UX UI Designer คือใคร

โดยรวมแล้ว UX/UI Designer คือนักออกแบบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน Digital Product ต่าง ๆ โดยสื่อสารผ่านการออกแบบที่สวยงาม และใช้งานง่าย ถือเป็นอาชีพที่มาแรงมากในขณะนี้ จนหลายคนสงสัยว่าอาชีพนี้ทำหน้าที่อะไร ทำไมตำแหน่งนี้ถึงสำคัญในการออกแบบเว็บไซต์ หรือออกแบบแอปพลิเคชันกันนะ

ในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับสายงานนี้ตั้งแต่ต้นจนจบทั้ง User Experience (UX) และ User Interface (UI) คืออะไร? แตกต่างกันอย่างไร? สำคัญอย่างไร? แล้วรายละเอียดหรือทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้ที่อยากเป็น UX/UI Designer มีอะไรบ้าง? พร้อมทำความรู้จักกับหลักการ และเครื่องมือการออกแบบ UX/UI ไม่ว่าจะเป็น User Journey Mapping หรือ Persona ไปจนถึงโปรแกรมที่ใช้ออกแบบอย่าง Figma รวมถึงคำศัพท์ UX/UI ต่าง ๆ ให้คุณนำไปปรับใช้ได้ทันที

ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกันเลย!


UX/UI คืออะไร?

User Experience (UX) คืออะไร?

UX หรือ User Experience คือ ประสบการณ์ผู้ใช้งาน ดังนั้นการออกแบบ UX ก็คือ การออกแบบที่มีจุดประสงค์มุ่งเน้นให้ผู้ที่เข้ามาใช้งาน Digital Products ต่างๆ นั้นมีประสบการณ์การใช้งานที่ดีนั่นเอง

User Interface (UI) คืออะไร?

UI หรือ User Interface คือ ส่วนที่เชื่อมถึงผู้ใช้งาน  ซึ่งใน Digital Product การออกแบบ UI ก็คือการออกแบบหน้าตาเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน ให้ออกมาสวยงาม สบายตา ง่ายต่อการใช้งาน ส่งเสริมให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงประสบการณ์ที่ดีได้


ความแตกต่างระหว่าง UX และ UI

UX (User Experience) จะเกี่ยวข้องกับการออกแบบประสบการณ์การใช้งาน โดยให้ความสำคัญกับความต้องการ อารมณ์ และความรู้สึกของผู้ใช้งานเป็นหลัก

UI (User Interface) จะให้ความสำคัญกับความสวยงาม และความใช้ง่ายเข้าใจง่ายของผู้ใช้ โดยจะมาส่งเสริมประสบการณ์ที่ทาง UX ออกแบบไว้อีกที

ความแตกต่างระหว่าง UX และ UI

ความแตกต่างระหว่าง UX และ UI

ถ้าให้เปรียบเทียบกับการออกแบบบ้าน คนออกแบบ UX ก็เหมือนสถาปนิก ที่ต้องไปพูดคุยสอบถามข้อมูล ความต้องการกับเจ้าของบ้าน เพื่อออกแบบบ้านที่ตอบโจทย์ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้อยู่อาศัย ส่วนคนออกแบบ UI ก็เหมือนคนที่เป็น Interior Designer ที่หลังจากสถาปนิกออกแบบโครงสร้างมาแล้ว ก็ต้องมาตกแต่งให้สวยงาม ให้ผู้อาศัยรู้สึกสบายและเข้าถึงประสบการณ์ที่ดีได้มากที่สุด

จะเห็นว่า UX และ UI นั้นมีจุดประสงค์เหมือนกัน นั่นคือการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน และการทำ UX/UI ต้องควบคู่ไปด้วยกันเสมอ หากเราจะสร้าง Experiences เราก็ต้องมี Interface ที่คอยส่งเสริม จึงเป็นสาเหตุที่คำว่า UX และ UI มักจะถูกเรียกรวม ๆ กันนั่นเอง


ความสำคัญของ UX/UI

UX และ UI สำคัญเนื่องจากการออกแบบประสบการณ์ที่ดี จะทำให้ผู้ใช้งานให้ Value กับสินค้าหรือบริการเพิ่มมากขึ้น โดย UX/UI จะมีบทบาทสำคัญ ดังนี้

