Full Stack Developer

ทุกคนคงรู้ว่า Full Stack Developer คือ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เรียกว่าแทบจะทำทุกส่วนของการพัฒนาซอฟต์แวร์ ทั้งในส่วน Front End และ Back End แต่เคยสงสัยกันมั้ยว่าจริง ๆ แล้ว อาชีพนี้ทำหน้าที่อะไรกันแน่ และต้องมีทักษะอะไรบ้าง

บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ Full Stack Developer เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ Full Stack Developer คือใคร มีหน้าที่อะไรบ้าง? ทักษะที่ต้องมี และแนะนำการเตรียมตัวสมัครงานตำแหน่ง Full Stack Developer พร้อมวิธีทำ Resume สุดปัง พร้อมให้ผู้ที่สนใจสามารถประยุกต์ใช้ได้ทันที

ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกันเลย

Full Stack Developer คือใคร ทำหน้าที่อะไรบ้าง

Full Stack Developer คือ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งส่วนที่ติดต่อกับผู้ใช้งาน และส่วนระบบหลังบ้าน หรือก็คือ เป็นทั้ง Front End Developer และ Back End Developer ในคน ๆ เดียวกันนั่นเอง

ซึ่งในส่วน Front End จะเป็นส่วนของเว็บไซต์ที่ผู้ใช้งานมองเห็น และสามารถโต้ตอบกับมันได้ เช่น กดปุ่ม, กรอกแบบฟอร์ม, เมนู, ตัวหนังสือ หรือรูปภาพต่าง ๆ เป็นส่วนที่หลายคนมักจะเรียกกันว่า “หน้าบ้าน” หรือ User Interface (UI)

และส่วน Back End จะเกี่ยวข้องกับระบบจัดการเว็บไซต์ หรือที่หลาย ๆ คนเรียกกันว่า “หลังบ้าน” ซึ่งส่วนหลักของ Back End จะเป็นระบบฐานข้อมูล (Database) ที่ใช้เก็บข้อมูล และเซิร์ฟเวอร์ (Server) ที่ใช้จัดการกับการส่งคำขอ (Request) และการตอบกลับ (Response) รวมถึงการประมวลผล และจัดการข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน

หน้าที่ และความรับผิดอาจแตกต่างกันออกไปเล็กน้อยตามแต่ละบริษัท เช่น บริษัทที่มี Developer น้อย อาจให้ Full Stack ทำการ Develop ทั้ง Front End และ Back End แต่บริษัทสำหรับที่มี Front End Developer และ Back End Developer แยกไปต่างหาก Full Stack อาจทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมให้ทั้ง 2 ฝั่งทำงานกันได้อย่างราบลื่น


ทักษะที่ Full Stack Developer ควรมี

Full Stack Developer ที่ดี ควรมีทักษะทั้งในด้าน Hard Skill เพื่อใช้ในการพัฒนาเว็บไซต์ให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง และ Soft Skill เพื่อเสริมการทำงานหลักให้สามารถเป็นไปได้ดี และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Hard Skill 

Hard Skill ที่ Full Stack Developer ควรมี คือ การใช้งานภาษา และเครื่องมือต่าง ๆ ของทั้ง Front End และ Back End ได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถสร้างของได้ตรงตามที่ออกแบบ ใช้งานได้จริง และง่ายต่อการแก้ไขในอนาคต โดยควรมีทักษะดังต่อไปนี้

ทักษะการใช้ Front End Language

การพัฒนาซอฟต์แวร์ ย่อมจำเป็นต้องใช้การเขียนโค้ด ดังนั้นความสามารถในการเขียนโค้ดจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ โดยในส่วนของ Front End นิยมใช้ภาษาดังต่อไปนี้

HTML

HTML (Hypertext Markup Language) เป็นภาษาพื้นฐานที่ใช้เขียนโค้ดเพื่อสร้างโครงเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์ จึงเป็นทักษะที่สำคัญของ Front End Developer

CSS

CSS (Cascading Style Sheets) เป็นภาษาที่ช่วยจัดรูปแบบหน้าตา HTML เหล่านั้นให้สวยงาม มีสีสัน และลูกเล่นต่างๆ ซึ่งสามารถจัดรูปแบบ และปรับเปลี่ยนโครงเว็บไซต์ให้เหมาะสมในแพลตฟอร์มที่แตกต่างกันได้

