห็นเป็นแบบอย่าง จากนั้นคือการเปิดพื้นที่ให้เขามีโอกาสทดลองใช้จริง เช่นบางบริษัทมีการจัด Hackathon หรือจัดให้มีวันใช้ ChatGPT ในการทำงาน สุดท้ายก็คือการส่งไปเรียน แต่ก็ต้องตั้งจุดประสงค์ในการเรียนให้ชัดเจน

ส่วนการดึงดูด Talent ใหม่ๆ อ้างอิงจาก Daniel H. Pink ที่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะหาบริษัทที่ใช่จาก Motivation ภายใน 3 เรื่อง คือ Autonomy อิสระในการที่จะคิด Mastery คืออยากเก่งขึ้นในงานที่ทำ และ Purpose คือการอยากเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเอง

คุณอ้อแชร์ว่าองค์กรต้องกลับไปชัดเจนเรื่อง Purpose และ Mission มากๆ จากนั้นจึงมากำหนดว่าคนเก่าต้องเปลี่ยนอะไร ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเรื่อง Mindset และองค์กรต้องการคนใหม่แบบไหนเข้ามา ตรงนี้ก็ต้องปรับ Recruitment ที่จะดูเรื่องของ Soft Skills หรือเรื่อง Culture Fit มากขึ้น
ดร.ต้า วิโรจน์ จิรพัฒนกุล Managing Director จาก Skooldio และคุณอ้อ พรทิพย์ กองชุน Chief Growth Officer จาก Jitta บนเวที Mission To The Moon Forum 2023

3. เทคนิคการสัมภาษณ์ให้ได้คนที่ใช่

ดร.ต้า แชร์เทคนิคว่าการใช้ Candidate เล่าเรื่องประสบการณ์ทำงาน อุปสรรคที่เจอ และวิธีคิดแก้ปัญหา เป็นวิธีที่ช่วยได้ค่อนข้างมากในการวัด Mindset ของคน หรืออาจจำลองการทำงานจริงโดยการให้เขาลองเสนอไอเดีย แล้วตีกลับไป ดูว่าเขาจะมีวิธีในการคิด และสื่อสารกลับมายังไง เป็นต้น

คุณอ้อเล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานกับ Google ซึ่งเข้มงวดและ Invest มากในการคัดคนที่ใช่ เพราะ Cost ของการได้คนที่ไม่ใช่มาค่อนข้างสูง และการสัมภาษณ์คนจะมีรายละเอียดที่เยอะมาก ตั้งแต่การให้สัมภาษณ์กับคนหลายระดับ และหลากหลายเพื่อลด Bias เน้นให้เล่าเคสมากกว่าจะถามคำถามที่ Candidate สามารถท่องมาได้ ที่สำคัญที่สุดคือเรื่อง Mindset จะไม่ถูกประเมินเป็นตัวเลข เพราะวัดได้ยาก แต่เน้นให้ผู้สัมภาษณ์เขียนความคิดเห็น ว่า Candidate มี Mindset ยังไง เข้ากับองค์กรได้หรือไม่

ฟังเรื่องการบริหารองค์กรแบบ Google จากคุณอ้อเพิ่มเติมได้ที่ Chief’s Table EP.8 จากตำรา Google สู่การบริหาร Startup ไทย

4. ทำไม Manager ถึงเป็นกลุ่มคนที่มีอัตรา Burnout สูงสุดในองค์กร และองค์กรควรรับมืออย่างไร

“ข้างบนจะเอา ข้างล่างไม่ทำให้” คุณอ้อเปิดด้วย Pain Point ของ Manager ส่วนใหญ่ และขยายว่าผลพวงจากช่วง Covid-19 ทำให้ Manager ประสบปัญหา Overload คือต้องมองภาพรวมด้วย และยังต้อง Execute เองอีก อีกเรื่องคือการ “ทำดีเสมอตัว ทำชั่วเข้าตัว” เวลางานออกมาดีเครดิตมักเป็นของหัวหน้า พอมีเรื่องพลาดมักเป็นความผิด Manager เรื่องเหล่านี้สะสมกันนานเข้าก็ Burnout

วิธีแก้คือต้องไปช่วยดูว่ามีการ Overload ตรงไหนบ้าง เพราะคนกลุ่มนี้มักปฏิเสธงานไม่เป็น อยาก Say Yes ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด องค์กรต้องทำเรื่อง Rewards and Recognition ให้ดีเพื่อลดเรื่อง Overload ซึ่ง Manager เองก็ต้องฝึก Say No เพื่อ Focus ในการทำสิ่งตรงหน้าให้ดีด้วย

ดร.ต้าปิดท้ายว่าโดยทั่วไปแล้วหน้าที่ของ Manager คือการเป็น Good Coach แต่พอองค์กรส่วนใหญ่มักต้องเข้าสู่ช่วง Wartime ทุกอย่างเร่งไปหมด และมักต้องมอง Short Term มากกว่า Long Term แทนที่จะ Coach ลูกทีมให้เก่งมักไม่ทันการณ์ เลยต้องลงมือทำเองหมดเลย พอเป็นแบบนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ลูกทีมก็ไม่เก่งขึ้น ความเหนื่อยก็ไม่สิ้นสุด

สุดท้ายอาจต้องถอยกลับมา Balance ตัวเองให้ดี และต้องเข้าใจว่าหน้าที่ Manager คือการทำให้ทีมเติบโตและเก่งขึ้น และในระยะยาว Manager จะเหนื่อยน้อยลงนั่นเอง

 

คอร์สออนไลน์ New Ways of Working: Agile & OKRs

เรียนรู้เรื่องการบริหารองค์กรให้มีประสิทธิภาพแบบองค์กรยุคใหม่ กับ ดร.ต้า วิโรจน์ และ คุณอ้อ พรทิพย์ กับ Package คอร์สออนไลน์ New Ways of Working: Agile & OKRs

ปูพื้นฐานในเรื่องของ Agile แนวคิดการทำงานรูปแบบใหม่ที่เน้นเรื่องการทำงานอย่างคล่องตัว ปรับตัวได้ทันความเปลี่ยนแปลง และ OKRs ซึ่งเป็น Framework ที่จะช่วยในการตั้งเป้าหมาย และขับเคลื่อนคนทั้งองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน

แพ็กสุดคุ้ม! จัดเต็มทั้งสองคอร์ส เพียง 3,580 บาท จากราคาเต็ม 3,980บาท อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับคอร์สเพิ่มเติม: New Ways of Working: Agile & OKRs

More in:Business

Comments are closed.