  1. ตอบสนองความต้องการ: การใช้ UX จะทำให้รู้จักผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้สามารถออกแบบ หรือสร้างสินค้าที่ตรงใจ และตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้
  2. ทำให้ใช้งานได้ง่าย: หากผู้ใช้ต้องการทำภารกิจบางอย่าง แต่มีอุปสรรคเกิดขึ้นเต็มไปหมด จะทำให้ผู้ใช้งานไม่อยากจะไปต่อ ดังนั้นการออกแบบ UX/UI จะเข้ามาช่วยทำให้ผู้ใช้สามารถทำภารกิจนั้นได้ราบลื่นมากยิ่งขึ้น
  3. ทำให้เข้าถึงได้ง่าย: การออกแบบประสบการณ์ที่ดี ไม่เพียงแต่ออกแบบการใช้งานให้ดี แต่ต้องคำนึงถึงตอนที่ผู้ใช้งานกำลังจะเข้ามาใช้ด้วย ซึ่งการที่ผู้ใช้งานเข้ามาถึงตัวสินค้า หรือบริการได้ง่ายขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสต่าง ๆ ได้
  4. ทำให้สวยงาม: UI จะเข้ามาช่วยเรื่อง Visual ของผู้ใช้ ทำให้หน้าตาเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันดูสะอาด ดูสวยงาม ช่วยเพิ่มความประทับใจให้กับผู้ใช้
  5. สร้างความน่าเชื่อถือ: การที่ประสบการณ์การใช้งาน และหน้าตาเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันออกมาดี แสดงถึงความใส่ใจต่อตัวผู้ใช้งาน จะยิ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้เพิ่มมากขึ้น
  6. รักษาลูกค้าเก่า: การที่ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดี ก็ย่อมทำให้เกิดความประทับใจ และอยากกลับมาใช้งานอีกครั้งเมื่อมีโอกาส
  7. ดึงดูดลูกค้าใหม่: เมื่อผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดี ก็อาจเกิดการบอกต่อ ทำให้สามารถดึงดูดผู้ใช้งานใหม่ ๆ เข้ามาได้

ในสมัยนี้ คนเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ ไม่ใช่เพียงแค่ตัวสินค้า แต่คำนึงถึง Value หรือคุณค่าที่ได้รับจากการบริโภคสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ดังนั้นถ้าเราสามารถทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดี ใช้ง่าย เข้าถึงง่าย นั่นหมายถึงคนจะรู้สึกว่าสินค้า หรือบริการนี้คุ้มค่ามากขึ้น ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจนั่นเอง


หน้าที่ของ UX/UI Designer

รวม ๆ แล้ว UX/UI Designer มีหน้าที่ พัฒนา และออกแบบสินค้าหรือบริการ ให้ตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้งาน และธุรกิจผ่านการใช้ทักษะ และเครื่องมือต่าง ๆ

หน้าที่ความรับผิดชอบของ UX Designer

การทำ UX มีเป้าหมายเพื่อที่จะสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานสินค้าหรือบริการ ดังนั้นในส่วนนี้ UX Designer ควรมีการลงไปทำความเข้าใจผู้ใช้งาน ว่ามีปัญหาอะไรอยู่ มีความต้องการอะไร เพื่อที่จะนำข้อมูล และความต้องการเหล่านั้นมาแปลงเป็น Solution ต่าง ๆ ที่สามารถตอบความต้องการของคนเหล่านั้นได้

หน้าที่ความรับผิดชอบของ UI Designer

การทำ UI มักจะทำต่อจากส่วนของ UX โดยมีเป้าหมายคือทำให้ผู้ใช้งานเข้าใจสิ่งที่เราจะสื่อลงไปในตัวสินค้าหรือบริการได้ง่าย ดังนั้น UI Designer ต้องสามารถนำข้อมูลหรือ Requirement ของผู้ใช้งานมาแปลงเป็นหน้าตาของสินค้าหรือบริการ ผ่านการออกแบบ Interface 

การทำงานของ UX Designer และ UI Designer จะส่งเสริมกันและกัน เพื่อให้ได้หน้าแอปพลิเคชั่นและเว็ปไซต์ที่ใช้งานง่าย สวยงาม สร้างประสบการณ์และภาพจำที่ดีต่อบริษัทนั้น ๆ


UX Designer กับ UI Designer จำเป็นต้องเป็นคนเดียวกันไหม

UX Designer และ UI Designer อาจจะเป็นคน ๆ เดียวกัน หรือเป็นคนละคนกันก็ได้ แล้วแต่องค์กร และรูปแบบการทำงาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า UX Designer ก็ต้องรู้ UI และ UI Designer ก็ต้องรู้ UX เพื่อทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะการทำงานของทั้ง 2 ส่วนมักจะเกี่ยวข้องกันเสมอ

นอกจากนี้ แต่ละองค์กรอาจมีการแบ่งตำแหน่งงานให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น UX Researcher, UX Writer โดยก็จะทำหน้าที่ที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้นครับ


ทักษะที่ UX/UI Designer ที่ดีควรมี

ตำแหน่งนี้ถือเป็นหนึ่งในผู้กุมความสำเร็จของธุรกิจเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นผู้ที่อยู่ในเกือบจะทุกกระบวนการของการพัฒนา Digital Product จึงต้องมีทักษะที่ครอบคลุม ในด้านการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ คิดไอเดีย ออกแบบ และทดสอบ

ทักษะด้าน UX

UX Designer เป็นผู้ที่ต้องเข้าใจผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด เพื่อนำข้อมูลความต้องการ และพฤติกรรมของผู้ใช้งานมาพัฒนา Digital Product ดังนั้นควรมีทักษะดังนี้