อ่านเพิ่มเติม 5 ข้อที่คนมักพลาดเวลาเขียน HTML และ CSS

JavaScript/TypeScript

JavaScript และ TypeScript เป็นภาษาที่ใช้กำหนดฟังก์ชันบนเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน โดย TypeScript และ JavaScript จะเขียนเหมือนกัน แต่ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดอย่างนึงระหว่าง TypeScript และ JavaScript คือ TypeScript มีการใช้ Type-Checking แบบคงที่ ซึ่งมีไว้เพื่อให้ตรวจจับข้อผิดพลาดได้ง่ายขึ้น ก่อนที่จะเกิดข้อผิดพลาดขึ้น

ภาษาที่ยกมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งใน Front End Language เท่านั้น ในบางองค์กรอาจมีการใช้ภาษานอกเหนือจากที่เล่ามา เช่น Kotlin ซึ่งเป็นภาษาที่นิยมใช้กันในการพัฒนาบน Android จึงมี Developer ที่หันมาใช้ Kotlin มากยิ่งขึ้น

ทักษะการใช้ Front End Frameworks และ Front End Libraries

Frameworks และ Libraries เป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยในการ Code สะดวกมากยิ่งขึ้น

Library คือ ชุดของโปรแกรม หรือโค้ดที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำงานบางอย่าง โดยที่เราสามารถนำไปใช้ในโปรแกรมของเราได้ เช่น ถ้าอยากสร้างช่อง Search ก็สามารถเรียกใช้ชุดโค้ดได้เลย แล้วนำมาปรับปรุงเล็กน้อยให้เข้ากับเว็บไซต์ของเรา ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว Library จะไม่เป็นโครงสร้างที่ครอบคลุมการทำงานทั้งหมดของโปรแกรม

Framework คือ ชุดคำสั่ง หรือโครงสร้างที่กำหนดรูปแบบการเขียนโค้ดเพื่อช่วยในการสร้าง และพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยจะมีการกำหนดโครงสร้างของโปรแกรมที่ต้องการพัฒนาไว้แล้ว ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเขียนโค้ดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรงตามมาตรฐาน ช่วยลดเวลา และทำให้โค้ดตรงตามมาตรฐานมากยิ่งขึ้นด้วย

โดยหลาย ๆ คนมักจะเคยได้ยินชื่อ React, Vue.js, AngularJS, Flutter, Ionic ก็ล้วนเป็น Frameworks หรือ Libraries ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน

โดยเฉพาะ Flutter ซึ่งเป็น Frameworks ที่มาแรงมากในขณะนี้ เนื่องจาก Flutter จะช่วยให้เราสามารถโค้ดครั้งเดียวแล้วนำไปใช้ได้ในหลากหลายแพล็ตฟอร์มได้ (Hybrid Application) ซึ่งข้อดีของ Flutter ก็มีมากมาย จนหลาย ๆ คนอยากเปลี่ยนจากการใช้ React มาใช้ Flutter แทน ซึ่งจริง ๆ แล้วทั้ง React และ Flutter ก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป ควรศึกษาเพิ่มเติมก่อนเลือกใช้จะดีที่สุดครับ

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ React Hooks

ทักษะการทำ Responsive Design

Responsive Design คือหลักการออกแบบที่ทำให้เว็บไซต์สามารถรองรับการใช้งานได้จากทุก ๆ ขนาดหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็น Mobile, Desktop, Tablet ก็ต้องสามารถกำหนดให้แสดงผลได้เหมาะกับอุปกรณ์นั้น ๆ

ทักษะ Progressive Web Apps

Progressive Web Apps (PWA) คือ แนวคิดไอเดียจาก Google ที่จะพัฒนาให้ Web มีประสบการณ์ใช้งานใกล้เคียงกับ App มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ความรวดเร็ว หรือการใช้งานที่ลื่นไหล ลูกเล่นเมนูที่ใช้ง่าย ถือเป็นทักษะที่ถ้าหากทำเป็น จะช่วยเพิ่มเครดิตให้กับตัวเองได้อย่างมากเลยทีเดียว

ทักษะการใช้ Browser Developer Tools

Browser Developer Tools เป็นเครื่องมือที่มาพร้อมกับ Browser นั้น ๆ ซึ่งจะช่วยให้ Developer สามารถเข้าไปตรวจสอบ ทดสอบ ปรับแต่งเว็บไซต์ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าเว็บไซต์เป็นไปตามความคาดหวัง

ทักษะการตรวจสอบ และปรับปรุง Web Performance

เมื่อพูดถึงเรื่อง Performance ของเว็บ ก็จะพูดเรื่องความเร็วเป็นหลัก Developer ที่ดีต้องสามารถลดขนาดของ Component บนหน้าเว็บให้อยู่ในขนาดที่พอดี เพื่อให้เว็บไซต์ทำงานได้เร็วมากยิ่งขึ้น

ทักษะการใช้ Back End Language

ในส่วนการพัฒนาระบบหลังบ้าน ก็จำเป็นต้องใช้การ Coding เช่นกัน โดยมีภาษา Programming ที่นิยมมากมาย ซึ่งเลือกใช้ก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละองค์กร โปรเจกต์ หรือสถานการณ์ ซึ่งภาษาที่นิยมใช้ในการพัฒนา Back End ได้แก่

C#

C# เป็นภาษาที่ใช้ในหลากหลายจุดประสงค์ ซึ่งมักจะใชักับ .NET Library เพื่อใช้ออกแบบโครงสร้างภายในของเว็บไซต์ และเชื่อมการใช้งานของผู้ใช้กับระบบ โดย C# เป็นภาษาที่ค่อนข้างเสถียร และยืดหยุ่น จึงเป็นภาษาที่ Developer หลายคนเลือกใช้

Golang

Golang หรือ Go เป็นภาษา Programming แบบ Open-Source มีจุดเด่นในเรื่องของ Performance ที่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วเทียบกับภาษาอื่น ๆ และเน้นความง่ายในการเขียนและการอ่าน และยังสามารถทำ Concurrent Programming ได้ง่าย เพราะภาษา Golang ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้ Application ที่ต้องใช้ Multi-Threading หรือ Distributed Systems เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น

JavaScript

JavaScript เป็นอีกหนึ่งภาษาที่ใช้ได้หลากหลาย ทั้งในฝั่งของ Front End และ Back End โดยหลาย ๆ องค์กรมักจะใช้ภาษานี้กัน จึงเป็นอีกหนึ่งภาษาที่ควรรู้ไว้

สำหรับการพัฒนาในส่วนของ Back End มักจะใช้ภาษานี้ร่วมกับ Libraries ที่มีชื่อว่า Node.js ซึ่งทำหน้าที่เป็น Runtime Environment แบบ Cross-Platform หรือพูดง่าย ๆ ก็คือทำให้การเขียนทีเดียวใช้งานได้หลาย Operation System (OS)

Java

Java เป็นภาษาการเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุ (OOP) ที่เสถียร และสามารถใช้งานได้หลากหลาย ซึ่งมักจะถูกใช้งานกันในหลากหลายองค์กร ทั้งในการสร้าง Web Application, Desktop Application และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยในงานของ Back End มือใหม่ ก็มี Libraries อย่าง Spring Boot ที่จะช่วยให้การทำงานเป็นไปได้สะดวกมากขึ้น

แต่ในปัจจุบัน ภาษา Java ได้ถูกพัฒนาต่อยอดมาเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องบางอย่างของภาษา มาเป็นภาษา Scala ทำให้ในบางองค์กรจึงเริ่มหันมาใช้ภาษา Scala มากขึ้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม Developer จึงควรหันมาสนใจภาษานี้มากยิ่งขึ้น

คอร์ส Scala Fundamentalsคอร์ส Scala API Development Essentials

Ruby

Ruby เป็นภาษายอดนิยมอีกหนึ่งภาษาสำหรับการพัฒนา Back End ซึ่งเป็นภาษาที่มีความยืดหยุ่นสูง ประสิทธิภาพดี และใช้งานง่าย เนื่องจากสามารถอ่านไวยากรณ์ (Syntax) ได้ง่าย นอกจากนี้ยังสามารถใช้ได้ในหลาย OS อีกด้วย

โดยภาษา Ruby สามารถใช้งานร่วมกับ Ruby On Rails (ROR) Frameworks ซึ่งจะช่วยให้การทำงานต่าง ๆ เช่น การมองภาพรวม การปรับปรุงแก้ไขระบบ และดูแลรักษาง่ายขึ้น

Python

Python คือหนึ่งในภาษาโปรแกรมระดับสูงที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ถูกออกแบบเพื่อให้มีโครงสร้างและ ไวยากรณ์ของภาษาที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย มีการใช้พัฒนาแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ รวมถึงแอปบนมือถือ โดยหน้าที่ของ Python ก็คือการทำงานแปลชุดคำสั่งทีละบรรทัดเพื่อป้อนเข้าสู่หน่วยประมวลผล ให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามที่เราต้องการ หรือเรียกว่าการทำงานแบบ Interpreter นั่นเอง