ทักษะการทำความเข้าใจผู้อื่น

ก่อนที่เราจะสามารถออกแบบประสบการณ์ หน้าตาเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่เจ๋ง ๆ ตรงใจลูกค้าได้ เราต้องเข้าใจและรู้จักผู้ใช้งานของเราให้ดีก่อน เหมือนประโยคที่ว่า “เข้าใจเขา เพื่อจะเข้าไปนั่งในใจเขา” และการเข้าใจผู้ใช้งานยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ “สร้างของมาแล้วไม่มีคนใช้ เพราะไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน” ด้วยเช่นกัน 

ซึ่งอย่างที่เล่าไปใน Section ที่แล้ว การเข้าใจลูกค้า เป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของตำแหน่งนี้ โดยวิธีการทำความเข้าใจลูกค้าก็มีหลายแบบ เช่น User Interview, Survey, Usability Testing ระวังอย่าเอาความคิดเห็นตัวเองเป็นที่ตั้งนะครับ เพราะคนที่ใช้งานสิ่งนี้จริง ๆ อาจจะไม่ใช่คนแบบเดียวกับเรา ดังนั้นควรระลึกไว้เสมอว่าต้องเปิดใจ พร้อมที่จะสงสัย ตั้งคำถาม และรับฟังความคิดเห็นของผู้ใช้งาน ประกอบกับทักษะในการหาข้อมูล เช่น มีเทคนิคในการสัมภาษณ์คนให้ได้ข้อมูลเยอะ ๆ เป็นต้น

แต่นอกจากการเข้าใจลูกค้าแล้ว การทำความเข้าใจ Stakeholder (โดยทั่วไปคือคนที่มอบหมายงานให้แก่เรา) ก็เป็นเรื่องสำคัญที่หลายคนมักจะลืม เพราะการทำสินค้าหรือบริการให้สำเร็จ จำเป็นต้องฟังเสียงของทั้ง 2 ฝ่าย นั่นก็คือทั้งฝั่งผู้ใช้ว่ามีความต้องการอย่างไร และฝั่งผู้ขายว่าจะทำเงินอย่างไรหรือมีจุดประสงค์อะไรในการประกอบธุรกิจนี้ เพื่อสร้างสินค้าหรือบริการที่สร้างประโยชน์ให้กับคนทั้ง 2 ฝ่ายได้อย่างลงตัวนั่นเอง

ทักษะการวิเคราะห์ และกลั่นกรองข้อมูล

เนื่องจากข้อมูลที่ได้มาจากการทำความเข้าใจลูกค้าอาจมีเยอะ ทั้งสำคัญและไม่สำคัญ จึงจำเป็นต้องใช้ทักษะนี้เพื่อกลั่นข้อมูลที่ได้มา เพื่อระบุข้อมูลที่มีประโยชน์กับงานที่กำลังทำ

ทักษะการใช้เครื่องมือ UX

ในโลกการทำงานของ UX นั้นมีเครื่องมือมากมายที่เข้ามาช่วยในการทำงาน เช่น Persona, Empathy Map หรือ User Journey โดยเครื่องมือหนึ่งสามารถเอามาใช้ในการวิเคราะห์ได้ในหลายจุดประสงค์ ดังนั้นต้องเลือกใช้เครื่องมือ UX ให้ถูกต้อง และมีความรอบคอบในการใช้งาน เพราะหากมีการใช้งานที่ผิด เช่น ใช้ User Journey ผิด อาจทำให้การตีความออกมาอีกแบบ และอาจทำให้ Direction การทำงานผิดไปจากที่ควรเป็น

ux ui เครื่องมือ

ทักษะการใช้เครื่องมือทำงานสาย UX

ทักษะการประยุกต์ และการคิดหาทางออก

หลังจากกลั่นกรองข้อมูลเรียบร้อย เราควรจะรู้ปัญหา และความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งานแล้ว ต่อไปคือการคิด Solution ที่จะแก้ปัญหานั้น ๆ ซึ่งก็มีได้หลายทาง เช่น คิดเอง, Brainstorm กับเพื่อนร่วมทีม, หา Inspiration จากคลังความรู้ UX/UI ในส่วนนี้อาจต้องการความคิดสร้างสรรค์ในการหาวิธีแก้ไข และทักษะการประยุกต์ไอเดีย เพราะแต่ละธุรกิจก็มีลูกค้าของใครของมัน เราหา Inspiration มาได้ แต่ต้องประยุกต์ให้เหมาะสมกับลูกค้าของเราด้วย

ทักษะการวาง User Flow

การวาง User Flow หรือการวางเส้นทางการเดินทางภายในเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ อย่างหนึ่งในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งการวาง Flow ให้ผู้ใช้งานใช้ง่าย ไม่หลงทาง ก็ถือเป็นทักษะที่ UX Designer จำเป็นต้องมีด้วย เพราะเป็นคนที่เข้าใจความคิด นิสัย และพฤติกรรมของผู้ใช้งานมากที่สุด ซึ่งหลังจากวาง User Flow เสร็จเรียบร้อย ก็จะทำการส่งงานให้ UI Designer ต่อไป