ซึ่งใน Back End Development ภาษา Python มักถูกใช้ควบคู่กับ Frameworks ยอดนิยมอย่าง Django หรือ Flask เพื่อความสะดวกในการทำงาน

PHP

PHP เป็นภาษาที่ใช้สำหรับพัฒนาเว็บไซต์เช่นเดียวกับภาษาอื่น ๆ เป็นภาษาที่มีความสามารถหลากหลาย ครอบคลุมในหลาย ๆ ด้าน มักใช้งานควบคู่กับภาษา HTML การใช้งานภาษานี้จึงต้องมีความรู้เรื่อง HTML ด้วย

ทักษะเกี่ยวกับ Database

งานในส่วนของการพัฒนา Back End มักต้องมีการดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลมาใช้ เช่นในกรณีที่ผู้ใช้งานจะทำการ Log in โดยกรอก Username และ Password มา ระบบจะต้องสามารถเข้าถึงฐานข้อมูล เพื่อทำการตรวจสอบว่าข้อมูลที่ผู้ใช้งานกรอกมาถูกต้องไหม เป็นต้น ดังนั้นความรู้เกี่ยวกับฐานข้อมูลจึงสำคัญมาก ๆ

ซึ่งเครื่องมือในการจัดการกับ Database ก็มีมากมาย สำหรับเครื่องมือที่ต้องใช้ภาษา SQL เช่น MySQL, MSSQL, Oracle และ PostgreSQL เป็นต้น และเครื่องมือสำหรับ NoSQL เช่น MongoDB

ทักษะการจัดการ Server

การทำงานของ Back End นั้นต้องอยู่กับเซิร์ฟเวอร์เป็นประจำ ดังนั้นควรมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ Web Servers โดยเครื่องมือที่ใช้จัดการกับเซิร์ฟเวอร์ที่นิยมใช้กัน คือ Apache และ Nginx

ทักษะ ความรู้เกี่ยวกับ Cyber Security

Cyber Security หรือ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ คือ การป้องกันความเสี่ยงจากการโดนโจมตีทางอินเทอร์เน็ต ที่อาจส่งผลต่อการทำงานระบบ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในปัจจุบัน การมีความรู้เรื่อง Cyber Security จะช่วยให้สามารถสร้างเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันได้ดีมากยิ่งขึ้น

ทักษะ ความรู้เกี่ยวกับ API

API ย่อมาจาก Application Program Interface หรือแปลว่า วิธีการเรียกใช้โปรแกรม โดย API จะใช้สำหรับการเชื่อมต่อระหว่างแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ที่แตกต่างกัน เช่น การเชื่อมต่อระหว่างแอปพลิเคชันกับฐานข้อมูล การส่งคำขอไปยังแหล่งข้อมูลจากเว็บไซต์อื่น ๆ หรือการเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันที่อยู่บนคลาวด์ ทำให้ซอฟต์แวร์สามารถทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์อื่น ๆ ได้ ส่วน Back End ที่ต้องรับส่งข้อมูลจึงควรเข้าใจหลักการ และวิธีการทำงานของมัน

ทักษะการใช้ Command Line

Command Line คือ การใช้ Text เข้าถึงและใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ จะต่างจากแบบ GUI (Graphic User Interface) หรือที่แสดงเป็นหน้าจอสวยงามแบบที่เราสามารถคลิก ๆ ในสิ่งที่เห็นได้เลย

การใช้งาน Command Line เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะ เครื่องมือหลายอย่างที่ใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์บนเซิร์ฟเวอร์มักมีการใช้ เช่น Git, Node.js, Python, Ruby, MySQLและการทำงานหลายงาน ต้องใช้ Command Line ร่วมด้วย เช่น การทำงานกับฐานข้อมูล, การรันและจัดการกับเซิร์ฟเวอร์, การดูแลระบบ และการทดสอบซอฟต์แวร์ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ทำงานสะดวกมากขึ้น เนื่องจากสามารถสั่งการให้ระบบทำงานได้ง่าย และรวดเร็ว