ทักษะด้าน UI

UI Designer เป็นผู้ที่ต้องนำข้อมูลของผู้ใช้งาน มาออกแบบเป็นหน้าตาเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันที่ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ง่ายที่สุด ส่งเสริมกับประสบการณ์ที่ทาง UX ออกแบบมา ดังนั้นจึงควรมีทักษะดังนี้

ทักษะการวาง Layout

คนเป็น UI Designer ต้องสามารถจัด Layout ของหน้าเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันให้เป็นระเบียบ เข้าใจง่าย อ่านง่าย และสวยงาม เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจ Product ของเราได้ง่ายที่สุด และช่วยเพิ่มความประทับใจให้กับผู้ใช้งาน

ลองนึกภาพถ้าหากเราเข้าเว็บไซต์หนึ่ง แล้วการจัดวางของ Component ต่าง ๆ กระจัดกระจายบ้าง เบี้ยวซ้ายเบี้ยวขวาบ้าง หรืออยู่ผิดที่ผิดทาง เราคงต้องใช้เวลานานในการเรียนรู้ที่จะใช้เว็บไซต์นี้ หรืออาจท้อใจจนออกจากเว็บไซต์ไปเลย ดังนั้นการวาง Layout จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ

ทักษะการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านจิตวิทยา

จริง ๆ แล้ว หลักการวาง Layout รวมถึงการออกแบบ UI ที่หลายคนคุ้นตากัน ล้วนมีที่มาจากหลักการทางจิตวิทยา หรือพฤติกรรมศาสตร์ทั้งสิ้น ศาสตร์เหล่านี้จะพูดถึงเรื่องการทำงานของสมองมนุษย์ กระบวนการคิด การอ่าน ซึ่งก็ส่งผลมาสู่การออกแบบ UI ให้สอดรับกับหลักการเหล่านี้ เมื่อเข้าใจศาสตร์เหล่านี้ ก็สามารถออกแบบ UI ให้ถูกใจผู้ใช้ได้มากขึ้น

เข้าใจ user

บทสัมภาษณ์คุณคุปปี้จากบทความ การทำงานสาย UX ไม่ได้มีแค่เรื่องของ UX และ UI

หลักจิตวิทยา และพฤติกรรมศาสตร์ที่นำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบบ่อย ๆ เช่น  Cognitive, Mental Model, Gestalt Theory, Usability Heuristics, หรือ UX Psychology

หลักการทางจิตวิทยาดังกล่าว ถูกแปลงมาเป็นเทคนิคการออกแบบ UX/UI ที่หลาย ๆ คนคุ้นหน้าคุ้นตากัน เช่น การออกแบบให้ผู้ใช้เข้าใจง่าย, การออกแบบให้ดึงดูดใจลูกค้า, การออกแบบให้คนกดซื้อง่ายขึ้น หรือแม้แต่การใช้ Motion Designเช่น การออกแบบ Motion ให้คนรู้สึกว่ารอไม่นาน ก็เป็นหลักการจากทฤษฎีทางจิตวิทยาเช่นกัน

จิตวิทยาการออกแบบ

เทคนิคจิตวิทยาการออกแบบ

ทักษะการออกแบบให้สวยงาม

ความสวยงามเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในการออกแบบ UI เพราะการออกแบบที่สวยงามจะช่วยเพิ่มความน่าใช้งาน และสร้างความประทับใจให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งคำว่า “สวยงาม” ในที่นี้ ไม่ใช่ความสวยงามของคนออกแบบ แต่เป็น “ความสวยงามมุมมองของผู้ใช้งาน” จะเห็นว่าความสวยงามนี้ก็จะเกี่ยวข้องกับงานทางด้าน UX ที่ต้องเข้าใจผู้ใช้งาน ว่ามีความชอบแบบใด และเป็นหน้าที่ของ UI ในการแปลงข้อมูลเหล่านั้นออกมา

ลองยกตัวอย่างเรื่อง “ความสวยงาม” ให้ดูกันครับ สมมติเราได้รับหน้าที่ออกแบบเว็บไซต์ที่ผู้ใช้งานส่วนมากเป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสายตา มองสีอ่อนลงกว่าที่เป็น ในขณะที่เราเป็นวัยรุ่น ชอบสี Pastel ถ้าเราออกแบบในแบบที่ตัวเองชอบ ผู้ใช้งานจริงก็มีแนวโน้มว่าจะไม่ชอบ เพราะอาจจะมองสีไม่ชัดนั่นเอง

ทักษะการใช้ Design Software

การใช้งานโปรแกรมออกแบบให้เป็น ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลย ซึ่งหนึ่งในโปรแกรมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการออกแบบ UI คือ Figma ซึ่งเมื่อเทียบกับโปรแกรมออกแบบ UI อื่น ๆ แล้วถือว่าจบ ครบกว่า เช่น สามารถทำ Prototype ได้ด้วยตัวมันเองเลย มาพร้อมกับ Figma Plugin ที่ทำให้การทำงานง่าย และรวดเร็วขึ้นมาก นอกจากนี้ยังมีระบบ Design System ช่วยให้งานเป็นระบบมากยิ่งขึ้น 

ทักษะการทำ Prototype

การทำ Prototype หรือตัวทดสอบ ก็เป็นทักษะที่สำคัญสำหรับ UI Designer เพราะก่อนจะส่งงานให้ Developer ทำงานต่อ ควรมีการทำ Prototype เพื่อนำไปทดสอบกับผู้ใช้งาน ให้ได้ลองใช้ ลองเล่น โดยสิ่งที่เราจะได้จากการทดสอบนี้ก็คือความคิดเห็นของผู้ใช้งาน ซึ่งเราสามารถนำข้อมูลในส่วนนี้มาปรับปรุงสินค้าหรือบริการของเราให้ดีมากขึ้นได้ ถือเป็นการช่วยลดความเสี่ยงก่อนที่จะส่งให้กับ Developer เพื่อพัฒนาต่อไป และสามารถช่วยให้กระบวนการทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่นขึ้นมากเลยทีเดียว

เรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญ

ทักษะการออกแบบ Accessibility

ควรมีการคำนึงถึง Accessibility หรือการออกแบบให้ทุกคนใช้งานได้ เช่น การออกแบบเพื่อรองรับสถานที่ที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต คนตาบอดสี หรือผู้สูงวัย เป็นต้น จุดนี้เป็นตัวแยกความแตกต่างระหว่างมืออาชีพกับมือใหม่ได้ระดับหนึ่งเลย

ทักษะการสื่อสาร และการทำงานร่วมกับผู้อื่น

จะเห็นว่านักออกแบบ UX และ UI มีส่วนร่วมในเกือบทุกกระบวนการของการพัฒนา Digital Product จึงมีการทำงานร่วมกับทีม Product อื่น ๆ ตลอดเวลา การมีทักษะการสื่อสารที่ดีจะช่วยเชื่อมทีมทั้งหมดเข้าด้วยกัน ให้เห็นภาพเป้าหมายตรงกันผ่านการเข้าใจลูกค้า เพราะองค์กรจะดีขึ้นได้ถ้าหากทีมเข้าใจ UX

ความอดทน และการเปิดใจรับฟังเสียงของทีมอื่น ๆ

เนื่องจากต้องทำงานกับหลายฝ่าย ซึ่งหลายครั้งที่ออกแบบมาแล้วโดนทีมอื่นปัดตก เป็นเรื่องปกติครับ เพราะแต่ละทีมมีมุมมองที่ต่างกัน ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือการอดทน และลองเอาความเห็นของคนอื่นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม

หลายองค์กรมีการแก้ไขปัญหานี้โดยการแบ่งการทำงานเป็นรอบ ๆ แล้วให้ทยอยนำงานมาเสนอเรื่อย ๆ เผื่อมีการปรับปรุงจะได้ปรับได้ไว และไม่ต้องแก้ไขเยอะ

ความรู้เรื่องกระบวนการพัฒนา Digital Product

หลาย ๆ คนมักจะตั้งคำถามเกี่ยวกับทักษะที่ควรมี จนลืมสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ไปเรื่องหนึ่ง นั่นคือ การรู้กระบวนการพัฒนา Digital Product โดยภาพรวม เพราะอาชีพนี้ต้องอยู่ในแทบทุกกระบวนการของการพัฒนา Product ดังนั้นการเห็นภาพรวมของทั้งกระบวนการจะเป็นเหมือนการที่เรารู้แผนที่ รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน รู้เส้นทางการเดิน และรู้วิธีเดินทางเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

ดังนั้นผมจะขออนุญาตพาทุกคนไปรู้จักกับกระบวนการพัฒนา Digital Product ก่อนนะครับ ซึ่งจริง ๆ แล้วกระบวนการดังกล่าวสามารถทำได้หลายรูปแบบ แต่ในบทความนี้ผมจะขออ้างอิงจาก Framework ที่เรียกว่า Design Thinking ที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ซึ่งประกอบด้วย 5 กระบวนการตามรูปด้านล่าง

design thinking process

Design Thinking Process, Source: maqe.com

  1. Empathize : ทำความเข้าใจผู้ใช้งาน ทั้งปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงความต้องการของเขา เน้นไปที่การเก็บข้อมูล โดยยังไม่จำเป็นต้องตัดสินว่าอะไรถูกหรือผิด มีหลายวิธี เช่น User Interview, Survey หรือ Observing เป็นต้น
  2. Define : ขั้นตอนของการคัดกรอง และวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด เพื่อให้ได้ปัญหาหรือความต้องการที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยอาจรวมถึงการเลือกปัญหาที่จะนำมาแก้ไขด้วย
  3. Ideate : ระดมความคิด หาวิธีการแก้ไขปัญหาให้ได้มากที่สุด
  4. Prototype : ออกแบบ และสร้างตัวต้นแบบตามวิธีแก้ปัญหาที่คิดกันมา เพื่อเตรียมนำออกไปทดสอบกับผู้ใช้งาน
  5. Test : นำต้นแบบไปทดสอบกับผู้ใช้งานจริง เพื่อนำ Feedback มาปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