ทักษะการใช้ Version Control/ Git

Version Control คือ กระบวนการที่ใช้ติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมการเปลี่ยนแปลงของ Code ทำให้เราสามารถย้อนกลับไปดูงานในเวอร์ชั่นเก่า ๆ ได้ โดยที่ไม่ต้องกลับไปเริ่มต้นทำใหม่ทั้งหมด อีกทั้งยังช่วยในการแบ่งงาน (แตก Branch) เพื่อให้ Developer หลาย ๆ คนสามารถเข้ามาทำงานได้พร้อม ๆ กันอีกด้วย

ทักษะ Testing and Debugging

การเขียนโค้ด ย่อมมากับความผิดพลาด หรือที่เรียกกันว่า Bug ดังนั้นคนที่เป็น Developer ต้องมีความสามารถในการตรวจสอบ Source Code ของตัวเอง เพื่อหาจุดที่ผิดพลาด แล้วทำการแก้ไข

Soft Skill

Soft Skill ที่ Developer ควรมี คือ การสื่อสาร การตัดสินใจ และการมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่กำลังพัฒนา เพื่อช่วยให้เข้าใจบริบทในการทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้ผลลัพธ์ของงานที่ได้รับมอบหมายออกมาดีมากขึ้น

Business Mindset

Developer ที่ดีควรมองตัวเองเป็นธุรกิจหนึ่ง ที่กำลังขายความสามารถของเราให้กับบริษัทที่เรากำลังทำงานอยู่ โดยเราควรพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น และทันต่อ Trend ใหม่ ๆ เสมอ

Product Mindset

การเป็น Developer ที่ดี ไม่เพียงแต่สร้างของตามโจทย์ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจ Product เพื่อให้สามารถสร้างของที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ดีขึ้น

People Skill

การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อร่วมงาน หรือหัวหน้า ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยให้การทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น

Communication Skill

การมีทักษะการสื่อสารจะช่วยให้สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้ถูกต้องมากขึ้น ส่งผลดีต่องานในหลาย ๆ ด้าน เช่น หากสามารถอธิบายเรื่อง Technical ยาก ๆ ให้ทีมอื่นเข้าใจได้ ก็จะช่วยให้งานดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง และรวดเร็วมากขึ้น

Making Tough Decision

บ่อยครั้งที่ต้องเจอปัญหายาก ๆ ในการทำงาน การสามารถตัดสินใจหาทางออกให้กับปัญหานั้นจึงสำคัญมาก


เตรียม Resume สำหรับ Full Stack Developer

Resume สำหรับ Full Stack End Developer ควรมุ่งเน้นในการแสดงให้ Recruiter เห็นถึงทักษะที่เรามี โดยควรมีหลักฐานมายืนยันความสามารถนั้น ๆ ด้วย โดยเรามี Tips and Tricks 4 ข้อง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ดังนี้

  1. เน้นในส่วน Development Skill: เพราะเป็นสิ่งที่หลายบริษัทดูเป็นอันดับต้น ๆ โดยทำให้ส่วนนี้เด่น และเพิ่มเติมทักษะที่บริษัทนั้น ๆ กำลังมองหา
  2. เพิ่มส่วน Side Project เข้าไปด้วย: เพราะจะช่วยให้ Recruiter เห็นถึงประสบการณ์ที่เคยผ่านมาได้ชัดเจนมากขึ้น และถ้าเป็น Project ที่ทำด้วยตัวเองในเวลาว่าง จะช่วยแสดงความสนใจที่มีต่อการ Development ซึ่งแน่นอนว่า Recruiter ต้องชอบอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าเป็น Project ที่ตรงกับสิ่งที่บริษัทนั้น ๆ กำลังมองหา จะยิ่งช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับเราได้มากเลยทีเดียว
  3. ใส่ Courses เรียน หรือ Certificates ที่เกี่ยวข้อง: ในส่วนนี้จะช่วยแสดงหลักฐานของทักษะ หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่เราเล่ามาทั้งหมด และยังเป็นตัวที่บอกว่าเราเป็นคนที่พยายามอัพเดทความรู้อย่างสม่ำเสมอ
  4. ใส่ข้อมูล GitHub ของตนเอง: เพราะเพียง Resume อาจไม่เพียงพอ Recruiter มักจะมองหาผลงานจริง ๆ มากกว่าเพียงแค่ข้อมูลใน Resume ดังนั้นอาจต้องมีเว็บ หรือบล็อกสำหรับโชว์ผลงานของเรา ซึ่งโดยปกติแล้ว หลาย ๆ คนมักจะใช้ GitHub เพื่ออัพโหลดผลงานของตนเอง และนำชื่อ Account ของตัวเองไปใส่ใน Resume ในส่วน Contact เพื่อให้ผู้คัดเลือกสามารถค้นหา และดูผลงานผ่าน GitHub ได้