โดยกระบวนการจะดำเนินกลับไปกลับมา กล่าวคือเมื่อทำ Test เสร็จแล้ว ก็ต้องนำข้อมูลที่ได้มาเข้ากระบวนการตามข้อ 1 ถึง 5 วนไปเรื่อย ๆ เพื่อพัฒนาปรับปรุงสินค้าหรือบริการให้ดียิ่งขึ้น จนเมื่อได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจและยอมรับได้แล้ว สิ่งต่อไปคือการส่งงานต่อให้ Developer นำไปพัฒนาต่อให้ออกมาเป็นสินค้าจริง ซึ่งหลังจากสินค้าออกสู่ตลาด ก็ควรจะมีการวัดผล และเก็บ Feedback เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงสินค้าต่อไป

UX/UI Designer ต้องเขียนโค้ดเป็นมั้ย

ในส่วนนี้แล้วแต่บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่ไม่จำเป็นครับ แต่การมีความรู้เรื่อง Technology หรือ Coding มีประโยชน์มาก เพราะจะทำให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ลองนึกภาพถ้าเราตั้งใจออกแบบ UX และ UI มาดีมาก ๆ แต่สุดท้าย Developer บอกว่าต้องใช้ Resource เยอะมากในการทำ การออกแบบนี้ก็อาจจะโดนปัดตกไปในที่ประชุม แต่ถ้าเรามีความรู้เรื่องนี้ด้วย อาจจะรู้ถึงข้อจำกัดนี้และเลือกที่จะไปลงแรงในส่วนอื่นแทน ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเองครับ


อยากเป็น UX/UI Designer เริ่มอย่างไรดี?

เริ่มจากการเรียนรู้กระบวนการการทำงานของ UX/UI ก่อน และหาว่าตัวเองชอบในด้าน UX หรือ UI เป็นพิเศษ แล้วจึงเริ่มศึกษาเจาะลึกไปในด้านที่ตัวเองชอบเป็นพิเศษ หลังจากเรียนแล้วอย่าลืมฝึกฝนเยอะ ๆ เพราะงานด้านนี้จำเป็นตัวฝึกฝน และเพื่อเก็บ Portfolio สำหรับเตรียมสมัครงานด้วย

UX/UI Designer ต้องเรียนคณะอะไร?

ถ้าให้ได้ความรู้ตรงที่สุด ก็คงเป็นคณะที่เรียนเกี่ยวกับ Human-Computer Interaction (HCI) เพราะได้เรียนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ UX/UI ตามที่กล่าวไปในหัวข้อที่แล้ว เช่น คอมพิวเตอร์ การออกแบบ จิตวิทยา พฤติกรรมศาสตร์ เป็นต้น ส่วนถ้าเป็นในไทยยังไม่มีคณะที่เปิดตรงสาย แต่ก็จะมีคณะที่เปิดสอนในทักษะเหล่านี้ด้วย เช่น

  • คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม สาขาวิชาการเกมและสื่อเชิงโต้ตอบ
  • คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์
  • คณะดิจิทัลมีเดีย สาขาวิชาการออกแบบกราฟฟิก
  • คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชานฤมิตศิลป์ เอกเรขศิลป์
  • คณะสถาปัตยกรรม สาขาวิชาศิลปอุตสาหกรรม

แต่จริง ๆ แล้ว ใคร ๆ ก็สามารถเป็นนักออกแบบ UX/UI ได้ เพราะในการสมัครงาน คณะที่เรียนมาอาจจะเป็นเรื่องรองในการพิจารณา ยิ่งสำหรับตำแหน่งนี้แล้ว มักจะวัดกันที่ Portfolio เพื่อดูวิธีคิดงาน วิธีออกแบบเสียมากกว่า ดังนั้นหากมีการศึกษาและฝึกฝนมากพอ ก็สามารถทำงานในสายนี้ได้ และหากเราเติมความรู้ด้าน Coding, Design, Psychology ด้วย จะยิ่งทำให้เรามีจุดเด่น เป็นที่ต้องการขององค์กรอย่างแน่นอน

หรือมาเริ่มต้นไปกับหลักสูตร UX/UI Bootcamp กว่า 7 สัปดาห์พาคุณเก็บครบพื้นฐานทั้ง Process ลงมือทำโปรเจกต์ รับ Coaching จากผู้เชี่ยวชาญ และนำเสนอผลงานในวัน Demo Day พร้อมกับเข้าร่วม Portfolio Mentoring Session

เตรียมความพร้อมสมัครงานในสายงาน UX/UI Design

อ่านมาถึงตรงนี้ คนที่อยากทำงานในตำแหน่งนี้คงมีคำถามแล้วว่าต้องเริ่มอย่างไรดี ซึ่งผมก็ขอแนะนำแบบนี้ครับ