อย่างไรก็ตาม การทำ Resume ที่นำมาเสนอนี้ เป็นเพียงสิ่งที่มักจะใช้กันเท่านั้น อาจมีบางหัวข้อที่เหมาะ หรือไม่เหมาะที่จะใส่ในการสมัครงานบางประเภท ดังนั้นในการสมัครงานจริง ๆ เราควรศึกษาความต้องการของบริษัทที่จะไปสมัคร ดูว่าคนที่เค้ากำลังมองหาคือใคร มีทักษะอย่างไร แล้วทำ Resume ที่ตรงกับสิ่งที่บริษัทนั้น ๆ ต้องการ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการผ่านการคัดเลือกได้มากเลยครับ


Full Stack Developer เงินเดือนเท่าไร

เงินเดือนตำแหน่ง Full Stack Developer ในประเทศไทย สำหรับผู้มีอายุงาน 0-3 ปี จะมีเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาทต่อเดือน และสำหรับผู้ที่มีอายุงานตั้งแต่ 3-7 ปีขึ้นไปจะสามารถขึ้นไปถึง 140,000 บาทต่อเดือนได้เลยทีเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์กร และอุตสาหกรรม (ข้อมูลจาก Online Salary Guide 2023 โดย Adecco)


แนวทางการศึกษาเพิ่มเติม

อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักตำแหน่งนี้เป็นอย่างดีแล้ว สำหรับผู้ที่สนใจในสายอาชีพนี้ ทางเราขอแนะนำวิธีการศึกษา และพัฒนาทักษะเพิ่มเติม ดังนี้

  1. อ่านหนังสือ หรือบทความต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น
    1. Go Tutorial Series EP.1: สร้าง REST API ด้วย Gin Framework
    2. Go Tutorial Series EP.2: เก็บข้อมูล API ใน Database ด้วย Gorm Library
    3. Go Tutorial Series EP.3: ทำ Authorization ด้วย JWT และ Middlewareในภาษา Go
  2. อ่าน Case Study หรือศึกษาผลงานของคนอื่น เพื่อให้เข้าใจวิธีคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาของผู้อื่น เช่น บทความ: กว่าจะเป็น Skooldio Tutorials, Case Study: Microservices ภาษา Go, 4 ตัวอย่าง Tech ระดับโลก ที่ใช้ภาษา Go สร้าง High Performance Software
  3. ติดตามข่าวสารในวงการ Developer
  4. ลองศึกษาเส้นทางการย้ายสายงานมาทำอาชีพนี้ เช่น เปิดเส้นทางย้ายสายจากนิเทศเอกฟิล์ม สู่ Software Developer, จากสถาปนิกสู่โปรแกรมเมอร์
  5. ลงเรียนคอร์ส Technology กับทาง Skooldio!
  6. ลองฝึกฝนทำจริง เพื่อเพิ่มทักษะ และยังเป็นการช่วยเตรียม Profile สำหรับสมัครงานอีกด้วย

วัดทักษะ Full Stack Developer

คนที่อยากทำงานสายนี้อาจจะยังมีคำถามอยู่ว่าเราจะเหมาะมั้ย เก่งพอหรือยัง หรือคนที่ทำงานสายนี้อยู่แล้วคงอยากจะรู้ว่าตอนนี้ตัวเองต้องพัฒนาทักษะด้านไหนเพิ่มบ้าง โดยทุกคนสามารถเข้าไปวัดความรู้กับ Skill Score ในหัวข้อตามนี้ได้เลย

การทำแบบทดสอบจะได้รู้ว่าส่วนไหนที่ขาด ส่วนไหนที่ดีแล้ว ทุกคนจะได้พัฒนาตัวเองได้อย่างถูกทาง ซึ่ง Skooldio หวังว่าทุกคนจะสามารถพัฒนาเป็นในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็นได้ครับ


และหากไม่อยากพลาด Content ดี ๆ แบบนี้ อย่าลืมติดตามช่องทาง Social Media ของ Skooldio ทั้ง Facebook, Instagram, TikTok และ Skooldio Blog กันไว้ด้วยนะครับ

Bhumibhat Imsamran
Business Development Associate | Skooldio

More in:Technology

Comments are closed.