  1. อย่างแรกต้องหาให้เจอว่าอยากทำงานด้าน UX หรือ UI และลองไปศึกษาดู ว่าจากที่เล่ามาในหัวข้อที่แล้ว คุณอยากทำงานในส่วนไหนเป็นพิเศษ (หรืออยากทำทั้งคู่ก็ได้นะ)
  2. หลังจากนั้นลองไปดู Job Description ของตำแหน่งที่สนใจสักนิด เพื่อให้ชัดเจนมากขึ้นว่า อยากเป็น UXUI Designer ต้องเรียนอะไรบ้าง?
  3. ลองทำแบบประเมินวัดความรู้ UX และวัดความรู้ UI ว่าเราอยู่ในระดับไหน ต้องศึกษาอะไรเพิ่มเติม
  4. ลองหาหนังสือ บทความ หรือคอร์สเรียนศึกษาเพิ่มเติม
  5. อย่าลืมฝึกฝนเยอะ ๆ ทำได้หลายวิธี เช่น ตั้งโจทย์เองแก้เอง, ลองเข้าไปดูเว็ปไซต์แล้วลอง Redesign เว็ปนั้น, เพิ่มความช่างสังเกต ดูสิ่งรอบตัว อะไร UX/UI ดีไม่ดี ฝึกไปทีละนิด ,หรือรับงาน Freelance ก็เป็นทางเลือกที่ดีครับ และอย่าลืมเอาผลงานต่าง ๆ ที่ทำมาไปใส่ใน Portfolio ด้วย
  6. (Optional) ลองหา Extra Skill ที่มีประโยชน์ในสายงาน UX/UI เช่น Coding, Design, Psychology เพิ่มเติมเอาไว้ ก็จะเพิ่มโอกาสในการได้งานครับ

นอกจากนี้อาจลองอ่านบทความสำหรับคนย้ายสาย หรือคนทำงานสาย UX ให้เข้าใจในอาชีพมากขึ้น เช่น จาก Graphic Designer สู่ UX/UI Designer ใน 1 ปี / “ตั๊ง“ กับเส้นทาง UX/UI – จากสถาปัตย์ฯ สู่ Lead Designer บริษัทต่างชาติในวัย 26 ปี / เมื่อเป็ดกลายมาเป็น UX เผื่อจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเราได้ครับ


การใช้ AI ในงาน UX/UI Design

ในช่วงนี้ หลาย ๆ คนน่าจะได้ข่าวเกี่ยวกับ Generative AI ไม่มากก็น้อย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการใช้งาน AI จะเข้ามามีบทบาทกับทุก ๆ สายงาน รวมถึงสายงาน UX/UI ด้วย

สำหรับการใช้งาน AI ในงาน UI Design จะยังได้คุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร ทางเราจึงขอไม่ลงรายละเอียดในส่วนนี้

แต่สำหรับงาน UX Design นั้น Generative AI เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก เนื่องจากมันสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ในเวลาที่น้อยลงอย่างมาก (บางคนก็บอกว่าช่วยให้ทำงานเร็วขึ้นเป็น 10 เท่าเลยทีเดียว!)

การใช้งาน AI ในงาน UX

Generative AI สามารถใช้งานได้แทบจะทุกส่วนในงาน UX Design ตั้งแต่การทำความเข้าใจลูกค้า, วิเคราะห์, คิดวิธีแก้ปัญหา ไปจนถึงการนำเอา Feedback จากลูกค้ามาปรับปรุง โดยผมขออธิบายแบบคร่าว ๆ ล้อตามกระบวนการ Design Thinking ดังนี้

  1. Empathize : สามารถใช้งาน AI ในการช่วยให้ทำความเข้าใจลูกค้าได้เร็วขึ้น มากขึ้น เช่น การให้มันช่วยคิดวิธีสำรวจความต้องการ, ช่วยคิดบท และคำถามสัมภาษณ์, ช่วยดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ มาวิเคราะห์ ซึ่งจากการที่ผมได้ลองแล้ว เรียกว่าทำงานได้เร็วขึ้นมากจริง ๆ
  2. Define : สามารถใช้งาน AI ในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ โดยสามารถให้มันวิเคราะห์ออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ก็ได้ เช่น ช่วยวิเคราะห์ให้ออกมาเป็น User Persona, Customer Journey ก็ทำได้ดีเลยทีเดียว
  3. Ideate : AI สามารถช่วยเราคิด Idea ได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด สามารถคิดไอเดียตั้งต้นให้เป็น 100 ไอเดียได้ในเวลาไม่ถึง 5 นาที (OMG!!) จากเดิมต้องใช้เวลาเป็นวัน ๆ ในการทำ Workshop กับเพื่อนร่วมทีม 
  4. Prototype : การสร้างตัวต้นแบบ ให้เห็นภาพ เพื่อเตรียมพร้อมนำไปทดสอบ เก็บความคิดเห็นจากลูกค้า ในส่วนนี้ Generative AI สามารถเข้ามาช่วยในการขึ้นรูปเร็ว ๆ ให้เราได้ (แต่ถ้าจะให้ออกแบบเป็น UI เลย อันนี้อาจจะยังไม่ค่อยเวิร์คนะ)
  5. Test : ช่วยแนะนำวิธีการทดสอบกับลูกค้า และสามารถนำผลที่ได้จากการทดสอบ เช่น คอมเมนต์ต่าง ๆ มาวิเคราะห์ในมุมต่าง ๆ ได้ด้วย โดยที่ผมชอบที่สุดคือการที่โยนคอมเมนต์ของลูกค้าไปเยอะ ๆ แล้วให้ AI ช่วยวิเคราะห์เบื้องต้นว่าคนคอมเมนต์ในแง่ Positive หรือ Negative
คอร์สออนไลน์ Enhancing UX Design Process with AI and ChatGPT

คอร์สออนไลน์ Enhancing UX Design Process with AI and ChatGPT

อย่างไรก็ตาม การใช้ Generative AI ก็มีข้อควรระวัง โดยเฉพาะเรื่องความถูกต้อง ผมอยากให้ทุกคนคิดว่า AI เป็นน้องนักศึกษาฝึกงานคนหนึ่ง เป็นน้องที่มีความรู้เยอะมาก ๆ แต่บางทีเค้าก็มีหลงลืม มีมึนบ้าง หรืองานที่ได้ออกมาก็อาจจะไม่ได้ถูกใจเราไปซะทุกอย่าง ดังนั้นอย่าลืมระวังในส่วนนี้กันไว้ด้วยนะ


แนวทางการศึกษา UX/UI เพิ่มเติม

ในศาสตร์ของ UX/UI ยังมีความรู้อีกมากมาย เช่น Research Method, UX Writing, Interaction Design ทุกคนสามารถศึกษากันต่อโดยอาจเริ่มง่าย ๆ ดังนี้

  • หากใครที่มีความรู้ทางด้าน UX/UI มาบ้างแล้วอาจจะอยากไปลองทำแบบทดสอบด้าน UX หรือ แบบทดสอบด้าน UI เพื่อให้พอมีไอเดียว่าตอนนี้มีหัวข้อไหนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่บ้างรึเปล่า จะได้หาความรู้ได้ตรงจุดมากขึ้น
  • เข้าไปดูคำศัพท์เกี่ยวกับ UX/UI: แล้วหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับศัพท์คำนั้น ๆ เพื่อให้รู้ครอบคลุมในหลาย ๆ ส่วนของกระบวนการ และสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
  • อ่าน Case Study: เพื่อให้รู้ว่าคนอื่นมีวิธีคิดอย่างไร มีเทคนิคในการทำงานอย่างไร ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังอาจได้ Inspiration มาประยุกต์ใช้กับงานของตัวเองอีกด้วย
  • อ่าน FAQ UX/UI: เพื่อให้รู้ว่าคนมีปัญหาตรงไหน ช่วยให้เห็นภาพของการทำงานจริงชัดมากขึ้น และมีความรู้ติดตัวไว้ใช้สำหรับแก้ปัญหาเมื่อเจอสถานการณ์ดังกล่าว
  • ติดตามข่าวสาร UX/UI: เพื่ออัพเดทความรู้ UX/UI อย่างสม่ำเสมอ เพราะ Trend ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การที่รู้ข่าวใหม่ ๆ จะทำให้สามารถปรับตัว และออกแบบงานได้ดีมากขึ้น

สุดท้ายอยากฝากทุกคนว่างานในสาย UX/UI นั้น ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะมีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอด ดังนั้นอยากให้ทุกคนศึกษาต่อไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งเราอาจสามารถออกแบบได้เหนือกว่า UX/UI Design ถึงขั้นเป็น Emotional Design เลยก็เป็นได้


หากสนใจเรียนรู้เพิ่มเติมด้าน UX/UI Design สามารถเข้าไปดูกันได้ที่ แหล่งรวมคอร์สออนไลน์และทักษะสาย Design จาก Skooldio และถ้าไม่อยากพลาด Content ดี ๆ แบบนี้ อย่าลืมติดตามช่องทาง Social Media ของ Skooldio ทั้ง Facebook, Instagram, TikTok หรือสามารถ ลงทะเบียนรับ Skooldio Newsletter ไว้ได้เลยวันนี้ครับ แล้วเราจะส่งทุกสาระที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือที่กำลังฮิต หรือ เทรนด์ที่กำลังเป็นที่นิยม รวมไปถึง คอร์สใหม่ ๆ ที่จะช่วยอัพสกิลคุณในด้านต่าง ๆ ทั้ง Soft Skills และ Hard Skills ตลอดจนโปรโมชั่นต่าง ๆ ที่ไม่ควรพลาด คัดสรรมาเป็นอย่างดี โดยทีมงาน Skooldio ครับ 🙂 ลงทะเบียนเลย!

Bhumibhat Imsamran
Business Development Associate | Skooldio

More in:Design

Comments are closed.